วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

มะเร็งเต้านม ตรวจไว้ปลอดภัยกว่า


มะเร็งนับเป็นโรคร้ายที่น่ากลัวโรคหนึ่งสำหรับคนเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มะเร็งเต้านม ที่ทำให้ผู้หญิงไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับสอง รองจากมะเร็งปากมดลูก คุณผู้หญิงอาจกังวลมากมายในความเสี่ยงที่จะเกิดกับตัวเราหรือไม่ เรามีคำแนะนำดีๆมาให้ทำความเข้าใจกับโรคนี้ เพื่อเรียนรู้ และเข้าใจว่า "เมื่อไร...ควรตรวจมะเร็งเต้านม???"

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ มะเร็งเต้านม

* ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมเท่าเทียมกันและปัจจัยที่จะทำให้ผู้หญิงบางคนมีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่นๆ ก็คือเรื่อง ของกรรมพันธุ์ หรือวิถีในการดำเนินชีวิต
* ถ้าประวัติครอบครัวมีแม่เป็นมะเร็งเต้านม ลูกสาวก็จะมีความเสี่ยงเพิ่ม ยิ่งถ้าทั้งแม่ พี่สาว หรือน้อง สาวเป็นมะเร็งเต้านมพร้อมกัน จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้น
* การกินอาหารที่มีไขมันสูงอาจส่งผลและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ดังนั้น สมาคมส่งเสริมการป้องกันมะเร็งของสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society หรือ ACS) จึงแนะนำให้ผู้หญิงกินอาหารที่มีประโยชน์ ในสัดส่วนที่เหมาะสม เน้นอาหารที่มีกากใยมากและอาหารไขมันต่ำ รวมถึงให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
* สาเหตุของการเป็นมะเร็ง ไม่เกี่ยวกับการถูกกระแทก การถูก จับหรือลูบคลำ และมะเร็งเต้านมไม่ ใช่เป็นโรคติดต่อ
* ผู้หญิงที่ไม่เคยมีลูก จะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิงที่เคยมีลูกและผู้หญิงที่มีลูกหลังอายุ ๓๐ ปี จะ มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมเพิ่ม มากกว่าผู้หญิงที่ไม่มีลูก
* ผู้หญิงที่มีประจำเดือนครั้งแรกตั้งแต่อายุน้อย เช่น สมัยก่อนเริ่มมีประจำเดือนอายุ ๑๖ ปี ปัจจุบัน อายุ ๑๑ ปี ก็เริ่มมีประจำเดือนแล้วและอีกกลุ่มหนึ่งผู้หญิงที่อยู่ในวัยทอง ก่อนนี้เคยหมดประจำเดือนเมื่ออายุ๔๕-๕๐ แต่ปัจจุบันช่วงวัยหมดประจำ เดือนจะอยู่ระหว่างอายุ ๕๐-๕๕ ปี
* อย่างไรก็ดี กล่าวโดยสรุปคือ ผู้หญิงทุกคนล้วนแล้วแต่มีความ เสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมเท่าๆ กัน เพราะผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมร้อยละ ๗๕ ไม่ได้มีความเสี่ยงที่กล่าวข้างต้น


อาการของ มะเร็งเต้านม*  จากสถิติพบว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ (ร้อยละ ๙๐) มีก้อน ที่เต้านม แต่อย่าตกใจไป เพราะก้อน ในเต้านมที่พบ สมมุติ ๑๐๐ รายจะเป็นมะเร็งเต้านมเพียง ๑๕-๒๐ ราย
*  มีการเปลี่ยนแปลงของขนาด และรูปร่างของเต้านม
*  ผิวหนังเปลี่ยนแปลง เช่น มีรอยบุ๋ม ย่น หดตัว หนาผิดปกติ หรือ บางส่วนเป็นสะเก็ด
*  หัวนมมีการหดตัว คัน หรือแดงผิดปกติ
*  มีเลือดหรือน้ำออกจากหัว นม (ร้อยละ ๒๐ ของการมีเลือดออก เป็นมะเร็ง)
*  มีอาการบวมที่รักแร้ เพราะต่อมน้ำเหลืองโต

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น มะเร็งเต้านม
ปัจจุบันวงการแพทย์ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน ว่ามะเร็งเต้านมเกิดจากสาเหตุใด ดังนั้น จึงยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผลเด็ดขาด ที่จะไม่ให้เกิดโรคนี้ขึ้น วิธีที่ดีที่สุดที่ทำได้ขณะนี้ก็คือ ต้องค้นหามะเร็งเต้านมให้พบโดยเร็วที่สุด ตั้งแต่ระยะ เริ่มแรกก่อนที่มะเร็งจะลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ และทำให้เสียชีวิต

เครื่องมือตรวจหา มะเร็งเต้านมปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การตรวจ หามะเร็งเต้านม ได้ผลมากที่สุด ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ๓ ประการ คือ
๑. การตรวจเต้านมด้วยตน เอง (breast self examinations)
๒. การตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ (clinical examinations)
๓. การเอกซเรย์เต้านม หรือแมมโมแกรม (mammography)

ผู้หญิงกับการ ดูแลเต้านมมะเร็งเต้านม เป็นโรคที่อาจจะ เกิดขึ้นกับผู้หญิงคนไหนก็ได้ โดยที่ไม่ทันรู้ตัว และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมากกว่าปกติ เพราะฉะนั้น การให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับการดูแลเต้านม โดย หมั่นตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ สามารถช่วยชีวิตผู้หญิงให้รอดพ้นจากโรคร้ายที่น่ากลัวนี้ได้
* การตรวจเต้านมด้วยตนเองควรทำในผู้หญิงทุกวัน เพื่อทำความคุ้นเคยกับเต้านม ซึ่งจะทำให้เจ้าตัวค้นพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ง่าย
* อายุ ๒๐ ปีขึ้นไป ควรเริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน  และในช่วงอายุนี้ไม่จำเป็นต้องทำแมมโมแกรม 
* อายุ ๓๕ ปี ควรตรวจแมมโมแกรมเป็นพื้นฐาน และควรตรวจทุกๆ ๒ ปี
* อายุ ๔๐ ปี ควรตรวจแมมโมแกรมทุกปี
* อายุ ๕๐ ปีขึ้นไป ควรตรวจแมมโมแกรมทุก ๑-๒ ปี
* ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะอาจต้องตรวจแมมโมแกรมเร็วกว่าปกติ

วิธีการตรวจเต้านม ด้วยตนเอง
ในบ้านเรามีการแนะนำให้ตรวจ เต้านมด้วยตนเองมานานพอสมควรแล้ว 

"ผู้หญิงส่วนใหญ่พอบอกว่าให้ หัดคลำเต้านม ก็ไปคลำ แล้วมาบอก ว่าไม่เห็นเจออะไร พอคลำเดือน ต่อไปไม่มีอะไร ก็เลยเลิกสนใจ ความ จริงการตรวจเต้านมด้วยตนเองไม่ได้ หมายความว่าให้คลำเพื่อหาก้อนมะเร็ง เต้านมในตัวเอง แต่วัตถุประสงค์คือ หัดสังเกตการเปลี่ยนแปลงภายใน เต้านมด้วยตนเอง
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากเป็น การป้องกันตนเองเบื้องต้นจากโรคร้าย นี้ เพราะไม่มีใครรู้การเปลี่ยนแปลงภายในเต้านมได้ดีเท่าตัวเราเอง เพราะ ฉะนั้น เราต้องคลำจนเราชินว่า เต้านม ปกติของเราเป็นอย่างนี้ เมื่อเกิดความ ผิดปกติจะได้รีบปรึกษาแพทย์ คนส่วนใหญ่ที่มาที่นี่ ผมถามว่า ทำไม ถึงตรวจเต้านมตัวเองไม่ได้ผล เขา ตอบว่า ไม่รู้วิธี ไม่เข้าใจ และไม่มีเวลา ทำ เพราะฉะนั้นกว่าจะไปพบแพทย์ ส่วนใหญ่จะมีอาการมากแล้ว

การตรวจ แมมโมแกรม
โดยปกติการถ่ายเอกซเรย์เต้านม จะแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. การตรวจแมมโมแกรมเพื่อ การวินิจฉัย (diagnostic mammo-graphy) คือการถ่ายเอกซเรย์เต้านม ผู้มาตรวจที่มีอาการผิดปกติ เพื่อดูว่า เป็นมะเร็งหรือเปล่า ซึ่งส่วนใหญ่จะมีก้อน (ประมาณร้อยละ ๙๐) และมี การเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง หัวนม หรือมีเลือดออกจากหัวนม (ประมาณ ร้อยละ ๑๐)

๒. การตรวจแมมโมแกรมเพื่อ การคัดกรอง (screening mam-mography) คือการตรวจเอกซเรย์เต้านมแก่ผู้มาตรวจ ซึ่งไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างไร แต่เป็นการตรวจ เมื่อถึงวัยที่เริ่มเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง เต้านม ซึ่งเครื่องแมมโมแกรมสามารถ จะค้นพบก้อนตั้งแต่ยังคลำไม่ได้ หรือ ก้อนที่มีขนาดเล็กมาก ตั้งแต่ ๕ มิลลิ-กรัมจนถึง ๑ เซนติเมตรได้
มีคำกล่าวว่า เพราะเกิดเป็นผู้ หญิง ทุกคนจึงมีสิทธิ์เสมอกันที่อาจจะเป็นมะเร็งเต้านม (ยิ่งอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ก็ยังมีโอกาสจะเป็นโรคนี้มากขึ้น) ดังนั้น จึงประมาทไม่ได้ ผู้หญิงทุกคนต้องใส่ใจสุขภาพของตัวเองอย่างจริงจัง คุณหมอธรรมนิตย์เล่าให้ฟังถึงกรณีที่น่าสนใจของผู้ที่มา ตรวจแมมโมแกรมว่า

"บางคนพอผลตรวจออกมาว่า เป็นมะเร็ง แล้วเขาเป็นคนที่มีการศึกษาหน่อย เขาบอกว่าไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงเลย เขามีประจำเดือนมาปกติ กินอาหารชีวจิต กินอาหารที่ไม่มีไขมัน เขามีลูกเยอะ และให้นมบุตร แต่งงาน ก่อนอายุ ๓๐ ปี แล้วเขาเป็นมะเร็ง  ได้ยังไง ผมบอกผู้หญิงคนนั้นไปว่า บางครั้งก็ไม่เกี่ยวกัน ถ้าเราเอาสถิติทั้งหมดของคนที่เป็นมะเร็งเต้านมมา ดู ร้อยละ ๗๕ ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัย เสี่ยงต่างๆ ที่เราพูดๆ กันเลย แต่มัน เกิดขึ้นเพราะคุณเป็นผู้หญิง
เพราะฉะนั้น จึงพูดได้ว่า การตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม เป็นวิธี ที่ดีที่สุด ในการที่จะตรวจหาก้อนมะเร็ง ให้เจอตั้งแต่ยังคลำไม่ได้ เพราะเรื่อง ของมะเร็งเต้านม บางครั้งก็เกินจะคาดเดา แต่ถ้ารู้ก่อนก็จะได้รีบรักษา"

ตรวจแมมโมแกรม เจ็บมากไหม
ปัญหาที่ทำให้ผู้หญิงจำนวนมาก ไม่มาถ่ายเอกซเรย์เต้านมก็คือ ความกลัว เพราะมีความเสี่ยงร่ำลือกันว่าเจ็บมาก และอีกเรื่องที่สำคัญไม่น้อย คือ ค่าใช่จ่ายที่สูงมาก (สำหรับคนยากจน) 

ในเรื่องกลัวเจ็บ คุณหมอธรรมนิตย์ อังศุสิงห์ ไขข้อข้องใจให้ฟังว่า
"เรื่องความเจ็บก็มีบ้างเป็นธรรมดา แต่จะเจ็บมากเจ็บน้อยนี่ขึ้น อยู่กับเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคด้วย ซึ่งถ้ามีความชำนาญและถ่ายทำถูกวิธี คนไข้จะไม่เจ็บมาก ที่สำคัญขึ้นอยู่กับความอดทนของคนไข้แต่ละคนไม่ เท่ากัน บางคนแตะนิดเดียวร้องลั่น เลย บ่นว่าเจ็บ! บางคนกดเท่าไหร่ก็ไม่เจ็บ อันนี้เป็นความรู้สึกส่วนบุคคล ไม่ได้เกี่ยวกับเต้านมเล็กหรือเต้านมใหญ่อะไรหรอก อีกประการหนึ่งคือ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่มาถ่ายเอกซเรย์ด้วย เช่น ถ้าเราเอกซเรย์เต้านม ๓ วันก่อนเขามีประจำเดือน หรือระหว่างมีประจำ เดือน คนไข้อาจจะรู้สึกเจ็บมาก เราจึงมีคำแนะนำว่าให้คนไข้ถ่ายเอกซเรย์ หลังการมีประจำเดือน ซึ่งถ้าทำถูกวิธี มันไม่เจ็บหรอก ที่ศูนย์ถันยรักษ์เราทำสถิติไว้ให้ผู้มาตรวจกรอกข้อมูล มากกว่าร้อยละ ๙๙ บอกว่าเจ็บทนได้ น้อยกว่าร้อยละ ๑ บอกว่าเจ็บมาก" 
ค่าใช้จ่ายแพงไหม
ด้วยตัวเลขค่าใช้จ่ายในการตรวจครั้งละประมาณ ๑,๙๐๐-๒,๑๐๐ บาท (สำหรับโรงพยาบาลรัฐ หากเป็น โรงพยาบาลเอกชนราคาอาจสูงกว่านี้) ซึ่งนับเป็นจำนวนเงินที่มากพอสมควร สำหรับผู้มีอาชีพหาเช้ากินค่ำ เหตุผล นี้เองที่ทำให้ผู้หญิงไม่น้อยเพิ่มโอกาส เสี่ยงให้กับตัวเองโดยไม่รู้ตัว เกี่ยวกับ เรื่องนี้ นายแพทย์ธรรมนิตย์ อังศุสิงห์ แสดงความคิดเห็นว่า

"ในสถานการณ์ของเมืองไทยผมคิดว่าเราควรตั้งต้นการตรวจมะเร็ง เต้านมด้วยตนเองก่อน เพราะมันไม่มีค่าใช้จ่าย ขณะนี้ทางศูนย์ถันยรักษ์ ได้ร่วมมือกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เพื่อฝึกเจ้าหน้าที่ให้มีความ รู้เกี่ยวกับการตรวจมะเร็งเต้านมด้วย ตนเองที่ถูกต้อง เพื่อที่เขาจะได้ไปบอกกับชาวบ้านให้เข้าใจในเบื้องต้น
เพราะเข้าใจปัญหานี้ดี และเราต้องการที่จะช่วยประชาชน (ตาม พระประสงค์ของสมเด็จย่า) ให้ค้นพบมะเร็งในขณะที่ยังไม่แพร่กระจาย เราจึงทำรถเคลื่อนที่ (mobile) ออก ไปให้บริการกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีพนักงานหญิงจำนวนมาก เรียกว่าให้ ความสะดวกกับเขาทุกอย่าง ด้วยค่า ใช้จ่ายที่ถูกลงมาก เหลือเพียงทั้งหมด ๑,๕๐๐ บาท เพื่อกระตุ้นให้ประชาชน สนใจเรื่องมะเร็งเต้านมกันมากขึ้น"
บางคนอาจจะคิดว่า โอ๊ย! ค่าใช้จ่ายมันสูง ตรวจทำไม เสียเงินเปล่าๆ ตรวจแล้วก็ไม่เป็น แต่ถ้าตรวจ พบในระยะแรกจะลดอัตราการเสียชีวิตลง ไม่ทุกข์ทรมาน คุณภาพชีวิต ก็จะดีขึ้น และค่าใช้จ่ายในการรักษาก็จะลดลงอย่างมาก

"สถิติของมะเร็งเต้านมในผู้หญิง ไทยจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อ คนไทยมีสุขภาพดีขึ้น อายุยืนขึ้น โอกาสเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมก็เพิ่ม มากขึ้น"
สถิติของศูนย์ถันยรักษ์พบว่าผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมอายุน้อยกว่า ๔๐ ปี มีสูงถึงร้อยละ ๒๐ ดังนั้น ผู้หญิงไทยจึงควรเริ่มทำการตรวจกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรม เป็นพื้นฐานเมื่ออายุ ๓๕ ปี

แหล่งข้อมูล
  • ศูนย์ถันยรักษ์ 
มูลนิธิถันยรักษ์ในพระราชูปถัมภ์
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

  • ธารดาว ทองแก้ว, นิตยสารหมอชาวบ้าน 280

สิงหาคม 2002, 
http://www.doctor.or.th/article/detail/2023

ภาพประกอบจาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น