ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาของกลุ่มเด็กวัยรุ่น ซึ่งจะมีการใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย ในเรื่องของข้าวของเครื่องใช้ที่ไม่จำเป็นหรือซื้อของราคาแพง เช่น มีของใช้ที่มียี่ห้อราคาแพงๆ มีเครื่องประดับในตัวมากมาย แล้วในที่สุดก็จะเบื่อง่าย ไม่รักษาข้าวของ ไม่ได้เห็นคุณค่าของของที่ซื้อมา ไม่ดูแลทะนุถนอมเมื่อของเสียหรือหายก็ซื้อใหม่และไม่สามารถที่จะมีความยั้งคิดหรือจัดการกับเรื่องการใช้เงินได้ ในเด็กเล็กอาจจะเห็นลักษณะอย่างนี้บ้าง แต่ไม่มากนักเนื่องจากว่าสิ่งที่เด็กสนใจราคายังไม่สูงมาก แต่ในเด็กวัยรุ่นของที่เด็กชอบหรือที่เด็กนิยมมักจะมีราคาแพงมาก
การที่เด็กมีค่านิยมเช่นนี้ ทำให้เกิดผลกระทบกับตัวเด็กเองและปัญหาทางสังคมตามมา ปัญหาที่ทำให้เด็กมีค่านิยมทางวัตถุนั้น พบว่าส่วนหนึ่งเห็นแบบอย่างมาจากพ่อและแม่ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ฐานะดี พ่อแม่มักจะเป็นคนที่ติดยี่ห้อหรือนิยมในสิ่งของฟุ่มเฟือยต่างๆ และแสดงลักษณะอย่างนี้ให้เด็กได้เห็นได้เลียนแบบ
ในจุดนี้พ่อแม่ควรจะต้องทบทวนตัวเองว่าได้เป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องของการใช้จ่ายเพียงไรให้กับเด็กๆ แม้พ่อแม่จะอยู่ในฐานะซื้อของราคาแพงได้ แต่ความสามารถยับยั้งชั่งใจในเด็กยังมีน้อย เด็กจะใช้เงินมากเกินกว่าที่พ่อแม่ให้ อาจส่งผลให้เด็กต้องหาทางหาเงินด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง
ประการที่สองพ่อแม่ตามใจลูกมากจนเกินไป ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเราให้สิ่งของต่างๆ กับลูกมากจนเกินจำเป็น บางครั้งเป็นไปตามค่านิยมทางสังคม เช่น อุปกรณ์ในการสื่อสาร ความจริงแล้วในเด็กในวัยขนาดนี้อาจจะไม่ได้มีความจำเป็นจริงจังที่จะต้องมีอุปกรณ์ติดตามตัวมากขนาดนั้น แต่ด้วยความที่ไม่อยากให้ลูกน้อยหน้าคนอื่นหรือตามกระแสที่ใครๆ ก็มีกัน ก็หาให้ลูกมากจนกระทั่งลูกไม่รู้คุณค่าของสิ่งของที่ได้มา เพราะถ้าอยากได้อะไรก็ได้สิ่งนั้นโดยง่าย เพราะฉะนั้นค่านิยมเหล่านี้จะปลูกฝังตั้งแต่ในวัยเด็ก
ในเรื่องของการใช้จ่ายเงินควรฝึกให้เด็กได้รู้ว่าถ้าอยากได้เงินพิเศษเขาก็จะต้องทำงานหรือเขาจะต้องทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ ต้องใช้ความมุมานะและความพยายาม มิใช่ได้มาโดยง่าย และควรปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องในเรื่องการเลือกซื้อสิ่งของโดยเน้นที่คุณภาพของสิ่งของมากกว่าเป็นการซื้อตามใจตัวเอง หรือซื้อตามความนิยม นอกจากนี้พ่อแม่ต้องมีความสามารถในการที่จะขัดใจลูกได้อย่างเหมาะสม ไม่ตามใจลูกในทุกเรื่อง
การฝึกปฏิเสธลูกตั้งแต่ในวัยเด็กเล็กให้เด็กได้เรียนรู้ว่าหากเขาต้องการอะไรที่ไม่สมควรหรือไม่ควรจะได้ก็จะได้รับการปฏิเสธอย่างเข้มแข็ง แต่มีเหตุผล เช่น แสดงอาการเข้าใจหรือเห็นใจว่าเขาต้องการสิ่งเหล่านี้จริงๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีเหตุผลว่าพ่อแม่ไม่สามารถหาทุกสิ่งทุกอย่างให้เด็กตามใจชอบได้ตลอดเวลา
ประการสำคัญควรปลูกฝังให้เด็กได้เรียนรู้คุณค่าทางด้านจิตใจมากกว่าทางด้านวัตถุ ครอบครัวควรจะเสริมสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองให้กับเด็ก พบว่าเด็กที่ต้องการใช้เงินส่วนหนึ่งแล้วเป็นเพราะขาดความเชื่อมั่นในตัวเองหรือไม่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง มีความกลัวว่าจะน้อยหน้าเพื่อนหรือด้อยค่ากว่าคนอื่นจึงต้องมีเครื่องประดับที่มีราคาแพง ความภาคภูมิใจในตัวเองของเด็กนั้นเกิดจากการที่พ่อแม่สามารถยอมรับอย่างที่ลูกเป็น เห็นคุณค่าและความสามารถของลูก ไม่เปรียบเทียบตัวเด็กกับคนอื่นๆ ให้เขารู้สึกด้อยค่าในตัวเอง ในขณะเดียวกันเมื่อเขามีศักยภาพหรือความสามารถบางอย่าง พ่อแม่ก็ให้การยอมรับ บางคนอาจจะไม่มีความถนัดหรือความสามารถทางการเรียน แต่เขาอาจจะมีความถนัดหรือความสามารถที่เป็นข้อดีของตัวเด็กเองในด้านอื่นๆ
ถ้าหากคุณให้คุณค่ากับสิ่งที่ลูกมีและสิ่งที่ลูกเป็น เขาก็จะมีความภาคภูมิใจในตัวของเขาเองโดยไม่ต้องอาศัยเครื่องประดับเหล่านี้ ความภาคภูมิใจในตัวเองนั้นยังเกิดในครอบครัวที่มีความอบอุ่น มีความเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน มีคนที่รักและเข้าใจเด็ก นอกจากความภาคภูมิใจในตัวเองจะช่วยเด็กในเรื่องของค่านิยมในเชิงวัตถุนิยมแล้วก็ยังจะช่วยทำให้เด็กเป็นคนที่มีจิตใจที่ดีงาม มีความรู้สึกที่ดีต่อตัวเองและต่อผู้อื่นก็จะทำให้เขาสามารถมีเพื่อนหรืออยู่ในสังคมที่เป็นกลุ่มเพื่อนได้ ไม่ต้องใช้เงินเลี้ยงเพื่อนเพื่อให้เพื่อนยอมรับ
ประการสุดท้ายสอนให้ลูกเข้าใจสถานการณ์ของครอบครัว ไม่ใช่มีความรู้สึกว่าครอบครัวตัวเองด้อยกว่าคนอื่น และให้เด็กรู้ว่าไม่ว่าฐานะครอบครัวจะเป็นอย่างไรแต่ทุกคนในครอบครัวก็รักเด็ก และถ้าเด็กมีเหตุผลในเรื่องของการใช้จ่ายเงินทอง เป็นการช่วยเหลือครอบครัวอีกทางหนึ่ง ให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง ไม่ต้องรู้สึกอายหรือรู้สึกด้อยกับเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ
การได้รับการฝึกฝนในเรื่องของการใช้จ่ายเงินทองอย่างเหมาะสมกับฐานะครอบครัว จะเป็นรากฐานที่สำคัญที่จะช่วยให้เด็กจัดการรับผิดชอบกับเรื่องของตัวเองดูแลเรื่องการใช้จ่ายเงินในแต่ละช่วงของตัวเองได้เป็นอย่างดี
เด็กๆ ควรมีโอกาสใช้เงินให้เหมาะกับวัยของเขา เมื่อถึงวัยหนึ่ง เขาควรจะถือเงินด้วยตัวของเขาเอง อาจจะใช้ในการซื้อของบางอย่างให้กับตัวเองได้บ้าง หรืออาจจะเป็นการใช้จ่ายประจำวัน โดยเฉพาะในเรื่องของการไปโรงเรียน การคำนวณค่าใช้จ่ายของลูกก็เป็นเรื่องสำคัญ การให้เงินก็ไม่ควรจะมากหรือน้อยจนเกินไป ถ้าน้อยจนเกินไปจนเด็กไม่สามารถที่จะใช้จ่ายได้เพียงพอก็เป็นความเครียดกับเด็กเหมือนกัน แต่ในขณะเดียวกันถ้าให้เงินมากจนเกินไป โดยไม่ได้ฝึกค่านิยมเรื่องการอดออมเงิน การเก็บสะสมเงิน เด็กก็อาจจะใช้เงินไปอย่างไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม
การฝึกใช้เงินควรจะจำแนกให้เด็กเห็นว่ามีบางอย่างเป็นความจำเป็นที่จะต้องใช้ในแต่ละวัน เช่นค่าอาหาร ค่าเดินทางไปโรงเรียน เขาอาจจะมีเงินเหลือเก็บอีกเล็กน้อย อดออมเอาไว้ใช้ในเวลาที่เขาต้องการ ถ้าคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าเด็กโตขึ้นมีอายุมากพอที่จะเลือกซื้อข้าวของบางอย่างของตัวเองได้บ้าง อาจจะเป็นเรื่องของเสื้อผ้าหรือของใช้ก็อาจจะให้เงินรวมไปในค่าใช้จ่ายในแต่ละอาทิตย์หรือในแต่ละเดือน ที่มากพอที่เด็กจะเก็บสะสมในการซื้อของบางอย่างของตัวเองด้วย
การฝึกเรื่องการใช้เงินให้มีความรับผิดชอบต่อจำนวนเงินที่ตัวเองได้รับจะเกิดขึ้นได้ดี ถ้าหากฝึกในเรื่องความรับผิดชอบในเรื่องอื่นๆ ไปด้วย เช่น การดูแลตัวเอง การรับผิดชอบกับงาน หรือมีความรับผิดชอบในเรื่องอื่นๆ
ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงร่วมกันในเรื่องค่านิยมแบบวัตถุนิยม คือ กระแสและสื่อในสังคมมีผลโดยตรงต่อค่านิยมในวัยรุ่น การสร้างแรงจูงใจด้วยสื่อที่เน้นความทันสมัยด้วยความฟุ่มเฟือย ค่านิยมที่แสดงความสำเร็จจากการมีเงินทองเครื่องประดับในตัวมากกว่าการตั้งใจทำงานและคุณค่าในตัวของคน จะทำให้ครอบครัวและเด็กวัยรุ่นต้องมีความยืนหยัดที่จะต้านทานกระแสเหล่านี้ แต่ครอบครัวยังคงเป็นภูมิคุ้มกันเด็กจากกระแสเหล่านี้ หากพ่อแม่เข้าใจและสามารถพูดคุยกับลูกวัยรุ่นได้ และได้ดูแลลูกในเรื่องการใช้เงิน
แหล่งข้อมุล
บทความสุขภาพจิต จากพญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล, http://www.ramamental.com/pan/s10.htm
รูปประกอบจาก http://www.shonari.net/wp-content/uploads/2007/08/kid_money1.jpg
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น