วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ลูกคัดจมูก น้ำมูกไหลบ่อยๆ ใช้ยาอะไรดี??? โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล


“ลูกมีอาการคัดจมูกฟุดฟิด น้ำมูกใสๆไหลออกมา ตอนนอน ก้อหายใจขัดๆ ทำไงดีคะ?” คุณแม่เปิ้ลคนงาม เขียนอีเมลล์มาถามให้กับลูกน้อยเชอรี่น่าร้าก  จะไปเข้าเรียนอนุบาลครั้งแรกในชีวิตของหนู ในฤดูเปิดเทอมใหม่ ที่มาพร้อมกับสายฝนที่เริ่มโปรยมาเวลานี้ 

เด็กๆไม่ว่าจะนอนแบเบาะหรือหิ้วกระเป๋าไปโรงเรียนอนุบาลได้แล้ว พออากาศชื้นเย็นมากๆ ก้อเริ่มมีอาการหวัดคัดจมูก น้ำมูกไหลมาให้เรา คุณแม่คุณพ่อเริ่มวิตกกังวลกันแล้ว ว่าจะต้องเตรียมดูแลอย่างไร? แล้วจะต้องใช้ยาแก้หวัดลดน้ำมูกตัวไหนบ้างนะ?  ให้น้องน้อยสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นหวัดบ่อยๆ ตลอดหน้าฝนนี้

ลูกรักน้ำมูกไหล ต้องสังเกตุอาการอะไรบ้างนะ?
คุณพ่อคุณแม่ที่แสนดี คงสังเกตุพบบ่อยๆว่า พอย่างเข้าหน้าฝน อากาศเย็นๆ หรืออุ้มลูกเข้าไปในเข้าไปในที่สถานที่แออัด เด็กๆมักอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก และจาม ทั้งๆ ที่ลูกก็ไม่ได้มีไข้ ตัวก้อไม่ร้อน คงกำลังสงสัยและวิตกกังวลว่าลูกเราเป็นอะไรไปนะ จะเป็นโรคหวัดใช่หรือไม่? ลองมาเป็นหมอประจำตัวของลูกเราโดยสังเกตุอาการดังต่อไปนี้ก่อนดีไหมครับ? 

อาการน้ำมูกไหล สังเกตุอย่างไร?
ในยามปกติ ในโพรงจมูกของเด็ก จะต้องมีน้ำมูกที่เป็นเสารคัดหลั่งที่อยู่ในจมูก จะหลั่งออกมาทำไมหล่ะ?  อ๋อ ก้อเพื่อสร้างความชุ่มชื้นกับรูจมูก เพื่อปรับอากาศภายนอกที่สูดดมเข้าไปให้มีความชื้นพอเหมาะและอุณหภูมิเหมาะสม ให้สูดเข้าไปสู่ทางเดินหายใจส่วนล่างต่อไป

โดยปกติแล้วน้ำมูกจะมีสีใสๆไม่ขุ่นข้น และปริมาณไม่มากนักพอชุ่มชื้น แต่จะผลิตออกมามากขึ้น ก้อต่อเมื่อมี สิ่งกระตุ้น หรือมาระคายเคืองต่อโพรงจมูก หากลูกน้ำมูกไหล เราควรสอบถามหรือสังเกตุอาการเด็กดูว่าน้ำมูกที่ไหลออกมา สีของน้ำมูกที่ไหลจะขาวหรือใสๆ ไหลออกมามากในเวลาใด มีอาการคันจมูก คันคอหรือเพดานช่องปาก หรือคันใบหูและในช่องหูบ้างหรือไม่  

อาการคัดจมูก หายใจไม่ออก
นอกเหนือจากน้ำมูกหรือเสมหะที่มากเกินไป เวลาเด็กมีอาการหวัดหรือภูมิแพ้ มักจะมีอาการ ”คัดจมูก” ตามมาหรือเกิดพร้อมกันกับน้ำมูกที่ขวางทางเดินหายใจ ผลอันเนื่องมาจากสารก่อภูมิแพ้จะไปกระตุ้นร่างกายให้หลังฮิสตามีนและสารอื่นๆจะมีผลทำให้เส้นเลือดในโพรงจมูกบวมโตมากขึ้นๆ จนกระทั่งไปทำให้ทางเดินหายใจที่เคยโล่งสบายกลับตีบแคบลงๆ จนเกิดเป็นอาการคัดจมูก หายใจไม่ออกตามมาในที่สุด

อาการคัดจมูกที่เป็น จึงทำให้รูจมูกที่เคยโล่งสบายกลับเล็กลงๆ เด็กจะหายใจแรงขึ้นเพื่อสูดอากาศให้เพียงพอ ถ้าเป็นมากๆ เด็กมักจะบ่นว่าหายใจไม่ออก เสียงอาจจะเปลี่ยน มีไอเป็นพักๆ เนื่องจากน้ำมูกที่ไหลออกมาในโพรงจมูกจะค่อยๆไหลลงคอในที่สุด 

ช่วยลูกให้หายน้ำมูกไหล ต้องแยกให้ออกเป็นหวัดคัดจมูกหรือโรคภูมิแพ้?
ดังนั้นลูกของคุณแม่ที่บอกอาการว่าลูกเป็นโรคหวัดคัดจมูก น้ำมูกไหลที่ว่ามา หากหมั่นสังเกตุอาการแล้ว จะทราบได้เลยว่า มักมีสาเหตุหลักๆ ได้เพียงสองกลุ่มโรคนั่นเอง ได้แก่ อาการคัดจมูกจากกลุ่มโรคไข้หวัด (ที่ได้กล่าวไปอย่างละเอียด ในตอนที่แล้ว) และกลุ่มโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจในโพรงจมูก

กลุ่มโรคไข้หวัด ขอสรุปสั้นๆในตอนนี้ว่า แท้จริงแล้วส่วนใหญ่เป็นโรคที่มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส จากสภาพแวดล้อมและครอบครัว หรือเพื่อนๆจากห้องเรียน เด็กมักมีอาการไข้ตัวร้อน ปวดหัว ร่วมกับกลุ่มอาการโรคหวัด คือน้ำมูกไหล คัดแน่นจมูกหายใจไม่ค่อยออก และจาม

ในการรักษา จึงให้ตามอาการที่ได้อธิบายอย่างละเอียด ในฉบับที่แล้ว ขอความกรุณาตามไปอ่านย้อนหลังได้เลยนะครับ  และหัวใจหลักของการรักษาอาการน้ำมูกไหล คัดจมูกจากโรคหวัดติดเชื้อนั้น ก็คือการ “บำรุงรักษาร่างกาย” น้องเล็กให้แข็งแรง พอภูมิต้านทานเด็กเขาดีขึ้นๆ แข็งแรงมากกว่าเดิม อาการน้ำมูกไหล รวมทั้งอาการหวัดต่างๆจะค่อยๆหายไป และหากไม่มีการติดเชื้อแทรกซ้อนของแบคทีเรีย ก้อไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแต่อย่างใด  เนื่องจากยาดังกล่าวไม่ได้มีผลต่อเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัด 

น้ำมูกไหลจากโรคภูมิแพ้ในโพรงจมูก คืออะไร?
โรคยอดนิยมของเด็กวัยนี้แท้ๆเลย  ทำไมหรือครับ?  สาเหตุเนื่องมาจากความชุกของโรคภูมิแพ้ในเด็กไทยสูงถึง 38 % หรือเท่ากับประมาณ 7 ล้านคนของประชากรเด็กทั่วประเทศเลยนะครับ อีกทั้งยังพบว่า เด็กที่ป่วยเป็นโรคหอบหืดมีมากถึง 15 % ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ มีมากกว่าเดิมถึง 3-4 เท่า และจากการศึกษายังพบว่า 80 % ของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทางจมูก มีอาการร่วมของโรคหืด และ 40%ของผู้ป่วยโรคหืดก็มีอาการร่วมของโรคภูมิแพ้ทางจมูกเช่นกัน

ทำไม เราจึงต้องใส่ใจกับโรคนี้ ก็เพราะว่าอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก อีกส่วนหนึ่งจะเเกิดในเด็กน้อยที่มีสาเหตุมาจากกลุ่มโรคภูมิแพ้ในโพรงจมูกนี้เอง คุณแม่อาจสงสัยว่าทำไมจึงเป็นโรคนี้ได้ง่ายจัง? ก้อเพราะว่าเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันเด็กเอง ที่มีการตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ที่ “ไว” มากกว่าปกติ

พอลูกของเราไปสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้เช่น ไรฝุ่นบ้าน  หรือสภาวะร่างกายยังไม่แข็งแรง พอไปสัมผัสอากาศเย้นมากๆอย่างฉับพลัน จะทำให้มีอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก คันจมูกและจาม ถ้าเป็นมากๆอาจมีอาการคันที่ตา คอ หู หรือที่เพดานปากด้วย นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาการปวดศีรษะ เสียงเปลี่ยน น้ำมูกไหลลงคอ ไอเรื้อรัง หากคุณพ่อคุณแม่ใส่ใจดูแลบรรเทาอาการก้อจะไม่เรื้อรัง ไม่มีอาการของการติดเชื้อตามมาแต่อย่างใด เช่น มีไข้ ตัวร้อน ปวดหัว เป็นต้น อาการดังกล่าวมักเป็นอยู่เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง พอพาเด็กออกจากที่มีสารก่อภูมิแพ้หรือร่างกายเด็กปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้นๆ  อาการการจะบรรเทาลง และหากภูมิต้านทานเขาพัฒนาแข็งแรงดีขึ้นๆ อาการเหล่านี้จะหายได้เอง
อาจจะหลงเหลืออาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และจามเพียงเล็กๆ น้อยๆ อาจทำให้เกิดความรำคาญเท่านั้นเอง

รักษาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และจาม ต้องทำอย่างไร?
อ้าว!! ถ้าเป็นอย่างนี้ก้อไม่ต้องรักษาใช่ไหม? ไม่ใช่ครับ เพราะอาการที่ว่ามาจะทำให้คุณภาพชีวิตเขาแย่ลง ถ้าเป็นมากๆ หากไม่ดูแลบรรเทาอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก  ปล่อยให้สัมผัสสารก่อภูมิแพ้บ่อยๆ หรือภูมิต้านทานไม่ดี ปล่อยให้เป็นหวัดได้บ่อยๆ ก้อออาจจะลามไปเป็นโรคร้ายแรงอื่นๆตามมาได้

แล้วเมื่อไรจึงจะสงสัยว่าเป็นโรคภูมิแพ้ หรืออาการจากไข้หวัด ตามปกติ เด็กๆมักจะมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ โดยอาการมักเป็นไม่นานเกิน 1-2 สัปดาห์
ถ้ามีอาการหวัดเป็นประจำ หรือเป็นเรื้อรังเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน จามบ่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงเช้าๆ อากาศเย็นๆ  อาการคันจมูกหรือคันคันตาเป็นๆ หายๆ อาการคัดจมูกหายใจไม่สะดวกร่วมกับมีน้ำมูกใสๆ ทุกวัน ให้สงสัยว่าน่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ของจมูก โดยเฉพาะหากมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวร่วมด้วย รายละเอียดในการการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ เราจะกลับมาเล่าอีกครั้งหนึ่งในตอนยารักษาโรคภูมิแพ้ครับ 

กลับมาที่การดูแลรักษาอาการน้ำมูกไหล มีทั้งแบบที่ต้องใช้ยาและชนิดที่ไม่ต้องใช้ยาในการรักษา ทางเลือกแรกที่จะดูแลอาการหวัดคัดจมูกโดยไม่ใช้ยา เนื่องมาจากมีน้ำมูกไหลเกรอะกรังนั้น เราอยาก
แนะนำให้การดูแลโดยการล้างโพรงจมูกโดยการใช้น้ำเกลือล้างจมูก ซึ่งสามารถช่วยล้างน้ำมูก ล้างสารก่อภูมิแพ้ที่เข้าไปในจมูก รวมทั้งสามารถช่วยลดอาการแน่นคัดจมูกได้อีกด้วย เป็นการดูแลเด็กโดยไม่ใช้ยา แต่ช่วยให้กำจัดน้ำมูกออกพร้อมทั้งทำให้โล่งจมูกชนิดอื่นๆ ได้อย่างปลอดภัย

ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาขึ้นมาแล้วหล่ะก้อ เราจำเป็นต้องมาทำความเข้าใจกับยากลุ่มนี้อย่างละเอียด เพื่อที่จะใช้ยาได้อย่างได้ผลและปลอดภัย ยาที่ใช้ในการรักษา
การคัดจมูก น้ำมูกไหล และจาม จะมี 2 กลุ่มใหญ่ๆ อันได้แก่ ยาแก้แพ้ หรือ ยาต้านฮิสตามีน (antihistamines) และ ยาลดการคั่งของน้ำมูกหรือบรรเทาอาการคัดจมูก (decongestants)
ยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮิสตามีน (Antihistamines)
เป็นทางเลือกแรกๆที่จำเป็นต้องใช้ยา เพราะมีการใช้กันมานาน จนทราบถึงสรรพคุณและความปลอดภัยอย่างถ้วนถี่แล้ว ยานี้มีฤทธิ์ทำให้น้ำมูกแห้งลง จึงเลือกนำมาใช้แก้อาการคันจมูก คันตา ผื่นคันหรือลมพิษ และอาการแพ้ทางผิวหนัง

ยากลุ่มนี้แบ่งเป็นรุ่นแอนตี้ฮิสตามีนรุ่นดั้งเดิม  ได้แก่
Chlopheniramine, Diphenhydramine, Hydroxyzine เป็นต้น ถึงแม้นว่าจะเป็นยาเก่าก้อตาม แต่เป็นยาที่ใช้รักษาอาการเหล่านี้ได้ผลดี  ให้ผลเร็วในการลดอาการน้ำมูกไหล คันจมูกฟุดฟิด จามและบรรเทาอาการคันตา และลดผื่นคันหรือลมพิษที่ปรากฎทางผิวหนังได้

ข้อควรระวังที่สุดของยากลุ่มนี้ก็คือมีผลข้างเคียงทำให้เด็กซึมลง หรือง่วงนอนได้บ้าง แต่ไม่ได้เกิดกับเด็กทุกคนนะครับ และสามารถบรรเทาได้ ด้วยการให้ยาภายหลังอาหารเพื่อบรรเทาอาการง่วงนอนนี้ แต่ถ้าหากเด็กบางคนที่มีผลข้างเคียงที่ง่วงมาก ยานี้จึงไม่เหมาะสำหรับการใช้ในเวลาที่น้องไปโรงเรียน เพราะอาจทำให้เด็กง่วงมากจนเรียนหรือทำกิจกรรมกับเพื่อนๆไม่สนุก
แต่เหมาะสำหรับให้กับเด็กตอนก่อนนอน ผลข้างเคียงที่เราวิตกกลับจะมาช่วยทำให้ให้เด็กง่วงนอน หลับเร็วขึ้น และนอนได้ยาวนานมากขึ้น ซึ่งระหว่างหลับนี้ ภูมิต้านทานในร่างกายเด็กจะฟื้นตัวได้เร็ว ทำให้ตื่นมาแล้วอาการหวัดที่ว่ามาก็จะหายเร็วขึ้น  

นอกจากนี้ยากลุ่มนี้ยังมีระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้นๆ คือได้ผลเพียงระยะเวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมงเอง ทำให้เราต้องให้ยาบ่อยๆ วันละ 3-4 ครั้ง อาจจะไม่สดวกเวลาคุณแม่คุณพ่อต้องส่งลูกไปโรงเรียน ต้องหมั่นเตือนครูให้จ่ายยาตามเวลา

ที่ต้องใส่ใจอีกอย่างคือ มีผลข้างเคียงได้แก่ ทำให้ปากแห้ง คอแห้งได้ สุดท้ายที่คุณแม่ต้องทราบ คือควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะหากเราให้ยามากเกินหรือถี่เกินไป  ผลจากการลดน้ำมูกโล่งสบายจะกลับไปเป็นตรงกันข้าม คือตัวยาจะกลับไปทำให้เสมหะที่อยุ่ในทางเดินหายใจ แห้งมากเกินไป ทำให้เหนียวข้นมากขึ้นแย่ลงไปอีก

คุณแม่หลายคน อาจจะคุ้นเคยกับยาต้านฮิสตามีนรุ่นใหม่ๆ (second generation) ได้แก่
Cetirizine, Levocetirizine,  Fexofenadine, Loratadine โดยมีผลข้างเคียงเรื่องง่วงซึมน้อย (ไม่ใช่ว่า จะไม่เกิดเลยนะครับ) ทั้งยังออกฤทธิ์ได้นาน ทำให้ใช้ยาเพียงวันละ 1-2 ครั้งเท่านั้น ทำให้สะดวกสบายในการใช้ยา และไม่ส่งผลกระทบกับใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างสนุกสนาน เราจะกลับมาเรียนรู้เรื่องการใช้ยาในกลุ่มนี้อย่างละเอียดในครั้งต่อไปครับ 

ยาลดการคั่งของน้ำมูก (Decongestants)
นอกเหนือจากน้ำมูกหรือเสมหะที่มากเกินไป เวลาเด็กมีอาการหวัดหรือภูมิแพ้ มักจะมีอาการ ”คัดจมูก” ตามมาหรือเกิดพร้อมกันกับน้ำมูกที่ขวางทางเดินหายใจ ผลอันเนื่องมาจากสารก่อภูมิแพ้จะไปกระตุ้นร่างกายให้หลังฮิสตามีนและสารอื่นๆจะมีผลทำให้เส้นเลือดในโพรงจมูกบวมโตมากขึ้นๆ จนกระทั่งไปทำให้ทางเดินหายใจที่เคยโล่งสบายกลับตีบแคบลงๆ จนเกิดเป็นอาการคัดจมูก หายใจไม่ออก ตามมาในที่สุด

ผลของยากลุ่มนี้ มีฤทธิ์ทำให้โล่งจมูก และยาบางชนิดอาจมีฤทธิ์ขยายหลอดลมด้วย จึงทำให้หายใจสะดวกยิ่งขึ้น ยากลุ่มนี้ที่มีใช้กันมี 2 ชนิด คือชนิดกิน และชนิดทาภายนอกโดยการเช็ดจมูก

ยาลดการคั่งของน้ำมูกชนิดกิน ได้แก่ phenylephrine และ pseudoephedrine  ตัวหลังโดนยกระดับเป็นยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์จากโรงพยาบาลเท่านั้น ทั้งคู่เป็นยาที่ทำให้โล่งจมูก หายใจได้สะดวก แต่ต้องระวังในเด็กบางคน เพราะจะไวต่อยากลุ่มนี้มาเกินไป ทำให้มีอาการข้างเคียงทำให้หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ร้องกวน โยเยได้  



ยาลดการคั่งของน้ำมูกอีกชนิดหนึ่งเป็นชนิดทาภายนอก เช่น ephedrine  เป็นต้น เป็นยาที่ได้ผลดี ทำให้โล่งจมูก หายใจได้สะดวก ถ้าใช้อย่างถูกวิธีและไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 3-5 วัน เพราะถ้าใช้ติดต่อกันนานๆ อาจทำให้เกิดอาการ rebound congestion กลับมาคัดจมูกได้ อันเนื่องจากอาการข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยานานเกินไป อนึ่งในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 1 ขวบ ไม่ควรใช้ยาในการลดน้ำมูก แก้คัดจมูก ที่เกิดจากกลุ่มโรคไข้หวัด

เห็นไหมครับว่าเรื่องเล็กๆเช่นอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก กลับเป็นเรื่องใหญ่หากคุณแม่คุณพ่อไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพลูกๆ หากมีข้อสงสัย  ทุกท่านสามารถไปที่ร้านยาใกล้บ้าน เภสัชกรใจดีทุกท่าน พร้อมให้คำแนะนำเพื่อสุขภาพที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ปลอดภัยต่อทุกท่านอยุ่แล้วครับ

แหล่งข้อมูล
·         เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล สงวนลิขสิทธิ์ 3 มิย. 2556
ห้ามนำบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ โดยผู้เขียนไปเผยแพร่เชิงพาณิชย์ ให้นำไปเผยแพร่เป็นวิทยาทานหรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น ผู้ประกอบการเว็บไซต์ต้องยึดหลักความเคารพและคำนึงถึงลิขสิทธิ์ในการสร้างสรรค์งานเขียนและจริยธรรมทางธุรกิจ
การนำเอาบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ ซึ่งผลิตขึ้นโดยผู้เขียนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตและผลิตซ้ำเพื่อเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพ ไม่แนะนำให้คุณนำไปใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรคด้วยตนเอง ขอความกรุณารับคำปรึกษาได้โดยตรงจากบุคลากรสหวิชาชีพทางสาธารณสุข รวมทั้งเภสัชกรใจดี ที่พร้อมดูแลสุขภาพพ่อแม่พี่น้องนะครับ

รูปประกอบ

ลูกน้อยมีอาการแพ้ น้ำมูกไหล ควรใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัยและได้ผล โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล,

ทำไมเด็กไทยจึงเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้น โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล,

Antihistamines for Allergies, WebMD,

Antihistamines for allergies, U.S. National Library of Medicine, http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/patientinstructions/000549.htm


Antihistamines, Decongestants, and Cold Remedies, The American Academy of Otolaryngology—Head and Neck Surgery (AAO-HNS), http://www.entnet.org/HealthInformation/coldRemedies.cfm



อรุณวรรณ พฤทธิพันธุ์ พ.บ., ศาสตราจารย์ ปิยะพร ชื่นอิ่ม พ.บ., อาจารย์ หน่วยโรคระบบหายใจเด็ก  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, สุรางค์ เจียมจรรยา พ.บ. ศาสตราจารย์, ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, การรักษาโรคหวัดในเด็ก, วารสารคลินิก เล่มที่: 294
เดือน/ปี: มิถุนายน 2009, http://www.doctor.or.th/clinic/detail/9088

นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม
หน่วยโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันทางคลินิก ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, http://www.oocities.org/poompae/allergy_care1.htm

ภก.วิรัตน์ ทองรอด
,ยาลดน้ำมูกในเด็ก, นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 301, พฤษภาคม 2004, http://www.doctor.or.th/article/detail/3044

ยาแก้แพ้,
           
พญ.รัตนา เพ็ญศรีชล
กุมารเวช : กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยา,Vejthani Hospital,
โรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ในเด็ก (Allergic Rhinitis),

นพ.กัลย์ กาลวันตวานิช กุมารแพทย์, ภูมิแพ้ในเด็ก รีบแก้ ดูแลได้, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, http://www.bumrungrad.com/healthspot/february-2012/allergy-in-children

น้ำมูกบอกอาการเจ็บป่วย, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เมื่อเด็กเป็นหวัดหรือไอ ควรทำให้ร่างกายเด็กอบอุ่น และชวนให้เด็กกินอาหารและดื่มน้ำให้มาก
 เท่าที่จะทำได้, สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น