http://images.thaiza.com/34/34_20101214110020..jpg รูปประกอบ "ปลิงเกาะดูดเลือดที่ขา"
ในยามที่น้ำท่วมขังเช่นนี้ หลายท่านอาจประสบปัญหากวนใจที่มาพร้อมกับน้ำท่วมในหลายรูปแบบ ปัญหาหนึ่งที่พบได้ในบางพื้นที่คือ “ปลิง” ซึ่งเป็นสัตว์ตัวเล็ก ลักษณะนิ่ม รูปร่างคล้ายหนอน สีน้ำตาลเข้ม-ดำ ขนาดประมาณ 10-15 เซนติเมตร ซึ่งอาจเล็กหรือใหญ่กว่านี้ได้ขึ้นกับว่าเป็นตัวเล็ก ตัวใหญ่ ตัวเต็มวัย หรือยังเด็ก ส่วนหัวกับส่วนหางของปลิงจะมีขนาดต่างกัน โดยปลายที่เรียวกว่าจะเป็นส่วนหัวที่มีปากซึ่งใช้ดูดเลือด ส่วนปลายที่อ้วนกว่าจะมีตัวดูดลักษณะคล้ายกับส่วนหัวแต่ไม่มีปากดูดเลือด ตัวดูดทั้งสองด้านของปลิงสามารถเกาะติดกับผิวของเหยื่อได้อย่างดี
ผู้ที่ถูกปลิงกัดจะไม่รู้สึกเจ็บและเลือดมักหยุดไหลช้า...
ปลิงเป็นสัตว์พวกเดียวกับไส้เดือน ปลิงหลายชนิดดูดกินเลือดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (รวมทั้งคน) เป็นอาหารหลัก ทั้งนี้เหยื่อที่โดนปลิงกัดที่ผิวหนังมักไม่รู้ตัวเพราะในน้ำลายปลิงนั้นมีสารเคมีหลายชนิดที่มีฤทธิ์คล้าย “ยาชาเฉพาะที่” หลังจากปลิงกัดเหยื่อแล้วจะเริ่มดูดเลือดของเหยื่อโดยปล่อย “สารยับยั้งการแข็งตัวของเลือด” เข้าสู่บริเวณที่โดนกัด โดยสารนี้จะช่วยส่งเสริมให้เลือดของเหยื่อไม่เกิดกระบวนการหยุดไหล ปลิงจึงสามารถที่จะดูดเลือดเหยื่อต่อเนื่องได้จนอิ่มซึ่งจะสังเกตุเห็นว่าขนาดตัวของปลิงจะใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมากและหลุดออกจากตัวเหยื่อเองในที่สุด เลือดบริเวณที่ถูกปลิงกัดนั้นจะยังไม่หยุดไหลโดยทันที เพราะยังคงมีผลตกค้างจาก “สารยับยั้งการแข็งตัวของเลือด”อยู่อีกระยะ บางรายอาจพบว่าต้องรออีก 1-2 วันเลือดจึงจะหยุดไหลได้เอง
หากรอได้ให้รอจนปลิงหลุดออกเอง...
แผลที่เกิดจากปลิงกัดและหลุดออกเองนั้นมีอันตรายน้อย เพราะมักเป็นแผลเล็กที่เพียงแต่มีเลือดซึมๆ ต่อมาอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตามผู้คนส่วนมากมักตกใจ วิตกกังวล หรือรู้สึกกลัวจนไม่สามารถทนรอประมาณ 20-30 นาทีให้ปลิงหลุดออกเองได้ จึงใช้วิธีการต่างๆ หลากหลายวิธีที่จะทำให้ปลิงหลุดออกจากร่างกายโดยเร็ว ตัวอย่างเช่น
- การใช้วัสดุแข็ง แบนๆ เช่นไม้บรรทัด ไม้ไอศครีมแบบแท่ง บัตรแข็ง กระดาษปฏิทินแข็ง หรือหลังเล็บค่อยๆ ดันปากปลิงตรงที่เกาะติดอยู่ผิวหนัง โดยออกแรงเบาๆ อย่างต่อเนื่อง ค่อยๆ ดันหลายๆ ครั้งจนปลิงปล่อยปากออกจากผิวหนัง ซึ่งจะสังเกตุว่าตัวปลิงจะกระเถิบถอยหลังหรือหันปากไปทางอื่น ก็ให้รีบเขี่ยปลิงออกจากตัว วิธีการนี้เป็นวิธีที่แนะนำให้ปฏิบัติเป็นวิธีแรกเนื่องจากปฏิบัติได้ทันทีที่สังเกตุเห็นปลิง ไม่ต้องมัวเสียเวลาหาวัสดุอื่นๆ ที่อาจล่าช้าทำให้ตัวผู้ถูกกัดต้องตื่นตระหนก เสียขวัญและได้รับสารยับยั้งการแข็งตัวของเลือดต่ออีกเป็นเวลาหนึ่ง ข้อควรระวังในการใช้วิธีนี้คือต้องไม่ใจร้อน ออกแรงมากเกินไป เพราะอาจทำให้ปลิงกัดเข้าไปลึกกว่าเก่า หรือตัวปลิงหลุดออกโดยมีเขี้ยวหลุดค้างอยู่ในผิวหนัง หรือเนื้อแผลหลุดกลายเป็นแผลใหญ่ขึ้นกว่าเดิมได้
- การสร้างความระคายเคืองต่อผิวของตัวปลิง เช่นใช้เกลือเม็ด-เกลือผง หรือยาฉุนถูผิวปลิง หรือใช้น้ำเกลือเข้มข้น น้ำส้มสายชู หรือน้ำมะนาวทาผิวปลิง หรือใช้บุหรี่ ธูป หรือไม้ขีดไฟจี้ตัวปลิง ก็สามารถทำให้ปลิงหลุดออกจากผิวได้ อย่างไรก็ตามวิธีการที่กล่าวมานี้ ไม่แนะนำให้ใช้เป็นวิธีแรกเพราะเมื่อเกิดความระคายเคืองต่อผิวปลิง จะทำให้ปลิงขดตัว ขย้อนเอาเลือดที่ดูดเข้าสู่กระเพาะพร้อมกับเชื้อโรคต่างๆ ปล่อยกลับเข้าสู่แผลซึ่งจะทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนได้มากกว่าวิธีแรกที่กล่าวไป
การโดนปลิงกัดอาจทำให้ติดเชื้อโรคได้...
ผิวและกระเพาะอาหารของปลิงมีเชื้อก่อโรคหลายชนิด หลังจากนำปลิงออกจากร่างกายได้สำเร็จแล้ว จึงควรล้างแผลด้วยน้ำสบู่หลายๆ ครั้ง แล้วซับแผลให้แห้งจึงใส่ยาใส่แผลเช่นโพวิโดน-ไอโอดีน (povidone-iodine) เพื่อป้องกันการติดเชื้อ จากนั้นจึงกดปิดปากแผลและใช้น้ำแข็งหรือถุงเย็นประคบเพื่อช่วยให้เลือดหยุดไหลได้เร็วขึ้น อีกทั้งช่วยลดอาการบวมที่อาจเกิดขึ้นพร้อมกัน หากเลือดยังคงไหลอยู่แม้จะผ่านไปหลายวันแล้ว หรือบริเวณที่ถูกกัดมีอาการอักเสบมากขึ้น ควรไปโรงพยาบาลเพราะอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนได้
อาการคันหรือแพ้เป็นอาการที่พบได้บ่อยเวลาโดนปลิงกัด...
อาการคันที่เกิดขึ้นหลังจากการถูกปลิงกัดนั้นเกิดจากในน้ำลายปลิงมีสารฮิสตามีน ซึ่งเป็นสารเดียวกับที่เป็นสาเหตุของการเกิดการแพ้ โดยทั่วไปสารนี้จะทำให้เกิดเพียงอาการคันและบวมเล็กน้อยบริเวณรอแผล ซึ่งจะค่อยๆ ลดลงจนหายพร้อมกับแผล แต่สำหรับรายที่แพ้น้ำลายปลิง อาจเกิดอาการรุนแรงเช่นบวมแดงอย่างมากบริเวณที่โดนกัดหรือบริเวณอื่นของร่างกาย หายใจลำบาก หลอดลมบวม ลิ้น ริมฝีปากและเปลือกตาบวม หรือความดันโลหิตต่ำจนอันตรายได้ จึงต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากอาการผิดปกติเริ่มเป็นมากขึ้นควรเร่งไปโรงพยาบาล
ผู้ป่วยบางรายต้องใส่ใจแผลปลิงกัดเป็นพิเศษ...
ผู้ป่วยบางรายที่มีโรคประจำตัว ซึ่งมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด หรือใช้ยาบางชนิดที่มีผลต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นวอร์ฟาริน (warfarin) แอสไพลิน (aspirin) โคลพิโดเกรล (clopidogrel) เมื่อโดนปลิงกัด เลือดจะหยุดไหลได้ช้ากว่าคนปกติและอาจอันตรายกว่าคนทั่วไป ดังนั้นจึงต้องดูแผลรอยแผลหลังจากโดนปลิงกัดอย่างดี หากเลือดยังคงไหลอยู่แม้จะผ่านไปแล้วนานกว่า 3 วัน ควรไปโรงพยาบาล เพราะอาจต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ
หากไม่ได้ถูกปลิงกัด แต่ได้รับปลิงเข้าสู่ร่างกายทางอื่น ควรเร่งไปโรงพยาบาล...
ในรายที่ไม่ได้ถูกปลิงกัดผิว แต่ได้รับปลิงเข้าสู่ร่างกาย เช่นดื่มน้ำที่มีปลิงปนอยู่ หรือถูกปลิงเข้าสู่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายเช่นโพรงจมูก ช่องคลอด หรือทวารหนัก ควรเร่งไปโรงพยาบาลเพื่อนำปลิงออกจากร่างกายโดยเร็ว เนื่องจากอวัยวะเหล่านี้เป็นเนื้อเยื่ออ่อนที่เกิดบาดแผลได้ง่าย อีกทั้งเลือดหยุดไหลได้ยาก หากปล่อยไว้นานจะมีโอกาสเสียเลือดได้มาก นอกจากนี้อาจเกิดการอุดตันในตำแหน่งที่มีปลิงอยู่จนเกิดอันตรายได้
การรักษาที่ดีที่สุดคือการป้องกัน...
การป้องกันไม่ให้ถูกปลิงกัดนั้น ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่สวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดโดยเฉพาะส่วนที่ต้องสัมผัสกับน้ำเช่นส่วนเท้าและขา นอกจากนี้อาจใช้ผลิตภัณฑ์กันยุง เช่นน้ำมันตะไคร้หอม พ่นตามแขนขา ก็จะช่วยป้องกันปลิงเกาะได้อีกส่วนหนึ่ง หากไม่สามารถหาได้หรือต้องเปียกน้ำเป็นเวลานานซึ่งผลิตภัณฑ์กันยุงจะถูกชะล้างออกไป ให้ใช้ขี้ผึ้งวาสลีนซึ่งเป็นไขมันๆ หรือยาแก้น้ำกัดเท้าสูตรขี้ผึ้งวิทฟิลส์ (Whitfield’s ointment) ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้ปลิงสามารถเกาะติดผิวได้ง่ายและลดโอกาสที่จะถูกปลิงกัดได้นั่นเอง
แหล่งข้อมูล
ภก.กิติยศ ยศสมบัติ
การป้องกันและแก้ไขเมื่อโดนปลิงเกาะ.
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
https://www.facebook.com/notes/yot-yotsombut/การป้องกันและแก้ไขเมื่อโดนปลิงเกาะ/279200835453668
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น