วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

รับมือท้องเสียช่วงหน้าฝนและน้ำท่วม โดย เภสัชกรหญิงอภิฤดี เหมะจุฑา



  • ขณะนี้หลายๆ จังหวัดประสบภาวะ “ภัยน้ำท่วม” พี่น้องประชาชนต้องอยู่ในสภาพที่ขาดแคลนน้ำสะอาด เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และเครื่องยังชีพต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการขับถ่ายอุจจาระและการทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูลเหล่านี้มีเชื้อโรคปะปนมาอยู่ ถ้าทิ้งมากับน้ำจะทำให้เกิดโรคติดต่อ หากพี่น้องเรานำน้ำที่ท่วมขังมาล้างอาหาร จานชามหรืออุปกรณ์ ประกอบอาหาร เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกาย ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร อาทิ โรคท้องเสีย อาหารเป็นพิษ ตามมาได้ในที่สุด เรามีบทความเขียนที่เขียนโดย ผศ. ภญ.อภิรดี เหมะจุฑา และทีมงาน มาเป็นคู่มือป้องกันโรคภัยท้องเสียกันนะครับ


    ถ่ายอย่างไรจึงเรียกว่าท้องเสีย

             อาการท้องเสีย (ท้องเดินหรือท้องร่วง) มีหลายความหมายซึ่งมักสื่อแล้วไม่ตรงกัน ในทางสาธารณสุขคำว่าท้องเสียนั้นจะพิจารณาจากลักษณะของการถ่ายอุจจาระร่วมกับความถี่ (ความบ่อย) ของการถ่ายโดยนิยามของอาการท้องเสียหมายถึง
    • อาการถ่ายอุจจาระเหลวกว่าปกติมากกว่าหรือเท่ากับวันละ 3 ครั้ง
    • ถ่ายอุจจาระปนมูกเลือดหรือถ่ายเป็นน้ำปริมาณมากอย่างน้อย 1 ครั้ง
             อันตรายที่เกิดขึ้นจากภาวะท้องเสียโดยมากเกิดจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ออกจากร่างกายอย่างมากและรวดเร็ว ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและอ่อนเพลีย ในรายที่เป็นมากหรือไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจช็อกและเสียชีวิตได้ 

    ท้องเสียเกิดจากอะไร
            อาการท้องเสียพบในช่วงหน้าฝนและขณะที่มีอุทกภัยได้บ่อย เนื่องจากสิ่งแวดล้อมเหมาะสมแก่การเจริญของเชื้อโรค ผู้ที่อยู่ในพื้นที่อุทกภัยอยู่ในสภาพขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภค ขาดเครื่องยังชีพต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการขับถ่ายและการทิ้งขยะซึ่งสิ่งปฏิกูลเหล่านี้มีเชื้อโรคปะปนอยู่ หากประชาชนนำน้ำที่ท่วมขังมาล้างอาหาร อุปกรณ์ประกอบอาหารหรือชำระล้างร่างกายก็จะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายและก่อให้เกิดอาการท้องเสียขึ้น อย่างไรก็ตามท้องเสียอาจเกิดจากสาเหตุอื่นนอกจากการติดเชื้อโรคได้เช่นกัน ดังนั้นควรพิจารณาว่าอาหารที่รับประทานในช่วงวันที่ผ่านมามีโอกาสเป็นสาเหตุได้หรือไม่ เช่นอาหารที่รสจัดมากเกินไป ทำให้ระคายเคืองทางเดินอาหารจนเกิดท้องเสียขึ้น

    อาการของโรคท้องเสียเป็นอย่างไร อาการเช่นใดที่ต้องรีบพบแพทย์
             นอกจากการถ่ายเหลว เป็นน้ำหรือมูกเลือดตามที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว อาการอื่นๆ ที่พบร่วมกับท้องเสียนั้นเป็นสิ่งสำคัญในการประเมินความรุนแรงของอาการและเป็นแนวทางให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม เช่นอาการที่แสดงถึงภาวะขาดน้ำของร่างกาย ซึ่งหากมีอาการตามที่จะกล่าวต่อมานี้รุนแรงหรือชัดเจนมากเท่าใด ก็ยิ่งต้องรีบรับการรักษาอย่างเร่งด่วนในโรงพยาบาล อาการที่แสดงถึงภาวะขาดน้ำได้แก่
    • รู้สึกอ่อนเพลียมาก หน้ามืดหรือวิงเวียนเวลาเปลี่ยนท่าทางจากนั่งเป็นยืน
    • ตาลึกบุ๋ม ไม่ค่อยมีน้ำตา (ถ้าร้องไห้) ปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะลดลง
    • ปากแห้ง กระหายน้ำบ่อยและมาก
    • มีอาการท้องเสียนานเกิน 2 วัน น้ำหนักตัวลดมากกว่าร้อยละ 5 จากน้ำหนักก่อนท้องเสีย
             นอกจากอาการขาดน้ำ หากผู้ป่วยมีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส หรือปวดท้องอย่างรุนแรงหรือถ่ายเป็นมูกเลือดหรือถ่ายบ่อยมากโดยไม่มีท่าทีจะลดลงหรือมีโรคประจำตัวอย่างเช่นเบาหวาน ตั้งครรภ์ เป็นเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุก็ควรไปพบแพทย์เช่นกัน

    การป้องกันท้องเสียทำได้อย่างไรบ้าง
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับน้ำสกปรกถ้าไม่จำเป็น ไม่ควรว่าย ลงแช่หรือเล่นน้ำที่ท่วมขัง
    • หมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่บ่อยๆ โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานทุกครั้ง
    • รับประทานแต่อาหารที่ปรุงสุกใหม่ ผ่านความร้อนอย่างเพียงพอ ไม่มีส่วนประกอบของกระทิซึ่งบูดเสียได้ง่าย
    • กรณีที่ไม่สามารถต้มน้ำดื่มได้ อาจใช้สารละลายคลอรีนที่ผลิตโดยกรมอนามัย ความเข้มข้นร้อยละ 2 หยดลงในน้ำอัตราส่วน 1 หยดต่อน้ำ 1 ลิตร แล้วทิ้งไว้ 30 นาทีจึงสามารถดื่มได้
    • สังเกตวันหมดอายุ และพิจารณาสภาพอาหารแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และเครื่องกระป๋องว่าภาชนะมีสภาพดีหรือไม่? กลิ่นและสีเป็นปกติหรือไม่? ก่อนการบริโภคทุกครั้ง   
    • ลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากอุจจาระและขยะด้วยการขับถ่ายในห้องส้วมที่ยังสามารถใช้การได้ ในกรณีที่ไม่สามารถใช้ห้องส้วมได้ขอให้ประชาชนขับถ่ายอุจจาระในถุง ถ้ามีปูนขาวหรือน้ำยาฆ่าเชื้อให้ใส่ลงในถุงอุจจาระก่อนแล้วปิดปากถุงให้แน่นแล้วแยกไว้ส่งให้ทางการนำไปกำจัดต่อไป
    • สำหรับขยะภายในบ้านก็ให้เก็บรวบรวมใส่ถุงแล้วผูกปากถุงให้แน่นแล้วรวบรวมส่งให้ทางการนำไปกำจัดต่อไปเช่นกัน

  • การรักษาอาการท้องเสียเบื้องต้นทำได้อย่างไรบ้าง
    การรักษาที่สำคัญและจำเป็นที่สุดคือ การทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป โดยการรับประทานน้ำสารละลายเกลือแร่หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าผง โอ อาร์ เอส (ORS)
    • ถ้ามีผงเกลือแร่ ORS สำเร็จที่บรรจุในซอง โดยทั่วไปให้ละลายน้ำ 1 แก้วต่อผงเกลือแร่ 1 ซอง อย่างไรก็ตามควรอ่านข้อความคำแนะนำข้างซองประกอบเนื่องจากบางผลิตภัณฑ์อาจมีปริมาณเกลือแร่แตกต่างไป การใช้น้ำสะอาดละลายผงยาจึงต้องเป็นตามที่ผลิตภัณฑ์นั้นแนะนำ
    • ดื่มสารละลายผงเกลือแร่แทนน้ำ ทุกครั้งที่กระหาย หากถ่ายเป็นน้ำปริมาณมากให้กะประมาณสารละลายที่ดื่มให้ได้ใกล้เคียงกับที่ถ่ายไป หากมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วยให้จิบทีละน้อยแต่บ่อยๆครั้งแทนการดื่ม
    • ในกรณีที่ไม่สามารถหาผงเกลือแร่ ORS ได้ สามารถเตรียมสารละลายเกลือแร่ขึ้นเอง โดยใช้น้ำตาลทราย 8 ช้อนชาและเกลือป่น 1 ช้อนชา ผสมกับน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 ลิตร   
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแข็ง อาหารที่ย่อยยากหรืออาหารที่มีกากมาก (เช่น ผัก ผลไม้) กาแฟ เหล้า และอาหารที่มีไขมันมาก ควรรับประทานอาหารอ่อนหรืออาหารเหลวที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก หรือน้ำหวาน ผู้ป่วยท้องเสียส่วนใหญ่สามารถดื่มนมได้ แต่หากดื่มนมแล้วอาการท้องเสียรุนแรงขึ้น ให้เลี่ยงการดื่มนมด้วยเช่นกัน
    • ยาต้านเชื้อจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะมีความจำเป็นเฉพาะผู้ป่วยท้องเสียบางรายเท่านั้น โดยอาจพิจารณาได้จากมีไข้สูงร่วมกับอาการหนาวสั่น อุจจาระเป็นมูกหรือมีเลือดปน หรือมีโรคประจำตัวเช่นเบาหวานหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้ควรพบแพทย์โดยด่วนมากกว่าการรักษาเองที่บ้านเพราะการใช้ยากลุ่มนี้โดยไม่จำเป็น อาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดีเช่นแพ้ยาหรืออาการรุนแรงขึ้น
    • ผู้ป่วยท้องเสียไม่ควรรับประทานยาหยุดถ่าย เนื่องจากยิ่งทำให้อาการรุนแรงขึ้นหากท้องเสียเกิดจากการติดเชื้อโรค
  •  
  • ข้อควรระวังในการรักษาท้องเสียโดยผงเกลือแร่
    • การละลายผงเกลือแร่ต้องใช้น้ำสะอาด ซึ่งหากไม่มั่นใจได้ว่าน้ำนั้นสะอาดพอหรือไม่ ให้ต้มน้ำให้เดือดก่อน จากนั้นรอจนเย็นเท่าอุณหภูมิห้องจึงผสมผงน้ำตาลเกลือแร่
    • ผงเกลือแร่เมื่อผสมน้ำแล้วควรใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง หากหลงเหลืออยู่นานกว่า 24 ชั่วโมงหลังชงให้ทิ้งไป
    • ควรระวังการใช้ในผู้ที่มีปัญหาโรคไต โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ส่วนการใช้ในเด็กให้ใช้ชนิดที่ระบุว่า “สำหรับเด็ก” จะเหมาะสมและปลอดภัยมากขึ้น
    • เก็บผงน้ำตาลเกลือแร่ไว้ในที่แห้ง เนื่องจากความชื้นอาจทำให้ผงยาเกาะตัว ละลายได้ยาก
    เอกสารอ้างอิง

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิงอภิฤดี เหมะจุฑา

    เภสัชกรหญิงสิรินุช พละภิญโญ
    เภสัชกรกิติยศ ยศสมบัติ
    รับมือท้องเสียช่วงหน้าฝนและน้ำท่วม, คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, www.osotsala-chula.com/administrator/upload/file/ท้องเสีย.pdf

    Atia AN, Buchman AL. Oral rehydration solutions in non-cholera diarrhea: a review. Am J Gastroenterol 2009; 104(10): 2596-604.
    Baldi F, Bianco MA, Nardone G, et al. Focus on acute diarrhoeal disease. World J Gastroenterol 2009; 15(27): 3341-8.
    Bhattacharya SK. Management of acute diarrhoea. Indian J Med Res 1996; 104: 96-102.
    CHOICE Study Group. Multicenter, randomized, double-blind clinical trial to evaluate the efficacy and safety of a reduced osmolarity oral rehydration salts solution in children with acute watery diarrhea. Pediatrics 2001; 107(4): 613-8.
    Diemert DJ. Prevention and self-treatment of traveler's diarrhea. Clin Microbiol Rev 2006; 19(3): 583-94.
    Farthing MJ. Diarrhoea: a significant worldwide problem. Int J Antimicrob Agents 2000; 14(1): 65-9.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น