วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555

สมุนไพรวัยทอง: Phytoestrogen คืออะไร?

สตรีวัยทองสามารถที่จะบรรเทาหรือชะลออาการน่ารำคาญต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นนี้ได้จากการปรับใช้ชีวิตที่เหมาะสม การเสริมฮอร์โมนทดแทนซึ่งอาจอยู่ในรูปของยาหรือสารอาหารตามธรรมชาติ ที่เรียกว่า phytoestrogens นั่นเอง มารู้จักกับสารอาหารตัวนี้ว่าควรกินมั้ย ใช้ไปนานๆแล้วจะอันตรายหรือไม่?

Phytoestrogen คืออะไร? 
Phytoestrogens เป็นสารประกอบธรรมชาติประเภท lignans และ isoflavones ซึ่งสามารถออกฤทธิ์ทางชีววิทยาได้คล้าย estrogens มักพบในพืชหลายชนิด เช่น ถั่วเหลือง ชะเอม Black cohosh โสมตังกุย 

มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า phytoestrogens สามารถลดการเกิดกระดูกพรุน โรคระบบหลอดเลือดและหัวใจและความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิด  โดยเฉพาะประเภทที่มีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน เช่น มะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมาก  นอกจากนี้จากการศึกษาทางระบาดวิทยา พบว่า ผู้หญิงญี่ปุ่นมีอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งเต้านมน้อยกว่าผู้หญิงในประเทศตะวันตก  เช่นเดียวกับผู้ชายญี่ปุ่นก็มีอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งต่อม
ลูกหมากน้อยกว่าผู้ชายในประเทศตะวันตก   ทั้งนี้อาจเนื่องจากวัฒนธรรมการกินอาหารของชาวญี่ปุ่น  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเภทถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ ซุป (miso) และยังมีรายงานว่า genistein (เป็น isoflavones ชนิดหนึ่ง) สามารถยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็ง   ส่วน daidzein (isoflavones อีกชนิดหนึ่ง) สามารถป้องกันโรคกระดูกพรุนโดยไปเสริมการสร้างกระดูก  ขณะเดียวกันก็ช่วยลดการเสื่อมของกระดูก   และทั้ง 2 ตัวนี้
สามารถป้องกันโรคระบบหลอดเลือดและหัวใจ    โดยยับยั้งการจับตัวของเม็ดเลือด   และลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด

ทำไมต้องเลือกใช้ Phytoestrogen? 
โดยทั่วไป แพทย์มักจะจ่าย estrogen ในการบำบัดอาการต่าง ๆ ของสตรีวัยทอง   แต่ก็มีหลายรายที่เลือกใช้ Phytoestrogens เนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น
- มีประวัติการเป็นมะเร็งเต้านม   เนื่องจาก estrogen  จะกระตุ้นให้เกิด proliferation  ของเนื้อเยื่อ
เต้านมปกติ และที่เป็นมะเร็ง
- มีประวัติมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
- ตับเสื่อมหน้าที่อย่างรุนแรง
- โรค Porphyria (โรคขาด enzyme ชนิดหนึ่งในการสังเคราะห์ hemoglobin)
- เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดที่ยังหาสาเหตุไม่ได้
- ทนอาการข้างเคียงของยาไม่ได้

โภชนาการสำหรับสตรีวัยทอง
มีหลักฐานบ่งชี้ว่า อาหารมีส่วนสัมพันธ์กับอาการต่าง ๆ ของสตรีวัยทองอย่างมากโดยพบว่า  อาหารที่สามารถช่วยบรรเทาอาการของสตรีวัยทอง ได้แก่ อาหารประเภทถั่ว ข้าวซ้อมมือ ปลา ผักและผลไม้สด ซึ่งอาหารเหล่านี้มักเป็นองค์ประกอบอยู่ในอาหารของชาวเอเชีย  พบว่า  มีผู้หญิงญี่ปุ่นเพียง  10-15%   ที่มีอาการของสตรีวัยทอง ขณะที่พบอาการเหล่านี้ในสตรีอเมริกันถึง 80-85%
  • อาหารประเภทถั่วเหลือง : มี phytoestrogen ซึ่งออกฤทธิ์คล้าย estrogen ชนิดอ่อน สามารถบรรเทาอาการช่องคลอดแห้งและโรคกระดูกพรุนได้
  • อาหารประเภทถั่ว (legumes : lentils,garbanzo,black beans)  เป็นแหล่งของโปรตีนและสารอาหารที่จำเป็นสำหรับสตรีวัยทอง  อาทิเช่น  แคลเซียม  แมกนีเซียม  โปแตสเซียม วิตามินบี คอมเพล็กซ์  สังกะสีและเหล็ก ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาอาการที่ประจำเดือนมามากผิดปกติได้
  • เมล็ดธัญญาพืชทั้งเปลือก : มี phytoestogen ประเภท lignans ซึ่งมีฤทธิ์ estrogen อย่างอ่อน และมีเส้นใยสูง จะช่วยควบคุมระดับโคเลสเตอรอล และ estrogen ในร่างกาย
  • กรดไขมัน  ได้แก่  linoleic acid  (พบใน เมล็ดลินิน เมล็ดฟักทอง เมล็ดงา เมล็ดทานตะวัน)  และ linolenic acid  (พบในปลาชนิดต่าง ๆ และพืชบางชนิด  เช่น  เมล็ดลินิน เมล็ดฟักทอง ถั่วเหลือง และผักใบเขียว)   กรดไขมันที่จำเป็นเหล่านี้ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นได้เอง  แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำงานของร่างกาย  โดยเมื่อ  estrogen  มีระดับลดลงกรดไขมันเหล่านี้  จะทำหน้าที่เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนังช่องคลอด และเยื่อบุช่องคลอด
อาหารอะไรบ้างที่สตรีวัยทองต้องระวัง
มีอาหารบางประเภทที่สตรีวัยทองควรระมัดระวัง ได้แก่
- caffeine พบใน กาแฟ ชา (ดำ) โคลา และช็อกโกแลต อาจทำให้เกิดอาการกระวนกระวาย และมีการแปรปรวนของอารมณ์
- แอลกอฮอล์ จะไปกดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้า และซึมเศร้า
- น้ำตาล จะไปลดการเก็บกัก วิตามินบี คอมเพล็กซ์  และแร่ธาตุที่จำเป็น   ทำให้เกิดอาการกระวนกระวาย และการตึงเครียดของประสาท
- อาหารประเภทเนื้อสัตว์และไขมันอิ่มตัว องค์ประกอบของเนื้อสัตว์ส่วนใหญ่จะเป็นสารโปรตีนและไขมัน    การรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์จึงต้องพิจารณาในส่วนของไขมัน   ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ประเภทติดมัน  เช่น  ขาหมู  หนังเป็ด  หนังไก่   เพราะจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคไขมันในเลือดสูง นอกจากนี้อาหารประเภทเครื่องในสัตว์ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคข้ออักเสบได้
- เกลือและโซเดียม   การรับประทานอาหารที่มีเกลือและอาหารที่มีโซเดียมสูง  จะทำให้เกิดอาการบวมและความดันโลหิตสูง   นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง  ยังเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน เนื่องจากโซเดียมจะไปเพิ่มการขับถ่ายแคลเซียมจากร่างกาย

ตอนหน้าเรามาดูว่า phytoestrogens ที่เราหาได้จากธรรมชาติ มีอะไรบ้าง?

แหล่งข้อมูล 

อัจฉรา เอกแสงศรี "สมุนไพรวัยทอง"
ส่วนวิชาการและข้อมูล องค์การเภสัชกรรม http://www.gpo.or.th/rdi/html/mono.html

http://www.oknation.net/blog/DIVING/2010/10/01/entry-1


ภาพประกอบจาก
http://www.womentowomen.com/menopause/redcloverformenopausalsymptoms.aspx

http://www.healthyfellow.com/375/beer-and-menopause/

http://www.tiszaivandor.com/menopause-herbal-remedies/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น