วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

6 โรคร้ายที่ต้องระวัง ภายหลังน้ำลด โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล

ภาพน้ำท่วมตลาดสี่มุมเมืองและขยะที่ลอยเกลือ่นจาก http://www.thaitravelnews.net/wp-content/uploads/2011/11/flood_garbage.jpg 
   ช่วงเวลาสองเดือนที่ผ่านมา พ่อแม่พี่น้องคงได้สัมผัสทุกข์ภัยจากภาวะมหา
   อุทกภัยและตามมาซ้ำด้วยสภาพน้ำท่วมขัง แม้นในเวลานี้บางพื้นที่ของเรา
  หลายคนก็ยังต้องผจญภัยจากน้ำอยุ่อย่างลำบากอยู่ไปอีกนาน น้ำที่มานั้น
   นอกจากก่อให้เกิดความไม่สบายใจ ก่อให้เกิดความวิตกกังวลเครียดกังวลต่อ
   จิตใจแล้ว น้ำเน่าที่ขังนิ่ง เปียกชื้นหรือใกล้จะแห้งลดลงไปแล้ว ก็ยังส่งผลต่อ         
   สุขภาพอย่างมากมาย 
   เรามาดูกันว่าปัญหาโรคอะไรบ้างที่จะพัวพันเราอยุ่ไปอีกนาน เพื่อเราจะได้รู้
   เพื่อวางแผนการมีสุขภาพดี มีพลังไปสู้ชีวิตหลังน้ำลดต่อไป





ทำไมจึงเป็นโรคได้ง่ายจากน้ำท่วม


น้ำท่วมที่พัดพามา หากเราไปเดินลุยน้ำอาจก่อให้เกิดบาดแผลจากสิ่งที่น้ำพัดพามา หรือหกล้มทำให้เกิดบาดเจ็บ หากเราต้องไปอาศัยอยุ่ในที่มีน้ำขัง น้ำที่นิ่งไม่ไหลเวียนกลับเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคมากมาย ทั้งโรคผิวหนัง โรคระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร โรคฉี่หนู มากมายที่จะกล่าวต่อไป


หากเราต้องใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่มีเชื้อโรคแพร่มากับน้ำ หรือพลาดเผลอไปกินอาหารที่ไม่สะอาด ก็จะตามมาด้วยอาการท้องเสีย อาหารเป็นพิษตามมาซ้ำร้ายเราได้อีก แต่มหันตโรคภัยที่แฝงมาทำร้ายผู้คนพร้อมกับน้ำท่วมมากที่สุด ได้แก่โรคผิวหนัง น้ำกัดเท้าและผื่นคัน ไข้หวัด โรคเครียดวิตกกังวล โรคตาแดง โรคอุจจาระร่วง และสัตว์มีพิษกัด เรามาทำความรุ้จักเพื่อป้องกันและรักษาต่อไป


6 โรคร้ายที่เกิดบ่อยได้


ภาพน้ำกัดเท้า 
1. โรคผิวหนัง 


โรคผิวหนังยอดนิยม ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา แผลพุพองเป็นหนองซึ่งเกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรค หรือความอับชื้นจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ไม่สะอาด ไม่แห้งเป็นเวลานาน อาการระยะแรกๆอาจมีอาการเท้าเปื่อย และเป็นหนอง ต่อมาเริ่มมีอาการคันตามซอกนิ้วเท้า และผิวหนังลอกออกเป็นขุย มีผื่น ระยะหลังๆผิวหนังที่เท้าเกิดพุพอง นิ้วเท้าหนาและแตก อาจเกิดโรคแทรกซ้อน คือ ผิวหนังอักเสบได้


วิธีป้องกันทำได้โดยหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำโดยไม่จำเป็น ถ้าต้องย่ำน้ำ ควรใส่รองเท้าบู๊ทกันน้ำ และควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ และเช็ดให้แห้งเมื่อกลับเข้าบ้าน สวมใส่ถุงเท้า รองเท้า และเสื้อผ้าที่สะอาดไม่เปียกชื้น หากมีบาดแผล ควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผล แล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น ทิงเจอร์ หรือเบตาดีน
หากเผลอไปเป็นโรคน้ำกัดเท้า หรือฮ่องกงฟุต เกิดจากเชื้อราที่มาจากการแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน จนทำให้ราร้ายตัวนี้เจริญเติบโตไปตามซอกนิ้วเท้า โดยเชื้อราจะทำให้ผิวหนังลอกเป็นขุย เกิดผื่นที่เท้าผิวหนังที่เท้าเกิดพุพองเริ่มจากซอกนิ้ว แล้วลุกลามไปถึงฝ่าเท้าและเล็บได้ การรักษา และป้องกันทำได้โดยล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่ และเช็ดให้แห้ง ใส่ถุงเท้าที่สะอาดไม่เปียกชื้น


2. ไข้หวัดธรรมดาหรือไข้หวัดใหญ่


โรคหวัดธรรมดามักเกิดจากเชื้อไวรัส พบได้บ่อยในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนบ่อยๆ สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยเชื้อโรคแพร่กระจายมาจากน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือสิ่งของใช้ของผู้ป่วย หากเราไปติดเชื้อมา จะเริ่มมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอ จาม ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร หากดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์

ไข้หวัดใหญ่ ก็เป็นโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสเช่นกัน เชื้อจะแพร่กระจายเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่เชื้อจะฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ เมื่อสูดลมหายใจเอาเชื้อเข้าไป จะไปเจริญอยู่ในลำคอ และเยื่อบุทางเดินหายใจของผู้ป่วย ผู้ป่วยจะมีอาการตัวร้อน มีไข้สูงมาก 38-40 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3-4 วัน ปวดศีรษะมาก ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว น้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ จาม หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมมาด้วยจะมีอาการเจ็บคออย่างรุนแรง หากไม่รีบเข้ารับการรักษาหรือคนไข้ที่ภูมิต้านทานไม่ดี อาจรุนแรงกลายเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ปอดบวม ตามมาได้


ควรรีบเข้ารับการตรวจรักษาโดยเร็ว และป้องกันโดยการล้างมือบ่อยๆ ก่อนกินอาหาร ก่อนและหลังเตรียม/ปรุงอาหารหลังการขับถ่าย หลังหยิบจับสิ่งสกปรก หลังสัมผัสผู้ป่วย หรือสัมผัสสัตว์เลี้ยง และทุกครั้งที่กลับจากนอกบ้าน หลีกเลี่ยงการใช้มือที่ไม่ได้ล้างสัมผัสบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะตา จมูก ปาก หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย และอยู่ในสถานที่มีคนอยู่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก


3. โรคเครียดวิตกกังวล


เป็นอาการโรคที่เกิดได้หากเราวิตกมากเกินไป ไม่ว่าจะเกิดจากการรับฟังสื่อมากเกินไป หรือไม่ได้วางแผนเตรียมรับน้ำท่วมมาก่อน ความเครียดเป็นสิ่งที่คนเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้ามองให้เห็นข้อดีจะทำให้เราจะวางแผนรับมือ แต่หากเครียดมากไปจะเกิดผลแย่ลง คือ ส่งผลให้ภูมิต้านทานของเราอ่อนแอลง ทำให้เกิดโรคอื่นๆตามมาซ้ำเติมได้ การรับมือความเครียดทำได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พยายามออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และรู้จักผ่อนคลาย


4. โรคตาแดง
โรคตาแดงเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ความจริงแล้วเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายรุนแรง เพราะส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส แต่ถ้าไม่รับการรักษาตั้งแต่เริ่มเป็น อาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ ที่น่ากังวลคือโรคนี้ติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ได้แก่ การสัมผัสโดยตรงกับน้ำตา ขี้ตา น้ำมูกของผู้ป่วย หรือจากใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว


หลังได้รับเชื้อประมาณ 1-2 วัน จะเริ่มมีอาการระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง โดยอาจเริ่มที่ตาข้างหนึ่งก่อน แล้วจึงลามไปตาอีกข้าง หากดูแลรักษาตั้งแต่เริ่มต้น มักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ดูแลรักษาให้ถูกวิธี อาจเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น กระจกตาดำอักเสบ ทำให้ปวดตา ตามัว


การป้องกันทำได้โดยล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับแหล่งแพร่เชื้อ และหมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ให้สะอาดอยู่เสมอ


5. โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร
กลุ่มอาการของโรคนี้ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ บิด ตับอักเสบเอ และไข้ทัยฟอยด์นั่นเอง  เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายโดยกินอาหาร ดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป เช่น อาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารที่ทิ้งค้างคืนโดยไม่ได้แช่เย็น และไม่ได้อุ่นให้ร้อนที่อุณหภูมิอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส ก่อนรับประทานอาหาร
·      
โรคท้องร่วง มีอาการถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายมีมูกเลือด อาจมอาเจียนร่วมด้วย หากมีอาการรุนแรงโดยถ่ายเป็นน้ำคล้ายน้ำซาวข้าว คราวละมากๆ เรียกว่า อหิวาตกโรค
·      อาหารเป็นพิษ มักมีอาการปวดท้อง ร่วมกับถ่ายอุจจาระเหลว คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว
·      โรคบิด มีอาการสำคัญคือ ถ่ายอุจจาระบ่อย อุจจาระมีมูก หรือมูกปนเลือด มีไข้ ปวดท้องและมีปวดเบ่งร่วมด้วย บางคนอาจมีอาการเรื้อรัง
·      โรคไข้ทัยฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย มีอาการสำคัญคือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาจมีอาการท้องผูก หรือบางรายอาจท้องเสียได้


การรักษาเมื่อเริ่มมีอาการอุจจาระร่วงควรกินหรือดื่มของเหลวมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ และเกลือแร่ ได้แก่ สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ โอ อาร์ เอส น้ำแกงจืด หรือน้ำข้าวใส่เกลือ ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์


 ภาพหนูตายจากน้ำท่วมจาก http://digifotoblog.com
6. โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรสิส


เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน มีหนูเป็นตัวแพร่โรคที่สำคัญ เชื้อออกมากับปัสสาวะสัตว์แล้วปนเปื้อนอยู่ในน้ำท่วมขัง พื้น ดินที่ชื้นแฉะได้นาน เชื้อเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอก หรือไชเข้าเยื่อบุตา จมูก ปาก หรือผิวหนังที่แช่น้ำนาน หรืออาจติดเชื้อจากการรับประทานอาหารที่หนูฉี่รด


อาการโรคเริ่มมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 4 -10 วัน โดยจะมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะน่องและโคนขา หรือปวดหลัง บางคนมีอาการตาแดง อาจมีอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร หรือท้องเดิน ถ้าไม่รีบรักษา บางรายอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปน หรือตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย ซึม สับสน เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเสียชีวิตได้


ป้องกันโดยสวมรองเท้าบู๊ทยางกันน้ำ หากต้องลุยน้ำ ถ้ามีบาดแผล หลีกเลี่ยงการแช่น้ำนานๆ เมื่อขึ้นจากน้ำแล้วต้องรีบอาบชำระร่างกายให้สะอาดโดยเร็ว


สุดท้ายแล้ว การเตรียมตัว รู้จักสถานการณ์ให้มากที่สุด เพื่อการวางแผนทั้งน้ำท่วมและโรคภัยคือคำแนะนำที่ดีที่สุดให้เราได้รักษาชีวิตให้อยุ่รอดและมีความสุขได้มากที่สุด เชื่อว่าทุกท่านคงได้เรียนรุ้บทเรียนที่ดีจากช่วงเวลาที่ยากลำบาก เภสัชกรร้านยาพร้อมเป็นที่พึ่งด้านสุขภาพเสมอครับ


แหล่งข้อมูล
เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล สงวนลิขสิทธิ์ 28 พย. 2554  
E-mail: utaisuk@gmail.com Facebook: “UTAI SUKVIWATSIRIKUL
ห้ามนำบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ โดยผู้เขียนไปเผยแพร่เชิงพาณิชย์ ให้นำไปเผยแพร่เป็นวิทยาทานหรือเพื่อการศึกษาเท่านั้นผู้ประกอบการเว็บไซต์ต้องยึดหลักความเคารพและคำนึงถึงลิขสิทธิ์ในการสร้างสรรค์งานเขียนและจริยธรรมทางธุรกิจ
การนำเอาบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ ซึ่งผลิตขึ้นโดยผู้เขียนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตและผลิตซ้ำเพื่อเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาและ Copy url address ไปด้วยเพื่อให้ผู้อ่านสามารถลิ้งค์กลับมาอ่านบทความจากเว็บไซต์ ของผู้เขียนได้โดยตรง
บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพ ไม่แนะนำให้คุณนำไปใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรคด้วยตนเอง ขอความกรุณารับคำปรึกษาได้โดยตรงจากเภสัชกรร้านยาใจดีที่พร้อมดูแลสุขภาพพ่อแม่พี่น้องนะครับ
รูปประกอบจาก

Flooding and communicable diseases fact sheet, Risk assessment and preventive measures จาก WHO, http://www.who.int/hac/techguidance/ems/flood_cds/en/                  
National Disaster Recovery Framework, FEMA’s Individual and Community Preparedness Division and Recovery Division are joining together to co-host a webinar about the recently released National Disaster Recovery Framework (NDRF), http://www.fema.gov/recoveryframework/index.shtm
ภัยสุขภาพป้องกันอย่างไร ในสภาวะน้ำลด , สำนักโรคติดต่อทั่วไป, http://www.ddc.moph.go.th/emg/flood/index.php
แนวทางการดูแลรักษาโรคติดเชื้อต่างๆ ในภาวะอุทกภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์, ศูนย์ประสานจัดการความรู้เพื่อรับมือภัยพิบัติ (ศจภ.), http://www.k4flood.net/newweb/index.php/2011-10-27-07-00-36/2011-11-14-18-17-31/30-2011-11-18-16-53-42
พญ. วลัยอร ปรัชญพฤทธิ์ , ปัญหาสุขภาพและโรคผิวหนังหลังน้ำท่วม, สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์, http://www.inderm.go.th/alumni/journal_alumni/j_20/fil.%2008-Review%20A.pdf
โรคที่มักเกิดหลังน้ำท่วม, ศูนย์ประสานจัดการความรู้เพื่อรับมือภัยพิบัติ (ศจภ.), http://www.k4flood.net/newweb/index.php/2011-10-27-07-00-36/2011-10-27-07-09-00/2011-11-09-14-20-53
พญ.ฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ, แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคผิวหนังเด็ก, การดูแลแผลหลังน้ำท่วม, http://www.skinhospital.co.th/knowledge/get-to-know/?c_id=186
พญ.ฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ, แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคผิวหนังเด็ก, ปกป้องผิวจาก...ภัยน้ำท่วม, http://www.skinhospital.co.th/knowledge/get-to-know/?c_id=185
พญ.สุเพ็ญญา  วโรทัย , นพ.สุมนัส  บุณยะรัตเวช, ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, โรคผิวหนังที่มากับน้ำท่วม, สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย , http://www.dst.or.th/know_details.php?news_id=70&news_type=kno
ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์ พ.บ.,  น้ำยาฆ่าเชื้อ, วารสารคลินิก เล่ม : 282 , เดือน-ปี : 06/2551, โรงพยาบาลบ้านแหลม, จังหวัดเพชรบุรี, http://www.doctor.or.th/node/7086
น้ำยาฆ่าเชื้อ, ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์นครราชสีมา, กระทรวงสาธารณสุข ,
http://www.dmsc.moph.go.th/webroot/nakhonratchasima/ข่าววิชาการ/ลำดับที่_01_น้ำยาฆ่าเชื้อ.htm
รองศาสตราจารย์แม้นสรวง วุฒิอุดมเลิศ , EM Ball (อีเอ็มบอล), ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/thai/knowledgeinfo.php?id=79
เภสัชจุลชีววิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล การทำให้ปราศจากเชื้อและการฆ่าเชื้อ. 2531: 77-81.
นรีกุล สุรพัฒน์. Medical Microbiology:Quality Control in Clinical Microbiology. 2526: 265-269.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น