รู้จักเชื้อรา
เชื้อรา มีทั้งชนิดก่อให้เกิดโรค และไม่ก่อให้เกิดโรค โดยมี “สปอร์” เป็นส่วนประกอบหนึ่งเพื่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา ซึ่งสปอร์นี้มีขนาดเล็กเพียง 3 ไมครอน มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ล่องลอยอยู่ในอากาศ จึงไม่มีใครหลีกพ้นการหายใจเอาสปอร์เข้าไปได้ แต่กระนั้นก็ไม่ต้องตกใจเกินไป เพราะร่างกายของคนเรา มีภูมิคุ้มกันหรือระบบต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม อีกทั้งไม่ใช่เชื้อราทุกชนิดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ใครบ้างที่ต้องระวัง ก่อนเข้าบ้าน
แต่ผู้ที่ต้องระวังเชื้อราตัวร้ายเล่นงาน คือ ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ คนที่มีอาการภูมิแพ้ คนที่ภูมิต้านทานไม่ดี เช่น ป่วยเบาหวาน กินยาสเตียรอยด์ ผู้ติดเชื้อ HIV หากผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้เข้าไปในบริเวณที่มีเชื้อรา เช่น ภายในตัวบ้านที่เพิ่งถูกน้ำท่วมขัง หรือทำความสะอาดแล้วแต่กำจัดเชื้อราไม่หมด เชื้อราที่ยังอยู่มักทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ มีไข้ ไอ จาม น้ำมูลไหล ระคายเคืองทำให้ตา จมูก หลอดลมเกิดอาการปวดแสบปวดร้อน เป็นผื่นลมพิษ ปอดอักเสบจากภูมิแพ้ ส่วนคนเป็นโรคหอบหืดจะเป็นรุนแรงมากขึ้น ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก จะถึงขั้นคลื่นไส้อาเจียน เลือดออกในปอดและจมูก
เพื่อความปลอดภัยจากเชื้อรา คนอ่อนแอเข้าลักษณะข้างต้นจึงควรหลีกเลี่ยงการเป็นทัพหน้าทำความสะอาดบ้าน ส่วนผู้ที่ต้องทำความสะอาดบ้าน ไม่ว่าจะแข็งแรงดีหรือสุขภาพไม่แกร่งเต็มร้อย “จำเป็นต้องสวมเครื่องป้องกัน” ประกอบด้วย รองเท้าบูทยาง ถุงมือยางหรือถุงมือทำงานบ้านเพื่อป้องกันเชื้อรามาสัมผัสผิวหนัง โดยเฉพาะคนที่มีบาดแผลที่มือและเท้า, แว่นป้องกันตา ชนิดครอบตาแบบไร้รูระบาย ป้องกันเชื้อรากระเด็นเข้าตา, และหน้ากาก ชนิดเอ็น95 ป้องกันการหายใจเอาเชื้อราเข้าไป โดยหน้ากากผ้าหรือแบบฟองน้ำไม่เพียงพอต่อการป้องกัน
สำรวจบ้าน ลาดตระเวณหาเชื้อรา
“ดูด้วยตา” หารอยเชื้อราที่ขึ้นเปื้อนตามผนังหรือเฟอร์นิเจอร์ และ “ดมกลิ่น” ลักษณะกลิ่นเชื้อราจะเหม็นอับทึบ เหม็นคล้ายกลิ่นดิน ทั้งนี้ในภาวะหลังน้ำท่วมจะทำให้ภายในบ้านมีความชื้นสูง อากาศไม่ค่อยถ่ายเท จึงเกิดเชื้อราได้ง่าย บริเวณที่พบเชื้อราได้บ่อย มีทั้งผนัง ฝ้าเพดาน พื้นไม้ ใต้พรม วอลล์เปเปอร์ ผ้าม่าน ผนังด้านในของท่อแอร์ โครงผนังเครื่องปรับอากาศ ตู้เสื้อผ้า เสื้อผ้า หนังสือ ฟูก เตียง หมอน เครื่องหนัง ภายในห้องน้ำ ห้องครัว ร่องยาแนวกระเบื้องและยาแนวต่างๆ ม่านพลาสติก กระจกเงา ซิลิโคน ปลอกไฟเบอร์ เสื่อน้ำมัน และกระเบื้องยาง เป็นต้นขณะที่วิธีสำรวจว่ามีเชื้อราหลังน้ำท่วมหรือไม่ ทำได้ 2 วิธี คือ
อย่าเสียดาย ถ้าไม่แน่ใจ
เมื่อสงสัยว่าสิ่งของใดมีเชื้อรา ต้องยึดหลักที่ว่า When in doubt, take it out หรือสิ่งของใดที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อราได้หมดจดให้ทิ้งไป โดยเฉพาะวัสดุที่มีรูพรุนซึ่งไม่สามารถชะล้างและทำให้แห้งได้ มักจะกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อราอยู่ต่อไป อาทิ พรม รองพื้นพรม ฝ้าเพดานยิปซัม ฝ้าผนังผลิตภัณฑ์ไม้ที่บดอัดขึ้นรูป กระดาษ และฉนวน ทั้งนี้เชื้อราที่ตายแล้ว ก็ยังก่อให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ได้
วิธีทำความสะอาดบ้านให้ปลอดเชื้อราที่พึงปฏิบัติ ควรรีบทำความสะอาดพื้นและผนังด้วยการขัดล้างให้เร็วที่สุด ภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังน้ำลด แยกพื้นที่ที่จะทำให้อยู่ในวงจำกัดทีละมุมของบ้าน ขณะทำความสะอาดให้เปิดประตูและหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ พร้อมทั้งเปิดพัดลม หรือใช้ไฟสปอร์ตไลท์ส่อง เพื่อช่วยให้แห้งเร็วไม่อับชื้น หากเป็นห้องที่มีเครื่องปรับอากาศควรล้างทำความสะอาดไปพร้อมกันด้วย
ขั้นตอนและสูตรน้ำยากำจัดเชื้อรา
- เริ่มแรกให้ล้างด้วยน้ำและสบู่เพื่อขจัดสิ่งสกปรกออกก่อน
- จากนั้นขัดล้างต่อด้วยน้ำยา 0.5% โซเดียม ไฮโปคลอไรท์ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา หรือสามารถผสมน้ำยาใช้เอง จากผงฟอกขาว สัดส่วน 1 ถ้วยตวง ผสมกับน้ำ 1 แกลลอน สำหรับสารฆ่าเชื้อราหาซื้อได้จากร้านยา ร้านเคมีภัณฑ์ ร้านขายอุปกรณ์เกษตร ร้านเคมีภัณฑ์ทำความสะอาดสระว่ายน้ำ หรือห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้ยังมีน้ำยาฆ่าเชื้อรา สูตรแบบอ่อน ใช้น้ำส้มสายชู สูตรกลั่นหรือหมัก (ควรมีความเข้มข้นอย่างน้อย 7%) ใช้กับกระดาษดีกว่าผ้าเพราะไม่ต้องซัก หรือใส่ขวดสเปรย์ก็ได้ สเปรย์ทิ้งไว้ราว 5-10 นาทีแล้วเช็ด กำจัดได้ในระดับน่าพอใจ 80% แต่ไม่สามารถฆ่าสปอร์ได้
- กรณีที่ขัดผนังปูนหรือพื้นผิวที่หยาบ แนะขัดด้วยแปรงอย่างแข็ง ส่วนการขัดพื้นผิววัสดุที่ขึ้นรา มีสภาพแห้ง รามีลักษณะฟูจนเห็นเส้นใยโผล่ออกมา ระวังห้ามใช้ผ้าแห้งเช็ด เพราะสปอร์ของเชื้อราอาจฟุ้งกระจาย รวมไม่ควรเปิดพัดลมด้วย โดยให้ใช้ทิชชูเนื้อเหนียวแผ่นหนาใหญ่ หรือใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ชุบน้ำเปียกหมาด เช็ดพื้นผิววัสดุจากล่างขึ้นบน หรือซ้ายไปขวา หรือขวาไปซ้าย โดยเลือกเอาทางเดียว ห้ามเช็ดย้อนไปมา ทิชชูหรือหนังสือพิมพ์ที่ใช้เช็ดครั้งเดียวต้องทิ้งโดยบรรจุถุงปิดปากมิดชิด เพราะการนำกลับมาเช็ดซ้ำไปซ้ำมาจะทำให้เชื้อราที่หลุดแล้วกลับไปติดใหม่
สุดท้าย เมื่อเก็บกวาดเช็ดถูและกำจัดเชื้อราไปแล้ว หากไม่มั่นใจ สามารถทำซ้ำได้ ทั้งนี้ควรเฝ้าระวังการเกิดเชื้อราขึ้นใหม่ ด้วยการลดกิจกรรมที่ทำให้มีความชื้นในอากาศนานๆ อาทิ การตากผ้าในบ้าน การต้มน้ำหรือทำอาหารในบ้าน การปิดเครื่องปรับอากาศแล้วเปิดหน้าต่างทันที
แหล่งข้อมูล - อาทิตยา ร่วมเวียง ทีมเดลินิวส์ออนไลน์
- รูปประกอบ
- http://trueguru.truelife.com/blog2/entry/36698
- http://www.chonburiguide.com/8663/สาระความรู้/ความรู้ทั่วไป/การทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลด.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น