วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ดูแลโรคผิวหนังอย่างไร หลังน้ำลด



หลังภาวะน้ำท่วมนอกจากผู้ประสบภัยจะประสบกับการสูญเสียญาติมิตรและทรัพย์สินแล้ว ยังต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพหลายด้าน ทั้งนี้เพราะเมื่อเกิดน้ำท่วม แหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคจะปนเปื้อน กระแสน้ำจะพาสิ่งสกปรก เชื้อโรค ของเสียที่เคยถูกเก็บในที่มิดชิด หรือ สารเคมีกระจายเป็นวงกว้างและ ไปห่างไกลจากแหล่งเดิม น้ำท่วมทำให้สภาพสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนทำให้สัตว์ แมลง ไม่มีที่อยู่อาศัยออกจากถิ่นที่อยู่เพ่นพ่านทั่วไป ในขณะเดียวกันสภาพน้ำท่วมทำให้พาหะนำโรคต่าง ๆ เจริญเติบโตได้ดีซึ่งส่งผลทำให้ปริมาณเชื้อโรคมีจำนวนเพิ่มขึ้นและแพร่ได้อย่างรวดเร็ว จึงมีโอกาสเกิดโรคระบาดได้ง่าย สภาพผิวดินหลังน้ำท่วมมีความเหมาะสมสำหรับการแพร่พันธุ์ของยุง โรคหลายชนิดที่เกิดจากยุงเป็นพาหะจึงมีโอกาสระบาดสูงขึ้นหลังน้ำท่วม

โดยสรุปปัญหาด้านสุขภาพที่จะเกิดหลังน้ำท่วมมีทั้งอาการเจ็บป่วยในระยะแรกและระยะยาว
หลังจากนั้น ได้แก่ โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร เช่นโรคท้องร่วงจากการติดเชื้อจากอาหารเป็นพิษ โรคเล็บโตสไปโรสิส (หรือโรคฉี่หนู) โรคผิวหนังจากการสัมผัสกับสารเคมีสิ่งสกปรก หรือ ติดเชื้อที่ผิวหนังไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราหรือหนอนพยาธิ โรคผิวหนังจากแมลง สัตว์มีพิษกัดต่อยซึ่งนอกจากจะทำให้ไม่สบายจากการถูกกัดต่อยแล้ว ในภายหลังหากได้รับเชื้อโรคเข้าไปด้วยอาจทำให้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก มาลาเรีย ไข้สมองอักเสบ หรือติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น
 
โรคผิวหนังที่ประชาชนทั่วไปมักจะคุ้นเคยและพบเสมอหลังภาวะน้ำท่วมคือโรคน้ำกัดเท้า เมื่อเดินย่ำน้ำบ่อย ๆ หรือยืนแช่น้ำนาน ๆ จะทำให้เท้าเปื่อย โดยเฉพาะบริเวณซอกเท้าบริเวณที่ผิวหนังเปื่อยนี้เป็นจุดอ่อนทำให้เชื้อโรคที่มากับน้ำเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย หลังเสร็จกิจธุระนอกบ้านแล้วควรรีบล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดและสบู่ แล้วเช็ดให้แห้งโดยเฉพาะตามซอกนิ้วเท้า หากเท้ามีบาดแผล ควรชะล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ โรคน้ำกัดเท้าในระยะแรกนี้ ยังไม่มีเชื้อรา เป็นเพียงอาการระคายเคืองจากความเปียกชื้นและสิ่งสกปรกในน้ำ ทำให้เท้าเปื่อย ลอก แดง คันและแสบ การรักษาในระยะนี้ควรใช้ยาทาสเตียรอยด์อ่อนๆ เช่น
0.02 Triamcinolone cream หรือ 3 % vioform in 0.02 % Triamcinolone cream ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อรา เพราะยาเชื้อราบางชนิดจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองและแสบมากขึ้น ถ้าผิวเปื่อยเป็นแผล เมื่อสัมผัสกับสิ่งสกปรกที่เจือปนอยู่ในน้ำจะเกิดการติดเชื้อได้ง่าย เมื่อมีการติดเชื้อ แบคทีเรีย จะทำให้เกิดอาการอักเสบ บวมแดง เป็นหนองและปวด ต้องให้การรักษาโดยการรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมกับการชะล้างบริเวณแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น น้ำด่างทับทิม แล้วทายาฆ่าเชื้อ หรือยาปฏิชีวนะ หากปล่อยให้มีอาการโรคน้ำกัดเท้าอยู่นาน ผิวที่ลอกเปื่อยและชื้นจะติดเชื้อราทำให้เป็นโรคเชื้อราที่ซอกเท้ามีอาการบวมแดง มีขุยขาวเปียก มีกลิ่นเหม็นและถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นเรื้อรัง เชื้อราจะเข้าไปฝังตัวอยู่ในผิวหนังรักษาหายยาก ถึงแม้จะใช้ยาทาจนอาการดีขึ้นดูเหมือนหายดีแล้ว แต่มักจะมีเชื้อหลงเหลืออยู่ เมื่อเท้าอับชื้นขึ้นเมื่อใด ก็จะเกิดเชื้อราลุกลาม ขึ้นมาใหม่ ทำให้เกิดอาการเป็น ๆ หาย ๆ เป็นประจำไม่หายขาด การดูแลป้องกันโรคเชื้อราที่เท้าไม่ให้กลับเป็นซ้ำอีกจึงมีความสำคัญ การรักษาความสะอาดให้เท้าแห้งอยู่เสมอเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญที่สุด

ในการป้องกันโรคนี้ และควรให้ความสนใจเป็นพิเศษที่บริเวณซอกนิ้วเท้า เมื่อเช็ดให้แห้งแล้วให้ทายารักษาโรคเชื้อรา แต่ถ้ามีอาการรุนแรงและเรื้อรัง ทายาไม่ได้ผลควรไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ซึ่งอาจจะมีผลข้างเคียงต่อตับไต และควรรักษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยาเองแม้ว่าจะดีขึ้น การหยุดยาเร็วเกินไปขณะที่เชื้อยังไม่หมด มีโอกาส กลับเป็นซ้ำอีกได้ง่ายนอกจากนี้ผู้ประสบกับปัญหาน้ำท่วมควรระมัดระวังเมื่อเดินลุยน้ำเพราะอาจถูกของมีคมทิ่ม ตำ ทำให้เกิดบาดแผลและติดเชื้อโรคต่าง ๆ รวมทั้งเชื้อบาดทะยักตามมาได้ เมื่อประสบเหตุดังกล่าวควรไปทำแผลที่หน่วยบริการสาธารณสุขทันที และถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเชื้อบาดทะยักมาก่อนควรปรึกษาแพทย์
 
คำแนะนำการดูแลตนเองหลังประสบภัยน้ำท่วม
 
•  ใช้น้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาด หากหาแหล่งน้ำสะอาดไม่ได้ให้ต้มน้ำให้เดือดก่อนใช้อย่างน้อย 10 นาที
•  ถ้าอาศัยอยู่ใกล้แหล่งโรงงานอุตสาหกรรมหรือแหล่งสารเคมี พึงระลึกเสมอว่าแหล่งน้ำในครัวเรือนอาจปนเปื้อนสารเหล่านี้และ ความร้อนไม่สามารถทำให้น้ำเหล่านี้สะอาดพอสำหรับการบริโภค ควรปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของน้ำหรือจัดหาน้ำสะอาดไว้บริการ
•  ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารเสมอ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและปรุงเสร็จใหม่
•  สวมเสื้อผ้ามิดชิด ป้องกันแมลงสัตว์กัดต่อย นอนในมุ้ง พึงระลึกเสมอว่าแมลง และสัตว์มีพิษทั้งหลายก็หนีน้ำมาอาศัยอยู่ในที่สูงเช่นกัน
•  ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานที่ยังเล็กเพราะเด็กมีจะสนุกกับการเล่นน้ำและไม่ใส่ใจเรื่องการรักษาความสะอาดและอันตรายที่แฝงมากับน้ำท่วม
•  ตรวจสอบระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน ระมัดระวังเรื่อง ไฟฟ้าลัดวงจร
•  หากรู้สึกไม่สบายให้รีบปรึกษาแพทย์
 
คำแนะนำการดูแลผิวหนังหลังประสบภัยน้ำท่วม
 
•  หลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำนาน ๆ หากจำเป็นต้องลุยน้ำให้สวมรองเท้าบู๊ทกันน้ำ ป้องกันของมีคมในน้ำทิ่ม ตำ เท้า
•  รีบทำความสะอาดเท้าด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ เช็คเท้าให้แห้งเมื่อเสร็จธุระนอกบ้าน
•  หากมีบาดแผลตามผิวหนังไม่ควรสัมผัสน้ำสกปรก
•  เมื่อมีแผล ผื่น ที่ผิวหนังให้พบแพทย์
•  ทายาหรือรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

แหล่งข้อมูล แพทย์หญิงวลัยอร ปรัชญพฤทธิ์ สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์http://www.inderm.go.th/inderm_th/Health/dr_walaiorn.html

ภาพประกอบ กรุงเทพธุรกิจ+-+ภาคใต้น้ำท่วม.jpg

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น