การรักษาความดันโลหิตสูงคือการรักษาให้ความดันโลหิตมีค่าต่ำกว่า
140/90มม.ปรอท เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับอวัยวะที่สำคัญ คือ หัวใจ ตา ไต
และสมอง
เราคงคุ้นชินกับการรักษาความดันโลหิตสูงโดยการใช้ยามาแล้ว จะดีกว่าไหม ถ้าเรามีการดูแลรักษาโรคโดยไม่พึ่งพาแต่ยาอย่างเดียวมาช่วยด้วย แต่จะควบคู่กันไปเพื่อให้เรามีควบคุมอาการโรคอย่างมีความสุข และใช้ยาให้น้อยแต่ปลอดภัยและได้ผล
การรักษาโดยใช้หลักของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
(Lifestyle modification) ดังนี้
1. งดการสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควรให้ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง เลิกสูบบุหรี่เพราะบุหรี่เป็นสาเหตุปะจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เชื่อว่าสารที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ทำให้เสี่ยงต่อรคหัวใจขาดเลือดคือนิโคติน และคาร์บอนมอนนอกไซด์ โดยมีนิโคตินกระตุ้นการหลั่งชองแค็ททิโคลามีน ( catecholamine) ซึ่งสารตัวนี้มีผลทำให้การเต้นของหัวใจหลอดเลือดหดตัวมีขนาดเล็กลงความดันโลหิตสูงขึ้นและเกล็ดเลือดจับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนคาร์บอนมอนนอกไซด์ มีผลทำให้กลามเนื้อหัวใจได้รับออกซิเจนน้อยลงนอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังทำให้ระดับเอชดีแอล (HDL)ลดต่ำลง
2. การลดน้ำหนัก โรคอ้วนทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ นอกจากนี้โรคอ้วนยังทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ จากการวิจัยพบว่าเมื่อสามารถลดน้ำหนักได้ 1 กิโลกรัม ในคนที่เป็นโรคอ้วนจะสามารถลดความดันโลหิตในส่วนของค่าซิสโตลิกลดลง 2.5 มม.ปรอท และในส่วนค่าไดเอสโตลกิกลดลง 1.5 มม.ปรอท การลดน้ำหนักนอกจากการกำจัดแคลลอรี่แล้วการลดอาหารที่มีคอเลสเตอรอล ( cholesterol ) สูง และอาหารที่มีกรดไขมันชนิดอิ่มตัวด้วย
3. การลดอาหารเค็ม เป็นที่ยอมรับกันโดยั่วไปการลดปริมาณการบริโภคเกลือพอสมควรช่วยลดความดันโลหิตสูง อาหารที่กินประจำวันโดยทั่วไปมีปริมาณเกลือ 10- 20 กรัมจากปริมาณนี้ปริมาณ 2 ใน 3 เป็นเกลือในอาหารตามธรรมชาติ ส่วน 1ใน3 เป็นเกลือที่เพิ่มขึ้นในขณะปรุงอาหารถ้าลดการบริโภคเกลือจาก 10 กรัมเหลือ 5 กรัมต่อวัน จะสามารถลดความดันโลหิตในส่วน ซิสโตลิกหรือค่าตัวบนได้ถึง 10 มมปรอท และลดค่าไดแอสโตลิก หรือค่าตัวล่างได้ถึง 5 มม.ปรอท ในประเทศไทยซึ่งกินเกลือน้อย ( 2 กรัม หรือน้อยกว่าต่อวัน)ไม่พบว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงแต่ตรงข้ามในประเทศที่กินเกลือมาก เช่น ญี่ปุ่นภาคเหนือซึ่งเฉลี่ยกินถึง 25 กรัมต่อวันพบว่ามีค่าความดันโลหิตสูงและเส้นเลือดแตกในสมองมากแห่งหนึ่งของโลก
คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจแนะนำสำหรับคนทั่วไปแล้วไม่ควรกินเกลือมากกว่า 6 กรัมต่อวัน ซึ่งจำนวนนี้มีโซเดียม 2.3 กรัม โซเดียมเป็นตัวการจริงๆในเกลือแกง(โซเดียมคลอไรด์)ที่ก่อให้เกิดความดันโลหิตสูง
ในทางปฏิบัติแนะนำไม่ให้เพิ่มรสเค็ม พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือปน เช่น ของดอง เค็ม ตากแห้ง เป็นต้นหรืออาหารที่มีปริมาณเกลือสูงอยู่แล้วเช่น กะปิ น้ำปลา เป็นต้นและระมัดระวังการใช้สารอาหารและยาที่มีโซเดียมสูง อาหารที่มีโซเดียมสูงได้แก่ ผักดอง แฮม เบคอน เนื้อบดกระป๋อง ไส้กรอก ไส้กรอกซาลามิ ปลารมควัน ผงฟู ซีอิ้ว กะปิ เนยแข็ง ยีสต์ ผักกระป๋อง ส่วนยาที่มีโซเดียมสูง เช่น ยาลดกรด เป็นต้น เมื่อโซเดียมสะสมอยู่ในร่างกาย บางส่วนจะแทรกเข้าไปในกล้ามเนื้อของผนังหลอดเลือดแดงฝอย ทำให้ความตึงตัวของผนังหลอดเลือดแดงฝอยเพิ่มขึ้นจนทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น
4. หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้า และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ผู้ที่ดื่มเหล้าจัดในขนาด 2-3 ออนซ์ (ประมาณ 60 - 90 ซีซี ) ต่อวันพบว่ามีอุบัติการณ์เป็นโรคความดันโลหิตสูงได้มากขึ้น แต่ในการศึกษาส่วนใหญ่ในผู้ที่ดื่มต่ำกว่าวันละ 2 ออนซ์ (ประมาณ 60 ซีซี) ไม่พบว่ามีความดันสูงกว่าปกติแต่อย่างใด
สำหรับผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง และเป็นนักดื่มอยู่หากให้หยุดดื่มจะพบว่าระดับค่าความดันทั้งตัวบนและตัวล่าง( ค่าซิสโตลิก และค่าไดแอสโตลิก ) จะลดลงเรื่อยๆและมากสุดใน 2 สัปดาห์ แต่ยังคงลดต่อไปอีก 6 สัปดาห์ นอกจากนั้นยังลดน้ำหนักตัวได้อีกด้วย
ดังนั้น แนวทางปฏิบัติของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงคือ หากดื่มสุราให้ลดลงเหลือไม่เกิน 2 ออนซ์(ประมาณ 60 ซีซี)ต่อวันและหากหยุดได้ก็จะเป็นผลดีต่อการรักษาความดันโลหิต
5. การออกกำลังกาย การออกกำลังกายประเภทที่มีการเคลื่อนที่และมีความสมดุลของระบบการเคลื่อนที่ เช่น การวิ่ง เดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และเต้นแอโรบิค เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงในร่างกายในคนปกตินั้น คือชีพจรเต้นเร็วขึ้น ความดันตัวบน หรือความดันซิสโตลิกเพิ่มมากขึ้น หากพบว่าค่าความดันซิสโตลิกสูงถึง 200 หรือกว่านั้น ก็ถือว่าเป็นเครื่องชี้ว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงในอนาคต สำหรับการเปลี่ยนแปลงของผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง จะพบว่าค่าความดันทั้งตัวบนและตัวล่างสูงขึ้นมากกว่าปกติ แต่หากได้ฝึกฝนไปนานๆทั้งความดันโลหิตสูงและอัตราการเต้นของหัวใจจะขึ้นสูงไม่นานนัก การรายงานส่วนมากยืนยันส่าผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง หากได้ฝึกการออกกำลังกายแล้วจะทำให้ความดันโลหิตขณะพักลดลง 10-20 มม.ปรอท
จากการศึกษาเรื่องการปรับตัวของระบบหัวใจ และหลอดเลือดต่อการฝึกฝนออกกำลังกายพบว่าเมื่อฝึกฝนไปได้ 3 เดือน ระบบหัวใจและหลอดเลือดจะปรับตัวและมีประสิทธิภาพสูงสุด และเมื่อหยุดการออกกำลังกายนาน 3 เดือน ทุกอย่างจะกลับไปสู่สภาพเดิมรวมทั้งความดันโลหิตก็จะกลับสู่เท่าระดับก่อนการฝึก
ส่วนการออกกำลังกายประเภทร่างกายอยู่กับที่ เช่น การยกน้ำหนัก ฉุดดึงแบกของ มีผลทำให้ชีพจรเต้นมากขึ้นทำให้ค่าความดันโลหิตเพิ่มขึ้นทั้งค่าตัวบนและค่าตัวล่าง ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่มิได้รับการรักษาจะมีควมดันโลหิตสูง เพิ่มสูงถึงขีดอันตรายได้ จึงเป็นสิ่งควรหลีกเลี่ยงในผู้ป่วย
แนวทางในการปฏิบัติตัวเกี่ยวกับการออกกำลังกาย
ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง คือ
5.1 การออกกำลังกายมีประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกระทำติดต่อกันเรื่อยไป
5.2 ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ควรเลือกออกกำลังกายประเภทที่มีการเคลื่อนที่เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เป็นต้น ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายประเภทอยู่กับที่หรือไม่เคลื่อนที่ เช่น ยกน้ำหนัก ฉุดดึง
5.3 ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงขั้นอ่อน และขั้นปานกลางควรเริ่มฝึกได้เลย โดยระยะแรกให้เดินวันละ 10 นาที แล้วค่อยๆเพิ่มจนได้วันละ 30 นาที จังหวะเดินให้เร่งเร็ว แต่อย่าให้ถึงขันหอบหรือเหงื่อออกมากเกินไป
5.4 ในผู้ป่วยสูงอายุควรใช้การเดินเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุด
5.5 ในคนอายุน้อยกว่า หรือสุขภาพแข็งแรงพอก็อาจฝึกฝนต่อในรูปการวิ่งเยาะๆ หรืออาจเลือกการออกกำลังกายวิธีอื่นๆก็ได้ เช่น ว่ายน้ำ จักรยาน เต้นแอโรบิค
5.6 ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรงควรงดการออกกำลังกายทุกชนิด จนกว่าจะควบคุมความดันโลหิตสูงลงได้แล้ว
5.7 สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยากลุ่ม ยากั้นเบต้า ไม่ควรหักโหมในการออกกำลังกาย
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนอกจากจะให้ผลดีในด้านสุขภาพดีแล้วยังช่วยผ่อนคลายและลดความเครียดของระบบประสาท ลดน้ำหนัก ทำให้นอนหลับฝันดี ท้องไม่ผูก จิตใจเบิกบานและเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคให้แก่ร่างกายอีกด้วย
6. รับประทานอาหารที่มีโปตัสเซียม จากการศึกษาในกลุ่มประชากรต่างๆ จากญี่ปุ่นเบลเยี่ยม พอสรุปได้ว่าการได้อาหารที่มีโปรตัสเซียมสูงทำให้ความดันโลหิตไม่สูง หรือในการศึกษาโดยให้ potassium supplement แก่ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง สามารถลดความดันโลหิตลงได้ อย่างไรก็ดีการให้โปรตัสเซียมเสริมในผู้ป่วยที่ไม่ขาดโปรตัสเซียมอาจก่อให้เกิดอันตรายได้และยังเป็นเหตุให้สิ้นเปลืองแนวทางปัจจุบันแนะนำให้กินผักและผลไม้ที่มีโปรตัสเซียมสูง
7. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและแมกนีเซียม ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายมีรายงานข้อสังเกตว่าผู้ป่วยความดันโลหิตสูงอาจได้รับแคลเซียมในอาหารน้อยกว่าผู้ที่มีความดันโลหิตปกติ หรือการให้แคลเซียมเสริมช่วยลดความดันโลหิตในหนุ่มสาวความดันปกติ ส่วนในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงนั้น จากการศึกษาพบว่าเมื่อให้แคลเซียมเสริมไป 8 สัปดาห์ พบว่าสามารถลดความดันโลหิตลงได้เล็กน้อยใน 50% ของผู้ป่วย
ผลดีของการรักษาโดยวิธีไม่ใช้ยา คือ
1. ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นและดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติสุข ไม่ต้องรับทุกข์จากผลข้างเคียงเหมือนวิธีใช้ยา
2. เป็นวิธีที่สิ้นเปลืองน้อยมาก ไม่ต้องหาซื้อยา หรือต้องเจาะเลือดตรวจพิเศษบ่อยครั้งเช่น วิธีใช้ยา
3. ผู้ป่วยได้มีโอกาสร่วมมือจริงๆในการรักษาโรคของเขาเอง ทำให้ขวัญและกำลังใจมีมากกว่าการรอรับใบสั่งยา และรับประทานยาตามสั่งอย่างเดียว
โรคความดันโรคหิตสูง ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาอย่างไม่ต่อเนื่อง อาจเกิดโรคแทรกซ้อนของอวัยวะที่สำคัญได้เช่น ที่หัวใจ อาจทำให้เกิดอาการ เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หอบ บวม หัวใจวาย หัวใจห้องซ้ายโตและกล้ามเนื้อหัวใจหนา ที่สมองอาจทำให้เกิดอาการตาพร่ามัว ตาบอดได้ เป็นต้น
ดังนั้น ดังได้กล่าวแล้วว่าหลักการรักษาคือ การพยายามควบคุมให้ความดันโลหิตลดลงสู่ระดับปกติหรือให้ใกล้ระดับปกติมากที่สุด โดยให้มีผลอันไม่พึงประสงค์จากการใช้สมุนไพรลดความดันโลหิตและการรบกวนคุณภาพชีวิตน้อยที่สุด เพื่อป้องกันและรักษาสุขภาพของตนเองและญาติมิตร ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับโรคความดันโลหิตสูง จึงควรวัดความดันโลหิตเป็นระยะ เช่น
ทุก 1-2 เดือน ในหญิงมีครรภ์
ทุก 3- 6 เดือน ในคนที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป
ควรมีการเฝ้าระวังภาวะความดันโลหิตสูงอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เริ่มแรกและเน้นความเหมาะสมในการรักษา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น