วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เกิดบาดแผลต่างๆ ระหว่างน้ำท่วม ดูแลอย่างไรให้หายเร็วๆ

ระหว่างน้ำท่วมหรือกลับมาบ้านในพื้นที่ที่น้ำลดแล้ว ก็ได้เวลาที่เจ้าของบ้านจะกลับเข้ามาฟื้นฟูบ้านตัวเองเสียที เชื่อว่าหลายบ้านที่ถูกน้ำท่วมขังนาน ๆ อาจต้องซ่อมแซมบ้านเรือน ข้าวของเครื่องใช้กันใหม่ และแน่นอนว่า การทําความสะอาด จัดเก็บบ้านและข้าวของเครื่องใช้ภายหลังน้ำท่วมอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ และบาดแผลได้เลยทีเดียว


          อ๊ะ อ๊ะ ช้าก่อน!!! อย่าคิดว่าเป็นแผลนิดหน่อยแล้วเรื่องเล็กนะคะ เพราะหากดูแลบาดแผลไม่ดี อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลเป็นหนองจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หากเป็นแผลเรื้อรังเนื้อเยื่อเกิดการเน่า ทําให้อาจต้องตัดอวัยวะส่วนนั้นทิ้งไป หรือเสียชีวิตได้เลย และหากมีเชื้อโรคบาดทะยักเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล อาจทําให้เสียชีวิตได้เช่นกัน 

          เพราะฉะนั้น มาดูกันดีกว่าว่า ถ้าหากเกิดบาดแผลแล้วจะทำอย่างไร วันนี้ เรามีข้อมูลจาก หนังสือ ภัยสุขภาพ : ป้องกันอย่างไร ในภาวะน้ำลด โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มาบอกกัน



การปฏิบัติเมื่อเกิดบาดแผล

           แผลข่วน แผลถลอก หรือแผลแยกของผิวหนังที่ไม่ลึก จะมีเลือดออกเล็กน้อยและหยุดเองได้ แผลพวกนี้ไม่ค่อยมีอันตราย ให้ทําความสะอาดบาดแผล โดยใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน ไม่จําเป็นต้องปิดแผล แผลจะหายเอง

           แผลฉีกขาด เป็นแผลที่เกิดจากแรงกระแทก หากเป็นวัสดุที่ไม่มีคม แผลมักฉีกขาดขอบกระรุ่งกระริ่ง แผลชนิดนี้เนื้อเยื่อถูกทำลาย และมีโอกาสติดเชื้อมาก ควรทำความสะอาดบาดแผลให้สะอาด ถ้าบาดแผลลึกมากควรนําส่งโรงพยาบาล เพราะผู้ป่วยอาจได้รับอันตรายจากการติดเชื้อโรคได้



การปฐมพยาบาล


การทำความสะอาดบาดแผล

           ล้างมือให้สะอาดก่อนทำแผล เพื่อช่วยลดจำนวนเชื้อโรคที่มือ 

           ล้างบาดแผลดวยน้ำสะอาด ซับให้แห้งด้วยผ้าสะอาด  

           ใช้สําลีสะอาดชุบน้ำยาแอลกอฮอล์ เช็ดรอบ ๆ แผล โดยเช็ดจากข้างในวนมาข้างนอกทางเดียว ไม่ต้องเช็ดลงบนแผล

           ใส่ยาฆ่าเชื้อโรค เช่น เบตาดีน ลงบนแผล เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อ

           ปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ หรือผ้ากอซ ไม่ควรใช้สําลีปิดแผล เพราะเมื่อแผลแห้งแล้วจะติดกับสำลี ทําให้ดึงออกยาก เกิดความเจ็บปวด และอาจทำให้เลือดไหลได้อีก

           ทําความสะอาดแผลเป็นประจำทุกวัน

           หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลสกปรก หรือเปียกน้ำ เพราะอาจทําให้แผลเกิดการอักเสบ เป็นหนอง หรือหายช้า

           สังเกตอาการอักเสบของบาดแผล เช่น บวม แดง ร้อน สีผิวของบาดแผลเปลี่ยนไป มีหนอง ควรรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อรักษาต่อไป    


แหล่งข้อมูล

ดูแลอย่างไร ให้บาดแผลหายเร็ว

http://fb.kapook.com/health-33974.html


รูปประกอบจาก
http://net-photography.com/gallery3/index.php/News-and-Features/Flooding-in-Thailand-2011/Flooding_in_Thailand_20111029__NP14972

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น