วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โรคสะเก็ดเงิน ยาที่ใช้รักษามีอะไรบ้าง?


โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นเป้าหมายของการรักษาจึงมีเป้าเหมายเพื่อหยุดวงจรที่ทำให้เกิดการสร้างเซลล์ผิวหนังมากกว่าปกติ โดยลดการอักเสบของผิวหนังและเพื่อลดการเกิดสะเก็ดและทำให้ผิวเรียบขึ้น 


เรามีบทความที่เจ๋งเป้งจาก Dr.Carebear Samitivej หมอหมีน่าร้ากมาแนะแนวถึงการดูแลรักษาและยาที่ใช้เพื่อให้ได้สบายกายหายจากอาการน่ารำคาญ สบายใจไม่ต้องกังวลอีกต่อไป 


กลุ่มยาที่ใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน มีอะไรบ้าง?

สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 

  1. การใช้ยาชนิดทาที่ผิวหนัง
  2. การรักษาด้วยแสง และ
  3. การรับประทานยา
ยาทาที่ผิวหนัง Topical treatments 
สำหรับผู้ป่วยสะเก็ดเงินชนิดที่ไม่รุนแรง สามารถใช้ยาทาเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะควบคุมอาการได้ แต่หากอาการรุนแรงมากอาจจะต้องใช้การรักษาด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย ยากลุ่มที่ใช้สำหรับทาที่ผิวหนังที่นิยมใช้ได้แก่
  • ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ Topical corticosteroids. เป็นยากลุ่มที่มีการใช้ในการลดการอักเสบของผิวหนังมากที่สุด และใช้ได้ผลดีในกลุ่มที่เป็นไม่รุนแรง โดยยาจะช่วยลดการสร้างเซลล์โดยไปกดภูมิค้มกันของร่างกาย ทำให้การอักเสบลดลง และอาการคันลดลง ยากลุ่มนี้มีหลายชนิด และมีหลายระดับความแรงของยา ยาที่มีความแรงน้อย ๆ จะใช้บริเวณที่ผิวหนังบาง ๆ เช่น ใบหน้า หรือใช้กลุ่มที่แรงขึ้นที่ผิวหนังที่ไม่กว้างมาก หรือบริเวณที่มีผิวหนังหนามากเช่นที่ฝ่ามือฝ่าเท้า หรือใช้เมื่อยาที่อ่อนกว่าใช้ได้ผล นอกจากยาที่เป็นครีมแล้ว ยังมีชนิดที่เป็นน้ำสำหรับใช้ที่ศีรษะ เพื่อที่จะป้องกันผลข้างเคียงจากยา ยากลุ่มนี้จะใช้เมื่อมีการกำเริบของโรคเพิ่มขึ้น และหยุดใช้เมื่อสามารถควบคุมอาการได้ดี
 
  • ยากลุ่มVitamin D analogues. การใช้วิตามิน D สังเคราะห์ จะช่วยทำให้การเติบโตของเซลล์ผิวหนังช้าลง ยาที่ใช้เช่น Calcipotriene (Dovonex) เป็นครีมหรือเป็นน้ำที่ใช้รักษา
 
  • ยา Anthralin. เป็นยาที่เชื้อว่าทำให้การทำงานของ DNA ในเซลล์ผิวหนังกลับสู่ภาวะปกติ และจะช่วยลอกสะเก็ดออก ทำให้ผิวหนังเรียบขึ้นแต่มีข้อเสียคือจะทำให้มีสีที่เลอะกับผิวหนัง เสื้อผ้า จึงไม่ค่อยนิยม หรือให้ใช้เพียงระยะสั้น ๆ บางครั้งจะใช้ร่วมกับการรักษาด้วย UV
 
  • ยากลุ่มที่มาจาก Vitamin Topical retinoids. กลุ่มนี้หลายคนอาจจะรู้จักนี้เพราะเป็นกลุ่มที่นิยมนำมาใช้ในการรักษาสิว หรือรักษาผิวไหม้จากแดด แต่ยา tazarotene (Tazorac, Avage) เป็นยาที่พัฒนามาสำหรับรักษาสะเก็ดเงินโดยเฉพาะ โดยจะช่วยลดการอักเสบ และช่วยการทำงานของ DNA ให้เป็นปกติ ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยคือ จะมีอาการระคายเคือง และทำให้แพ้แสงได้ จึงจำเป็นต้องใช้ครีมกันแดดเมื่อใช้ยาตัวนี้ อีกอย่างที่สำคัญคือควรหลีกเลี่ยงในหญิงตั้งครรภ์เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดความพิการแต่กำเนิดถึงแม้ว่าจะพบได้น้อยมาก ๆ

 
  • ยากลุ่ม Calcineurin inhibitors.  calcineurin inhibitors (tacrolimus and pimecrolimus) เดิมทียากลุ่มนี้ใช้ในการรักษาผิวหนังอักเสบเท่านั้น แต่การศึกษาในระยะหลังพบว่าช่วยในการรักษาโรคสะเก็ดเงินเช่นเดียวกัน โดยการยับยั้งการทำงานของ T cells ช่วยให้การอักเสบและสะเก็ดที่สร้างขึ้นลดลง ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยก็คืออาการระคายเคืองเช่นเดียวกัน ยากลุ่มนี้ไม่แนะนำให้ใช้ในระยะยาวเนื่องจากอาจจะมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนังหรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้

  • ยา Salicylic acid เป็นยาที่สามารถหาซื้อได้ง่ายทั่วไป โดยจะช่วยผลัดผิวเซลล์ที่ตายออก และลดสะเก็ดลงได้ บางครั้งจะใช้ร่วมกันกับยาอื่นเช่นกลุ่ม steroid  นอกจากชนิดทายังมีชนิดที่เป็นรูปแบบแชมพู และชนิดน้ำสำหรับรักษาที่ศีรษะด้วย
 
  • Coal tar เป็นสารที่ได้มาจากกระบวนการผลิตของปิโตรเลียม อาจจะนับเป็นยารักษาสะเก็ดเงินที่เก่าที่สุด มีผลข้างเคียงน้อยมาก ยกเว้นเรื่องกลิ่นเหม็น และสีที่ติดเสื้อผ้าได้

  • ครีมมอยซ์เจอร์ไรเซอร์ Moisturizers อันที่จริงแล้วไม่ได้ช่วยในการรักษา แต่สามารถลดอาการคัน และสะเก็ดได้ ช่วยป้องกันผิวหนังแห้ง พยายามเลือกแบบนี้เป็น oil base จะได้ผลดีกว่า


Light therapy (phototherapy) 
การรักษากลุ่มนี้ชื่อก็บอกอยู่แล้วเป็นการรักษาโดยใช้แสงสามารถใช้ได้ทั้งแสงแดดธรรมชาติ หรือแสง UV
  • แสงแดด สาเหตุที่แสงแดดช่วยในการรักษาได้นั้นก็เนื่องมาจากรังสี UV ที่อยู่ในแสงแดดสามารถทำให้เซลล์ ชนิด T cells ตายไปได้ ทำให้การสร้างเซลล์ช้าลง ลดการอักเสบและลดสะเก็ดที่ขึ้น ง่าย ๆ คือให้ได้รับแสงแดดทุกวันให้ปริมาณเล็กน้อย แต่ถ้าหากว่าได้รับแสงแดดมากไปอาจจะทำให้อาการแย่ลงได้ และอาจจะทำให้มีการทำลายผิวหนังมากเกินไป
 
  • การรักษาด้วยแสง UVB phototherapy โดยการใช้เครื่องที่สร้างรังสี UVB ในปริมาณที่ควบคุมได้ จะช่วยทำให้อาการดีขึ้นได้ในรายที่ไม่รุนแรง โดยมักจะเลือกใช้ในรายที่การรักษาด้วยยาทาอย่างเดียว ยังไม่ได้ผล ผลข้างเคียงที่อาจจะพบได้ในระยะสั้นคือ อาการแดงคัน และผิวหนัง ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้ครีม moisturizer เครื่องชนิดใหม่ ๆ จะเป็นเครื่องที่เรียกว่า narrow band UVB ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่า โดยใช้ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์จนกระทั่งอาการดีขึ้น
 
  • Photochemotherapy หรือ psoralen plus ultraviolet A (PUVA). เป็นการใช้ยาที่ทำให้มีความไวต่อแสงทาที่ผิวก่อนที่จะให้การรักษาด้วย UVA ความแตกต่างคือ UVA จะสามารถลงไปในผิวหนังได้ลึกกว่า UVB และการใช้ยาช่วยจะทำให้ได้ผลดีขึ้น แต่การรักษาแบบนี้มักจะเลือกทำในรายที่เป็นรุนแรงกว่าโดยให้การรักษา 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ผลข้างเคียงอาจจะทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ผิวไหม้ คัน ในระยะยาว จะทำให้ผิวหนังแห้งมีริ้วรอย และมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งมากขึ้น
 
  • Excimer laser การรักษาชนิดนี้จะใช้การรักษด้วย รังสี UVB ที่ถูกกำหนดคลื่นแสงที่เฉพาะ ใช้ในการรักษาเฉพาะที่ ในรายที่ไม่รุนแรง โดยมีข้อดีคือ ผิวหนังที่ดีที่อยู่ใกล้เคียงจะไม่ได้รับผลข้างเคียงจาก UV ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและใช้เวลาในการรักษาน้อยกว่า ผลข้างเคียงคืออาจมีอาการแดง
ในการรักษาอาจจะไม่ได้ยึดว่าจะต้องใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง แต่อาจจะต้องมีการใช้หลายวิธีร่วมกัน ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย และการตอบสนองต่อการรักษาแต่ละอย่าง

การรักษาด้วยยาชนิดรับประทานและชนิดฉีด Oral or injected medications 
ถ้าอาการรุนแรงมาก หรือใช้วิธีการรักษาข้างต้นแล้วไม่ได้ผล อาจจะต้องเริ่มใช้ยาชนิดรับประทาน ซึ่งมีข้อเสียคือผลข้างเคียงค่อนข้างมาก จึงนิยมใช้ในช่วงเวลาสั้น ๆ เมื่ออาการดีขึ้น ก็เปลี่ยนไปใช้การรักษาวิธีอื่นแทนที่ ยาในกลุ่มนี้ได้แก่
  • Retinoids. เป็นกลุ่มวิตามิน A ใช้ในรายที่มีอาการรุนแรง ข้อเสียคือเมื่อหยุดใช้ยาแล้วมีโอกาสที่อาการจะกลับมาอีก และมีผลข้างเคียงคือทำให้ผิวหนังแห้ง คัน ผมร่วง และต้องหลีกเลี่ยงในหญิงตั้งครรภ์

  • Methotrexate. จะ่ช่วยลดการสร้างเซลล์ผิวหนัง และลดการอักเสบ นอกจากนี้ยังช่วยในผู้ป่วยสะเก็ดเงินที่ข้อด้วย อาจจะมีผลข้างเคียงที่ระคายกระเพาะอาหาร เบื่ออาหารและอ่อนเพลีย ถ้าใช้ในระยะยาวอาจมีผลข้างเคียงที่ร้ายแรงเช่น ตับอักเสบ กดการสร้างเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว
 
  • Cyclosporine. จะกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย คล้ายกับยา methotrexate ทำให้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ และมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติกับไต และความดันโลหิตสูง ความเสี่ยงของผลของเคียงนี้จะมีมากขึ้นเมื่อใช้ยาในปริมาณที่มากขึ้น
 
  • Hydroxyurea. ยากลุ่มนี้อาจจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่ายา cyclosporine หรือmethotrexate แต่สามารถใช้ร่วมกับการรักษาด้วยแสง ผลข้างเคียงอาจะทำให้เกิดโลหิตจาง และปริมาณเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติ จึงห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์
  • ยากลุ่ม immunomodulator drugs (biologics) ยากลุ่มนี้มีหลายตัว เช่น alefacept (Amevive), etanercept (Enbrel), infliximab (Remicade) และ ustekinumab (Stelara) เป็นยากลุ่มที่ใช้ทางการฉีดเข้าเส้นเลือด หรือเข้ากล้ามเนื้อ ใช้ในรายที่การรักษาด้วยยาอื่น ๆ ไม่ได้ผล โดยจะเข้าไปยับยั้งการทำงานของภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่มีผลข้างเคียงมากที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน และอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

การเลือกวิธีการในการรักษา
ถึงแม้ว่าแพทย์จะเป็นผู้เลือกทางในการรักษาให้ โดยพิจารณาจากชนิดและความรุนแรงของโรค รวมทั้งพื้นที่ของผิวหนังที่เป็น แต่การรักษาก็มักจะเริ่มต้นด้วยการใช้ยากลุ่มที่เป็นครีมทา ร่วมกับการใช้การรักษาด้วยแสง UV ถ้าไม่ได้ผลขึงค่อย ๆ เปลี่ยนไปยังการรักษาที่แรงขึ้น โดยที่เป้าหมายคือให้ได้วิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สามารถลดการสร้างเซลล์ใหม่ โดยที่มีผลข้างเคียงที่น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
ถึงแม้ว่าจะมีทางเลือกในการรักษาหลายทาง แต่การรักษาที่มีประสิทธิภาพยังเป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากตัวโรคเอง คาดได้ยากว่าจะตอบสนองอย่างไร และจะมีการกำเริบขึ้นในช่วงเวลาใด การรักษาที่ใช้ดีในคนหนึ่งอาจจะไม่ค่อยตอบสนองในอีกราย และผิวหนังมีแนวโน้มที่จะดื้อต่อการรักษา นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงที่อาจจะพบได้ ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับทางเลือกในการรักษา และค่อย ๆ ใช้เวลาในการรักษาและดูผลตอบสนองต่อการรักษาเพื่อควบคุมอาการให้ดีที่สุด
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการดูแลตัวเอง
  • อาบน้ำ เพื่อช่วยลดสะเก็ดออก และลดการอักเสบของผิวหนัง อาจจะใช้เกลือหรือผลิตภัณฑ์ เช่น bath oil, oatmeal sin, Epsom salts or Dead Sea salts ผสมในน้ำและแช่ไว้ประมาณ 15 นาที หลีกเลี่ยงการใช้น้ำร้อน เพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลง
  • ใช้ moisturizer พยายามใช้ทันทีหลังอาบน้ำ และเลือกชนิดที่เป็น ointment-based moisturizer เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวแห้ง ถ้าผิวแห้งมาก ๆ อาจจะใช้น้ำมันแทนได้เพื่อป้องกันน้ำระเหยจากผิว ในช่วงที่อากาศหนาว และแห้งมาก อาจจะใช้วันละหลาย ๆ ครั้งได้
 
  • ปิดผิวหนังที่มีอาการด้วยพลาสติกในช่วงกลางคืน เพื่อช่วยลดอาการแดง และลดสะเก็ด โดยการใช้ moisturizer ก่อนแล้วพันด้วย plastic wrap overnight พอตื่นตอนเช้าก็เอาออกและล้างพวกสะเก็ดออกในช่วงที่อาบน้ำ
 
  • ให้ผิวหนังได้โดนแสงแดดอ่อน ๆ บ้าง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง  สำหรับผิวหนังส่วนที่ปกติก็ให้ใช้ครีมกันแดดทาป้องกันไว้ด้วย

  • ใช้ยาชนิดครีมหรือชนิดขี้ผึ้งทา ตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีอาการเพียงเล็กน้อย สามารถซื้อยากลุ่มนี้ทาได้เพื่อลดอาการคันและลดสะเก็ด

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้มีอาการ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด การติดเชื้อที่ผิวหนัง บุหรี่ การโดนแสงแดดมากเกินไป

  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มจะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาลดลง

แหล่งข้อมูล
Dr.Carebear Samitivej, 

การดูแลและการรักษาโรคสะเก็ดเงิน, http://drcarebear.exteen.com/20101125/entry

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น