วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ล้างจมูกให้ลูกน้อยอย่างไร ปลอดภัยและหายคัดจมูก

สมัยนี้ คุณแม่ห่วงใยสุขภาพลูกน้อยยามเป็นหวัดคัดจมูก ก้อมีทางเลือกใหม่ในการพึ่ลยาให้น้อยลง ด้วยการการล้างจมูกเพื่อการชะล้างเอาน้ำมูก  หนอง  สิ่งสกปรกในจมูก  ด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ  เพื่อให้โพรงจมูกและบริเวณรูเปิดของไซนัสโล่ง   ทำให้บรรเทาอาการคัดจมูก  น้ำมูกไหล ทั้งที่ไหลออกมาข้างนอก และไหลลงคอ     นอกจากนั้นการล้างจมูกก่อนการพ่นยาในจมูก จะทำให้ยาสัมผัสกับเยื่อบุจมูกได้มากขึ้น  ออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น    เรามีคำแนะนำการล้างจมูกให้ได้ผลและปลอดภัยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

การล้างจมูกคืออะไร 

การ ล้างจมูก เป็นการทำความสะอาดโพรงจมูก และ/หรือ ไซนัส โดยชะล้างเอาน้ำมูก หนอง สิ่งสกปรกในโพรงจมูก หรือโพรงหลังจมูก และ/หรือ ไซนัส ซึ่งเกิดจากการอักเสบออก ด้วยน้ำเกลือ เพื่อให้โพรงจมูกและ/หรือ ไซนัสโล่ง ทำให้บรรเทาอาการคัดจมูก คัน จาม น้ำมูกไหล (ทั้งที่ไหลออกมาข้างนอก และไหลลงคอ) แสบจมูก ปวดจมูก หรือปวดบริเวณไซนัส การล้างจมูกนั้นเป็นวิธีที่ปลอดภัs และได้ผลดีในการรักษาโรคจมูก และไซนัสทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

การล้างจมูกมีประโยชน์อย่างไร
• ช่วยล้างน้ำมูกเหนียวข้นที่ไม่สามารถระบายออกได้เอง ทำให้โพรงจมูกและ/หรือ ไซนัส สะอาด
• ช่วยให้อาการหวัดเรื้อรังดีขึ้น และลดน้ำมูกหรือเสมหะที่ไหลลงคอ
• ช่วยระบายหนองจากไซนัสดีขึ้น โดยลดน้ำมูกหรือหนองที่อุดอยู่บริเวณรูเปิดของโพรงไซนัส ทำให้อาการไซนัสอักเสบดีขึ้นเร็ว
• ช่วยป้องกันการลุกลามของเชื้อโรคจากจมูกและไซนัสขึ้นไปหูชั้นกลาง หรือลงไปสู่ปอด
• ช่วยลดจำนวนเชื้อโรค มลพิษ สารก่อภูมิแพ้ สิ่งระคายเคือง และ สารที่เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายที่มีต่อสารก่อภูมิแพ้ในโพรงจมูก และ/หรือ ไซนัส
• ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่เยื่อบุจมูก
• ช่วยบรรเทาอาการคัดแน่นจมูก โดยทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวม ทำให้หายใจโล่งขึ้น
• ช่วยบรรเทาอาการระคายเคือง และลดการอักเสบในจมูก
• การล้างจมูกก่อนการพ่นยา หรือหยอดยาในจมูก (ในกรณีแพทย์สั่งยาพ่นจมูก หรือยาหยอดจมูกให้ใช้) จะทำให้ยาสัมผัสกับเยื่อบุจมูกได้มากขึ้น ออกฤทธิ์ได้ดี มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
• ช่วยชะล้างคราบสะเก็ดแข็งของเยื่อบุจมูกหลังการผ่าตัดจมูก และ/หรือไซนัส หรือหลังการฉายแสงออก ทำให้แผลในโพรงจมูก และไซนัส หายเร็วขึ้น ป้องกันการเกิดพังผืดซึ่งทำให้รูจมูกหรือไซนัสตีบแคบ
• ช่วยเพิ่มการทำงานของขนกวัดในจมูก ซึ่งทำหน้าที่พัดโบก กำจัดสิ่งแปลกปลอมในโพรงจมูก
• ทำให้ลดปริมาณยาที่ใช้ในการรักษาโรคจมูก และ/หรือ ไซนัสลงได้

การล้างจมูกจึงมีประโยชน์ในผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากการติดเชื้อ หรือ “หวัด”, โรคไซนัสอักเสบ, โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือ “แพ้อากาศ”, โรคริดสีดวงจมูก, โรคจมูกอักเสบเหี่ยวฝ่อ หรือผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดจมูกและ/หรือไซนัส หรือหลังการฉายแสง


ควรล้างจมูกเมื่อใด
• เมื่อมีน้ำมูกเหนียวข้นค้างอยู่ในโพรงจมูกหรือไซนัส 
• เมื่อมีอาการคัดแน่นจมูก
• เมื่อหายใจเอาฝุ่นควัน หรือสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในจมูก
• ก่อนใช้ยาพ่นจมูก หรือยาหยอดจมูก
• เมื่อมีเสมหะในลำคอ ซึ่งเกิดจากการอักเสบในโพรงจมูกหรือไซนัส
• หลังผ่าตัด หรือหลังการฉายแสงบริเวณจมูก หรือไซนัส
• มีกลิ่นเหม็นที่เกิดจากโรคจมูก และ/หรือไซนัส

การล้างจมูกทำอย่างไร
1. เตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูก
1.1 น้ำเกลือความเข้มข้น 0.9% (0.9% normal saline solution) ซึ่งหาซื้อได้จาก โรงพยาบาลหรือร้านขายยา แนะนำให้ใช้น้ำเกลือขวดละ 100 ซีซี (น้ำเกลือที่ใช้แล้วเหลือ ควรเททิ้ง ไม่ควรนำกลับมาใช้ใหม่ หรือเทกลับเข้าขวดน้ำเกลือเดิม)
1.2 ถ้วย หรือภาชนะสะอาดสำหรับใส่น้ำเกลือ
1.3 สำหรับเด็กขวบปีแรก ควรใช้กระบอกฉีดยาพลาสติกขนาด 1 ซีซี (ไม่ใส่เข็ม) หรือขวดยาหยอดตา สำหรับเด็กอายุ 1 – 5 ปี ควรใช้กระบอกฉีดยาพลาสติกขนาด 2 - 5 ซีซี (ไม่ใส่เข็ม) 
1.4 ลูกยางแดงสำหรับดูดน้ำมูกและเสมหะสำหรับเด็กที่ยังสั่งน้ำมูกและบ้วนเสมหะเองไม่ได้
• ลูกยางแดงเบอร์ 0 – 2 สำหรับเด็กขวบปีแรก 
• ลูกยางแดงเบอร์ 2 – 4 สำหรับเด็กอายุมากกว่า 1 ปี
1.5 ภาชนะใส่น้ำล้างจมูก และกระดาษทิชชู
2. วิธีล้างจมูก

ควรอุ่นน้ำเกลือก่อนการล้างจมูกเสมอ โดยให้มีอุณหภูมิพอเหมาะกับเยื่อบุจมูก การใช้น้ำเกลือที่ไม่ได้อุ่นล้างจมูก อาจทำให้เกิดอาการคัดจมูกหลังการล้างได้ การอุ่นน้ำเกลือสามารถทำได้โดยต้มน้ำประปาให้เดือดในหม้อต้ม ซึ่งมีขนาดใหญ่พอที่สามารถใส่ขวดน้ำเกลือเพื่อลงไปอุ่นได้ หลังจากนั้นปิดไฟ แล้วนำขวดน้ำเกลือใส่ลงไปแช่ในน้ำเดือดประมาณ 5 นาที (ขวดน้ำเกลือที่ซื้อมาจากโรงพยาบาลหรือร้านขายยา สามารถทนความร้อนได้) 

แล้วนำขวดน้ำเกลือนั้นขึ้นมาเทน้ำเกลือใส่ถ้วย หรือภาชนะสะอาด หรือเทน้ำเกลือจากขวดน้ำเกลือใส่ถ้วย หรือภาชนะสะอาดแล้วนำไปอุ่นในเตาไมโครเวฟ ก่อนนำน้ำเกลือที่อุ่นแล้วนั้นมาล้างจมูก ควรทดสอบกับหลังมือเสียก่อน น้ำเกลือควรจะอุ่นในขนาดที่หลังมือทนได้

2.1 สำหรับเด็กเล็กที่ยังสั่งน้ำมูกและบ้วนเสมหะเองไม่ได้
2.1.1 ล้างมือผู้ที่จะทำการล้างจมูกให้สะอาด
2.1.2 เทน้ำเกลือใส่ขวดยาหยอดตา หรือใช้กระบอกฉีดยาดูดน้ำเกลือจนเต็ม
2.1.3 ใช้ผ้าห่อตัวเด็กในกรณีที่เด็กไม่ให้ความร่วมมือและดิ้นมาก การห่อตัวเด็กจะช่วยให้ผู้ล้างจมูกสามารถล้างจมูกได้สะดวก นุ่มนวลและไม่เกิดการบาดเจ็บ
2.1.4 ให้เด็กนอนในท่าศีรษะสูงพอควรเพื่อป้องกันการสำลัก
2.1.5 จับหน้าให้นิ่ง ค่อย ๆ หยดน้ำเกลือครั้งละ 2 –3 หยด หรือค่อย ๆ สอดปลายกระบอกฉีดยาเข้าไปในรูจมูกข้างที่จะล้างโดยให้วางปลายกระบอกฉีดยาชิด ด้านบนของรูจมูก ค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลือครั้งละประมาณ ครึ่ง (0.5) ซีซี (หรืออาจใช้น้ำเกลือในรูปสเปรย์พ่นจมูกซึ่งมีจำหน่าย พ่นเข้าไปในจมูกเด็ก แทนการหยด หรือฉีดน้ำเกลือดังกล่าวข้างต้นได้)
2.1.6 ใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกในจมูกออก โดยให้บีบลูกยางแดงจนสุดเพื่อไล่ลมออก แล้วค่อย ๆ สอดเข้าไปในรูจมูกลึกประมาณ 1 – 1.5 ซม. ค่อย ๆ ปล่อยมือที่บีบออกช้าๆ เพื่อดูดน้ำมูกเข้ามาในลูกยางแดง บีบน้ำมูกในลูกยางแดงทิ้งในกระดาษทิชชู
2.1.7 ทำซ้ำหลายๆ ครั้งในรูจมูกแต่ละข้างจนไม่มีน้ำมูก
2.1.8 ในกรณีที่รู้สึกว่ามีเสมหะในลำคอ ให้สอดลูกยางแดงเข้าทางปากเพื่อดูดเสมหะในคอออก ถ้าต้องการให้เด็กไอเอาเสมหะออก ให้สอดลูกยางแดงลึกถึงประมาณโคนลิ้นเพื่อกระตุ้นให้ไอ และทำการดูดเสมหะเหมือนที่กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยระหว่างดูดเสมหะ ให้จับหน้าเด็กหันไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันการสำลัก
2.2 สำหรับเด็กเล็กที่ให้ความร่วมมือและสั่งน้ำมูกได้
2.2.1 ให้เด็กนั่งหรือยืน แหงนหน้าเล็กน้อย 
2.2.2 ค่อย ๆ สอดปลายกระบอกฉีดยาเหมือนที่กล่าวมาข้างต้น และค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลือครั้งละประมาณ 0.5 - 1 ซีซีหรือเท่าที่เด็กทนได้ (หรืออาจใช้น้ำเกลือในรูปสเปรย์พ่นจมูกซึ่งมีจำหน่าย พ่นเข้าไปในจมูกเด็ก แทนการฉีดน้ำเกลือ) พร้อมกับสั่งให้เด็กกลืนน้ำเกลือที่ไหลลงคอเป็นระยะ ๆ ระหว่างฉีดน้ำเกลือ หรือให้บ้วนทิ้ง 
2.2.3 สั่งน้ำมูกพร้อม ๆ กันทั้งสองข้าง (ไม่ควรอุดรูจมูกอีกข้าง)

วิธีทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูก
ให้ล้างอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูกให้สะอาดหลังการใช้ทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเติบโตและเพิ่มปริมาณโดย
• ให้ล้างกระบอกฉีดยาและภาชนะที่ใส่น้ำเกลือ ด้วยน้ำสบู่ หรือน้ำยาล้างจาน แล้วล้างด้วยน้ำประปาจนหมดน้ำสบู่ หรือน้ำยาล้างจาน แล้วผึ่งให้แห้ง
• ล้างลูกยางแดงด้วยน้ำสบู่ทั้งภายนอกและภายใน และล้างตามด้วยน้ำประปาจนสะอาด และควรนำไปต้มในน้ำเดือดวันละครั้งโดยดูดน้ำเดือดเข้ามาในลูกยางแดง ต้มประมาณ 5 นาที เสร็จแล้วบีบน้ำที่ค้างในลูกยางออกจนหมด วางคว่ำในภาชนะที่สะอาด โดยคว่ำปลายลูกยางแดงลง

ควรล้างจมูกบ่อยเพียงใด
ควร ล้างจมูกอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งช่วงตื่นนอนตอนเช้าและก่อนเข้านอน หรือเมื่อรู้สึกว่ามีน้ำมูกมาก แน่นจมูก หรือก่อนใช้ยาพ่นจมูก หรือยาหยอดจมูก แนะนำให้ล้างจมูกก่อนเวลารับประทานอาหาร (ขณะท้องว่าง) หรือหลังรับประทานอาหารแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไปเพื่อป้องกันการอาเจียนหรือสำลัก


แหล่งข้อมูล
ล้างจมูกให้ลูกน้อย, The Royal College of Otolaryngologists-Head and Neck Surgeons of Thailand, 
http://www.rcot.org/data_detail.php?op=knowledge&id=68

รูปประกอบจาก 
 http://blog.samitivejhospitals.com/kidshospital/131/20120319a/

http://sweetnicepics.blogspot.com/2009_01_01_archive.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น