วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โรคหอบหืดในเด็ก รู้จักเพื่อรักษา


โรคหอบหืดมักจะเริ่มเป็นตั้งแต่เด็ก  อาการเด็กน้อยแต่ละคนรุนแรงไม่เท่ากัน และการหอบแต่ละครั้งก็มีความแตกต่างกัน บางคนอาจหอบไม่กี่นาทีก็หาย บางคนหอบมากถึงกับเสียชีวิตก็มี เนื่องไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเมื่อไร่จะเป็นหอบหืด และไม่ทราบว่าหอบแต่ละครั้งจะเป็นมากแค่ไหน เรามีคำแนะนำให้คุณแม่คุณพ่อได้การศึกษาให้เข้าใจในโรค การสังเกตุอาการ รวมทั้งการมีแผนการรักษาที่ดีสามารถทำให้ลูกรักกลับไปเป็นเด็กที่มีคุณภาพชีวิต สดใส พัฒนาการได้สมวัย 

โรคหอบหืดทำไมจึงเป็นได้หล่ะ?

โรคหอบหืดในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี พบได้บ่อย เช่น ในประเทศอังกฤษ เด็กๆ จะเป็นโรคนี้ประมาณหนึ่งในเจ็ด ส่วนในสหรัฐอเมริกาจะประมาณ 10% บ้านเรายังไม่มีตัวเลขที่แน่นอน แต่คิดว่าไม่น่าจะน้อยกว่านี้ โรคหอบหืดทำให้เด็กต้องนอนโรงพยาบาล และขาดเรียนบ่อยมาก ประมาณ 30 - 80% จะมีประวัติไอ และมีเสียง Wheez ( วี้ด ) อย่างน้อย 1 ครั้งก่อนอายุ 5 ปี พวกที่มีอาการรุนแรงที่สุดคือ พวกที่มี wheez เร็ว ในขวบปีแรก และมีประวัติครอบครัวเป็นหอบหืด ร่วมกับโรคภูมิแพ้ชนิดอื่น

รูปประกอบ:  กลไกการเกิดอาการหอบหืดในทางเดินหายใจ 
ภาพมาจาก http://siamhealth.net/public_html/Disease/Respiratory/asthma1/Asthma.htm#.Ube2w6Vlzy8


ถ้าพ่อแม่เป็นโรคภูมิแพ้ 1 คน ลูกที่เกิดมาจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ 25% แต่ถ้าพ่อแม่เป็นทั้ง 2 คน โอกาสที่ลูกจะเป็นได้มีประมาณ 50%

การที่ต้องเห็นลูกเหนื่อย หอบแต่ละครั้ง เป็นสิ่งที่น่ากังวล และตกใจสำหรับพ่อแม่ ที่ต้องเห็นลูกทุกข์ทรมาน และนอนไม่ได้




โรคหอบหืดเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
หลอดลมของเด็กที่เป็นหอบหืดนั้น เชื่อว่ามีความไวผิดปกติต่อสิ่งกระตุ้น ทำให้หลอดลมหดเกร็งตัวแคบลง เยื่อบุภายในหลอดลมบวมขึ้น และสร้างเมือกเหนียว ซึ่งจะยิ่งทำให้ช่องทางเดินอากาศในหลอดลมแคบลงอีก ทำให้เกิดอาการหอบหืดขึ้น สิ่งกระตุ้นเหล่านี้เช่น โรคหวัด ควันบุหรี่ ฝุ่น ละอองเกสร การออกกำลังกาย ขนสุนัข ขนแมว ฯลฯ

ให้ตระหนักไว้ว่า ในเด็กเล็กๆ ที่อายุ 1 - 2 ปีนั้น โรคหอบหืดมักเกิดตามหลังอาการหวัด ซึ่งเป็นการติดเชื้อไวรัส และไม่เกี่ยวกับภูมิแพ้ได้ แต่หอบหืดในเด็กวัยเรียน จะเกิดในเด็กที่มีโรคภูมิแพ้จริงๆ

โรคหอบหืดมีอาการอย่างไร ?
มักเริ่มต้นด้วยอาการ หวัด ไอ มีเสมหะ ถ้าไอมากขึ้นเรื่อยๆ ก็มักจะมีเสียงวี้ดๆ ในช่วงหายใจออก เมื่อร่างกายขาดออกซิเจนมากขึ้น ก็เกิดอาการหอบมาก ปากซีดเขียว ใจสั่น บางครั้งการเกร็งตัวของหลอดลมเกิดขึ้นไม่มากนัก ทำให้คนไข้มีอาการไม่มากแต่ก็เป็นอยู่เรื่อยๆ เด็กๆ บางคนจะมีอาการไออย่างเดียว และมักจะมีอาการอาเจียนร่วมไปด้วย ซึ่งอาการไอจะดีขึ้น หลังจากที่เด็กได้อาเจียนเอาเสมหะหนียวๆ ออก

ให้สังเกตไว้ว่า การไอของเด็กเล็กๆ เช่น ไอแห้งๆ ที่ระคายเคือง ( dry irritating ) อาจเป็นอาการแสดงของโรคหอบหืดอย่างเดียว เพราะคนทั่วไปมักเข้าใจว่าต้องมีเสียง Wheez จึงจะเป็นหอบหืด เด็กที่แข็งแรงดีมักจะไม่ไอ ยกเว้นหวัดอย่างรุนแรง

ความรุนแรงของหอบหืด
ขั้นเล็กน้อย - เริ่มไอ และ/หรือ มีเสียงวี้ด แต่ยังเล่นซนได้ตามปกติ และทานอาหารได้ตามปกติ การนอนยังปกติ ( ไม่ถูกรบกวนโดยอาการไอ )
ขั้นปานกลาง - ตื่นกลางคืนบ่อยๆ วิ่งเล่นซนไม่ค่อยได้ ขณะเล่นมักไอ หรือมีเสียงวี้ดไปด้วย
ขั้นรุนแรง - กระสับกระส่ายจนนอนไม่ได้ เล่นซนไม่ได้ เหนื่อยหอบจนพูดหรือกินอาหารไม่ได้ หรือรอบริมฝีปากเป็นสีเขียว


ยารักษาโรคหอบหืดประกอบด้วยยาอะไรบ้าง ?
การรักษาหอบหืด แนวใหม่ ( Modern management ) มีจุดประสงค์ คือ การลดอาการของเด็ก ให้เด็กมีกิจกรรมได้ตามปกติ พยายามหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่ทำให้โรคเลวลง และการใช้ยาอย่างถูกต้อง ยาที่ใช้รักษาโรคหอบหืดนั้นประกอบด้วย

ยาขยายหลอดลม ( Relievers ) 
ยาลดการบวม และการอักเสบของหลอดลม (Steroid ) 
ยาป้องกัน ( Preventers )
ยาขยายหลอดลม มีทั้งชนิดพ่น และชนิดรับประทาน ซึ่งชนิดพ่นจะให้ผลได้เร็วกว่า และยังสามารถให้ได้ในเด็กเล็กๆ ยาชนิดนี้ จะช่วยให้การหายใจโล่งขึ้น เพราะไปขยายกล้ามเนื้อเล็กๆ ซึ่งอยู่ภายในหลอดลมที่หดเกร็ง เพื่อเปิดหลอดลมนั้น จะใช้เมื่อปรากฏอาการหอบ และใช้พ่นก่อนมีอาการ เพื่อ ป้องกันหอบหืดที่เกิดจากการออกกำลังกาย ยาขยายหลอดลมจึงเป็นยารักษาที่สำคัญ

ยากลุ่ม Steroid จำเป็นต้องให้ เพียงระยะสั้นๆ คือ 3 - 5 วัน เพื่อรักษา และป้องกันไม่ให้โรครุนแรงขึ้น เด็กจะไม่รับผลข้างเคียงจากยาตัวนี้ เนื่องจากใช้ระยะสั้น และ ให้ในบางกรณีที่จำเป็นเท่านั้น

ยาป้องกัน จะช่วยป้องกันเยื่อบุหลอดลมไม่ให้เกิดอาการหดเกร็งได้ง่าย เวลากระทบกับสิ่งกระตุ้น ฉะนั้นยาจะไม่ได้ออกฤทธิ์ขยายหลอดลมขณะมีอาการหอบหืด การใช้ยาป้องกัน ต้องใช้สม่ำเสมอทุกวัน ถึงแม้เด็กจะมีอาการปกติแล้วก็ตาม ถ้าอาการหอบหืดควบคุมได้ดีแพทย์จะพิจารณาลดปริมาณยาลง

ทำอย่างไรยาพ่นจึงจะลงไปที่หลอดลมได้ดี ?
Inhalers คือยารักษาหอบหืด ในรูปยาพ่น ข้อดี คือ ยาผ่านเข้าปอดโดยตรง และให้ได้ในปริมาณที่น้อยกว่ายากิน และมีฤทธิ์ข้างเคียงน้อยกว่า แม้แต่ทารกในขวบปีแรก ก็สามารถใช้ยานี้ได้ และให้ประสิทธิภาพดีกว่ายาน้ำ ที่ใช้รับประทาน ยาพ่นมีทั้งชนิดแท่งสเปรย์ ( Aerosol puffer ) ชนิดอัดแห้ง ( dry powder ) เป็นกระเปาะ หรือแท่งดูด

Spacers ในเด็กเล็กทุกรายที่ใช้แท่งสเปรย์ ควรใช้ Spacer ร่วมด้วยเพราะเด็กเล็กจะหายใจเอายาผ่านหลอดลม เข้าไปได้ดีขึ้น Spacer ทำให้เรามั่นใจว่า ยาพ่นสามารถไปถึงหลอดลมได้ดียาไม่ตกค้างเกาะอยู่ที่คอ หรือกระพุ้งแก้มในปาก

Nembulisers เป็นเครื่องมือที่เปลี่ยนยาในสภาพของเหลว ให้เป็นละอองฝอย โดยใช้ Oxygen หรืออากาศผ่านเข้าไปภายในกระเปาะยา ใช้ในบางกรณี เช่น ในห้องฉุกเฉิน สำหรับเด็กหอบรุนแรงที่ต้องการปริมาณยาที่มากกว่า


สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่อะไรบ้าง ?
ควันบุหรี่ เป็นสิ่งที่อันตรายต่อปอดที่กำลังเจริญเติบโตของเด็ก และเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืดได้

ตัวไรฝุ่น ฝุ่น มักอาศัยอยู่ที่เตียงนอน หมอน พรม เฟอร์นิเจอร์ บุนวม จึงควรนำไปตาก หรือผึ่งแดดบ่อยๆ ไม่ควรมีตุ๊กตาที่มีขนในห้องนอน ไม่ใช้พรมในห้องนอน ควรเช็ดฝุ่นทุกวัน 
ใช้ผ้าชนิดพิเศษที่มีคุณสมบัติป้องกันตัวไรฝุ่นคลุมที่นอน หมอน ซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนด้วยน้ำอุณหภูมิ 60 องศา c สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ใช้ที่นอนจากใยสังเคราะห์ หรือฟองน้ำ และไม่นำสัตว์เลี้ยงเข้าห้องนอน

ละอองเกสรในบางฤดู ควรหลีกเลี่ยงในบางฤดู และอาจเพิ่มปริมาณของยาป้องกันด้วย 
สัตว์เลี้ยง ไม่ควรเลี้ยงสุนัข แมวในบ้าน เพราะเด็กหอบหืดบางคนจะแพ้ขนสัตว์ ซึ่งอาจรวมถึงนกด้วย

เชื้อรา ที่ชื้นๆ มักมีเชื้อรา ควรให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก 
การออกกำลังกาย ถ้าควบคุมโรคหอบหืดได้ดี จะไม่มีปัญหาในการออกกำลังกาย หรือวิ่งเล่นซึ่งควรให้เด็กได้มีกิจกรรมนี้ตามปกติ

อากาศเย็น เด็กบางคนกระทบอากาศเย็น มักจะไอ หรือหายใจมีเสียงวี้ด การใช้ยาขยายหลอดลม 1 ครั้ง ก่อนเข้าห้องที่เย็นๆ จะช่วยได้

โรคหอบหืดกับการนอนถ้าสามารถควบคุมโรคหอบหืดได้ดี เด็กจะไม่มีอาการไอ หรือ วี้ดในช่วงกลางคืนเลย การที่เด็กเล็กๆ นอนไม่ได้เพราะไอ จะรบกวนทั้งสุขภาพของเด็กและพ่อแม่ ปัญหาการนอนไม่พอ ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง คุณแม่อาจจะอารมณ์เสีย และหงุดหงิดง่าย จึงควรปรึกษาแพทย์ เพื่อวางแผนการรักษา

โรคหอบหืดมีโอกาสหายหรือไม่ ?พบว่าเด็กที่เป็นโรคหอบหืด จะมีอาการน้อยลง เมื่ออายุมากขึ้นประมาณ 50% จะไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยมาก เมื่ออายุ 8 - 9 ปี แต่ในเด็กที่แพ้มากๆ หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ โอกาสหายน้อยลง เด็กที่ยังคงมีอาการหอบหืดจนถึงอายุ 14 ปี มีแนวโน้มจะเป็นหอบหืดเรื้อรังจนเป็นผู้ใหญ่

แหล่งข้อมูล

 แพทย์หญิงวารุณี นิวาตวงศ์ แผนกกุมารเวช โรงพยาบาลรามคำแหง
http://www.tinyzone.tv/HealthDetail.aspx?ctpostid=1479

ภาพประกอบจาก
https://woolworthsbabyandtoddlerclub.com.au/toddler/Toddlers-Health-and-nutrition/how-to-reduce-asthma-in-your-toddler/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น