วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

น้ำกัดเท้า โรคที่มากับน้ำท่วม



น้ำกัดเท้าไม่ใช้ชื่อโรคแต่เป็นคำเรียกติดปากของประชาชน ถึงภาวะที่เกิดการระคายเคืองของผิวหนังที่เท้า ซึ่งมักเกิดจากการแช่น้ำสกปรกเป็นเวลานาน หรือมีความชื้นบริเวณเท้าอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากน้ำท่วมขังและต้องเดินย่ำน้ำบ่อยๆ ในช่วงฤดูฝนและบางพื้นที่มีอุทกภัยในขณะนี้


การระคายเคืองของผิวหนังอาจเกิดมากขึ้นหากไม่สามารถรักษาความสะอาดและความแห้งของผิวหนังได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผิวหนังที่เท้าเปื่อยลอก แดง แสบและคัน ทำให้เกิดแผลได้ง่ายหรือมีการแกะเกาและส่งเสริมให้เกิดการติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้
รูปประกอบจาก http://img.webmd.com/dtmcms/live/webmd/consumer_assets/site_images/articles/health_and_medical_reference/skin_and_beauty/understanding_athletes_foot_basics.jpg

อาการของโรคน้ำกัดเท้าเป็นอย่างไร
อาการของโรคน้ำกัดเท้า ที่พอแยกได้เป็น 2 ระยะ


ระยะแรก: ระยะอักเสบระคายเคือง
ระยะแรกนี้จะสังเกตได้ว่าผิวหนังมีลักษณะแดงลอก เนื่องจากการระคายเคือง บางรายอาจมีอาการเท้าเปื่อย คันและแสบ ระยะนี้อาจยังไม่มีการติดเชื้อโรคเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่การต้องแช่น้ำสกปรกเป็นเวลานานจะทำให้ติดเชื้อที่ปนอยู่กับน้ำได้ง่ายขึ้น การเกาหรือถูเพื่อบรรเทาความรู้สึกแสบและคันก็อาจสร้างรอบแผลถลอกเล็กๆ ที่ทำให้ติดเชื้อแทรกซ้อนตามมาได้


ระยะที่สอง: ระยะติดเชื้อแทรกซ้อน
การติดเชื้อโรคแทรกซ้อนเนื่องจากผิวหนังที่ชื้น เปื่อยและหลุดลอก ซึ่งง่ายแก่การก่อโรคของเชื้อ ที่พบบ่อยคือเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา อาการที่แตกต่างกันพอแยกได้ คือ
ถ้าติดเชื้อแบคทีเรีย มักมีอาการอักเสบ บวมแดง เป็นหนองและปวด อาการที่เป็นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ถ้าติดเชื้อรามักเป็นบริเวณซอกนิ้ว มีลักษณะคัน ผิวเป็นขุย เป็นสะเก็ดหรือเป็นปื้นขาว ลอกออกเป็นแผ่นๆได้ ซึ่งการติดเชื้อรามักเกิดเฉพาะรายที่มีความชื้นสะสมที่เท้าอยู่เป็นเวลานาน ทั่วไปไม่ต่ำกว่าสองสัปดาห์ และ ไม่ได้พบมากหรือเป็นสาเหตุของผู้ป่วยโรคน้ำกัดเท้าทุกราย
เท้าของผู้ป่วยโรคน้ำกัดเท้าระยะที่สองนี้มักมีกลิ่นเหม็นเนื่องจากการหมักหมมของน้ำเหลืองและการติดเชื้อโรคที่กล่าวมาข้างต้น

การรักษาโรคน้ำกัดเท้าทำได้อย่างไรบ้าง
การป้องกันคือการรักษาที่ดีที่สุด

การรักษาที่ดีที่สุดคือการป้องกันตั้งแต่แรก โดยการรักษาความสะอาด และลดความชื้นที่เท้าลงให้มากที่สุด

• หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับน้ำสกปรกโดยใส่รองเท้าบูท ทุกครั้งที่ต้องเดินย่ำน้ำ หากน้ำที่ท่วมขังมีระดับสูงกว่าขอบรองเท้า อาจใช้ถุงดำครอบให้เหนือกว่าระดับน้ำแล้วใช้หนังยางรัดไว้ ไม่ให้น้ำเข้าได้

• ทาวาสลีน (vaseline) ซึ่งมีลักษณะเป็นขึ้ผึ้งมันๆ บริเวณง่ามเท้า ลดโอกาสที่น้ำจะซึมผ่านผิวหนังและทำให้เกิดความชื้นหรือผิวหนังเปื่อยได้ง่าย สำหรับผู้ประสบอุทกภัยซึ่งไม่สามารถหาวาสลีนได้ อาจใช้ยาขี้ผึ้งรักษากลากเกลื้อนที่เรียกว่าวิทฟิลด์(Whitfield’s ointment) หรือขี้ผึ้งประเภทเดียวกันทาแทนได้

• หากจำเป็นต้องเดินย้ำน้ำหรือต้องแช่น้ำสกปรกที่ท่วมขังอยู่ เมื่อเสร็จธุระแล้วให้รีบล้างตัวด้วยสบู่และน้ำสะอาดถ้าหาได้

• หากน้ำมีปริมาณจำกัดอาจใช้วิธีการแช่น้ำด่างทับทิม โดยใช้เกร็ดด่างทับทิม 2-3 เกร็ดละลายน้ำปริมาณพอควรให้ได้สารละลายสีชมพูจางๆ แช่อย่างน้อย 15 นาทีและเช็ดให้แห้ง

• ในกรณีที่ไม่มีด่างทับทิมสามารถใช้ยาใส่แผลโพวิโดน ไอโอดีนจำนวน 8 หยด ผสมน้ำประมาณ 1 ลิตร แทนน้ำด่างทับทิมได้

• หลังจากล้างเท้าและเช็ดเท้าจนแห้งแล้ว ให้ใช้แป้งฝุ่นโรยตัว โรยบริเวณง่ามเท้าเพื่อให้แห้งอยู่เสมอ

• หมั่นสังเกตแผลบริเวณเท้าและขาซึ่งสัมผัสกับน้ำสกปรก หากพบว่ามีบาดแผลเกิดขึ้น ควรพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสของแผลกับน้ำที่ท่วมขัง ใส่ยาโพวิโดน ไอโอดีน และเมื่อแผลมีลักษณะอักเสบรุนแรงขึ้น ให้พบแพทย์เพื่อประเมินอาการ เพื่อแก้ไขอย่างถูกต้องทันท่วงที

การรักษาโรคน้ำกัดเท้า

การรักษาโรคน้ำกัดเท้าต้องพิจารณาระยะของโรค เนื่องจากมีอาการและสาเหตุที่แตกต่างกัน

• ระยะแรกที่มีอาการเท้าเปื่อย ลอก แดง คันและแสบ อาจใช้ยาทาสเตียรอยด์อ่อนๆ เช่นไตรแอมซิโนโลนครีม หรือเบตาเมทาโซนครีม โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อรา อย่างไรก็ตามหากมีแต่ยาสูตรผสมของสเตียรอยด์กับยาทาฆ่าเชื้อราก็สามารถใช้แทนได้ ข้อจำกัดคือยาทาสเตียรอยด์อาจทำให้ติดเชื้อราได้ง่ายขึ้น

• การใช้ยาขี้ผึ้งรักษากลากเกลื้อนตำรับวิทฟิลด์ หรือขี้ผึ้งทาแก้น้ำกัดเท้าสูตรเข้ากำมะถัน(sulfur) ที่เป็นขี้ผึ้งลักษณะคล้ายยาหม่อง ทาบริเวณที่เริ่มมีอาการ วันละ 3 ครั้ง สามารถแก้ไขอาการเท้าเปื่อย ลอกแดง และคัน ซึ่งยังไม่ติดเชื้อได้ เพราะยาขี้ผึ้งนี้ มีความมันสูง หากทาก่อนโดนน้ำจะช่วยลดความเปียกชื้นของผิวได้ ทั้งยังมีฤทธิ์ต้านการติดเชื้อ ลดอาการคัน ลดการเกิดแผลถลอก ที่จะทำให้ติดเชื้ออื่นได้อย่างดี

• ในรายที่เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่เป็นไม่มาก อาจใช้การชะล้างบริเวณแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น น้ำเกลือ หรือน้ำด่างทับทิม แล้วทาแผลด้วยยาฆ่าเชื้อโรค เช่นโพวิโดน ไอโอดีน หรือยาทาวิทฟิลด์ บางตำรับที่ผสมกำมะถัน ก็สามารถใช้ได้

• ในรายที่มีการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียอย่างรุนแรงหรือเรื้อรัง ควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องและรับการรักษาโดยยารับประทานและทำแผลอย่างถูกวิธี

• ในรายที่มีการติดเชื้อรา สามารถใช้วิทฟิลด์ได้ดีไม่ต่างจาก ยาทาต้านเชื้อราอื่นๆ เช่นยาทาโคลไตรมาโซล ซึ่งมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน แต่ลดความชื้นที่ผิวหนังได้น้อยกว่าสามารถเลือกใช้ชนิดใดชนิดหนึ่งก็ได้ แต่ขี้ผึ้งวิทฟิลด์ มีราคาประหยัด ทั้งเกาะติดผิวหนังได้ดี ไม่ถูกชะออกได้ง่ายเหมือนยาทาโคลไตรมาโซลซึ่งเป็นครีม และใช้เพื่อป้องกันได้ขี้ผึ้งวิทฟิลด์ เป็นทางเลือกหลักสำหรับกรณีโรคน้ำกัดเท้าที่เกิดขณะมีอุทกภัย

• เมื่อเป็นเชื้อราแล้วมักหายยาก ถึงแม้จะใช้ยาทาติดต่อกัน 3-4 สัปดาห์จนรอยผิวหนังเหมือนหายเป็นปกติดี เนื่องจากเชื้อราบางส่วนยังหลงเหลืออยู่ในผิว เมื่อเท้าอับชื้นขึ้นก็จะเกิดเชื้อราเจริญขึ้นใหม่ ไม่หายขาด ผู้ป่วยจึงควรใช้อย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดใช้ยาเองแม้ว่าจะดีขึ้น การหยุดยาเร็วเกินไปขณะที่เชื้อยังไม่หมด มีโอกาสกลับเป็นซ้ำอีกได้ง่าย โดยปกติแนะนำให้ใช้ยาทาต่อเนื่องหลังหายแล้วอีกอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์

• ในรายที่อาการรุนแรงหรือมีการติดเชื้อราที่เล็บร่วมด้วย อาจจำเป็นต้องใช้ยารับประทานซึ่งควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

อาการข้างเคียง หรือข้อควรระวังในการใช้ยาทารักษาโรคน้ำกัดเท้า
เนื่องจากยาที่ใช้รักษาโรคน้ำกัดเท้าส่วนใหญ่เป็นยาทาเฉพาะที่ อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยคือการระคายเคืองบริเวณที่ทายา โดยเฉพาะจากการใช้ขี้ผึ้งวิทฟิลด์ เนื่องจากกรดอ่อน ๆ เป็นองค์ประกอบ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการทาในบริเวณที่มีแผลเปิด นอกจากนี้บางตำรับที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้เช่นกัน หากใช้แล้วเกิดอาการแพ้ แสบ หรือระคายเคืองอาจหยุดใช้สักระยะ เมื่อการระคายเคืองลดลงแล้วสามารถทดลองใช้ใหม่ได้ การใช้คาลาไมน์โลชัน ซึ่งมี zinc oxide เป็นองค์ประกอบร่วมกับการทาขี้ผึ้งวิทฟิลด์ อาจช่วยลดการระคายเคืองได้

สำหรับยาทารักษาโรคน้ำกัดเท้าชนิดอื่น อาจก่อการระคายเคืองได้เช่นเดียวกับที่กล่าวไปข้างต้น หากเกิดการระคายเคืองอาจหยุดใช้ จนการระคายเคืองลดลงแล้วจึงทดลองกลับมาใช้ใหม่

แหล่งข้อมูล

การป้องกันและดูแลโรคน้ำกัดเท้า

ความรู้เรื่องโรคที่มากับน้ำท่วม

การป้องกันและดูแลโรคน้ำกัดเท้า
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิงอภิฤดี เหมะจุฑา
  • เภสัชกรกิติยศ ยศสมบัติ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น