วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2556

ลูกรักไอ ใช้ยาตัวไหนดีคะ? โดยเภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล


“ลูกไอค้อกแค้ก โขกๆในลำคอ อยากให้หายไอ จะต้องใช้ยาตัวไหนดีคะ?”
คุณแม่คนไหนก้อจะกังวลใจเมื่อได้ยินเสียงไอของลูกรัก ตอนที่แล้ว เราได้แนะนำไปแล้วว่าอยากให้บรรเทาอาการไอ ต้องรักษาที่ต้นเหตุของโรคที่ทำให้เกิดอาการไอตามมาด้วยเสมอ  

เมื่อถึงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้ยาในการดูแลเบื้องต้นบรรเทาอาการไอ มาฟังคำแนะนำจากเภสัชกรถึงยาตัวที่ได้ผลและปลอดภัย

อยากให้ลูกหายจากอาการไอต้องรักษาที่ต้นเหตุ...เสมอ
เมื่อลูกไอ  ในฐานะเภสัชกรที่ใส่ใจในสุขภาพลูกน้อยของคุณๆ เราอยากจะย้ำเตือนว่าให้เข้าใจว่าการไอไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการมีสาเหตุจากโรคได้หลายชนิดดังกล่าวมาแล้ว การบำบัดบรรเทาการไอที่ได้ผลไม่ใช่การเอาเงินไปซื้อยาแต่เพียงอย่างเดียว เพราะรักษาอาการไอโดยการกินยาแก้ไอเพียงอย่างเดียวแต่ไม่ได้รักษาต้นเหตุที่ทำให้ไอด้วย จะไม่ได้ช่วยให้ลูกคุณหรือคนที่คุณรักสามารถทำให้หายจากอาการไออย่างเงียบสนิทได้เลย

แถมซ้ำสิ่งที่น่ากลัวกว่าก้อคือ คุณแม่คุณพ่อบางคนที่มือหนักไปหน่อย ด้วยใจที่อยากให้หายไอเร็วๆ อาจจะได้รับคำแนะนำให้ใช้ยากดการไอที่แรงเกินไป ทำให้ลูกเราเงียบเสียงไอก้อจริง แต่หากไม่รักษาที่ต้นเหตุแล้ว อาการต้นเหตุอื่นก็กลับจะหนักขึ้นมากว่าเดิม ตัวอย่างเช่น ลูกคุณมีอาการไอเพราะเป็นหวัดธรรมดา ควรเริ่มต้นดูแลรักษาร่างกายน้องน้อยให้อบอุ่น กินอาหารให้ครบหมู่ นอนหลับให้เพียงพอ เพื่อที่ว่าร่างกายลูกน้อยมีภูมิต้านทานสูงขึ้นอาการหวัดและไอจึงจะหายไปได้ด้วยตัวของลูกคุณเอง ระหว่างนี้ ถ้าฝืนให้กินแต่ยาแก้ไอ โดยเฉพาะตัวแรงๆ ไปกดอาการไอ  แต่กลับไม่รักษาตัว ปล่อยให้โรคหวัดลุกลามมีโรคแทรกหรือมีอาการติดเชื้ออื่นๆตามมา ยาแก้ไอที่ผิดประเภทเช่นนี้กลับจะยิ่งซ้ำเติม ทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่ทราบเลยว่าลูกเรากำลังมีต้นเหตุของโรคอื่นๆตามมาในขณะที่เขาเงียบเสียงไอ

ลูกรักไอ ดูแลใส่ใจคือยาแก้ไอที่ดีที่สุด

อาการไอคือกลไกธรรมชาติ ที่ร่างกายน้องน้อยใช้ปกป้องทางเดินหายใจและร่างกาย  อยากเลือกใช้ยาตัวไหน อย่าลังเลสงสัยไปหาคำตอบจากเภสัชกรได้ทันทีเลยครับ แต่เรามีคำแนะนำเบื้องต้นในการเลือกใช้ยาตัวไหน ตามสาเหตุการไอดังนี้ 

ไอตามหลังไข้หวัด
ระหว่างน้องน้อยเป็นไข้หวัด ไม่ว่าจะเริ่มด้วยเป็นไข้หวัดธรรมดา หรือร่วมด้วยการติดเชื้อแทรกซ้อนตามมา มักมีอาการเป็นไข้อุณหภูมิสูง เจ็บคอ น้ำมูกไหล  รวมถึงไอด้วย หากได้รับการวินิจฉัยถูกต้อง รวมถึงรับยาครบถ้วน ดูแลร่างกายระหว่างเจ็บป่วยให้ดีๆ  อาการต่างๆจะบรรเทาลง ถ้าน้องน้อยเป็นหวัดมาก่อน จะมีอาการ ไอจากหวัดจะหายได้ ภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่จะมีประมาณร้อยละ 20 ที่ไออยู่เป็นเดือนๆ สาเหตุคือพอมีอาการไข้หวัด ทางเดินหายใจก้อจะอ่อนไหวเป็นพิเศษ คือถ้ามีอะไรมากระตุ้นนิดหน่อย ก้อจะไอได้ง่าย  ซึ่งเป็นกลไกปกติ เพื่อปกป้องร่างกายที่อ่อนแอระหว่างนี้ ให้ได้รับอากาศบริสุทธิ์มากที่สุด ไม่มีเสมหะ สารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆเข้ามาภายในร่างกายได้  ระหว่างนี้เนื่องจากร่างกายน้องเขาจะเกิดภาวะหลอดลมไวขึ้นกว่าปกติชั่วคราว หรือไม่ก็การทำงานของเยื่อบุหลอดลมยังไม่กลับสู่ปกติ

พอหายจากโรคหวัด จะสังเกตได้ว่าจะไอห่างๆ แบบนานๆครั้ง จนแทบลืมว่ามีอาการไอหลงเหลืออยุ่ แต่เมื่อไปกระทบอากาศเย็น ควันบุหรี่ ฝุ่นละออง อาการไอก้อจะเริ่มต้น ยาที่ให้มักจะเป็นยาบรรเทาอาการ เช่นยาละลายเสมหะ ส่วนยาระงับไอจะให้เมื่อจำเป็นเท่านั้น ถ้า ไอมากๆ อาจลองให้ยาสเตอรอยด์สูดร่วมกับยาขยายหลอดลม

ไอจากโรคโพรงจมูกและไซนัสอักเสบ
หากลูกรักของเรามีโรคดังกล่าวมาก่อนแล้ว อาการไอมักเกิดจากจะมีเสมหะไหลลงคอหรือ มีคออักเสบติดเชื้อร่วมด้วย เมื่อมีคออักเสบจะยิ่งระคายเคือง ถูกกระตุ้นให้ไอได้ง่าย การรักษาจะให้ยาลดอาการคัดจมูก และยาปฏิชีวนะควบคู่ไปด้วยเพื่อยับยั้งการติดเชื้อแบคทีเรีย หากมีโรคภูมิแพ้ก็ควรรักษาแบบภูมิแพ้ไปด้วย เมื่อการติดเชื้อลดลง โพรงจมูกไซนัสไม่มีการสะสมเชื้อ อาการไอก็จะค่อยๆหายไปตามลำดับ

ไอจากโรคหอบหืด
สังเกตุได้โดย ลูกน้อยเวลาหายใจจะมีเสียงดังวี๊ดๆ หรือหอบอย่างมาก เกิดจากหลอดลมตีบร่วมกับอาการไอ ในน้องน้อยที่มีประวัติหอบหืดหรือภูมิแพ้มาก่อน การรักษาจะต้องบรรเทาอาการโรคหืดร่วมด้วย โดยใช้ยาสูดสเตอรอยด์ร่วมกับยาขยายหลอดลม อาการไอก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

ลูกรักไอ ใช้ยาตัวไหนดีหล่ะ?
ยาแก้ไอที่เราพบได้ในท้องตลาดจะมีทั้งชนิดน้ำ ชนิดเม็ด มีทั้งที่เป็นยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณที่ปรุงขึ้นจากตัวยาสมุนไพรมีทั้งที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน และยาอันตราย นอกจากนี้ยังมีพวกลูกอมแก้ไอ ช่วยให้ชุ่มคอโล่งคอ การดูแลเบื้องต้นเมื่อลูกไอ แบ่งตามอาการและรูปแบบการไอ ได้ดังนี้ครับ

  1.               ไอแบบมีเสมหะ
คุณๆ สามารถดูแลรักษาเบื้องต้นเพื่อกำจัดเสมหะซึ่งเป็นต้นเหตุก่อให้เกิดอาการไอ ทำได้ง่ายมากที่สุดเลยครับ ดีกว่ากินยาเสียอีก คือแนะนำให้ลูกดื่มน้ำเยอะๆ ให้แบ่งจิบบ่อยๆ  ถ้าลูกดื่มน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่นได้ปริมาณเท่ากับดื่มน้ำเย็นก็ควรให้ลูกดื่มน้ำอุ่นแทน แต่หากดื่มน้ำอุ่นและน้ำธรรมดาไม่ได้ แต่ดื่มน้ำเย็นได้ก็ยอมไปก่อน เพื่อให้ดื่มน้ำได้เยอะๆ

ถ้าน้องน้อยมีเสมหะหรือเสลดที่ข้นเหนียวมาก ปรึกษาเภสัชกรก่อน แล้วเลือกใช้ยาแก้ไอประเภทละลายเสมหะ ก็เพื่อไปออกฤทธิ์ไป ละลายเสมหะที่ข้นเหนียวจับกันเป็นก้อนอุดดขวางทางเดินหายใจให้ใสร่วน ละลายออกได้ง่ายขึ้น ครานี้ร่างกายลูกเราก้อจะได้ขจัดออกได้ง่ายขึ้น ทำให้สบายคอและหายใจได้สะดวกขึ้น อาการไอก้อจะค่อยๆหายไป

2.              ไอเพราะน้ำมูก มีเสมหะ และรู้สึกระคายเคืองลำคอ
แต่ถ้ามีอาการไอแบบแห้งๆ หรือไม่มีเสลด การใช้ยาแก้ไอก้อเพื่อต้องการให้ยาไประงับอาการไอนั้นเสีย เพื่อที่ลูกเราจะได้ไม่ต้องทรมานกับการไอ และพักผ่อนได้เต็มที่

ให้เลือกใช้วิธีรักษาตามอาการ ถ้าลูกน้อยแค่มีอาการระคายเคืองในลำคอ ให้เลือกใช้อมยาอม วิตามินซี หรือการให้ลูกชงน้ำผึ้งในน้ำอุ่ม จิบดื่มบ่อยๆ ก็ช่วยทำให้ชุ่มคอได้

ส่วนอาการไอที่เกิดจากน้ำมูก ถึงเวลาต้องใช้ยาแล้วหล่ะครับ ให้กินยาลดน้ำมูกเสียก่อน อย่าลืมปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อจะได้คำแนะนำปริมาณยาที่ถูกต้องและแม่นยำให้หายไอไปได้ ทำไมเราต้องให้ยาตัวนี้ เท่าที่จำเป็นและตามความเหมาะสมของร่างกายเด็กๆแต่ละคนนั้น เนื่องมาจาก การให้ยาลดน้ำมูกมากเกินขนาดการรักษา ไปทำให้น้ำมูกแห้งก้อจริง แต่เสมหะจะเหนียวข้นเกินพอดีไป จนไปจับตัวเป็นก้อนเสมหะหนาแน่นจนระบบร่างกายของลูกเราอาจขากกำจัดเสมหะให้ไหลออกออกมาไม่ได้ บางรายเสมหะที่กำจัดไม่ออก อาจไปเป็นจุดเริ่มทำให้อาการลุกลามจนถึงขั้นเป็นปอดบวมได้ก้อมีนะครับ

เมื่อเราเลือกใช้ให้ลูกกินยาลดน้ำมูกไปแล้ว ควรให้ดื่มน้ำในปริมาณที่มากขึ้นตามไปด้วย เพื่อทำให้เสมหะอ่อนตัว ละลายง่าย ไม่เหนียวข้น แม้ว่าเด็กวัยนี้ยังขากเสมหะทิ้งไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเสมหะที่เหลวก็จะทำให้ลูกกลืนลงกระเพาะไปได้โดยง่าย

ไออันเนื่องมาจากสาเหตุอื่นๆหล่ะ ไอจากโรคภูมิแพ้ การรักษาและใช้ยาของโรคนี้จะมีรายละเอียดมาก จนต้องมาสรุปให้ฟังต่อในครั้งหน้าครับ ส่วนสาเหตุอื่นๆได้แก่ โรคกรดไหลย้อน  , ไอจากวัณโรคปอด ควรไปรับการรักษาที่สาเหตุจากแพทย์ ต่อไปครับ

แหล่งข้อมูล

•เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล สงวนลิขสิทธิ์ 26 มีค. 2556


ห้ามนำบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ โดยผู้เขียนไปเผยแพร่เชิงพาณิชย์ ให้นำไปเผยแพร่เป็นวิทยาทานหรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น ผู้ประกอบการเว็บไซต์ต้องยึดหลักความเคารพและคำนึงถึงลิขสิทธิ์ในการสร้างสรรค์งานเขียนและจริยธรรมทางธุรกิจ


การนำเอาบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ ซึ่งผลิตขึ้นโดยผู้เขียนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตและผลิตซ้ำเพื่อเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาและ Copy url address ไปด้วยเพื่อให้ผู้อ่านสามารถลิ้งค์กลับมาอ่านบทความจากเว็บไซต์ของผู้เขียนได้โดยตรง


บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพ ไม่แนะนำให้คุณนำไปใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรคด้วยตนเอง ขอความกรุณารับคำปรึกษาได้โดยตรงจากบุคลากรสหวิชาชีพทางสาธารณสุข รวมทั้งเภสัชกรใจดี ที่พร้อมดูแลสุขภาพพ่อแม่พี่น้องนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น