วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ไทรอยด์เป็นพิษ จะรู้ได้ไงว่าเป็นโรคนี้

หากวันนึง เราเกิดมีอาการ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วและแรง เหนื่อยง่าย อยู่ไม่สุข ต้องทำโน่นทำนี่ ดูลุกรี้ลุกรน พูดเร็ว กลายเป็นคนขี้ร้อน เหงื่อออกมาก เปิดแอร์เท่าไหร่ก้อไม่หนาวเลย หิวบ่อย กินจุ แต่ไม่อ้วน น้ำหนักลด อุจจาระบ่อย ถ้าเป็นมากๆนานๆ ลูกตาอาจโปนถลนออกมา อย่าได้วางใจ เพราะที่กล่าวมาอาการเตือนของโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือโรคคอพอกเป็นพิษ เรามาทำความรู้จักเพื่อรักษาโรคนี้กัน 

ต่อมไทรอยด์ ซึ่งอยู่ที่ลำคอด้านหน้าต่ำกว่าลูกกระเดือกเล็กน้อย ทำหน้าที่สร้างและหลั่งฮอร์โมนไธรอยด์ออกสู่กระแสเลือด เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายทำงานเป็นปกติ โดยเฉพาะหัวใจและประสาท 


โรคคอพอกเป็นพิษ เป็นการเสียสมดุลของฮอร์โมนไธรอยด์ โดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่เกี่ยวข้องกับอาหารทะเลแต่มีปัจจัยบางอย่างที่เกี่ยวข้องดังนี้ 

1.เพศหญิง โรคนี้เกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 4-8 เท่า 

2.กรรมพันธุ์ บางครอบครัวเป็นกันทั้งมารดา และลูกสาว 

3.ความเครียดทางจิตใจ พบว่าทำให้เกิดอาการคอพอกเป็นพิษได้ 

ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ อาจสร้างฮอร์โมนออกมามากเกินไป ต่อมจะมีขนาดโตขึ้นจนมองเห็นได้ชัดเจน ถ้าคลำดูจะมีลักษณะหยุ่นไม่แข็ง อาจฟังได้ยินเสียงฟู่ ๆ เนื่องจากมีเลือดไปเลี้ยงต่อมมากกว่าปกติ 


วิธีการตรวจหาระดับฮอร์โมนในร่างกายทำได้ 2 วิธี 

1.เจาะเลือดตรวจหาระดับฮอร์โมนไทรอยด์ว่าสูงกว่าปกติหรือไม่ 

2.การตรวจโดยกัมมันตรังสีไอโอดีน เพศหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่สงสัยว่าตั้งครรภ์ควรบอกแพทย์เพราะอาจมีผลเสียต่อเด็กในครรภ์ได้ 


คอพอกเป็นพิษอย่างไร 

อาการแสดงเป็นพิษเกิดจากฮอร์โมนไทรอยด์ไปกระตุ้นการำงานของร่างกายมากขึ้นดังนี้ 1.หัวใจจะถูกกระตุ้นให้ทำงานมากจึงมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นได้ขณะที่นั่งสบาย ๆ ได้แก่ ใจสั่น หัวใจเต้นแรงและเร็ว จับชีพจรจะเต้นไม่สม่ำเสมอในบางครั้ง เหนื่อยง่าย 

2.เนื้อเยื่อของร่างกายเผาผลาญสร้างพลังงานออกมามาก และเปลี่ยนเป็นความร้อนออกจากร่างกายได้มากเช่นกัน จากอาหารที่รับประทานเข้าไปและที่เก็บสำรองไว้เป็นไขมันและกล้ามเนื้อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้มีอาการเหล่านี้ ร้อนและเหงื่อออกมาก มือมักจะอุ่นและชื้น กินจุ แต่ผอมลง 

3.ระบบประสาทถูกฮอร์โมนไทรอยด์กระตุ้นมากขึ้นทำให้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายถูกกระตุ้นให้ทำงานผิดปกติได้เช่นเดียวกัน มือสั่น ตกใจง่าย ลำไส้ถูกกระตุ้นทำให้ถ่ายอุจจาระบ่อยวันละหลาย ๆ ครั้ง กล้ามเนื้อบริเวณต้นแขนและขามักอ่อนแรง บางครั้งเมื่อนั่งยอง ๆ ก็ลุกไม่ไหว ประจำเดือน อาจมาน้อย หรือห่างออกไป นัยน์ตาอาจโตโปนถลนหรือหนังตาบนหดรั้งขึ้นไป ทำให้เห็นตาขาวข้างบนชัด ดูคล้ายคนดุ 


การรักษาคอพอกเป็นพิษมี 3 วิธี 

วิธีแรก ยาเม็ดรับประทาน เพื่อควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ทำให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้น เช่น น้ำหนักเพิ่มขึ้น ชีพจรเต้นช้าลง ใจสั่นลดลง ฯลฯ ต้องใช้ยาติดต่อกันตั้งแต่ปีครึ่งถึงสองสามปี บางรายต้องรับประทานยาเป็นประจำ ถ้าหยุดยาทำให้มีอาการเป็นพิษได้อีก 

ข้อควรสังเกตอาการที่ควรรายงานให้แพทย์ทราบจากการใช้ยาเม็ด 

1.มีโรคติดเชื้อบ่อยเนื่องจากฤทธิ์ยาทำให้มีเม็ดเลือดขาวต่ำในร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไข้สูง เจ็บคอ แต่พบได้น้อยมาก 

2.มีผื่นคันตามผิวหนัง มักเป็นไม่รุนแรง 

3.มีผมร่วงจากที่ไม่เคยร่วง 

4.คอพอกโตขึ้นกว่าเดิม 

5.ตะคิวจับบ่อย 

6.ท้องผูกบ่อย 

วิธีที่สอง การผ่าตัดเพื่อเอาต่อมไทรอยด์บางส่วนออก

ซึ่งจะให้ผลการรักษาเร็วกว่าวิธีกินยาเม็ด การผ่าตัดเหมาะที่จะใช้ในรายที่คอโตมาก ๆ หรือเมื่อรักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล ข้อเสีย การผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกมากไป ทำให้ต่อมส่วนที่เหลือสร้างฮอร์โมนไม่พอใช้ ต้องกินยาฮอร์โมนไธรอยด์ทดแทนตลอดชีวิตและอาจมีเสียงแหบได้ 

วิธีที่สาม การกินน้ำแร่สารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 จะไปสะสมที่ต่อมไทรอยด์แล้วปล่อยรังสีทำลายต่อมให้หายเป็นพิษ วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยรักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผลหรือผู้ป่วยที่มีอายุมาก แต่ห้ามใช้ในหญิงกำลังตั้งครรภ์ ข้อเสีย ถ้าได้รับน้ำแร่จำนวนน้อยก็ไม่หายขาด ต้องกินซ้ำอีก หรือมากเกินไปอาจเกิดภาวะขาดฮอร์โมนได้เช่นกัน 


การดูแลสุขภาพ 

1.รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมมิให้อาการคอพอกเป็นพิษรุนแรงขึ้น 

2.สังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นของผลข้างเคียงของยาหรือการรักษา เพื่อรายงานอาการได้ถูกต้อง 

3.ติดตามการรักษา เพื่อเป็นผลดีต่อการรักษา 

4.รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะได้ทุกประเภท 


แหล่งข้อมูล

นพ. สุรพงศ์ อำพันวงษ์, โรคต่อมไทรอยด์,

http://home.comcast.net/~turtle1ds/Thyroid.htm


โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรงพยาบาลวิภาวดี

http://www.vibhavadi.com/web/health_detail.php?id=39

รูปประกอบจาก
http://www.ayushveda.com/magazine/hyperthyroidism-treatment/
http://my.opera.com/prateeknayak/albums/showpic.dml?album=3233791&picture=82367022

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น