วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

คู่มือการดูแลผู้ป่วยและป้องกันการเกิดแผลกดทับ




แผลกดทับเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เอง ผิวหนังถูกกดทับเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงผิวหนังที่ถูกกดทับได้อย่างสะดวก ส่งผลให้ผิวหนังมีลักษณะเป็นรอยแดงและมีการแตกทำลายของผิวหนัง ถ้าไม่ได้รับการป้องกันดูแลตั้งแต่ระยะเริ่มแรกก็จะส่งผลให้เกิดแผลกดทับตามมาได้ ซึ่งการเกิดแผลกดทับจะส่งผลให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน จากการรักษาที่ยุ่งยาก เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อทางด้านจิตใจของผู้ป่วยด้วย
  เรามีบทความคุณที่ใช้ชื่อว่า คุณ SOMSAK THAILAND เขียนแนะนำการดูแลและป้องกันแผลกดทับมาแบ่งปันกันครับ
   
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดแผลกดทับเกิดได้จาก 2 ปัจจัย คือ
1. ปัจจัยภายใน  สภาพอายุที่มากขึ้นชั้นไขมันใต้ผิวหนังบางลง ผิวหนังเปราะบาง ฉีกขาดได้ง่าย ผู้ป่วยที่บกพร่องในการเคลื่อนย้าย เช่นผู้ป่วยอัมพาต ผู้ป่วยอ้วนเนื้อเยื่อชั้นไขมันมากทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี ผู้ป่วยผอมทำให้เกิดแรงกดของเนื้อเยื่อบริเวณปุ่มกระดูกมากขึ้น การขาดสารอาหารโดยเฉพาะโปรตีน ภาวะโรคเดิมของผู้ป่วย เช่น เบาหวาน ไตวาย มะเร็ง เป็นต้น

2. ปัจจัยภายนอก แรงกดจะขัดขวางออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ ถ้าผู้ป่วยไม่มีการเคลื่อนไหวจะมีผลให้เนื้อเยื่อขาดเลือดไปเลี้ยงโดยเฉพาะบริเวณปุ่มกระดูกต่างๆ จะเกิดแรงกดมากขึ้น แรงเลื่อนไหลหรือแรงเฉือน เป็นแรงที่ผู้ป่วยนั่งหรือนอน เลื่อนไหลตามแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณนั้นเสียไป  แรงเสียดทานเป็นแรงที่เกิดจากผู้ป่วยสัมผัสกับพื้นผิวด้านนอกเกิดการถลอกของผิวหนัง เช่นการเลื่อนผู้ป่วย โดยการดึงลากทำให้ผิวหนังถลอกเป็นแผลความเปียกชื้นของเหงื่อ ปัสสาวะ อุจจาระทำให้ผิวหนังเปื่อยได้ง่าย


บริเวณที่อาจเกิดแผลกดทับ

การป้องกันและการดูแลแผลกดทับ

การจัดท่านอน  ควรเปลี่ยนท่านอนอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง เพื่อให้ส่วนใดส่วนหนึ่งไม่รับแรงกดนานเกินไป ถ้าเปลี่ยนท่านอนแล้วรอยแดงบริเวณผิวหนังไม่หายภายใน 30 นาทีอาจจะพิจารณาให้เปลี่ยนท่านอนได้บ่อยขึ้น โดยมีการหมุนเวียนเปลี่ยนท่านอน เช่น นอนหงาย นอนตะแคงซ้าย นอนตะแคงขวา สลับกัน

  การนอนตะแคง ควรจัดให้นอนตะแคง กึ่งหงาย ใช้หมอนยาวรับตลอดแนวลำตัว รวมทั้งบริเวณข้อเข่า ข้อเท้า ควรทำให้สะโพก ทำมุม 30 องศา และใช้หมอนรองตามปุ่มกระดูก และใบหู

    การนอนหงาย ควรมีหมอนสอดคั่นระหว่างหัวเข่า ตาตุ่มทั้ง 2 ข้าง ขา 2 ข้าง และรองใต้น่องและขาเพื่อให้เท้าลอยพ้นพื้นไม่กดที่นอน  การจัดท่านอนศีรษะสูงไม่เกิน 30 องศา แต่ถ้าจำเป็นศีรษะสูงเพื่อให้อาหาร หลังจากให้อาหาร 30 นาที – 1 ชั่วโมง ควรลดระดับลงเหลือ 30 องศา กรณีที่นั่งรถเข็น ควรให้มีเบาะรองก้น และกระตุ้นให้เปลี่ยนถ่ายน้ำหนักตัว หรือยกก้นลอยพ้นพื้นที่นั่งทุก 30 นาที

การใช้อุปกรณ์ลดแรงกด    อุปกรณ์ลดแรงกดอยู่กับที่ เช่น ที่นอนที่ทำจาก เจล โฟม ลม น้ำ หมอน เป็นต้น     อุปกรณ์ลดแรงกดสลับไปมา เช่น ที่นอนลม ไฟฟ้า

การดูแลผิวหนัง ผู้ป่วยที่มีผิวหนังแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำอุ่น หลังทำความสะอาดร่างกายควรทาโลชั่น 3-4 ครั้ง / วัน เพื่อป้องกันผิวหนังแตกแห้ง ผู้ป่วยที่ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ควรทำความสะอาดทุกครั้ง ที่มีการขับถ่าย และซับให้แห้งอย่างเบามือ ทาวาสลีน หรือ Zinc paste ให้หนาบริเวณผิวหนังรอบๆทวารหนัก แก้มก้นทั้ง 2 ข้าง เพื่อป้องกันผิวหนังเปียกชื้น ส่งเสริมการเคลื่อนไหวของร่างกายโดยการออกกำลังกาย    ระวังอุบัติเหตุที่เกิดกับผิวหนัง เช่น การกระแทก ของมีคม เป็นต้น
    จัดสิ่งแวดล้อมเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อไม่ให้ผิวหนังอับชื้น หลีกเลี่ยงการนวดปุ่มกระดูกโดยเฉพาะที่มีรอยแดง จะทำให้การไหลเวียนลดลง  หลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนประคบบริเวณผิวหนังที่มีความรู้สึกน้อย หรืออ่อนแรง  ดูแลผ้าปูที่นอนให้สะอาดแห้ง และเรียบตึงเสมอ เพื่อลดความเปียกชื้นและลดแรงเสียดทาน จัดเสื้อผ้าให้เรียบ หลีกเลี่ยงการนอนทับตะเข็บเสื้อ และปมผูกต่างๆเพื่อลดแรงกดบริเวณผิวหนัง  ไม่นวดหรือใช้ความร้อนประคบหรือใช้สบู่กับผิวหนังที่มีรอยแดง  ไม่ใช้ห่วงยางเป่าลมรองบริเวณปุ่มกระดูกเพราะจะทำให้เลือดไปเลี้ยงได้ไม่ดีทำให้เกิดแผลได้ และไม่ควรใช้ถุงมือใส่น้ำรองบริเวณปุ่มกระดูก เพราะอาจแพ้ยางได้

การเคลื่อนย้าย การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยควรใช้แรงยกไม่ควรใช้วิธีลาก ไม่ควรเคลื่อนย้ายตามลำพังถ้าผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ขณะเคลื่อนย้ายโดยการใช้รถเข็น ควรสวมรองเท้าหุ้มส้นทุกครั้ง และรัดสายรัดกันเท้าตกเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุขณะเคลื่อนย้าย ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ไม่ควรอยู่ในท่านั่งนานเกิน 1 ชั่วโมง

ภาวะโภชนาการ   ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยหรือรับประทานอาหารไม่ได้เลยควรพิจารณาใส่สายยางให้อาหาร ควรเพิ่มอาหารประเภทโปรตีนเพื่อส่งเสริมการหายของแผล เช่น นม ไข่ เนื้อสัตว์ต่างๆ วิตามินซี เช่น ส้ม ผัก ผลไม้สด มีผลต่อการหายของแผล ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน และป้องกันการทำลายเนื้อเยื่อ วิตามินเอได้แก่ นม ไข่ ผักคะน้า ผักใบเขียว เป็นต้น ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น สังกะสี เช่น หอยแมลงภู่ เมล็ดทานตะวัน ช่วยในการสังเคราะห์โปรตีน สร้างคอลลาเจน

ระดับแผลกดทับและการดูแลแผล

ระดับ 1 ผิวหนังไม่มีการฉีกขาด แต่เป็นรอยแดงกดบริเวณรอยแดงไม่จางหายภายใน 30 นาที ดูแลโดยมีการป้องกันแรงเสียดทานแรงกดทับโดยใช้อุปกรณ์ที่ช่วยลดแรงกดทับ เช่น หมอน เจลโฟม ที่นอนลม, เปลี่ยนท่าทุก 2 ชั่วโมง ทาโลชั่นหรือครีมในผู้ป่วยที่มีผิวหนังแห้ง ดูแลผิวหนังไม่ให้เปียกชื้น และกระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหว
 ระดับ 2 ผิวหนังส่วนบนหลุดออก ฉีกขาดเป็นแผลตื้น มีรอยแดงบริเวณเนื้อเยื่อ รอบๆ มีอาการปวด บวม แดง ร้อน มีสิ่งขับหลั่งจากแผลปริมาณเล็กน้อย หรือปานกลาง ดูแลเหมือนระดับที่ 1 เพื่อป้องกันไม่ให้มีแผลเพิ่ม เช็ดรอบๆแผลด้วย Alcohol 70 % และใช้silver sulfa diazine ปิดด้วยผ้าก็อส ใช้วาสลีนทาผิวหนังรอบแผลเพื่อปกป้องผิวหนังไม่ให้เกิดการเปียกแฉะ ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำยา Povidine เช็ดแผล
ระดับ 3 มีการทำลายผิวหนังถึงชั้นไขมัน มีรอยแผลลึกเป็นหลุมโพรง มีสิ่งขับหลั่งออกจากแผลมาก อาจมีกลิ่นเหม็น
  










ระดับ 4 มีการทำลายถึงเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ กระดูก แผลเป็นโพรง มีสิ่งขับหลั่งออกจากแผลมาก มีกลิ่นเหม็น






   ***แผลกดทับระดับที่ 3, 4 ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาเลือกวิธีการ การเลือกใช้วัสดุในการใส่แผลให้ถูกต้อง เหมาะสมในแผลแต่ละชนิด

 สรุป
การป้องกันแผลกดทับเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก โดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ส่งผลกระทบให้เกิดแผล
ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับตามมาได้ รวมทั้งเมื่อเกิดแผลกดทับขึ้นการดูแลที่เหมาะสม     ตามระดับของแผล ป้องกันไม่ให้แผลลุกลามมากขึ้นการลดแรงกดที่เหมาะสมรวมทั้งการดูแลเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ก็จะทำให้การหายของแผล เป็นไปได้อย่างดี


แหล่งข้อมูล
คุณ SOMSAK THAILAND, 
https://www.facebook.com/yerunsiri/about

การดูแลผู้ป่วยและป้องกันการเกิดแผลกดทับ,
http://spinalcordinjury2001.blogspot.com/2011/12/bed-sore.html

ภาพประกอบ
http://powlesslaw.com/bedsore-or-pressure-sore/

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณค่ะ เป็นความรู้มากเลย อยากทราบเรื่องที่นอนลมค่ะ แบบไหนถึงจะดีและราคาไม่แพงมาก ช่วยแนะนำด้วยขอรูปภาพด้วยน่ะค่ะ ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ