วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

“ความดันโลหิตสูง” คุมได้ ถ้าเข้าใจเรื่องการใช้ยา

      
 “เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือด” ดูจะเป็นวลีที่ไม่มีใครอยากจะได้ยินหรือพบเจอในชีวิตจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนึ่งในสามนั้น คือโรคความดันโลหิตสูง แทบจะกลายเป็น “โรคสามัญ” ที่ใครก็เป็นกันได้

      
       เรามีคำแนะนำจาก อาจารย์ นพ.สงัด วงศ์สิโรจน์กุล อายุรแพทย์ประจำโรงพยาบาลมิชชั่น กล่าวว่าความดันโลหิตของคนเราจะมีตัวบนกับตัวล่าง ตัวบนหรือตัวสูง ปกติจะอยู่ที่ระดับ 120-130 ส่วนตัวล่าง จะประมาณ 70-80 แต่ถ้าพ้นจากบริเวณนี้ไปอาจเข้าข่ายโรคความดัน อย่างไรก็ดี สำหรับคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว มาให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการรักษา ตลอดจนป้องกันสำหรับคนที่ยังไม่เป็นไว้ ดังต่อไปนี้ คือ

       
แนวทางเบื้องต้น เริ่มด้วยการช่วยเหลือตนเอง
ซึ่งควรจะทำตั้งแต่ยังไม่เป็นโรค เพราะว่าสามารถควบคุมและป้องกันความดันโลหิตสูงได้ และข่าวดีก็คือ “3 สหายที่เป็นภัยร้าย” ทั้งเบาหวาน ความดัน และไขมันในเลือด สามารถป้องกันได้ด้วยวิธีการแบบเดียวกันนี้ คือ
      
      การควบคุมน้ำหนัก ต้องทานอาหารที่มีไขมันน้อย แป้งน้อย ลดอาหารที่มีหวานลงมาหน่อย เพราะถ้าเราลดน้ำหนักได้ ความดันจะลดลงทันตาเห็น บางคนที่เคยทานยาหมอสี่เม็ด ก็ลดลงเหลือเม็ดเดียวได้ ในสถานการณ์แบบนี้
      
       ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะว่าความดันมันมีผลด้วยตัวของมันเอง แม้เราออกกำลังกายแล้วน้ำหนักไม่ลด ก็มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงลดลงได้ และควรออกกำลังกายอย่างน้อยให้ได้วันละ 30 นาที 4-5 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งถ้าทำได้สม่ำเสมอ ในระยะยาว ความดันสูงจะค่อยๆ ลดลงอย่างมั่นคง ไม่ขึ้นๆ ลงๆ เหมือนตอนเริ่มออกกำลังกายในครั้งแรกๆ สรุปก็คือ ออกกำลังกายนั้นดีแน่ เพราะถึงแม้น้ำหนักไม่ลด แต่ก็สามารถลดความดันลงได้
      
       การกิน ควรลดอาหารรสเค็ม ยิ่งลดเค็มได้มากเท่าไร ยิ่งดีมากเท่านั้น และที่มีการแนะนำแล้วกระทำได้ผลอย่างมากก็คือ การเน้นทานผักผลไม้เยอะๆ และลดอาหารที่มีไขมันสูง

       
   แนวทางการแพทย์ หรือการใช้ยา 

ซึ่งเป็นดุลพินิจของหมอที่จะต้องสั่งจ่ายยาอย่างเหมาะสม กับคำพูดที่ว่า เป็นความดันโลหิตสูงแล้วกินยา ก็ต้องกินยาตลอดชีวิต ทั้งถูกและผิด เพราะถ้าเราได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคนี้จะไม่หายไปไหน แต่มันจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต การปรับพฤติกรรมจะทำให้ความดันลดลง แต่ไม่ได้ทำให้มันหายไปไหน แต่ความดันจะลดลงโดยไม่ต้องพึ่งยา บางคนเคยกินยา 10 เม็ด สามารถลดลงเหลือเม็ดเดียวได้ แต่ถ้าเราไม่สามารถปรับพฤติกรรมได้จริงๆ ก็มีแนวโน้มที่จะต้องกินยาตลอดชีวิต

       
       “ถ้าหมอแนะนำให้กินยา อย่าไปกลัว เพราะมันมีวลีบางอย่างที่ทำให้เราเข้าใจผิด เช่น กินยาแล้วต้องกินตลอดชีวิต เราก็เลยไม่อยากกิน เพราะกินแล้วต้องกินตลอดชีวิต คือความเข้าใจผิด แต่ความจริงก็คือว่า เพราะความดันโลหิตเราสูงจนถึงขั้นต้องใช้ยา และเพราะมันไม่หาย เราก็เลยต้องกินยาไปเรื่อยๆ ต่างหาก แต่ถ้าเราปรับพฤติกรรมได้ ความดันเราอยู่ในระดับที่ดีพอ และเราสามารถควบคุมความดันได้สม่ำเสมอจริงๆ หมอก็จะสั่งลดยา บางคนบอกว่า กินยามากแล้วไตจะเสีย กินยามากแล้วตับจะพัง”
       
       “ที่จริงแล้ว ยาเบาหวาน ยาความดันโลหิตสูง ยาไขมันในเลือดสูง เป็นยาที่ถูกออกแบบมาเพื่อว่า น่าจะกินตลอดชีวิตเพราะคนที่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองได้จนไม่ต้องใช้ยา มีจำนวนน้อยมาก ดังนั้น เราจึงหวังว่ามันจะต้องเป็นยาที่กินได้ตลอดชีวิต ยาที่ใช้ ส่วนใหญ่จะทดลองกันมานาน และปลอดภัย ยาบางตัว กินหนึ่งเดือน แทบจะไม่มีปัญหาเลย แต่ถ้าต้องกินตลอดชีวิต อาจจะมีผลข้างเคียงได้ แต่ผลข้างเคียงเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรารู้กันมานานแล้ว คือไม่ได้บอกว่ากินยาแล้วไม่มีปัญหา เพียงแต่ว่ามันเป็นส่วนน้อย อย่ากลัวไปก่อน และหมอก็เฝ้าระวังอยู่ และอันตรายมันก็น้อยกว่ามาก เมื่อเทียบกับการไม่ทานยาหรือไม่ควบคุมเลย” 

       

แหล่งข้อมูล : รายการ “Health Line สายตรงสุขภาพ” http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000067785

ภาพประกอบ;
http://www.ibew.org/articles/01journal/0107/safety&health.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น