วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

โรค "โบทูลิสซึม" ที่เกิดจากแบคทีเรียที่ปนเปื้อนในนมผงคืออะไร???





จากข่าวเรียกคืนนมผงครั้งใหญ่หลังพบปนเปื้อนแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดโรค "โบทูลิสซึม" หรืออาการอาหารเป็นพิษรุนแรง ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ 

ถึงแม้นว่าทางประเทศเราได้มีการเรียกคืนนมบางส่วนที่อาจติดเชื้อ ออกไปตลาดบางส่วนแล้วก้อตาม แต่ก้อเป็นการดีที่เราจะมาทำความเข้าใจ กับโรคที่ว่านี้ ว่าเกิดจากเชื้ออะไร? เราจะสังเกตุอาหารที่ติดเชื้อได้อย่างไร? บ้านเรามีการติดเชื้อแบบนี้บ้างหรือไม่?  รวมไปถึงว่าหากเราเสี่ยงที่จะติดเชื้อ จะมีการสังเกตุและรักษาอย่างไร
ภาพประกอบมาจาก http://www.dailynews.co.th/world/224168


ภาวะโบทูลิสมจากอาหารคืออะไร
รูปประกอบมาจาก  http://www.inforum.com/event/image/id/301136/headline/Botulism:%20An%20overview/

           ภาวะโบทูลิสม (อ่านว่า โบ-ทู-ลิ-ซึม) จากอาหารเป็นภาวะอาหารเป็นพิษชนิดหนึ่ง ภาวะนี้พบไม่บ่อยแต่อาจก่ออาการที่รุนแรงจนเกิดอันตรายต่อชีวิตได้ ภาวะโบทูลิสมจากอาหารเกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนด้วยสารพิษโบทูลิสม (botulism toxin) โดยสารพิษโบทูลิสมเกิดจากการมีเชื้อแบคทีเรียClostridium botulinum ปนเปื้อนในอาหารและสร้างสารพิษชนิดนี้ขึ้น สารพิษโบทูลิสมเป็นสารพิษที่รุนแรงมาก การรับประทานสารพิษชนิดนี้ในขนาดน้อยมากเพียง 0.1 ไมโครกรัม (เท่ากับเศษหนึ่งส่วนสิบล้าน ของน้ำหนักหนึ่งกรัม) ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้


เชื้อโรค Clostridium botulinum คืออะไร
            เชื้อโรค Clostridium botulinum (อ่านว่า คลอส-ตริ-เดียม โบ-ทู-ลิ-นุม) เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่พบมากในดิน เชื้อนี้เจริญเติบโตได้ดีในสภาวะแวดล้อมที่มีออกซิเจนน้อยเช่นในกระป๋องบรรจุอาหารในขวดที่ปิดสนิท หรือในปี๊บ หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมแก่การเจริญเชื้อนี้จะหลบอยู่ในสภาพสปอร์ซึ่งคงทนในสภาพแวดล้อมได้ดีมาก และรอจนกว่าจะพบสภาพที่เหมาะสมจึงเจริญเติบโตและสร้างสารพิษในสภาวะที่มีการเจริญเติบโตนั้น

เชื้อโรค Clostridium botulinum และ สารพิษโบทูลิสมเกี่ยวข้องกับอาหารได้อย่างไร
            การปนเปื้อนอาหารเกิดจากการปนเปื้อนสปอร์ของเชื้อ Clostridium botulinumในอาหาร เมื่ออาหารถูกเก็บในสภาพที่มีออกซิเจนน้อยเช่นในกระป๋องบรรจุอาหารในขวดที่ปิดสนิท หรือในปี๊บเชื้อก็จะเจริญและสร้างสารพิษ อาหารที่ได้รับการปนเปื้อนสารพิษอาจไม่ปรากฏความผิดปรกติใดๆทั้งลักษณะภายนอก สี กลิ่น และ รส  อย่างไรก็ตามข้อความข้างต้นไม่ได้หมายความว่าอาหารที่บรรจุในภาชนะเหล่านี้จะต้องมีเชื้อและสารพิษนี้อยู่ เพราะว่าการถนอมอาหารเหล่านี้อย่างถูกวิธีเช่น การปรุงด้วยความร้อนที่นานพอหรือการปรับค่าความเป็นกรดที่เหมาะสมในอาหารจะทำลายหรือยับยั้งไม่ให้สปอร์ของเชื้อเจริญและสร้างสารพิษได้ นอกจากนี้การปรุงอาหารที่บรรจุภาชนะเหล่านี้อย่างเหมาะสมก่อนการบริโภคจะสามารถทำลายสารพิษที่ปนเปื้อนกับอาหารได้

เคยมีภาวะโบทูลิสมจากอาหารในประเทศไทยหรือไม่
            เคยเกิดอุบัติการณ์หมู่จากภาวะโบทูลิสมจากอาหารในประเทศไทย โดยครั้งที่เป็นที่รู้จักมากได้แก่การเกิดภาวะโบทูลิสมจากอาหารจากการบริโภคหน่อไม้ปี๊บที่จังหวัดน่านในพ.ศ. 2541โดยเกิดจากการเตรียมและบรรจุหน่อไม้ในปี๊บอย่างไม่เหมาะสม และมีการบริโภคในสภาพหน่อไม้ปี๊บที่ดิบหรือปรุงไม่สุกเพียงพอ ในครั้งนั้นมีกรณีผู้ป่วยมากกว่าสิบราย

ภาวะโบทูลิสมจากอาหารมีอาการอย่างไร
            อาการของภาวะโบทูลิสมจากอาหารอาจเกิดภายในเวลา 2 ถึง 36 ชั่วโมงหลังจากการบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อนสารพิษโบทูลิสม โดยอาการเกิดจากการที่สารพิษออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของจุดเชื่อมระหว่างระบบประสาทและกล้ามเนื้อ (neuromuscular junction) อาการเริ่มแรกได้แก่ การมองเห็นภาพไม่ชัด เห็นภาพซ้อน (เห็นภาพวัตถุสิ่งเดียวเป็นสองภาพ) หนังตาตก ลืมตาไม่ขึ้น พูดไม่ชัด กลืนน้ำและอาหารลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดมวนท้อง ปากแห้ง ท้องเสียหรือท้องผูก ต่อจากนั้นอาการอาจกำเริบทำให้กล้ามเนื้อแขนและขาอ่อนแรง หากอาการรุนแรงกล้ามเนื้อในระบบหายใจอาจอ่อนแรงด้วยจนทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถหายใจได้เพียงพอซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของภาวะโบทูลิสมจากอาหาร

ภาวะโบทูลิสมจากอาหารเป็นภาวะที่รักษาได้หรือไม่
            ภาวะโบทูลิสมจากอาหารเป็นภาวะที่รักษาได้โดยการรักษาประคับประคองตามอาการเป็นหลัก โดยการรักษาประคับประคองที่สำคัญของภาวะนี้ได้แก่การช่วยหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วยที่ไม่สามารถหายใจด้วยตนเองอย่างเพียงพอ ต่อจากนั้นร่างกายจะค่อยๆมีการฟื้นการทำงานของจุดเชื่อมระหว่างระบบประสาทและกล้ามเนื้อกลับสู่สภาพปรกติอย่างช้าๆ โดยเฉลี่ยจากการศึกษาในต่างประเทศระยะเวลาเฉลี่ยในการใช้เครื่องช่วยหายใจยาวประมาณ 2 ถึง 8 สัปดาห์ สำหรับการรักษาด้วยยาต้านพิษโบทูลิสม (botulism antitoxin) อาจมีประโยชน์หากมีการให้ยาแก่ผู้ป่วยในระยะเวลา 24 ชั่วโมงหลังจากการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อน โดยอาจช่วยลดระยะเวลาที่จำเป็นต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจให้สั้นลง

ประชาชนสามารถรับประทานอาหารบรรจุกระป๋องและหน่อไม้ปี๊บอย่างปลอดภัยได้หรือไม่
            ประชาชนสามารถรับประทานอาหารบรรจุกระป๋องและหน่อไม้ปี๊บอย่างปลอดภัยโดยอาศัยหลักเพื่อความปลอดภัยดังนี้
            - เลือกรับประทานอาหารบรรจุขวด กระป๋อง และ ปี๊บที่ ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
            - ตรวจบรรจุภัณฑ์เช่นกระป๋องหรือปี๊บว่ามีรอยบุบ หรือ โป่ง หรือไม่ ถ้ามีความผิดปรกติเหล่านี้ไม่ควรรับประทาน
            - ห้ามใช้วิธีชิมแม้เพียงเล็กน้อย หากสงสัยว่าอาหารที่บรรจุมาในภาชนะปิดสนิทเหล่านี้อาจมีการปนเปื้อน ทั้งนี้เพราะอาหารที่ได้รับการปนเปื้อนสารพิษอาจไม่ปรากฏความผิดปรกติใดๆทั้งลักษณะภายนอก สี กลิ่น และ รส และการสัมผัสสารพิษเพียงเล็กน้อยอาจทำให้เกิดภาวะโบทูลิสมได้
            - หากอาหารที่บรรจุขวด กระป๋อง และ ปี๊บนั้นเป็นอาหารประเภทที่สามารถปรุงให้สุกได้ เช่น หน่อไม้ ควรต้มอาหารนั้นให้เดือดเป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาทีเพื่อทำลายสารพิษที่ปนเปื้อนมากับอาหารนั้นก่อนการบริโภค

เมื่อไรควรสงสัยภาวะโบทูลิสมจากอาหารและควรทำอย่างไร
            หากเกิดอาการดังที่ปรากฏ หลังจากการบริโภคอาหารบรรจุขวด กระป๋อง และ ปี๊บ ควรไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาการอาจกำเริบสู่ภาวะรุนแรงอย่างรวดเร็ว

นอกเหนือจากภาวะโบทูลิสมจากอาหารยังมีโบทูลิสมแบบอื่นหรือไม่
            ภาวะโบทูลิสมอาจเกิดในรูปแบบอื่นๆนอกเหนือจากอาหารได้อีก 2 รูปแบบได้แก่

            1. ภาวะโบทูลิสมในเด็กทารก (Infant botulism) ซึ่งเกิดจากการเจริญของเชื้อ Clostridium botulinumและการสร้างสารพิษโบทูลิสมในทางเดินอาหารของทารก ซึ่งทางเดินอาหารของทารกมีปัจจัยสำคัญที่เหมาะสมในการเจริญของเชื้อได้แก่การพัฒนาการเคลื่อนไหวยังไม่ดีและความเป็นกรดต่ำ การป้องกันภาวะนี้ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการให้อาหารที่อาจปนเปื้อนสปอร์ของเชื้อ Clostridium botulinumเช่นน้ำผึ้งในเด็กทารกที่อายุน้อยกว่า 1 ปี
            2. ภาวะโบทูลิสมจากแผล (wound botulism) ซึ่งเกิดจากการเจริญของเชื้อ Clostridium botulinumและการสร้างสารพิษโบทูลิสมในบาดแผลที่มีการปนเปื้อนสปอร์จากดินการป้องกันภาวะนี้ทำได้โดยการล้างแผลให้สะอาด ปราศจากการปนเปื้อนของฝุ่นดิน

แหล่งข้อมูล
ผศ.นพ. สัมมน โฉมฉาย, botulism, ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
ศูนย์พิษวิทยาศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, http://www.si.mahidol.ac.th/th/department/preventive/dept_article_detail.asp?a_id=432

โรคชีวพิษโบทูลีนหรืออาหารเป็นพิษจากสารชีวพิษโบทูลีน (Butolism),
http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_nih/a_nih_1_001c.asp?info_id=1025
 สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค

ควบคุมโรคติดต่อ, กรม, กระทรวงสาธารณสุข. แผนเตรียมพร้อมต่อภัยคุกคามจากอาวุธชีวภาพ พ.ศ. 2545. กรุงเทพ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย. 2545.

เฉลิมศึก ยุคล, ม.จ.. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอาวุธชีวภาพและอาวุธเคมี: การป้องกันภัยคุกคามจากอาวุธชีวภาพและอาวุธเคมี. กรุงเทพ: พี.เอ.ลีฟวิ่ง. 2547.

ประเสริฐ ทองเจริญ. มหันตภัยอาวุธชีวภาพและอาวุธเคมี. กรุงเทพฯ: วิทยพัฒน์, 2546: 73-6.


วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ผื่นแพ้สัมผัสในเด็ก ใช้ยาอะไรดี? โดยเภสัชกรอุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล


รูปประกอบ มาจาก http://children.webmd.com/ss/slideshow-common-childhood-skin-problems

“ลูกเขาเป็นผื่นแพ้ได้ง่ายมากค่ะ โดนอะไรนิดหน่อยก้อเป็นรอยแดงผื่นขึ้น เกามากๆก้อจะเป็นแผลเลย ลูกหนูเค้าน้ำเหลืองไม่ดีใช่ไหมคะ?” 

คุณแม่ส้มพาลูกมาขอคำปรึกษาและเรียกอาการโรคว่าน้ำเหลืองเสียหรือแพ้น้ำลายยุง ความจริงแล้วอาการที่ว่ามานั้น ควรจะเรียกว่าโรคผื่นแพ้สัมผัสในเด็กมากกว่า และเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากโรคหนึ่ง อาการโดยทั่วไปทำให้ลูกรักมีผื่นแดง คันไม่สบายตัว ยิ่งมีรอยผื่นคันหรือรอยเกามากๆ ยิ่งดูไม่สวยงาม ทำให้คุณแม่คุณพ่อเกิดความกังวล  เรามีคำแนะนำในการดูแลและบรรเทาอาการ ช่วยให้ลูกรักหยุดเกาจากอาการผื่นแพ้สัมผัส

ผื่นแพ้สัมผัสทางผิวหนังคืออะไร? ทำไมจึงเป็นโรคนี้?
อาการโรคผื่นภูมิแพ้เป็นผื่นพบได้บ่อยที่สุดในเด็กๆ ทำไมถึงเป็นโรคนี้ได้หล่ะ? คุณพ่อคุณแม่ที่อดรนทนไม่ไหวที่เห็นลูกน้อยต้องเกาตลอดเวลาถามมา คำตอบก้อคือน่าจะเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่กรรมพันธุ์ ถ้ามีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้มาก่อน เช่น โรคหอบหืด โรคแพ้อากาศหรือผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนัง ลูกรักก้อจะเป็นโรคนี้ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดอาการโรคได้แก่
  • เหงื่อที่ไหลติ๋งๆจากอากาศร้อนอบอ้าว หรือผิวหนังแห้งมากๆ จากอากาศหนาวเย็นหรือห้องนอนลูกที่อากาศแห้งและเปิดแอร์เย็นเกินไป
  • สารระคายเคืองต่างๆ ที่เด็กๆมีโอกาสสัมผัสรอบๆตัวเขา ได้แก่ เสื้อผ้า  สบู่ แป้ง ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม มากมายเลยสำหรับต้นเหตุนี้
  • อาหารบางชนิดที่ลูกกินเข้าไป เช่น นมวัว ไข่ อาหารทะเล 
  • สารก่อภูมิแพ้ต่างๆที่เด็กแพ้หรือตอบสนองได้เร็วมากกว่าปกติ อย่างเช่น แมลงบางชนิด ไรฝุ่น  ขนแมวหรือสุนัขที่เลี้ยงไว้ในบ้าน เหล่านี้จะเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้ผื่นเป็นมากขึ้น

ทำไมเด็กๆจึงเป็นผื่นแพ้สัมผัสได้ง่าย?
ชั้นผิวหนังของเด็กๆมีความบอบบางและละเอียดอ่อนมากกว่าเราเย้อะมาก ทำให้ผิวของเด็กเมื่อได้รับต่อสิ่งเร้าจากสภาพแวดล้อม ทั้งแสงที่มีรังสียูวี สารเคมีและสารก่ออาการแพ้ต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าเราถึง 3 เท่า นี่เองจึงทำให้ผิวพรรณของเด็กเกิดอาการระคายเคืองและแพ้ง่าย โดยเฉพาะโรคผื่นแพ้ผิวหนัง โรคผิวหนังอักเสบ

ผื่นแพ้สัมผัสของลูกรัก สังเกตุอาการได้อย่างไร?

รูปประกอบ มาจาก http://children.webmd.com/ss/slideshow-common-childhood-skin-problems
ในช่วงวัยเด็กทารก เมื่อมีผิวแห้ง มักจะเกิดผื่นขึ้น  ลักษณะผื่นดังกล่าว จะเป็นตุ่มแดงคันหรือตุ่มน้ำใส มีน้ำเหลืองไหลเยิ้มได้ ตำแหน่งของผื่นที่คุณแม่มักสังเกตุพบได้บ่อยๆ ได้แก่บริเวณใบหน้า ด้านนอกของแขนขา ในเด็กโตผื่นจะขึ้นเป็นตุ่มหรือปื้นแดงหนาที่คอ ข้อพับต่างๆ เช่น ข้อพับของแขนและขา เด็กจะมีอาการคันจะมีอาการคันมาก หากเด็กเผลอเกาไปแรงๆแล้วเกิดอักเสบติดเชื้อผิวหนังตามมาก้อได้

โรคผื่นแพ้สัมผัสในเด็กมีวิธีรักษาอย่างไร?
อาการผื่นแพ้คันสามารถรักษาหายได้ หากคุณพ่อคุณแม่ใส่ใจ ค้นให้พบให้ได้ว่า อะไรคือปัจจัยที่เป็นสาเหตุให้ลูกรักเกิดอาการเมื่อแพ้สัมผัส และเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงไปไม่ให้ ผื่นแพ้สัมผัสกับสารนั้นอีก

การรักษาที่จะช่วยให้ลูกรักสบายตัวได้ก้อคือบรรเทาผิวหนังที่อักเสบของลูกรักให้กลับมาเป็นผิวหนังที่มีสุขภาพดีดังเดิม และป้องกันการเห่อซ้ำของผื่นแพ้สัมผัสเท่านั้น และหากพบว่าลูกน้อยมีอาการของผื่นแพ้เกิดขึ้น เราจะเลือกใช้ยาตามลักษณะของผื่นผิวหนังอักเสบที่พบ ดังนี้คือ
ลดการระคายเคืองผิวหนัง  โดยให้โลชั่น ครีมหรือออยเม้นท์ช่วยเคลือบผิวให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ  ชโลมทาผิวหนังบ่อยๆ หรือทาทันทีหลังอาบน้ำหรือหลังแช่ในอ่างน้ำ 15-20 นาที โดยทาภายใน   3 นาที  ก่อนที่น้ำที่ผิวจะระเหย 

ลักษณะการอักเสบของผิวหนังแบบเฉียบพลัน มีน้ำเหลืองไหลซึมออกมาจากรอยผื่น จะรักษาโดยใช้น้ำเกลือ (แบบเดียวกับน้ำเกลือล้างจมูก น่านแหละครับ) ประคบแผลไปเรื่อยๆ จนกว่าการไหลซึมของน้ำเหลืองจะแห้งลงๆ  เด็กมักชอบวิธีนี้เพราะไม่แสบและแผลจะแห้งไปเอง

หากพบการอักเสบของผิวหนังมีลักษณะเป็นผื่นแดง เป็นขุย คัน ถ้าน้องเค้าคันมากๆ ก้ออาจพบร่องรอยจากการแกะเการ่วมด้วย ระยะนี้จะเริ่มการรักษาโดยใช้ยาทาไปก่อนถ้าอาการไม่ดีขึ้นเราจึงให้ยากินควบคู่ไปด้วย
  • ยาทาแก้แพ้ กลุ่มแอนตี้ฮีสตามิน (Antihistamine) และสูตรผสม  ได้แก่ Chlorphenoxamine (Systral Cream) เนื้อครีมสีขาวนวล กลิ่นหอมๆ , Dimethidine (Fenistil Gel) เป็นเจลใสๆ ทาเย็นๆ สุดท้ายเจ้าเก่าที่เรารู้จักกันดีอยุ่แล้ว Calamine Lotion มีตัวยาหลักเป็น Diphenhydramine ให้ผลแก้แพ้ และยังผสมเนื้อแป้งสีชมพูของ Zinc Oxide ผสมกับ Ferrous Oxide เพื่อดูดซับเหงื่อและความชื้น ทาแล้วเย็นๆดี

  • ยาทากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ได้แก่ Triamcinoloe cream, Betamethasone cream เป็นต้น มีหลากรูปแบบทั้งลักษณะเป็นครีม, ขี้ผึ้ง, ยาน้ำ และชนิดพ่นเป็นละอองฝอย ยาเหล่านี้มีฤทธิ์แรงต่างกัน โดยเภสัชกรหรือแพทย์จะเลือกชนิดและความแรงของยา ให้เหมาะสมกับลักษณะและตำแหน่งของผื่นแพ้ของเด็ก ไม่ควรซื้อยานี้จากร้านขายยาเอง เพราะผู้ป่วยเด็กอาจมีผลข้างเคียงจากยาดังกล่าวได้ ในกรณีที่ใช้ยาที่แรงเกินไปกับผิวเด็กที่บอบบาง หรือทายาติดต่อกันเป็นเวลานาน
ผลแทรกซ้อนจากการใช้ยาสตีรอยด์ชนิดทามีผลทำให้ผิวบาง
และย่นเหมือนกระดาษ ,มีเส้นเลือดฝอยที่ผิวขยายตัวจนเห็นได้ชัดบนผิวหนัง มีจ้ำเลือดปรากฏใต้ผิวหนัง
ทำให้เกิดสิวหัวดำ, หรือตุ่มหนองสิว เมื่อทาแบบละเลงเป็นบริเวณกว้าง
อาการหน้าแดงและการอักเสบตามแก้ม จมูก และรอบริมฝีปาก และมีขนขึ้นผิดปกติที่บริเวณทายา เห็นไหมครับ ดังนั้นอย่าได้ซื้อยากลุ่มนี้ใช้เองเป็นอันขาด (รวมถึงผลิตภัณท์ยาหิ้วจากต่างประเทศ ที่มีส่วนผสมสเตียรอยด์ด้วย)
  • ยาทากลุ่มใหม่ๆ ปัจจุบันมียากลุ่ม Calcinurin inhibitors ทดแทนยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงในเด็กที่ต้องทายาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานานๆ แต่ราคายายังค่อนข้างสูง จึงพิจารณาเลือกใช้เป็นรายๆ และพิจารณาใช้ในน้องๆที่มีผลข้างเคียงจากยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยากลุ่มนี้ได้แก่  Pimecrolimus (Elidel) และ Tacrolimus (Protopic )

ยากินเพื่อบรรเทาอาการคัน
ได้แก่ยากลุ่มแอนตี้ฮิสตามีน ซึ่งมีหลายตัวเหลือเกิน
ทั้งยารุ่นดั้งเดิม ให้ผลการรักษาลดผื่นคันได้ดี แต่ต้องระวังผลข้างเคียงที่ทำให้เด็กง่วงซึม  และยังมีอาการ
ไม่พึงประสงค์เช่น คอแห้ง ปากแห้ง ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก ได้แก่ Chlopheniramine , Diphenhydramine (Benadryl) , Hydroxyzine (Atarax) 10-25 มก.ทุก 6-8 ชม.
และยาแอนตี้ฮิสตามีนรุ่นใหม่ กินแล้วเด็กๆไม่ค่อยง่วงซึม ได้แก่ Cetirizine (Zyrtec), Levocetirizine (Xyzal), Fexofenadine (Telfast), Loratadine (Claritin) เป็นต้น ยากลุ่มนี้ไม่ควรหาซื้อมากินเองนะครับ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ทุกครั้ง

คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความระมัดระวังในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลผิวหนังของเด็ก เมื่อผื่นเป็นมากไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นานหรือซื้อยาใช้เอง  เพราะการใช้ยาอย่างไม่ถูกต้องอาจทำให้มีผลข้างเคียงอื่นที่เป็นอันตรายตามมาได้ครับ หากมีคำถามอันใดสามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือเภสัชกรใจดีได้เลยครับ

แหล่งข้อมูล

•เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล สงวนลิขสิทธิ์ 1 สค. 2556

ห้ามนำบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ โดยผู้เขียนไปเผยแพร่เชิงพาณิชย์ ให้นำไปเผยแพร่เป็นวิทยาทานหรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น ผู้ประกอบการเว็บไซต์ต้องยึดหลักความเคารพและคำนึงถึงลิขสิทธิ์ในการสร้างสรรค์งานเขียนและจริยธรรมทางธุรกิจ
การนำเอาบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ ซึ่งผลิตขึ้นโดยผู้เขียนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตและผลิตซ้ำเพื่อเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาและ Copy url address http://www.oknation.net/blog/DIVING
ไปด้วยเพื่อให้ผู้อ่านสามารถลิ้งค์กลับมาอ่านบทความจากเว็บไซต์ของผู้เขียนได้โดยตรง
บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพ ไม่แนะนำให้คุณนำไปใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรคด้วยตนเอง ขอความกรุณารับคำปรึกษาได้โดยตรงจากบุคลากรสหวิชาชีพทางสาธารณสุข รวมทั้งเภสัชกรใจดี ที่พร้อมดูแลสุขภาพพ่อแม่พี่น้องนะครับ
  • รูปประกอบจากอินเตอร์เนท
"ผื่นภูมิแพ้" ป้องกันลูกรักอย่างไร ไม่ให้เกิด, http://utaisuk.blogspot.com/2011/11/blog-post_24.html

ยาทาสเตียรอยด์กับโรคผิวหนังอักเสบ Contact Dermatitis โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล

Protopic และ Elidel คือยาอะไร โดยเภสัชกรอุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล,

Crowe, Mark A.. "Contact Dermatitis." eMedicine , September 1, 2004. Available online at http://www.emedicine.com/ped/topic2569.htm

Contact Dermatitis in Children, The Johns Hopkins University,

skincare for your children,

"Contact Dermatitis." ,http://www.healthofchildren.com/C/Contact-Dermatitis.html#b#ixzz2aXIzIV4w
Bolognia, Jean L., ed. Dermatology, pp.227, 241-249. New York: Mosby, 2003.

Freedberg, Irwin M., ed. Fitzpatrick's Dermatology in General Medicine. 6th ed, pp.1309-1314, 2370. New York: McGraw-Hill, 2003.

Common Childhood Skin Problems,


แพทย์หญิงรัชยาณี คเนจร ณ อยุธยา, โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ชนิด atopic dermatitis หรือ atopic eczema, http://www.dst.or.th/know_details.php?news_id=21&news_type=kno

รศ.พญ.วาณี  วิสุทธิ์เสรีวงศ์, ผื่นแพ้ในเด็ก, ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=602

นพ.วิชนารถ เพรชบุตร,ผื่นคัน แพ้ ลมพิษ,หมอชาวบ้าน เล่มที่: 8 เดือน/ปี: ธันวาคม 1979, http://www.doctor.or.th/article/detail/5435

โรคผื่นแพ้สัมผัสในเด็กเกิดขึ้นได้อย่างไร?, http://haamor.com/th/ผื่นแพ้สัมผัสในเด็ก/

ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด, ยาแก้แพ้ cpm,  นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 357
เดือน/ปี: มกราคม 2009, http://www.doctor.or.th/article/detail/5849

อธิษฐาน พูลศิลป์ศักดิกุล, ผื่ผดคันในเด็ก,  ใกล้หมอ ปีที่ 21 ฉบับที่ 3 มีนาคม 2540, http://www.inderm.go.th/inderm_sai/skin/skin9.html

รวมโรครังควานผิวหนังลูกเล็ก , Modernmom, Vol.16 No.182 ธันวาคม 2553

ผื่นแพ้ส้มผัส, รพ. สมิติเวช,
http://www.samitivejhospitals.com/healtharticle_detail/ผื่นแพ้สัมผัส_80/th

พญ. ศรีศุภลักษณ์ สิงคาลวณิช, การดูแลผื่นภูมิแพ้, ชมรมแพทย์ผิวหนังเด็กแห่งประเทศไทย, http://www.formumandme.com/article.php?a=57

การรักษาโรคภูมิแพ้ในเด็ก, รพ. บำรุงราษฎร์,

แนะวิธีดูแลลูกน้อยให้ห่างไกล "ผื่นภูมิแพ้", ผจก ออนไลน์, http://www.manager.co.th/family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000149686

การใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอกในโรคผิวหนัง, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ,

ยาทาผิวหนังอักเสบ, นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 115, เดือน/ปี: พฤศจิกายน 1988,