วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

โรคฉี่หนู โรคที่ตามมากับน้ำท่วม โดยเภสัชกรอุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล

ใครที่ว่าน้ำท่วมน่ากลัวแล้ว ระหว่างนี้น้ำเจิ่งกทม. นี้ยังมียังมีโรคภัยที่น่ากลัว ตามมาซ้ำเติมคร่าชีวิต พี่น้องประชาชนเราได้อีก นั้นก็คือโรคฉี่หนูไงหล่ะครับ หากเราต้องเสี่ยงอยู่ในน้ำที่มีเชื้อโรคจากฉี่หนู ไม่ว่าจะย่ำน้ำธรรมดาหรือลุยเต็มหน้าอก เราควรรู้จักเพื่อหาทางป้องกันและรักษากันดีกว่าครับ เพราะโรคนี้ถ้าเป็นไม่รีบรักษาถึงตายเชียวนะครับ

โรคฉี่หนูคืออะไร
โรคฉี่หนู ไข้ฉี่หนู หรือ ไข้เยี่ยวหนู มีชื่อทางการแพทย์เรียกว่า โรคเล็ปโตสไปโรสิส (Leptospsis) หรือ ชื่อดั้งเดิมเรียกว่า   โรค วายล์’ส (Weil’s disease)  แท้จริงแล้ว เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Leptospira interrogans เนื่องด้วยคุณหมอวายล์เป็นคนอธิบายโรคนี้เอาไว้อย่างละเอียดก่อนเพื่อนก็เลยได้รับสมญาว่า Weil’s disease ปัจจุบันนิยมเรียกชื่อว่า Leptospsis  เรียกสั้นๆ ว่าเป็นโรคเล็ปโต

เชื้อเล็ปโตสไปร่านี้จะออกมากับฉี่ที่หนูปล่อยออกมา มีรูปร่างเป็นเกลียวควงสว่านแหวกว่ายไปมาอยู่ในที่มีน้ำหรือที่ชื้นเฉอะแฉะ เชื้อมีชีวิตคงทนอยู่ได้นานในสิ่งแวดล้อม  เมื่อออกจากตัวหนูทางเยี่ยว  จึงสามารถเคลื่อนไหวไปมาในที่เปียกชื้นเฉอะแฉะได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว  โรคที่มันก่อขึ้นจึงเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า โรคเล็ปโตสไปโรสิส และมีผู้บัญญัติขึ้นเป็นภาษาไทยๆ เราว่าโรคฉี่หนูก็เรียก โรคไข้เยี่ยวหนูก็มี

ทำไมจึงเรียกว่าโรคฉี่หนู
สำหรับหนูนั้นในบ้านเรานับว่าชุกชุม  ถ้าอยู่ในเมืองในหมู่บ้านเราก็จะเจอพวกหนูท่อ หนูผีอาจจะอยู่ตามโกดังเก็บของก็พบมาก  หนูพวกนี้จะคอยคุ้ยอาหารเศษอาหารที่เหลือกิน  หนูอีกพวกคือหนูนา อยู่ตามท้องนา  หนูพวกนี้มีหน้าที่ที่สำคัญคือทำลายผลผลิตผลการเกษตรกัดกินต้นข้าว กินข้าวเป็นต้น

เมื่อหนูมีชุกชุมก็มีโรคต่างๆ ติดต่อกันอยู่ในบรรดาหนูด้วยกัน ซึ่งมีอยู่หลายโรค เช่น กาฬโรค ไข้เลือดออกฮันตานในเกาหลี ไข้เลือดออก ในอเมริกาใต้ ไข้ลาสล้าในอาฟริกา ไข้ปอดอักเสบในอเมริกา ไข้รากสาดใหญ่ในอเมริกาใต้, อเมริกากลาง ไข้หนูกัด ไข้วัณโรคเทียม ไข้กลับเป็นซ้ำ โรคลิสเตอริโอสิส ไข้สมองอักเสบ โรคพิษสุนัขบ้า      ตืดหนู ท็อกโซปล๊าสโมสิส และไข้เยี่ยวหนูด้วย

เห็นไหมละครับว่าการที่หนูชุกชุมนับเป็นแหล่งแพร่โรคที่สำคัญมาสู่คน หนูมาอาศัยอยู่ในบริเวณบ้านเราใกล้ชิดกับคน  จึงแพร่เชื้อมาสู่คนได้ โรคฉี่หนู ไข้ฉี่หนู หรือเลพโตสไปโรซิส ที่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่าเลปโต เนื่องมาจากมี หนูเป็นตัวการหลักในการแพร่เชื้อ จึงทำให้เราเรียกโรคนี้ว่า “โรคฉี่หนู” แต่เชื้อโรคสาเหตุนั้นพบปนอยู่ในปัสสาวะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่นหนู สุนัข แมว โค แพะ แกะ กระบือ ผู้ติดเชื้อโรคนี้ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง น้อยรายที่จะมีอาการรุนแรง แก้ไม่ทันอาจเสียชีวิต อาการแยกยากจากอาการไข้อื่น ๆ แต่ในรายที่รุนแรงมักมีไข้สูง เลือดออกง่าย (คล้ายไข้เลือดออก) ตัวเหลือง ตาเหลือง อาจมีไตอักเสบและเสียชีวิตเพราะไตวายหรือเลือดออกในปอด

ความจริงแล้ว โรคฉี่หนูเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่พบได้ทั่วโลกโดยเฉพาะในเขตร้อนชื้น รวมทั้งประเทศไทยซึ่งถือเป็นโรคประจำถิ่น โดยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ครานี้หากน้ำท่วมในเขตเมืองชั้นในนานๆ ก็มีโอกาสการติดเชื้อนี้ได้จากน้ำท่วมขังในบริเวณที่มีหนูที่มีเชื้อโรคตัวนี้อาศัยอยู่


ต้นเหตุของโรคฉี่หนู และจะติดต่อได้อย่างไร
เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคฉี่หนูเป็นเชื้อแบคทีเรีย จะแสดงอาการในช่วง 4-19 วันหลังรับเชื้อ การติดต่อสู่คนของโรคฉี่หนูเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับปัสสาวะของสัตว์ที่มีเชื้อ หรือสัมผัสโดยอ้อมผ่านทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแหล่งน้ำขัง ที่ชื้นแฉะ เช่นดินโคลนใกล้แหล่งน้ำ น้ำตก แม่น้ำลำคลอง หรือน้ำที่ท่วมขังอยู่หลังอุทกภัย โรคเลปโตสไปโรซิสเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยพาหะที่พบบ่อยที่สุดคือหนู  แต่ความเป็นจริงแล้วหนูไม่ใช่สัตว์ชนิดเดียวที่เป็นพาหะ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกือบทุกชนิดมีรายงานว่าเป็นพาหะของโรคได้ เช่น สุนัข แมว โค กระบือ และสุกร สัตว์มักไม่แสดงอาการแต่จะมีเชื้ออาศัยอยู่ในท่อไตและถูกขับออกมาทางปัสสาวะ

เมื่อคนสัมผัสกับปัสสาวะของสัตว์ที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นที่น้ำท่วมขัง ที่ชื้นแฉะ ดินโคลน หรือพืชผัก เชื้อสามารถไชเข้าทางผิวหนังที่เป็นแผลหรือเปื่อยยุ่ยจากการแช่น้ำอยู่นานๆ หรือเข้าทางเยื่อบุ เช่น ปาก ตา จมูก จากการดื่ม กิน น้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อน หรือว่ายน้ำในบริเวณที่มีการปนเปื้อน เป็นต้น ดังนั้น การระบาดของโรคส่วนใหญ่จะพบในช่วงปลายฤดูฝนต่อฤดูหนาว ซึ่งมักมีน้ำท่วมขัง หรือเมื่อเกิดอุทกภัย เกิดภาวะน้ำท่วม ทำให้มีโอกาสสัมผัสเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น

วิธีสังเกตุอาการของโรคฉี่หนู
หากเราไปติดเชื้อนี้เข้า เราจะพบว่า มีอาการดังต่อไปนี้

1, ระยะฟักตัว หลังเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะมีระยะเวลาตั้งแต่ 3 ถึง 30 วัน เฉลี่ยประมาณ 5 ถึง 14 วัน จึงจะแสดงอาการ ผู้ที่ได้รับเชื้ออาจมีอาการและการดำเนินโรคที่แตกต่างกันไปตั้งแต่ไม่มีอาการ มีอาการน้อย อาการรุนแรงมาก จนถึงขั้นเสียชีวิต 
  • เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะไปตามกระแสเลือดแล้ว กระจายเข้าสู่อวัยวะต่างๆ ที่สำคัญคือ ไต ตับ ปอด น้ำไขสันหลัง หัวใจ เป็นต้น ในระยะแรกอาการส่วนใหญ่มักไม่จำเพาะ อาจคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้ออื่น เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย ไข้หวัดใหญ่ ไข้รากสาดใหญJ
  • ในช่วงแรกจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา แต่ถ้าไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ ไม่เจ็บคอ ก็ควรสงสัยไว้ก่อนว่าจะมีโอกาสติดโรคที่ระบาดในช่วงน้ำท่วม นอกจากนี้ในผู้ที่มีประวัติการเดินย่ำหรือแช่น้ำท่วมขัง ร่วมกับมีอาการดังต่อไปนี้ มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นโรคฉี่หนู ควรเร่งพบแพทย์โดยด่วน 
  •  ภาวะเยื่อบุตาบวมแดงเกิดขึ้นในตาทั้งสองข้างใน 3 วันแรกและนานตั้งแต่ 1-7 วัน อาจมีเลือดออกที่ตาขาวข้างเดียวหรือสองข้างก็ไดh
  • ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงมากโดยเฉพาะบริเวณน่อง โคนขา หน้าท้อง กล้ามเนื้อหลังและมีอาการกดเจ็บกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่น่อง


·      ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจพบ จุดเลือดออกตามผิวหนัง หรือผื่นเลือดออก หรือเลือดออกใต้เยื่อบุตา หรือมีเสมหะเป็นเลือด
·      ผื่น อาจจะพบได้หลายแบบ ผื่นแดงราบ ผื่นแดง ผื่นลมพิษ
·      อาการเหลือง อาการเหลืองมักเกิดวันที่4-6 ของโร  กลุ่มที่มีอาการเหลือง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอันตรายรุนแรง ต้องไปโรงพยาบาลทันที

2. ระยะเฉียบพลัน อยู่ในช่วงประมาณสัปดาห์แรกของโรค เป็นระยะที่มีเชื้อในกระแสเลือด ระยะนี้ผู้ป่วยมักมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงซึ่งมักเป็นที่บริเวณน่องและหลัง ตาแดง มีเลือดออกใต้เยื่อบุตา เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
ระยะต่อมาเป็นช่วงตั้งแต่ประมาณสัปดาห์ที่ 2 ของโรค มีระยะเวลาประมาณ 4 ถึง 30 วัน

 เป็นระยะที่มีการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ทำให้เชื้อที่อยู่ในกระแสเลือดถูกกำจัด และมีเชื้อออกมาทางปัสสาวะ ระยะนี้อาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดต้นคอและคอแข็ง อาเจียน ซึ่งเป็นอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจมีผื่น ตาอักเสบ ไตอักเสบ ตาเหลืองตัวเหลือง มีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง ถ้าอาการรุนแรงจะมีการทำงานของไตและตับล้มเหลว มีเลือดที่ออกที่อวัยวะต่างๆ เช่น ในปอด ทำให้การหายใจล้มเหลว เกร็ดเลือดต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ การไหลเวียนเลือดล้มเหลวและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

สุดท้ายในฐานะเภสัชกรที่ตลอดเวลาก้อได้ทำหน้าที่ เภสัชกรชุมชนและที่บ้านก้อน้ำท่วมเช่นเดียวกัน ได้แต่ให้ความรุ้ให้เราได้รุ้เท่าทันอย่าตื่นตกใจไปเสียก่อน ไม่มีคำอวยพรใดจะดีไปกว่าเตรียมตัวให้พร้อมอย่างมีสติ และเก็บพลังความดีไว้ฟื้นฟูบ้านเมืองเราต่อไป “สู้ให้มีชีวิตรอด ต่อไป”  ตอนหน้ามาดูการรักษาและป้องกัน กันะครับ

แหล่งข้อมูล
เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล สงวนลิขสิทธิ์ 8 พย. 2554  
E-mail: utaisuk@gmail.com Facebook: “UTAI SUKVIWATSIRIKUL ห้ามนำบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ โดยผู้เขียนไปเผยแพร่เชิงพาณิชย์ ให้นำไปเผยแพร่เป็นวิทยาทานหรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น ผู้ประกอบการเว็บไซต์ต้องยึดหลักความเคารพและคำนึงถึงลิขสิทธิ์ในการสร้างสรรค์งานเขียนและจริยธรรมทางธุรกิจ

การนำเอาบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ ซึ่งผลิตขึ้นโดยผู้เขียนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตและผลิตซ้ำเพื่อเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาและ Copy url address ไปด้วยเพื่อให้ผู้อ่านสามารถลิ้งค์กลับมาอ่านบทความจากเว็บไซต์ ของผู้เขียนได้โดยตรง
บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพ ไม่แนะนำให้คุณนำไปใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรคด้วยตนเอง ขอความกรุณารับคำปรึกษาได้โดยตรงจากเภสัชกรร้านยาใจดีที่พร้อมดูแลสุขภาพพ่อแม่พี่น้องนะครับ

รูปประกอบตามที่ระบุใน url addresss
http://www.chaoprayanews.com/wp-content/uploads/2009/10/e0b889e0b8b5e0b988e0b8abe0b899e0b8b9.jpg

·      
Judith Green-McKenzie, MD, MPH; Chief Editor: Rick Kulkarni, MD ,Leptospirosis in Emergency Medicine , http://emedicine.medscape.com/article/788751-overview
·      Leptospirosis, Centers for Disease Control and Prevention   1600 Clifton Rd. Atlanta, http://www.cdc.gov/leptospirosis/
·      ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิงอภิฤดี เหมะจุฑา, เภสัชกรหญิงสิรินุช พละภิญโญ, เภสัชกรกิติยศ ยศสมบัติ
"การใช้ยาในโรคที่มากับน้ำท่วม"
·      ผศ.พญ.ดร.กนิษฐา ภัทรกุล "โรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซิส…โรคที่ต้องระวังในภาวะน้ำท่วม"
·      คู่มือวิชาการ โรคเลปโตสไปโรซิส , สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก 306  ถ.พิษณุโลก - วัดโบสถ์  หมู่ 5  ต.หัวรอ  อ.เมือง  จ.พิษณุโลก  65000  , http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/disease/Lepto.html
·      ผู้ช่วยศาสตราจารย์อุษณีย์  สุทธิสารสุนทร, ไข้ฉี่หนู Leptospirosis, Thai Travel Clinic, Hospital for Tropical Diseases, Faculty of Tropical Medicine, Mahidol University, Bangkok, Thailand, http://www.thaitravelclinic.com/Knowledge/leptospirosis-thai-article.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น