วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2556

ลูกรักไอ ใช้ยาตัวไหนดีคะ? โดยเภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล


“ลูกไอค้อกแค้ก โขกๆในลำคอ อยากให้หายไอ จะต้องใช้ยาตัวไหนดีคะ?”
คุณแม่คนไหนก้อจะกังวลใจเมื่อได้ยินเสียงไอของลูกรัก ตอนที่แล้ว เราได้แนะนำไปแล้วว่าอยากให้บรรเทาอาการไอ ต้องรักษาที่ต้นเหตุของโรคที่ทำให้เกิดอาการไอตามมาด้วยเสมอ  

เมื่อถึงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้ยาในการดูแลเบื้องต้นบรรเทาอาการไอ มาฟังคำแนะนำจากเภสัชกรถึงยาตัวที่ได้ผลและปลอดภัย

อยากให้ลูกหายจากอาการไอต้องรักษาที่ต้นเหตุ...เสมอ
เมื่อลูกไอ  ในฐานะเภสัชกรที่ใส่ใจในสุขภาพลูกน้อยของคุณๆ เราอยากจะย้ำเตือนว่าให้เข้าใจว่าการไอไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการมีสาเหตุจากโรคได้หลายชนิดดังกล่าวมาแล้ว การบำบัดบรรเทาการไอที่ได้ผลไม่ใช่การเอาเงินไปซื้อยาแต่เพียงอย่างเดียว เพราะรักษาอาการไอโดยการกินยาแก้ไอเพียงอย่างเดียวแต่ไม่ได้รักษาต้นเหตุที่ทำให้ไอด้วย จะไม่ได้ช่วยให้ลูกคุณหรือคนที่คุณรักสามารถทำให้หายจากอาการไออย่างเงียบสนิทได้เลย

แถมซ้ำสิ่งที่น่ากลัวกว่าก้อคือ คุณแม่คุณพ่อบางคนที่มือหนักไปหน่อย ด้วยใจที่อยากให้หายไอเร็วๆ อาจจะได้รับคำแนะนำให้ใช้ยากดการไอที่แรงเกินไป ทำให้ลูกเราเงียบเสียงไอก้อจริง แต่หากไม่รักษาที่ต้นเหตุแล้ว อาการต้นเหตุอื่นก็กลับจะหนักขึ้นมากว่าเดิม ตัวอย่างเช่น ลูกคุณมีอาการไอเพราะเป็นหวัดธรรมดา ควรเริ่มต้นดูแลรักษาร่างกายน้องน้อยให้อบอุ่น กินอาหารให้ครบหมู่ นอนหลับให้เพียงพอ เพื่อที่ว่าร่างกายลูกน้อยมีภูมิต้านทานสูงขึ้นอาการหวัดและไอจึงจะหายไปได้ด้วยตัวของลูกคุณเอง ระหว่างนี้ ถ้าฝืนให้กินแต่ยาแก้ไอ โดยเฉพาะตัวแรงๆ ไปกดอาการไอ  แต่กลับไม่รักษาตัว ปล่อยให้โรคหวัดลุกลามมีโรคแทรกหรือมีอาการติดเชื้ออื่นๆตามมา ยาแก้ไอที่ผิดประเภทเช่นนี้กลับจะยิ่งซ้ำเติม ทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่ทราบเลยว่าลูกเรากำลังมีต้นเหตุของโรคอื่นๆตามมาในขณะที่เขาเงียบเสียงไอ

ลูกรักไอ ดูแลใส่ใจคือยาแก้ไอที่ดีที่สุด

อาการไอคือกลไกธรรมชาติ ที่ร่างกายน้องน้อยใช้ปกป้องทางเดินหายใจและร่างกาย  อยากเลือกใช้ยาตัวไหน อย่าลังเลสงสัยไปหาคำตอบจากเภสัชกรได้ทันทีเลยครับ แต่เรามีคำแนะนำเบื้องต้นในการเลือกใช้ยาตัวไหน ตามสาเหตุการไอดังนี้ 

ไอตามหลังไข้หวัด
ระหว่างน้องน้อยเป็นไข้หวัด ไม่ว่าจะเริ่มด้วยเป็นไข้หวัดธรรมดา หรือร่วมด้วยการติดเชื้อแทรกซ้อนตามมา มักมีอาการเป็นไข้อุณหภูมิสูง เจ็บคอ น้ำมูกไหล  รวมถึงไอด้วย หากได้รับการวินิจฉัยถูกต้อง รวมถึงรับยาครบถ้วน ดูแลร่างกายระหว่างเจ็บป่วยให้ดีๆ  อาการต่างๆจะบรรเทาลง ถ้าน้องน้อยเป็นหวัดมาก่อน จะมีอาการ ไอจากหวัดจะหายได้ ภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่จะมีประมาณร้อยละ 20 ที่ไออยู่เป็นเดือนๆ สาเหตุคือพอมีอาการไข้หวัด ทางเดินหายใจก้อจะอ่อนไหวเป็นพิเศษ คือถ้ามีอะไรมากระตุ้นนิดหน่อย ก้อจะไอได้ง่าย  ซึ่งเป็นกลไกปกติ เพื่อปกป้องร่างกายที่อ่อนแอระหว่างนี้ ให้ได้รับอากาศบริสุทธิ์มากที่สุด ไม่มีเสมหะ สารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆเข้ามาภายในร่างกายได้  ระหว่างนี้เนื่องจากร่างกายน้องเขาจะเกิดภาวะหลอดลมไวขึ้นกว่าปกติชั่วคราว หรือไม่ก็การทำงานของเยื่อบุหลอดลมยังไม่กลับสู่ปกติ

พอหายจากโรคหวัด จะสังเกตได้ว่าจะไอห่างๆ แบบนานๆครั้ง จนแทบลืมว่ามีอาการไอหลงเหลืออยุ่ แต่เมื่อไปกระทบอากาศเย็น ควันบุหรี่ ฝุ่นละออง อาการไอก้อจะเริ่มต้น ยาที่ให้มักจะเป็นยาบรรเทาอาการ เช่นยาละลายเสมหะ ส่วนยาระงับไอจะให้เมื่อจำเป็นเท่านั้น ถ้า ไอมากๆ อาจลองให้ยาสเตอรอยด์สูดร่วมกับยาขยายหลอดลม

ไอจากโรคโพรงจมูกและไซนัสอักเสบ
หากลูกรักของเรามีโรคดังกล่าวมาก่อนแล้ว อาการไอมักเกิดจากจะมีเสมหะไหลลงคอหรือ มีคออักเสบติดเชื้อร่วมด้วย เมื่อมีคออักเสบจะยิ่งระคายเคือง ถูกกระตุ้นให้ไอได้ง่าย การรักษาจะให้ยาลดอาการคัดจมูก และยาปฏิชีวนะควบคู่ไปด้วยเพื่อยับยั้งการติดเชื้อแบคทีเรีย หากมีโรคภูมิแพ้ก็ควรรักษาแบบภูมิแพ้ไปด้วย เมื่อการติดเชื้อลดลง โพรงจมูกไซนัสไม่มีการสะสมเชื้อ อาการไอก็จะค่อยๆหายไปตามลำดับ

ไอจากโรคหอบหืด
สังเกตุได้โดย ลูกน้อยเวลาหายใจจะมีเสียงดังวี๊ดๆ หรือหอบอย่างมาก เกิดจากหลอดลมตีบร่วมกับอาการไอ ในน้องน้อยที่มีประวัติหอบหืดหรือภูมิแพ้มาก่อน การรักษาจะต้องบรรเทาอาการโรคหืดร่วมด้วย โดยใช้ยาสูดสเตอรอยด์ร่วมกับยาขยายหลอดลม อาการไอก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

ลูกรักไอ ใช้ยาตัวไหนดีหล่ะ?
ยาแก้ไอที่เราพบได้ในท้องตลาดจะมีทั้งชนิดน้ำ ชนิดเม็ด มีทั้งที่เป็นยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณที่ปรุงขึ้นจากตัวยาสมุนไพรมีทั้งที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน และยาอันตราย นอกจากนี้ยังมีพวกลูกอมแก้ไอ ช่วยให้ชุ่มคอโล่งคอ การดูแลเบื้องต้นเมื่อลูกไอ แบ่งตามอาการและรูปแบบการไอ ได้ดังนี้ครับ

  1.               ไอแบบมีเสมหะ
คุณๆ สามารถดูแลรักษาเบื้องต้นเพื่อกำจัดเสมหะซึ่งเป็นต้นเหตุก่อให้เกิดอาการไอ ทำได้ง่ายมากที่สุดเลยครับ ดีกว่ากินยาเสียอีก คือแนะนำให้ลูกดื่มน้ำเยอะๆ ให้แบ่งจิบบ่อยๆ  ถ้าลูกดื่มน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่นได้ปริมาณเท่ากับดื่มน้ำเย็นก็ควรให้ลูกดื่มน้ำอุ่นแทน แต่หากดื่มน้ำอุ่นและน้ำธรรมดาไม่ได้ แต่ดื่มน้ำเย็นได้ก็ยอมไปก่อน เพื่อให้ดื่มน้ำได้เยอะๆ

ถ้าน้องน้อยมีเสมหะหรือเสลดที่ข้นเหนียวมาก ปรึกษาเภสัชกรก่อน แล้วเลือกใช้ยาแก้ไอประเภทละลายเสมหะ ก็เพื่อไปออกฤทธิ์ไป ละลายเสมหะที่ข้นเหนียวจับกันเป็นก้อนอุดดขวางทางเดินหายใจให้ใสร่วน ละลายออกได้ง่ายขึ้น ครานี้ร่างกายลูกเราก้อจะได้ขจัดออกได้ง่ายขึ้น ทำให้สบายคอและหายใจได้สะดวกขึ้น อาการไอก้อจะค่อยๆหายไป

2.              ไอเพราะน้ำมูก มีเสมหะ และรู้สึกระคายเคืองลำคอ
แต่ถ้ามีอาการไอแบบแห้งๆ หรือไม่มีเสลด การใช้ยาแก้ไอก้อเพื่อต้องการให้ยาไประงับอาการไอนั้นเสีย เพื่อที่ลูกเราจะได้ไม่ต้องทรมานกับการไอ และพักผ่อนได้เต็มที่

ให้เลือกใช้วิธีรักษาตามอาการ ถ้าลูกน้อยแค่มีอาการระคายเคืองในลำคอ ให้เลือกใช้อมยาอม วิตามินซี หรือการให้ลูกชงน้ำผึ้งในน้ำอุ่ม จิบดื่มบ่อยๆ ก็ช่วยทำให้ชุ่มคอได้

ส่วนอาการไอที่เกิดจากน้ำมูก ถึงเวลาต้องใช้ยาแล้วหล่ะครับ ให้กินยาลดน้ำมูกเสียก่อน อย่าลืมปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อจะได้คำแนะนำปริมาณยาที่ถูกต้องและแม่นยำให้หายไอไปได้ ทำไมเราต้องให้ยาตัวนี้ เท่าที่จำเป็นและตามความเหมาะสมของร่างกายเด็กๆแต่ละคนนั้น เนื่องมาจาก การให้ยาลดน้ำมูกมากเกินขนาดการรักษา ไปทำให้น้ำมูกแห้งก้อจริง แต่เสมหะจะเหนียวข้นเกินพอดีไป จนไปจับตัวเป็นก้อนเสมหะหนาแน่นจนระบบร่างกายของลูกเราอาจขากกำจัดเสมหะให้ไหลออกออกมาไม่ได้ บางรายเสมหะที่กำจัดไม่ออก อาจไปเป็นจุดเริ่มทำให้อาการลุกลามจนถึงขั้นเป็นปอดบวมได้ก้อมีนะครับ

เมื่อเราเลือกใช้ให้ลูกกินยาลดน้ำมูกไปแล้ว ควรให้ดื่มน้ำในปริมาณที่มากขึ้นตามไปด้วย เพื่อทำให้เสมหะอ่อนตัว ละลายง่าย ไม่เหนียวข้น แม้ว่าเด็กวัยนี้ยังขากเสมหะทิ้งไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเสมหะที่เหลวก็จะทำให้ลูกกลืนลงกระเพาะไปได้โดยง่าย

ไออันเนื่องมาจากสาเหตุอื่นๆหล่ะ ไอจากโรคภูมิแพ้ การรักษาและใช้ยาของโรคนี้จะมีรายละเอียดมาก จนต้องมาสรุปให้ฟังต่อในครั้งหน้าครับ ส่วนสาเหตุอื่นๆได้แก่ โรคกรดไหลย้อน  , ไอจากวัณโรคปอด ควรไปรับการรักษาที่สาเหตุจากแพทย์ ต่อไปครับ

แหล่งข้อมูล

•เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล สงวนลิขสิทธิ์ 26 มีค. 2556


ห้ามนำบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ โดยผู้เขียนไปเผยแพร่เชิงพาณิชย์ ให้นำไปเผยแพร่เป็นวิทยาทานหรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น ผู้ประกอบการเว็บไซต์ต้องยึดหลักความเคารพและคำนึงถึงลิขสิทธิ์ในการสร้างสรรค์งานเขียนและจริยธรรมทางธุรกิจ


การนำเอาบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ ซึ่งผลิตขึ้นโดยผู้เขียนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตและผลิตซ้ำเพื่อเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาและ Copy url address ไปด้วยเพื่อให้ผู้อ่านสามารถลิ้งค์กลับมาอ่านบทความจากเว็บไซต์ของผู้เขียนได้โดยตรง


บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพ ไม่แนะนำให้คุณนำไปใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรคด้วยตนเอง ขอความกรุณารับคำปรึกษาได้โดยตรงจากบุคลากรสหวิชาชีพทางสาธารณสุข รวมทั้งเภสัชกรใจดี ที่พร้อมดูแลสุขภาพพ่อแม่พี่น้องนะครับ

ยาตีกัน...ยาตัวไหน ห้ามกินกับตัวไหน???


เห็นหลายบทความใน facebook ที่นำเสนอโดยเภสัช "เกิน" มาอวดอ้างว่า ห้ามกินยานี้กับยาตัวนั้น แล้วก้อ share ไปกันอย่างผิดๆ เรามีบทความที่เขียนโดยอาจารย์ ภก. วิรัตน์ ทองรอด มาตอบคำถามที่ถูกต้องและแม่นยำว่า ยาตีกัน คืออะไร ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร? และควรจะหลีกเลี่ยงหรือป้องกันอย่างไร?


ยาตีกัน คืออะไร ยิ่งใช้ยามากชนิด ก็จะยิ่งเพิ่มยาตีกัน
ทุกวันนี้มียาให้เลือกใช้มากกว่าในอดีตเป็นอันมาก ชนิดของยานับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีทางเลือกให้แพทย์ได้สั่งจ่ายยาที่มีความเฉพาะเจาะจงและเหมาะสมกับผู้ป่วยมากขึ้น ทั้งยังครอบคลุมการรักษาโรคให้กว้างยิ่งขึ้น

ท่ามกลางการค้นพบยาใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ป่วยก็มีโอกาสใช้ยาจำนวนมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง ยิ่งถ้าผู้ป่วยเป็นหลายโรค ก็ต้องใช้ยามากชนิดขึ้นตามอาการของโรคที่เป็น ทำให้มีแนวโน้มว่าคนจะมีการใช้ยากันมากขึ้น
การที่ต้องใช้ยาหลายชนิดในคราวเดียวกัน เพื่อรักษาโรคที่เป็นปัญหาอยู่นั้น อาจจะส่งผลให้ยาที่ใช้อยู่นั้นเกิด “ผลต่อกันได้” ซึ่งอาจจะเป็นคุณหรือโทษต่อผู้ใช้ยาก็ได้ และเราเรียกผลของยาชนิดที่หนึ่งที่ไปส่งผลต่อยาอีกชนิดหนึ่งนี้ว่า “ยาตีกัน”
คำว่า “ยาตีกัน” มาจากภาษาอังกฤษว่า drug interaction ซึ่งถ้าแปลตรงตัวจะได้ความว่า ปฏิกิริยาระหว่างยา ในที่นี้ขอเรียกให้เข้าใจตรงกันง่ายๆ ว่า “ยาตีกัน”

ยาตีกัน มีทั้งคุณและโทษ
เมื่อใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน ก็อาจส่งผลกระทบต่อกัน หรือยาตีกัน ซึ่งจะส่งผลบวกหรือลบต่อสุขภาพร่างกายได้ โดยด้านบวกหรือคุณ ก็จะช่วยเพิ่มคุณประโยชน์ของยา ช่วยให้ลดขนาดของยาที่ใช้ลงได้ หรือเมื่อเกิดยาตีกันแล้วทำให้ได้ผลการรักษาดีขึ้น
ขอยกตัวอย่างเช่น การใช้ยาเพนิซิลลิน (ยาปฏิชีวนะ) ร่วมกับยาโพรเบเนซิด (ยารักษาโรคเกาต์) จะเกิด “ยาตีกัน” ขึ้น และทำให้ยาเพนิซิลลินถูกขับออกจากร่างกายได้ช้าลง เป็นผลให้ระดับยาเพนิซิลลินสูงขึ้นและอยู่ในร่างกายได้นาน เสมือนกับมีการยืดระยะเวลาการออกฤทธิ์ของยาให้นานยิ่งขึ้น ทำให้ไม่ต้องให้ยาในขนาดที่สูงๆ และ/หรือไม่ต้องให้ยาบ่อยๆ เป็นการเพิ่มความสะดวกในการใช้ยา และลดค่าใช้จ่ายของยา พร้อมกับคงประสิทธิภาพของยาได้เหมือนเดิมอีกด้วย

“ยาตีกัน” มักจะทำให้เกิดโทษมากกว่า
แต่ในทางตรงกันข้าม ยาตีกันชนิดที่ทำให้เกิดโทษ ซึ่งเป็นปัญหาจากการใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน เป็นปัญหาที่พบบ่อย ก่อให้เกิดความสูญเสีย และเป็นอันตรายต่อผู้ใช้เป็นอันมาก ฉบับนี้ขอยกตัวอย่างยาตีกันที่พบบ่อยและทำให้เกิดโทษหรืออันตรายต่อผู้ใช้ยา ดังนี้
๑. การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ร่วมกับยาอะม็อกซีซิลลิน อาจทำให้ตั้งครรภ์ได้
๒. การใช้ยาลดไขมันในเลือด กลุ่มสแตตินกับยาอีริโทรไมซิน อาจพาลให้ไตวาย
๓. การใช้ยาลดน้ำตาลในเลือด ในโรคเบาหวานกับยาแก้ปวดข้อกลุ่มเอ็นเสด ทำให้ช็อกได้

ยาเม็ดคุมกำเนิด + ยาอะม็อกซีซิลลิน
การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดร่วมกับยาอะม็อกซีซิลลิน อาจทำให้ตั้งครรภ์ได้
ตัวอย่างที่ ๑ นี้ต้องขอยกให้กับคุณผู้หญิงที่แต่งงานหรือมีแฟนแล้วทุกคน เพราะว่าระหว่างที่คุณกินยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นประจำทุกวันนั้น ก็ด้วยความหวังที่จะใช้ชีวิตครอบครัวตามปกติ และยังไม่ประสงค์ที่จะมีบุตร จึงต้องกินยาเม็ดคุมกำเนิดติดต่อกันทุกวันเป็นประจำต่อเนื่องเป็นแรมเดือนแรมปี แต่ถ้าระหว่างนั้นมีเหตุจำเป็นที่จะต้องใช้ยาอะม็อกซีซิลลิน (amoxicillin) ซึ่งเป็นยารักษาอาการติดเชื้อ เช่น เจ็บคอร่วมด้วย เมื่อยาทั้ง ๒ ชนิดมาเจอกัน ก็จะเกิดการตีกันของยาได้
โดยยาอะม็อกซีซิลลินจะไปมีผลต่อเชื้อจุลชีพที่อยู่ในทางเดินอาหาร ส่งผลรบกวนการดูดซึมของยาเม็ดคุมกำเนิดในทางเดินอาหาร ทำให้ปริมาณยาคุมกำเนิดที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ลดน้อยลง เมื่อปริมาณยาคุมกำเนิดในเลือดลดน้อยลงกว่าปกติ ก็จะส่งผลทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดน้อยลงด้วย จนอาจทำให้ล้มเหลว ไม่ได้ผลในการคุมกำเนิด และเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นได้
กรณีนี้ อาจสังเกตด้วยตนเองได้ว่า ขณะนี้ระดับยาคุมกำเนิดในเลือดลดต่ำลง เพราะจะมีอาการเลือดออกกะปริดกะปรอยได้
ดังนั้น คุณผู้หญิงที่กำลังอยู่ในระหว่างการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดและมีความจำเป็นต้องใช้ยาอะม็อกซีซิลลิน จึงขอแนะนำให้ใช้วิธีการคุมกำเนิดประเภทอื่นร่วมด้วย (เช่น การใช้ถุงยางอนามัย) เพื่อช่วยให้คงการคุมกำเนิดได้ระหว่างที่ใช้ยาอะม็อกซีซิลลิน โดยเริ่มตั้งแต่วันแรกที่ใช้ยาอะม็อกซีซิลลิน จนกระทั่งหยุดใช้ยาไปแล้ว ๑ สัปดาห์ ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะตั้งครรภ์ได้

ยาลดไขมันในเลือด + ยาอีริโทรไมซิน
การใช้ยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตตินกับยาอีรีโทรไมซินอาจพาลให้ไตวายได้
ตัวอย่างที่ ๑ แค่คุมกำเนิดไม่ได้ผล ทำให้เกิดการตั้งครรภ์โดยไม่คาดฝัน และต้องเลี้ยงดูบุตรไปจนโต แต่ตัวอย่างที่ ๒ ของยาตีกันนี้ ทำให้เกิดโรคไตวายได้ เรียกว่าเกิดอันตรายกับตัวผู้ใช้ยา และรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ เพราะโรคไตวายนี้มีอาจารย์แพทย์บางท่านจะผวนคำว่า “ตายไว” และนิยมพูดกันเล่นๆ ว่า “ไตวาย ทำให้ตายไว”
ยาตีกันดังตัวอย่างที่ ๒ นี้ก็เป็นยาที่ได้รับความนิยมมากอีกชนิดหนึ่ง คือ ยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตติน (statins) ซึ่งเป็นยาที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ

ตัวอย่างยากลุ่มนี้ เช่น ซิมวาสแตติน (simvastatin) อะโทรวาสแตติน (atrovastatin) โลวาสแตติน (lovastatin) เป็นต้น
จะสังเกตได้ว่า ชื่อยากลุ่มนี้จะลงท้ายว่า “สแตติน” ทุกตัว จึงเรียกกันติดปากว่า กลุ่มสแตติน
ยากลุ่มสแตตินนี้นิยมจ่ายให้กับผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูง และจะต้องใช้ยาติดต่อกันอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเป็นประจำ เพื่อควบคุมลดปริมาณคอเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับที่เป็นปกติ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ทำให้ยอดจำหน่ายยากลุ่มนี้ติดอันดับหนึ่งสูงกว่ายากลุ่มอื่นๆ ติดต่อกันหลายปีทีเดียว
แต่เมื่อไหร่ที่มีการใช้ยาอีรีโทรไมซิน (erythromycin) ร่วมกับยากลุ่มสแตติน ยาอีริโทรไมซินซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะอีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ในผู้ที่แพ้ยาเพนิซิลลิน เมื่อยากลุ่มสแตตินมาพบกับยาอีริโทรไมซิน ก็จะทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างกัน หรือเกิดยาตีกัน
กรณีนี้ ยาอีริโทรไมซินจะไปยับยั้งการทำลายยากลุ่มสแตติน ทำให้ปริมาณยาสแตตินไม่ถูกทำลายตามปกติ และคงอยู่ในร่างกายนานพร้อมทั้งมีปริมาณมากขึ้น และมีการสะสมตัวยากลุ่มสแตตินในเลือดมากขึ้น จนทำให้เกิดพิษ โดยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อลีบ และเป็นพิษต่อไตได้
ดังนั้น ตัวอย่างที่ ๒ นี้เป็นตัวอย่างของยาตีกันที่เป็นอันตรายถึงชีวิต จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง ๒ ชนิดนี้ร่วมกัน ซึ่งแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการเปลี่ยนจากยาอีริโทรไมซินไปใช้ยาชนิดอื่นแทน หรืออาจจะเปลี่ยนไปใช้ยากลุ่มสแตตินอื่นที่ไม่เกิดผลต่อยาอีริโทรไมซิน เช่น ฟลูวาสแตติน (fluvastatin) พราวาสแตติน (pravastatin) เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่มสแตตินอยู่ก็จะต้องคอยสังเกตอาการผิดปกติของตนเองด้วย โดยเฉพาะอาการผิดปกติของกล้ามเนื้อ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นต้น

ยาลดน้ำตาลในเลือด + ยาแก้ปวดข้อกลุ่มเอ็นเสด
การใช้ยาลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน กับยาแก้ปวดข้อกลุ่มเอ็นเสด ทำให้ช็อกได้
ตัวอย่างที่ ๓ เป็นกรณีของผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยาลดน้ำตาลในเลือดกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (sulfonylureas) เช่น ไกลเบนคลาไมด์ (glibencalmide) คลอโพรพาไมด์ (chlorpropamide) เป็นต้น
ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งก็ทำนองเดียวกันกับ ๒ ตัวอย่างแรกที่จะต้องใช้ยานี้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป เพราะถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่เป็นระยะเวลานานๆ จะไปทำลายระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้เกิดอาการชาปลายมือปลายเท้า ตาฝ้าฟาง และเป็นโรคไตได้
ถ้าผู้ป่วยได้รับยาแก้ปวดแก้อักเสบข้อและกล้ามเนื้อกลุ่มที่เรียกว่า เอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไดโคลฟีแนก (diclofenac) ไพร็อกซิแคม (piroxicam) ยากลุ่มเอ็นเสดเมื่อเจอกับยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย ก็จะเกิดการตีกันของยา โดยยาเอ็นเสดจะส่งผลให้ปริมาณยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียในเลือดเพิ่มสูงมากขึ้น ทำให้ฤทธิ์การลดน้ำตาลในเลือดเพิ่มมากขึ้นตาม จนอาจไม่มีน้ำตาลเหลืออยู่ในเลือดเลย ผู้ป่วยก็อาจจะมีอาการอ่อนแรง เป็นลม หมดสติ และช็อกได้
กรณีนี้ก็เช่นเดียวกับต้วอย่างที่ ๒ ที่จะต้องระวังตัวไม่ควรใช้ยากลุ่มเอ็นเสดร่วมกับยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย เพื่อไม่ให้เกิดการตีกันของยา และทางที่ดีควรติดตามวัดระดับน้ำตาลในเลือด หรือลดขนาดของยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียลงให้เหมาะสมระหว่างที่มีการใช้ยากลุ่มเอ็นเสดร่วมด้วย

สมุดบันทึกยา : วิธีง่ายๆ ที่ช่วยป้องกันยาตีกัน
จากทั้ง ๓ ตัวอย่างของ ๓ คู่ของยาตีกัน ที่อาจส่งผลต่อการรักษา และ/หรือทำให้เกิดพิษ เกิดอันตรายจากการใช้ยาได้ ในที่นี้ขอแนะนำวิธีง่ายๆ ในการช่วยป้องกันยาตีกัน ก็คือสมุดบันทึกยา
สมุดบันทึกยาหรือบันทึกรายการยา ใช้บันทึกรายชื่อยาทั้งหมด ทั้งที่ใช้ประจำ และนานๆ ใช้ครั้งหนึ่ง รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน เกลือแร่ และสมุนไพรด้วย โดยนำรายชื่อยาและสารอื่นๆ เหล่านี้ไปปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร ว่าจะมีโอกาสเกิดยาตีกันหรือไม่ จะได้เฝ้าระวัง ป้องกัน และหลีกเลี่ยงตามลักษณะเฉพาะของยาแต่ละคู่แต่ละประเภท
กรณีที่จะไปพบแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อรักษาโรค ก็ขอเสนอให้พกสมุดบันทึกยา (หรือบันทึกรายการยา) ไปด้วยเสมอ และควรแสดงให้กับแพทย์ที่ตรวจรักษาได้รับรู้ และ/หรือแสดงให้เภสัชกรที่จ่ายยาได้ทราบ เพื่อจะจ่ายยาให้เหมาะสมไม่เกิดการตีกัน

คำว่า “ยาตีกัน” มาจากภาษาอังกฤษว่า drug interaction แปลตรงตัวคือ ปฏิกิริยาระหว่างยา
ยาอะม็อกซีซิลลินรบกวนการดูดซึมของยาเม็ดคุมกำเนิดในทางเดินอาหาร ทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดน้อยลง
ยาอีรีโทรไมซินยับยั้งการทำลายยากลุ่มสแตติน ในเลือดมีการสะสมตัวยากลุ่มสแตตินมากขึ้นทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อลีบ และเป็นพิษต่อไตได้
ถ้าได้รับยาแก้ปวดแก้อักเสบข้อกลุ่มเอ็นเสด เมื่อเจอกับยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย ก็จะเกิดการตีกัน ผู้ป่วยก็อาจจะอ่อนแรง เป็นลม หมดสติ และเกิดช็อกได้

การแพ้ยา
การแพ้ยาเกิดจากกระบวนการในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอย่างเฉียบพลันหลังจากได้รับยา เป็นการเกิดเฉพาะรายเฉพาะบุคคล จึงมีโอกาสในการเกิดและระดับความรุนแรงของอาการแตกต่างกันไป และไม่สามารถทราบได้ล่วงหน้า อาการแพ้ยาที่รุนแรงและอาจถึงแก่ชีวิตมีลักษณะดังต่อไปนี้
๑. เกิดขึ้นภายใน ๑ ชั่วโมงหลังจากใช้ยา โดยมีโอกาสเกิดขึ้นได้แม้ว่าจะเคยมีประวัติใช้ยานี้มาก่อน
๒. ประกอบด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
ผื่นลมพิษ เปลือกตาบวม หน้าบวม หายใจมีเสียงผิดปกติ (เสียงหวีดหวิว) หายใจลำบาก หน้ามืดเป็นลม ความดันโลหิตต่ำ มีผื่นหรือผิวหนังลอกบริเวณปาก รอบทวารหนัก หรือรอบอวัยวะเพศ
อาการแพ้ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นอาการแพ้ที่รุนแรง จัดเป็นภาวะฉุกเฉินที่ผู้ป่วยต้องไปรับการตรวจรักษาจากแพทย์ทันที ไม่ควรกินยาต่อเพราะจะทำให้อาการแพ้รุนแรงขึ้น และอาจทำให้เสียชีวิตได้ หลังจากประเมินอาการแพ้แล้ว จะต้องบันทึก “ประวัติการแพ้ยา” และแพทย์จะพิจารณาเปลี่ยนใช้ยากลุ่มอื่นทดแทน เพื่อควบคุมอาการของโรค หากหยุดยาเองโดยไม่ไปพบแพทย์ และไม่ได้รับยาทดแทน โรคที่เป็นอยู่อาจกำเริบจนเป็นอันตรายได้

ผลข้างเคียงจากยา
โดยทั่วไปมักไม่จัดผลข้างเคียงจากยาเป็นภาวะฉุกเฉินที่ผู้ป่วยต้องรีบไปรับการรักษาจากแพทย์ แต่หากปล่อยทิ้งไว้ ก็อาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้เช่นกัน เช่น ยาที่มีฤทธิ์กัดกระเพาะ อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เสียเลือดจากแผล เกิดภาวะเลือดจาง และอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจทำงานมากเกินไปจนเกิดภาวะหัวใจวายได้
อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงอื่นๆ จากยา อาจไม่ส่งผลให้เกิดอันตรายร้ายแรงแก่ผู้ป่วย เพียงแต่ก่อให้เกิดความรำคาญ หรือเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ เมื่อหยุดยา อาการผิดปกตินั้นจะหายไปเองได้ หรือในยาบางชนิด ผลข้างเคียงอาจหายไปแล้วแม้ว่าจะไม่หยุดยาก็ตาม
เช่น ยาลดน้ำมูก คลอร์เฟนิรามีน อาจทำให้ง่วงซึม แต่เมื่อกินยาติดต่อกันไประยะหนึ่ง อาการง่วงซึมจะลดลงหรือหายไป หรือเมื่อหยุดยาอาการง่วงซึมก็จะหายไปเช่นกัน
อาการง่วงซึมนี้ไม่เป็นอันตราย ยกเว้นกรณีที่กินยาแล้วไปขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักรกล ก็อาจทำให้การตัดสินใจขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักรกลผิดพลาดได้
อาการข้างเคียงบางอย่างอาจเป็นมากจนรู้สึกทนไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยหยุดยาเอง เช่น มีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก ไอรุนแรง ขาบวม เป็นต้น อาการเหล่านี้หากเกิดขึ้นควรบอกแพทย์เพื่อพิจารณาเปลี่ยนยา อย่าหยุดยาเองเพราะจะทำให้อาการของโรคกำเริบได้

ข้อแนะนำการใช้ยา
๑. ก่อนใช้ยา ควรอ่านฉลากยาอย่างละเอียด และไม่ควรกินยาของคนอื่น การไม่อ่านฉลากยา และใช้ยาผิด อาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
๒. การกินยาหลังอาหาร หมายถึง กินยาหลังอาหารทันที ไม่จำเป็นต้องรอเวลา (๓๐ นาทีถึง ๑ ชั่วโมง)
๓. ยาส่วนใหญ่จะระบุให้กินหลังอาหารเพื่อให้จำง่าย ซึ่งผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภารกิจเร่งรีบจนไม่มีเวลากินอาหารตามมื้อควรกินยาในเวลาเดียวกันเป็นประจำ โดยไม่ต้องคำนึงถึงการกินอาหาร เพื่อผลในการควบคุมโรค เช่น ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยาขับปัสสาวะ ที่ต้องกินตรงเวลาทุกเช้า
๔. ยาบางชนิดจำเป็นต้องกินหลังอาหารทันทีหรือพร้อมอาหาร เนื่องจากมีฤทธิ์กัดกระเพาะ ดังนั้น หากถึงเวลากินยาก็จำเป็นต้องกินอาหารรองท้องไว้ เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากยากัดกระเพาะจนอาจเป็นแผลเลือดออก ไม่ควรแก้ปัญหาด้วยการงดยา เพราะจะทำให้ควบคุมอาการของโรคไม่ได้
๕. ยาที่ต้องกินก่อนอาหาร หมายถึง กินก่อนมื้ออาหารครึ่งชั่วโมงขึ้นไป (๓๐ นาทีถึง ๑ ชั่วโมง) เนื่องจากอาหารจะลดการดูดซึมของยา หรือเพื่อให้ยาออกฤทธิ์บรรเทาอาการได้ในเวลากินอาหาร เช่น ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน หากลืมกินยา และกินอาหารไปแล้ว ให้กินยาหลังอาหารมื้อนั้น ๑ ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อให้ท้องว่าง แต่ต้องระวังว่าเวลาที่กินอาหารจะไม่ใกล้กับยาในมื้อถัดไป
๖. ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะต้องกินยาก่อนอาหารเป็นนาทีถึงครึ่งชั่วโมง แล้วแต่ชนิดของยา เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจากการกินอาหาร จึงจำเป็นต้องกินอาหารหลังกินยาทุกครั้ง มิฉะนั้นจะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป ทำให้หน้ามืด วิงเวียน เป็นลม และในทางกลับกัน หากงดยาเองเพราะไม่อยากกินอาหารก็อาจทำให้ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
๗. การกินยามีความสำคัญ ผู้ป่วยที่ไม่มั่นใจในการกินยาควรปรึกษาเภสัชกรที่ห้องจ่ายยาโรงพยาบาลหรือร้านยาทุกครั้ง เพื่อให้ใช้ยาได้อย่างปลอดภัย เภสัชกรสามารถจัดตารางการกินยาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย หรือแม้แต่ประสานกับแพทย์ เพื่อปรับเปลี่ยนยาที่ต้องกินวันละหลายๆ ครั้ง ซึ่งไม่สะดวก มาเป็นเพียงวันละ ๑-๒ ครั้ง ไม่ควรลดหรือเพิ่มขนาดยาเอง
๘. การไปพบแพทย์หลายๆ โรงพยาบาล (หรือคลินิก) อาจทำให้ได้รับยาชนิดเดียวกัน ผู้ป่วยต้องกินยาซ้ำซ้อน หรือเกิด “การตีกัน” ของยา ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงแก่ผู้ป่วยได้ การไปพบแพทย์หรือเภสัชกรจึงควรมีรายการยาหรือนำยาที่กำลังใช้อยู่ทุกชนิดไปด้วยทุกครั้ง เพื่อให้เภสัชกรพิจารณาว่ามียาซ้ำซ้อนกันหรือไม่ หรือยาตีกันหรือไม่ จะได้หาทางแก้ไขและป้องกัน เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากการใช้ยา
๙. ผู้ป่วยที่มีภาวะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรแจ้งเภสัชกรทุกครั้งที่รับยา เพื่อให้เภสัชกรพิจารณาความเหมาะสมของยา และผลของยาที่อาจมีต่อบุตรในครรภ์หรือบุตรที่ได้รับนมแม่

อย่าเสี่ยงชีวิตคุณกับยาราคาถูก ร้านยาที่ไม่มีเภสัชกร ไปร้านยาถามหาเภสัชกร เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองและครอบครัวที่รักครับ

แหล่งข้อมูลและภาพประกอบ
นิตยสารหมอชาวบ้าน 394
กุมภาพันธ์ 2012
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด

รูปประกอบจาก
http://thelab.photophysics.com/wp-content/uploads/2013/03/presc.jpg

วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2556

ต่อมลูกหมากโต รู้จักและรักษา

โรคต่อมลูกหมากโต คือ สภาวะที่ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่ผิดปกติ เนื่องจากตำแหน่งของต่อมลูกหมากจะอยู่ในบริเวณใต้กระเพาะปัสสาวะ อาจจะเกี่ยงเนื่องไปเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่ก้อได้ หลายคนกังวลและสงสัยในโรคเหล่านี้ เรามีบทความจากคุณอุไรรัตน์ สิงหนาทมาอธิบาย ให้เราได้ทำความเข้าใจกับโรคนี้กันดีกว่า 

โรคต่อมลูกหมากโต (BPH) คืออะไร?ต่อมลูกหมากโต คือสภาวะที่ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่ผิดปกติ เนื่องจากตำแหน่งของต่อมลูกหมากจะอยู่ในบริเวณใต้กระเพาะปัสสาวะ ด้วยเหตุที่ต่อมลูกหมากจะห่อหุ้มท่อปัสสาวะส่วนต้นไว้ ดังนั้นเมื่อต่อมลูกหมากโตขึ้นก็อาจกดทับท่อปัสสาวะให้ตีบเล็กลง ส่งผลให้คนไข้มีอาการปัสสาวะติดขัด นอกจากนี้ต่อมลูกหมากโตอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผนังกล้ามเนื้อของกระเพาะ ปัสสาวะหนาขึ้น เนื่องจากต้องบีบตัวแรงขึ้นเพื่อขับน้ำปัสสาวะให้ผ่านท่อแคบๆ และเมื่อผนังกระเพาะปัสสาวะหนาตัวขึ้นก็จะส่งผลต่อความสามารถในการกักเก็บ น้ำปัสสาวะลดลง คนไข้จึงต้องปัสสาวะบ่อย และอาจได้รับการกระตุ้นให้ปวดปัสสาวะขึ้นมาอย่างกะทันหันได้

ต่อมลูกหมากโต
http://health.yahoo.com/men-prostate/prostate-gland-enlargement/mayoclinic
ภาพบนซ้ายและภาพขยายด้านขวาแสดงต่อมลูกหมากที่มีขนาดปกติ ส่วนภาพล่างซ้ายแสดงภาพต่อมลูกหมากโตผิดปกติ  
        โรคต่อมลูกหมากโตเป็นโรคที่พบได้เป็นปกติ และการเกิดขึ้นมักจะสัมพันธ์กับอายุ มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า 50 % ของผู้ชายที่เป็นโรคต่อมลูกหมากนั้นมีอายุประมาณ 60 ปี เชื้อชาติโดยเฉพาะในชนผิวขาวและผิวดำพบมากกว่าชนเผ่าทางเอเชีย และพบมากขึ้นในรายที่มีประวัติผู้ป่วยในครอบครัว

สาเหตุของโรคต่อมลูกหมากโต

  • ยังไม่มีหลักฐานยืนยันถึงสาเหตุที่แน่ชัด
  • อาจสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนเพศชาย (testosterone) และฮอร์โมนเพศหญิงที่อยู่ในเพศชาย (female hormone-estrogen) ซึ่งอาจกระตุ้นให้ต่อมลูกหมากเจริญรวดเร็วได้

อาการของโรคต่อมลูกหมากโต

  • ปัสสาวะลำบากในช่วงต้นของการถ่ายปัสสาวะ
  • ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะตอนกลางคืน หรือกลั้นปัสสาวะไม่ได้
  • ปัสสาวะนาน ปัสสาวะอ่อน ปัสสาวะสะดุด (ขัดเบา) ปัสสาวะเป็นหยดๆ
  • รู้สึกปวดขณะถ่ายปัสสาวะ
  • ปัสสาวะหลายครั้งในตอนกลางคืน
  • มีเลือดปนออกมาในปัสสาวะ
  • อาจมีอาการของการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

การวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโต

  • การตรวจสอบร่างกายและซักประวัติคนไข้โดยละเอียด ซึ่งรวมไปถึงการตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก(Digital Rectal Examination or DRE) ซึ่งแพทย์จะใช้นิ้วสวมถุงมือสอดเข้าไปในทวารหนักและกดลงบนต่อมลูกหมากเพื่อตรวจและประเมินขนาดของต่อมลูกหมากว่าผิดปกติหรือไม่ ควรตรวจทุกปีในชายวัย 50 ปีขึ้นไป และในรายที่มีประวัติในครอบครัวอาจต้องปรึกษาแพทย์แต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะในรายที่มีอาการผิดปกติ
 การตรวจต่อมลูกหมาก
http://www.dilipraja.com/prostate-cancer.htm 
 การตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก
  • ทำการทดสอบเพื่อวัดอัตราการไหลของปัสสาวะ
  • ตรวจเพาะเชื้อจากปัสสาวะ จะช่วยวินิจฉัยแยกการอักเสบติดเชื้อของต่อมลูกหมาก กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และไตอักเสบ
  • วัดปริมาณปัสสาวะที่เก็บอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ
  • การตรวจระดับ PSA (prostate-specific antigen) คือตรวจหาสารโปรตีนที่ผลิตโดยต่อมลูกหมาก ซึ่งจะพบว่าเพิ่มสูงขึ้นในรายที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ต่อมลูกหมากโตผิดปกติที่ไม่ใช่มะเร็ง และการติดเชื้อของต่อมลูกหมาก ซึ่งควรตรวจทุกปีในชายวัย 50 ปีขึ้นไป และในรายที่มีประวัติในครอบครัวอาจต้องปรึกษาแพทย์แต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะในรายที่มีอาการผิดปกติ แต่มักใช้ตรวจในรายที่สงสัยว่าเป็นมะเร็ง

การรักษาโรคต่อมลูกหมากโต

  • หากมีอาการเพียงเล็กน้อย ก็ไม่จำเป็นต้องรักษา วิธีรักษาขึ้นกับอาการและอาการแสดงของแต่ละราย
  • ควรงดดื่มของเหลวหรือแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไปโดยเฉพาะในเวลากลางคืน
  • แพทย์อาจะสั่งยาบางชนิดให้ เช่น ยาประเภทยับยั้งเอ็นไซม์พวก Proscar (finasteride) ซึ่งช่วยให้ต่อมลูกหมากมีขนาดเล็กลง หรือยาคลายกล้ามเนื้อเรียบในต่อมลูกหมากให้อ่อนตัวลง (alpha-blockers) ยาที่รักษาอาการอวัยวะเพศไม่แข็งตัว ซึ่งการรักษาอาจเป็นการให้ยาหลายประเภทร่วมกัน
  • รักษาด้วยความร้อน (การใช้ความร้อนกับเนื้อเยื่อของต่อมลูกหมาก) สามารถใช้เพื่อลดอาการของต่อมลูกหมากโตได้ ข้อดีของการรักษานี้ก็คือสามารถดำเนินการรักษาในขณะที่เป็นผู้ป่วยนอกได้ โดยจะมีการใช้พลังงานจากคลื่นไมโครเวฟหรือคลื่นความถี่วิทยุจำนวนเล็กน้อยใน การรักษา
  • รักษาด้วยการผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง เพื่อตัดเอาชิ้นเนื้อส่วนที่เกินออกมาจากต่อมลูกหมาก (TURP) วิธีนี้ถือว่าเป็นวิธีผ่าตัดที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่ แพทย์ผ่าตัดจะส่งท่อที่มีกล้องขนาดเล็กผ่านเข้าสู่ท่อปัสสาวะ ตรงปลายท่อจะมีเครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กใช้สำหรับตัดเนื้อเยื่อต่อมลูกหมาก ส่วนที่กดทับท่อปัสสาวะไว้
  • ในกรณีที่ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่มากผิดปกติ แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้วิธีการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องเพื่อนำเอาเนื้อเยื่อส่วนเกินออกมา

แหล่งข้อมูล


แหล่งข้อมูล

Ann Oncol. 2010 May;21 Suppl 5:v129-33. doi: 10.1093/annonc/mdq174.
Prostate cancer: ESMO Clinical Practice Guidelines for diagnosis, treatment and follow-up.
Horwich A, Parker C, Bangma C, Kataja V; ESMO Guidelines Working Group.
,Institute of Cancer Research and Royal Marsden Hospital, Sutton, UK., http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/20555062

Clinical practice guideline for prostate cancer treatment.
Bibliographic Source(s)
Working Group of the Clinical Practice Guideline on Prostate Cancer Treatment. Clinical practice guidelines on prostate cancer treatment. Madrid: National Plan for the NHS of the MSC. Aragon Institute of Health Sciences (I+CS); 2008. 138 p. (Clinical practice guidelines in the NHS I+CS; no. 2006/02)., http://guideline.gov/content.aspx?id=16311

Current Care after Radical Prostatectomy in Patients with Localized Prostate Cancer
Sittiporn Srinualnad, M.D.
Department of Surgery, Faculty of Medicine Siriraj Hospital, Mahidol University, Bangkok 10700, Thailand., http://www.sirirajmedj.com/content.php?content_id=113

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ชูศักดิ์ ปริพัฒนานนท์, ต่อมลูกหมาก, หน่วยศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, http://medinfo2.psu.ac.th/cancer/db/news_ca.php?newsID=6&typeID=18

ศาสตราจารย์ นายแพทย์วชิร คชการ, มะเร็งต่อมลูกหมาก
,วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ,
,http://www.vichaiyut.co.th/jul/31_02-2548/31_02-2548_P77-88.pdf

ต่อมลูกหมากกับการเกิดโรคและการดูแลรักษา
, อ.อุไรรัตน์ สิงหนาท,

มะเร็งต่อมลูกหมาก (prostate cancer), โรงพยาบาลพญาไท,

วินัย  เพชรช่วย
, เมื่อผมเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก,  http://www.bs2504.thport.com/articles/Cancer/Mycancer.htm



การป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก, สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์,

ตรวจวัด พีเอสเอ หาความเสี่ยง มะเร็งต่อมลูกหมาก (เดลินิวส์)
นท.ดร.นพ.สมพล  เพิ่มพงศ์โกศล หน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, http://health.kapook.com/view7096.html

นพ. ชนธีร์ บุณยะรัตเวช, ต่อมลูกหมากโต,
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย,
http://www.chulalongkornhospital.go.th/unit/opdchula/opdchula/index.php?option=com_content&task=view&id=74&Itemid=61

ต่อมลูกหมากกับการเกิดโรคและการดูแลรักษา, อ.อุไรรัตน์ สิงหนาท, http://www.anticancerclinicthai.com/th/index.php?option=com_content&view=article&id=58:-m-m-s&catid=1:latest-news&Itemid=41

วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2556

ตรวจหาความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก ตรวจอย่างไร?


ที่มาเล่าเรื่องโรคนี้ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้กลัวกังวลใจแต่อย่างใด สำหรับมะเร็งต่อมลูกหมาก  คุณผู้ชายแทบทุกคนมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นได้อยุ่แล้ว ดังนั้นยิ่งรุ้มาก ยิ่งเตรียมตั้งรับ ก้อยิ่งมีโอกาสหายไปใช้ชีวิตอย่างสบายใจ ไม่ดีหรือครับ? ดังนั้นถ้าการตั้งรับมือที่ดีที่สุดคือการไปตรวจร่างกายเพื่อให้พร้อมป้องกันได้ก่อน ตอนนี้เราจึงมาเล่าว่า ถ้าไปตรวจจะมีขบวนการอย่างไรบ้าง? เชื่อถือได้แค่ไหน?  

ทำไมต้องตรวจด้วยหล่ะ ?
ส่วนมากแล้วมะเร็งทุกชนิด มักไม่แสดงอาการในระยะแรกเริ่มให้เห็น แต่จะมารู้ตัวว่าเป็น ก็แสดงอาการในระยะที่  2 ที่ 3 เข้าไปแล้ว ดังนั้น วิธีการตรวจคัดกรองหรือตรวจหาว่ามีความผิดปกติของการเกิดมะเร็ง จึงน่าจะเป็นวิธีที่ดีในการระมัดระวังตัวเอง ให้ห่างไกลจากมะเร็ง

เวลาตรวจ จะรุ้ได้อย่างไร ?

มะเร็งต่อมลูกหมาก มีวิธีในการตรวจคัดกรองเพื่อหาความเสี่ยง วิธีการดังกล่าวเรียกว่า พีเอสเอ (Prostate-specific antigen; PSA) ซึ่ง พีเอสเอ เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ผลิตขึ้นจากเซลล์ของต่อมลูกหมาก พีเอสเอ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของต่อมอสุจิที่ทำให้มีลักษณะเป็นน้ำ ส่วนใหญ่ พีเอสเอ มักจะออกจากร่างกายระหว่างการหลั่งน้ำอสุจิ แต่มีปริมาณน้อยที่จะสามารถเข้าสู่กระแสเลือด

          การตรวจวัดค่า พีเอสเอ ก็เหมือนกับการตรวจเลือดทั่วไปกล่าวคือ ค่า พีเอสเอ สามารถวัดได้จากการเจาะเลือด ระดับค่า พีเอสเอ จะถูกวัดโดยวิธีการทางห้องปฏิบัติการที่เรียกว่า การวิเคราะห์ภูมิคุ้มกันทางเคมี ซึ่งวัดค่าเป็นนาโนกรัมต่อมิลลิลิตร ผลระดับค่า พีเอสเอ ที่สูงขึ้นหมายถึงสัญญาณของความผิดปกติของต่อมลูกหมาก

          โดยทั่วไป ผู้ชายอายุ 70 ปีขึ้นไป มักมีค่า พีเอสเอ สูงกว่าผู้ชายอายุ 40 ปี สิ่งที่สำคัญของการมีค่า พีเอสเอ สูงขึ้นไม่จำเป็นต้องหมายถึงการมีมะเร็งต่อมลูกหมากทุกราย ซึ่งจะเน้นว่าการวินิจฉัย มะเร็งต่อมลูกหมาก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการตรวจเลือดหา ค่า พีเอสเอ เพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องยึดหลักการตรวจร่างกายและซักประวัติครอบครัว ตลอดจนวัดผลจากการทดสอบต่อมลูกหมากต่อไป และแม้ว่าผู้ชายที่ไม่ได้เป็นมะเร็ง ค่า พีเอสเอ ก็อาจจะค่อย ๆ สูงขึ้นตามอายุได้เช่นกัน

ผลจากการวัดค่า พีเอสเอ มีความหมายอย่างไร

          ถ้าการตรวจทางทวารหนักและค่า พีเอสเอ ปกติเป็นที่น่าพอใจ ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจโรคเพิ่มเติม แพทย์อาจจะแนะนำให้มาตรวจทั้งทางทวารหนักและค่า พีเอสเอ ปีละหนึ่งครั้ง ถ้าค่าพีเอสเอสูงหรือการตรวจทางทวารหนักพบว่าต่อมลูกหมากมีความผิดปกติ แพทย์ก็จะนำชิ้นเนื้อมาทำการตรวจ

          ย้ำอีกครั้งว่า การตรวจวัดค่า พีเอสเอ เพียงอย่างเดียว อาจไม่ใช่หนทางที่เพียงพอนัก จึงอาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติมทางทวารหนัก และพิจารณาจากอายุ ซึ่งทั้งหมดจะถูกนำมาประเมินความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากต่อไป
อะไรเป็นสาเหตุให้พีเอสเอมีการเปลี่ยนแปลง

          บางครั้งค่า พีเอสเอ ที่สูงขึ้น หรือมีการเปลี่ยนแปลงอาจเกิดจากเหตุผลอื่น ๆ นอกเหนือจากมะเร็งก็ได้ เพราะการมีต่อมลูกหมากโต ต่อมลูกหมากอักเสบ การมีเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ หรือการออกกำลังกายอย่างหนัก ทำให้ส่งผลต่อระดับ พีเอสเอ ซึ่งรวมทั้งการตรวจทางทวารหนัก และการรับประทานยาก็อาจทำให้ค่า พีเอสเอ เปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะยาที่มีผลต่อฮอร์โมน เป็นต้น

       
ควรตรวจ บ่อยแค่ไหน? 

          ในประเทศสหรัฐอเมริกาและในยุโรป มีการแนะนำให้มีการตรวจต่อมลูกหมากปีละครั้ง สำหรับผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และคาดหวังว่าจะสามารถมีชีวิตอยู่โดยปราศจากโรค มะเร็งต่อมลูกหมาก ได้อย่างน้อย 10 ปี สำหรับผู้ชายที่มีอัตราเสี่ยงของ มะเร็งต่อมลูกหมาก จากการมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ควรได้รับการตรวจเริ่มต้นที่อายุ 45 ปี ส่วนผู้ชายอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหา มะเร็งต่อมลูกหมาก ในระยะเริ่มแรก การตรวจเพื่อหามะเร็งควรทำทันทีเมื่อมีอาการทางระบบปัสสาวะ

          สิ่งสำคัญที่ควรมีการตระหนักคือ การตรวจ พีเอสเอ เป็นเครื่องมือในการตรวจโรคของ มะเร็งต่อมลูกหมาก ที่ไม่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม การตรวจร่างกายประจำปีสามารถช่วยให้หลีกเลี่ยงการมีภาวะแทรกซ้อนของโรค มะเร็งต่อมลูกหมากได้

          ถ้าค่าพีเอสเอและการตรวจทางทวารหนัก ได้ผลเป็นปกติตั้งแต่เริ่มแรก แพทย์ผู้มีประสบการณ์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้มีการตรวจทั้งสองวิธีทุกปี




รูปประกอบ: การตรวจทวารหนัก เพื่อคลำตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก จาก http://commons.wikimedia.org/wiki/File:Digital_rectal_exam_IT.jpg

เห็นบอกว่าต้องมีวิธีการตรวจทางทวารหนัก ทำอย่างไร

          การตรวจทางทวารหนักร่วมกับการตรวจค่าพีเอสเอ จะทำเมื่อมีการตรวจโรคหามะเร็ง หรือเมื่อมีการประเมินคนไข้ชายสำหรับปัญหาการถ่ายปัสสาวะ

          การตรวจทางทวารหนักเป็นการตรวจที่ง่ายและมีความสำคัญ คนไข้ที่ได้รับการตรวจทางทวารหนักจะนอนหงายงอตัวบนเตียงตรวจ หรือนอนตะแคงบนเตียง แล้วงอขาขึ้นให้เข่าชิดหน้าอก แพทย์จะใช้นิ้วมือที่สวมถุงมือที่ทาสารหล่อลื่นด้านนอกสอดเข้าไปในทวารหนัก เพราะต่อมลูกหมากอยู่หน้าต่อมทวารหนัก

          แพทย์จะตรวจได้ความรู้สึกว่าต่อมลูกหมากโตมากผิดปกติหรือไม่ รวมทั้งการมีก้อนนูน มีรูปร่างหรือเนื้อผิวของต่อมลูกหมากที่บ่งบอกความเป็นไปได้ของการเป็น มะเร็ง ถึงแม้การตรวจทางทวารหนักทำให้คนไข้รู้สึกไม่สะดวก แต่ก็จะใช้เวลาไม่กี่นาทีเท่านั้นต่อการตรวจหนึ่งครั้ง

          มาถึงตอนนี้แล้ว เราจะได้หมดห่วงแล้วนะครับ ว่าการตรวจวัดค่าพีเอสเอ ร่วมกับการตรวจทางทวารหนัก มีจุดประสงค์เดียวคือเพื่อตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก อย่าลังเลสงสัยไปเลยครับ รุ้ก่อน ปลอดภัยกว่าครับ



แหล่งข้อมูล

Ann Oncol. 2010 May;21 Suppl 5:v129-33. doi: 10.1093/annonc/mdq174.
Prostate cancer: ESMO Clinical Practice Guidelines for diagnosis, treatment and follow-up.
Horwich A, Parker C, Bangma C, Kataja V; ESMO Guidelines Working Group.
,Institute of Cancer Research and Royal Marsden Hospital, Sutton, UK., http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/20555062

Clinical practice guideline for prostate cancer treatment.
Bibliographic Source(s)
Working Group of the Clinical Practice Guideline on Prostate Cancer Treatment. Clinical practice guidelines on prostate cancer treatment. Madrid: National Plan for the NHS of the MSC. Aragon Institute of Health Sciences (I+CS); 2008. 138 p. (Clinical practice guidelines in the NHS I+CS; no. 2006/02)., http://guideline.gov/content.aspx?id=16311

Current Care after Radical Prostatectomy in Patients with Localized Prostate Cancer
Sittiporn Srinualnad, M.D.
Department of Surgery, Faculty of Medicine Siriraj Hospital, Mahidol University, Bangkok 10700, Thailand., http://www.sirirajmedj.com/content.php?content_id=113

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ชูศักดิ์ ปริพัฒนานนท์, ต่อมลูกหมาก, หน่วยศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, http://medinfo2.psu.ac.th/cancer/db/news_ca.php?newsID=6&typeID=18

ศาสตราจารย์ นายแพทย์วชิร คชการ, มะเร็งต่อมลูกหมาก
,วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ,
,http://www.vichaiyut.co.th/jul/31_02-2548/31_02-2548_P77-88.pdf

ต่อมลูกหมากกับการเกิดโรคและการดูแลรักษา
, อ.อุไรรัตน์ สิงหนาท,

มะเร็งต่อมลูกหมาก (prostate cancer), โรงพยาบาลพญาไท,

วินัย  เพชรช่วย
, เมื่อผมเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก,  http://www.bs2504.thport.com/articles/Cancer/Mycancer.htm

 การป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก, สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์,

รูปประกอบจาก
http://www.medindia.net/news/healthwatch/The-Utility-of-Early-Detection-and-Screening-of-Prostate-Cancer-Gets-Questioned-73935-1.htm