วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2556

มะเร็งต่อมลูกหมากรักษาได้ไหม ?


หลังจากที่ได้รับการตรวจแล้ว ว่าญาติผู้ใหญ่ของเรามีความเสี่ยงของมะเร็ง และหากเกิดขึ้นมาแล้วจริงๆ เรามาดูว่าการรักษาต้องทำอย่างไร 

            การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก :
          การเลือกวิธีการรักษาขึ้นกับผลการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา ระยะของโรค อายุของผู้ป่วย รวมทั้งการประเมินสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย

การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรก
          ผู้ป่วยระยะนี้ ยังไม่มีการกระจายของมะเร็งไปนอกต่อมลูกหมาก อาจทำการรักษาได้ 2 วิธี คือ

          1. การผ่าตัดต่อมลูกหมากออกทั้งหมด ( Radical Prostatectomy )
           เป็นการผ่าตัดใหญ่เพื่อเอาต่อมลูกหมากที่เป็นมะเร็งรวมทั้งต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมด เป็นวิธีการที่สามารถทำให้หายจากโรคได้ ผู้ป่วยที่ผ่าตัดได้สำเร็จจะมีพยากรณ์โรคดีมาก มะเร็งในระยะที่ 1 จะมีอัตราการรอดชีวิตใน 10 ปีสูงถึงร้อยละ 80 ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง โดยทั่วไปไม่นิยมผ่าตัดในผู้ป่วยอายุมากกว่า 70 ปี ผลข้างเคียงที่อาจพบหลังผ่าตัด ได้แก่ การสูญเสียสมรรถภาพทางเพศ ท่อปัสสาวะตีบ และปัสสาวะเล็ด เป็นต้น

          2. การฝังรังสี ( Brachytherapy)
          เป็นการรักษาแบบใหม่ โดยการฝังแท่งรังสีขนาดเล็กมากเข้าไปที่ต่อมลูกหมากผ่านผิวหนังบริเวณฝีเย็บ เป็นการรักษารูปแบบใหม่มีใช้จำกัดในโรงพยาบาลบางแห่ง เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก มีข้อดีคือ อาจลดอุบัติการณ์ของการสูญเสียสมรรถภาพทางเพศหลังการรักษาได้

           3. การผ่าตัดโดยใช้กล้อง ( Laparoscopic radical Prostatectomy)
          เหมือนการผ่าตัดแบบ radical prostatectomy แต่ใช้กล้องแทน ได้ผลดีไม่แตกต่างกัน

การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในระยะลุกลาม
          มะเร็งในระยะนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษามีจุดประสงค์เพื่อยับยั้งการลุกลามเพิ่มขึ้นของมะเร็ง รักษาอาการปวดที่เกิดจากมะเร็ง และคงสภาพคุณภาพชีวิตปกติของผู้ป่วยให้มากที่สุด การพยากรณ์โรคหลังการรักษาด้วยวิธีนี้ยังดีมากเมื่อเทียบกับมะเร็งอื่นที่พบในเพศชาย เช่น มะเร็งปอด ตับ และลำไส้ใหญ่ การรักษามีหลักการที่สำคัญคือ การลด ยับยั้งหรือทำลายแหล่งผลิตฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญของมะเร็งต่อมลูกหมาก มี 2 วิธีการคือ
          1. การผ่าตัดเพื่อเอาอัณฑะออก เป็นการผ่าตัดเล็ก ได้ผลดี และเร็ว

          2. การใช้ยาฉีดหรือกิน เพื่อยับยั้งฮอร์โมนเพศชาย ยาส่วนใหญ่มีราคาแพง แต่ได้ผลการรักษาดีเท่ากับการผ่าตัดเอาอัณฑะออก แต่มีข้อเสียคือ ต้องฉีดหรือกินตลอดไป

ตอนหน้าเรามาดูว่า การป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ขึ้นมา ทำอย่างไรดีนะ?

แหล่งข้อมุล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ชูศักดิ์ ปริพัฒนานนท์, ต่อมลูกหมาก, หน่วยศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, http://medinfo2.psu.ac.th/cancer/db/news_ca.php?newsID=6&typeID=18

รูปประกอบจาก

   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น