คนไข้ไม่ว่าตัวโตๆหรือเด็กเล็กถ้ามีอาการไอ หอบ เหนื่อย ถ้าเวลาหายใจเร็วๆ จะมีเสียงวี้ดในทรวงอก ไอมากจนน่าวิตก เมื่อไปพบแพทย์และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นหลอดลมตีบ จากหลอดลมอักเสบหรือ ปวดบวม จะได้รับคำแนะนำให้ใช้สามารถใช้ยาพ่นได้ จะงงๆ เอ๊ะ มันคืออะไรกันนะ แล้วจะใช้อย่างไรกันหล่ะ???
ยาพ่นคือยาที่ออกแบบมาในรูปขวดพ่น เพื่อให้ได้ออกฤทธิ์เร็วกว่ายากิน เรามาดูว่ายาพ่นเหล่านี้คืออะไร ใช้อย่างไรให้ได้ผลและปลอดภัย ฝนนี้จะได้ช่วยบรรเทาอาการไอ หรือแน่นหน้าอกของคนที่เรารักต่อไป
ยาพ่นทางจมูกคืออะไร??
ยาพ่นทางจมูก คือ ยาที่บรรจุในขวด สามารถกดพ่นเป็นละอองฝอยเพื่อใช้ในจมูกได้ ปัจจุบันยาพ่นทางจมูกมีใช้กันแพร่หลาย ทั้งขวดบรรจุรูปแบบต่างๆ และมีสรรพคุณต่างๆกัน อีกทั้งมีหลากหลายบริษัทที่ผลิตยาประเภทนี้ออกมาตามท้องตลาด ยาพ่นทางจมูกที่มีใช้ในปัจจุบัน ได้แก่
1.ยาพ่นทางจมูกประเภทสเตอรอยด์
2.ยาพ่นแก้คัดจมูก
3.ยาพ่นลดน้ำมูกจำพวกยาแก้แพ้ ฯลฯ
4.น้ำเกลือล้างจมูกชนิดพ่นทางจมูก
ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะยาพ่นทางจมูกประเภทสเตอรอยด์ เพราะเป็นยาหลักในการรักษาโรคเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ส่วนยาพ่นชนิดอื่นๆเป็นตัวช่วยในการบรรเทาอาการ ช่วยเสริมการรักษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งๆขึ้นไป และบางประเภทถ้าใช้ติดต่อกันนานๆ อาจทำให้เกิดโทษตามมาได้ เช่น ยาพ่นแก้คัดจมูก เป็นต้น
ยาพ่นทางจมูกประเภทสเตอรอยด์มีประโยชน์อย่างไร?ยาพ่นทางจมูกประเภทสเตอรอยด์มีที่ใช้ใน
1.โรคเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ชนิดที่เป็นบางฤดู หรือชนิดที่เป็นตลอดทั้งปี
2.โรคเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบที่ไม่เกิดจากภูมิแพ้ชนิดที่มีเม็ดเลือดขาวอีโอซิโนฟิลในเยื่อบุโพรงจมูกมาก
3.โรคเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบเรื้อรังร่วมกับริดสีดวงจมูก
4.เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบที่ไม่เกิดจากภูมิแพ้ชนิดเรื้อรัง และไม่พบการติดเชื้อร่วมด้วย
5.มีส่วนช่วยในผู้ป่วยโรคเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ที่มีอาการไซนัสอักเสบร่วมด้วย
วิธีพ่นยาทางจมูกที่แนะนำ
วิธีพ่นยาทางจมูกมีหลากหลายวิธีแล้วแต่ความถนัดของแพทย์ผู้ทำการรักษา แต่วิธีที่แนะนำนี้เป็นวิธี่ที่ดี และให้ประโยชน์ต่อการรักษาโรคทางภูมิแพ้มากที่สุด การพ่นยาทางจมูกที่ถูกต้อง นอกจากจะทำให้ผลของการรักษาดีแล้ว ยังทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาที่ผิดวิธีน้อยลงด้วย ดังนั้นการพ่นยาทางจมูกที่แนะนำคือ
1.ล้างมือให้สะอาดก่อนพ่นยาทางจมูกทุกครั้ง
2.เปิดฝาครอบยาพ่นออก ในกรณีที่เปิดใช้ครั้งแรกควรกดให้ยาพ่นพ่นเอาอากาศที่ค้างอยู่ที่บริเวณปลายออกสัก 2-3 ครั้ง หรือจนมีน้ำยาพ่นออกมา เพื่อกระตุ้นให้ระบบขับเคลื่อนยาทำงาน ในกรณีที่พ่นยาเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว กดพ่นยาตามขั้นตอนต่อไปได้เลย
3.การพ่นยาทางจมูก ควรทำหลังจากที่ทำให้จมูกโล่งแล้วโดยอาจพ่นยาตามหลังการล้างจมูกในกรณีที่มีน้ำมูกเหนียวข้น หรือตามหลังการสั่งเอาน้ำมูกที่มีอยู่เล็กน้อยออกแล้ว
4.จับขวดยาโดยใช้นิ้วชี้ และนิ้วกลางวางอยู่ที่บริเวณไหล่ขวดยา และใช้นิ้วหัวแม่มือวางอยู่ที่ก้นขวดแล้วนำส่วนปลายของยาพ่นจมูกใส่เข้าไปในโพรงจมูกด้านตรงข้ามกับมือที่ถือขวดยา เช่น ใช้มือซ้ายในการพ่นยาเข้าจมูกขวา หรือใช้มือขวาพ่นยาเข้าจมูกซ้าย สลับกันดังนี้เป็นต้น ตามรูปด้านล่างนี้
(รูปจาก : วิธีการใช้ยาพ่น Pressurized Metered - Dose Inhaler, ชมรมผู้ป่วยโรคหอบหืด รพ. ธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ์)
5.พยายามให้ปลายของยาพ่นจมูกชี้ไปกึ่งกลางของลูกตาข้างที่จะพ่น จุดประสงค์ของการพ่นยาด้วยวิธีนี้ก็คือ เพื่อต้องการให้ยาสัมผัสกับเยื่อบุโพรงจมูกที่อยู่ทางด้านข้างของโพรงจมูกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยไม่ต้องการให้พ่นยาเข้าไปที่ผนังกั้นช่องจมูกซึ่งอยู่ตรงกลางเพราะอาจทำให้ผนังกั้นช่องจมูกเป็นแผล และมีเลือดออกได้บ้างเล็กน้อย
6.เมื่อพร้อมพ่นยาทางจมูกควรกดยาอย่างเร็ว และแรงเพื่อให้ยากระจายออกมาเป็นละอองฝอย หลังจากนั้นควรเงยหน้าขึ้น และเอียงศีรษะไปด้านข้างที่พ่นอย่างน้อยครึ่งนาที การทำเช่นนี้เพื่อให้ยาพ่นจมูกไหลฉาบผนังด้านข้างของโพรงจมูกไปด้านหลังอย่างช้าๆ หลังจากนั้นจึงพ่นยาด้วยวิธีเดียวกันในจมูกด้านตรงข้าม พึงระลึกไว้เสมอว่าไม่ควรสูดลมหายใจเข้าแรงๆหลังพ่นยาทางจมูกทันที เนื่องจากต้องการให้ยามีเวลาในการไหลฉาบผนังจมูกด้านข้างนั่นเอง
7.ในกรณีที่อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้ และภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก ต้องการให้พ่นจมูกข้างละ 2 ครั้ง ควรพ่นจมูกข้างใดข้างหนึ่งก่อนตามขั้นตอน 1-6 จนครบทั้ง 2 ข้าง หลังจากนั้นจึงเริ่มพ่นครั้งที่ 2 ให้ครบทั้ง 2 ข้างตามวิธีเดิมข้างต้น
8.ควรหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกภายในระยะเวลา 15 นาทีหลังพ่นยา
9.เช็ดทำความสะอาดบริเวณปลายยาพ่นทางจมูกด้วยน้ำสะอาด แล้วทำให้แห้ง หลังจากนั้นครอบปิดฝาตามเดิม
ระยะเวลาในการใช้ยาพ่นทางจมูก
1.ในช่วงแรกของการรักษาด้วยยาพ่นทางจมูก ควรพ่นยาทุกวันอย่างต่อเนื่องตามที่อายุรแพทย์เฉพาะโรคภูมิแพ้ และภูมิคุ้มกันคลินิกแนะนำ ยาพ่นทางจมูกจะออกฤทธิ์เต็มที่เมื่อพ่นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ดังนั้นเพื่อคุมอาการของผู้ป่วย แพทย์อาจสั่งยารับประทานให้ร่วมไปด้วยในระยะแรกๆ
2.ระยะเวลาที่แน่นอนในการใช้ยาชนิดนี้ ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ในกรณีที่มีอาการเฉพาะฤดู เช่น ฤดูฝน ควรเริ่มพ่นก่อนเข้าฤดู พอหมดฤดูก็ค่อยๆลดจำนวนลงจนสามารถหยุดได้ ส่วนใหญ่โรคภูมิแพ้ทางจมูกในประเทศไทยมักเป็นแบบต่อเนื่อง มีอาการทุกวันไม่เลือกฤดูดังนั้นการหยุดใช้ยาพ่นทางจมูกอาจเป็นไปได้น้อย แต่ผู้ป่วยสามารถลดขนาด และจำนวนการพ่นลงจนเหลือน้อยที่สุดที่พอคุมอาการได้ ทั้งนี้การลด หรือเพิ่มยาควรปรึกษาอายุรแพทย์เฉพาะโรคภูมิแพ้ และภูมิคุ้มกันคลินิก หรือ แพทย์ผู้ทำการรักษาท่านนั้นๆก่อนเสมอ เพื่อการรักษาจะได้มีประสิทธิภาพสูงสุดครับ
กราบขอบพระคุณ แหล่งข้อมูล
อายุรแพทย์ทั่วไป อายุรแพทย์เฉพาะโรคภูมิแพ้ฯ
คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท
คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท
http://www.samitivejhospitals.com/healtharticle_detail/การพ่นยาทางจมูก_932/th
วิธีการใช้ยาพ่น Pressurized Metered - Dose Inhaler, ชมรมผู้ป่วยโรคหอบหืด รพ. ธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ์
http://www.tuasthmaclub.com/page_article.php?article_ID=22&id=6
รูปประกอบมาจาก
http://www.letrot.com/index.php/2010/8/post800/ventolin-accuhaler-dosage
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น