โรคหลอดเลือดสมองหรือที่เรียกว่า STROKE เป็นโรคที่พบบ่อยเป็นอันดับสามรองจากโรคหัวใจและโรคมะเร็ง เป็นโรคที่ทำให้คนไทยและคนทั่วโลกเสียชีวิตเป็นอันดับแรก ๆ ถ้าได้รับการรักษาไม่ทัน หากคนไข้รอดมาได้ไม่ตายเสียก่อน ก้ออาจทำให้เป็นอัมพาตได้ คุณๆที่มีญาติผู้ใหญ่ที่มีปัญหาโรคความดันโลหิตอาจจะตะหนักถึงภัยของโรคนี้มาแล้ว แต่หลายคน คิดว่าไม่น่าจะเกิดกับเราในวัยหนุ่มสาว ทำให้ประมาทไม่สนใจที่จะเรียนรู้และดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและคนที่รัก
เหตุก้อเพราะวันนี้ผมได้ไปแวะเยี่ยมน้องสาวคนหนึ่งที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมองแตกซึ่งมีอายุน้อยมากเพียงแค่สามสิบเศษๆเท่านั้นเอง สามีของคนไข้ที่กำลังใจดีเยี่ยมได้เล่าให้ทราบว่าก่อนเข้าโรงพยาบาลก้อยังปกติดี ยังสนุกสนานร่าเริงเหมือนปกติ แต่มีอาการปวดศีรษะเป็นสัญญานเตือนมาก่อน และได้เข้ารับการรักษาทันท่วงที งั้นลองมาเรียนรู้ถึงอาการ สาเหตุและวิธีป้องกันเสียก่อนที่จะมาเสียใจ
โรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาที่ได้พบบ่อยมาก
ทราบหรือไม่ว่ามันเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 1 ของผู้หญิงไทยและเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของชายไทย ถ้ารอดตายมาได้ก้ออาจจะเป็นสาเหตุของความพิการคืออัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้ และจะพบได้สูงมากเป็นอันดับ 2 รองจากอุบัติเหตุ อุบัติการณ์การเกิดโรคนี้จะพบได้สูงมากในบ้านเราแสนคนจะมีผู้ป่วยอยู่ 200 คน หรือเท่ากับ 300 รายต่อวัน หากเราป้องกันในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง ให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาให้เร็วทันเวลา จะช่วยลดความพิการและอัตราการตาย รวมทั้งลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งในการจากไปของผู้ป่วยที่กำลังอยู่ในช่วงวัยทำงานก่อนวัยอันควร และค่ารักษาดูแลในช่วงพิการไปอีกนานแสนนานภายหลังหากรอดตายไปได้
โรคหลอดเลือดสมองหมายถึงอะไร
โรคหลอดเลือดสมอง ประกอบไปด้วย 3 โรคหลักๆ ได้แก่ เส้นเลือดสมองตีบ แตก และ อุดตัน โดยที่เส้นเลือดสมองตีบเป็นแบบที่พบได้มากที่สุด (80-85%) เส้นเลือดที่ตีบเกิดจากการหนาตัวของผนังหลอดเลือด รวมทั้งอาจมีเกล็ดเลือด หรือองค์ประกอบอื่นๆ ของเลือด มาสะสมตามผนังหลอดเลือด ซึ่งจะทำให้เลือดไหลผ่านได้น้อยลง ถ้าเป็นมาก ก็จะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอเพียง และเกิดความเสียหายต่อเซลสมองบริเวณนั้นๆ ทำให้สมองบางส่วนขาดเลือด ส่วนโรคหลอดเลือดสมองแตกเกิดจากการแตกของหลอดเลือดสมอง ทำให้มีเลือดออกมาคั่ง และทำลายเนื้อสมองในบริเวณนั้น นอกจากนี้อาจกดเบียดเนื้อสมองส่วนที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้สมองส่วนนั้นทำหน้าที่ไม่ได้ตามปกติ เกิดอาการอัมพฤกษ์ หรืออัมพาตตามมาในที่สุด
อาการของผู้ป่วยมีได้หลายรูปแบบ
ขึ้นอยู่กับว่าสมองส่วนใดโดนทำลายจนสูญเสียการทำงานไป ที่คุณควรรู้เพื่อลองสังเกตุตัวเองได้แก่
1. พูดไม่ออก หรือ ไม่เข้าใจคำพูด หรือพูดไม่ชัดในทันทีทันใด
2. แขนขาหรือหน้าอ่อนแรง ชา หรือขยับไม่ได้ขึ้นมาทันทีทันใด โดยเฉพาะ ที่เป็น ครึ่งซีกของร่างกาย
3. ตาข้างใดข้างหนึ่งมัวหรือมองไม่เห็นฉับพลัน เห็นภาพซ้อน หรือเกิดอาการคล้ายมีม่านมาบังตา
4. ปวดศีรษะรุนแรงฉับพลันชนิดไม่เคยเป็นมาก่อน และ
5. งุนงง เวียนศีรษะ หรือเสียการทรงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดร่วมกับอาการอื่นๆที่กล่าวมาแล้ว
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
ถ้าคุณมีปัจจัยต่างๆเหล่านี้อยู่จะมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้มากกว่าคนปกติ อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าผู้ที่มีความเสี่ยงทุกคนจะต้องเกิดโรคนี้ทุกรายไป ในขณะเดียวกันผู้ที่ไม่มี ปัจจัยเสี่ยงก็มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้เช่นกัน แต่ไม่มากเท่าผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดก้อคือความดันโลหิตสูง ถ้าสามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือถ้าเป็นแล้วการลดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จะสามารถลดความเสี่ยงลงได้
แนวทางปฏิบัติในการลดความเสี่ยงจากความดันโลหิตสูงคือ
· รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนเกินไป
· รับประทานอาหารให้พอเหมาะ เน้นอาหารที่เป็นพืช ผัก ผลไม้ ลดอาหารที่มีไขมันและเค็มจัด
· หมั่นออกกำลังกายให้สม่ำเสมอเป็นประจำให้พอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยเกินไป
· ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ ถ้าพบว่าเป็นความดันโลหิตสูง แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาลดความดันโลหิตร่วมด้วย ซึ่งจำเป็นต้องรับประทาน ตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ ไม่ควรหยุดยาเองโดยเด็ดขาด ซึ่งโดยทั่วไปมักต้องรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน
· งดสูบบุหรี่ ถ้างดได้แล้วนอกจากจะลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองแล้ว ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคปอด จะน้อยลง และสุขภาพโดยทั่วไปก็จะดีขึ้นเองอีกด้วย
· ถ้าคุณเป็นโรคหัวใจมาก่อน เช่น โรคลิ้นหัวใจพิการ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจขาดเลือด ควรรีบไปรักษาเพื่อรับยาบางชนิดเพื่อลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
· เบาหวาน ควรพบแพทย์และรับประทานยาอย่างเคร่งครัด จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้
· ภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อทั้งหลอดเลือดหัวใจตีบตันและยังอาจเป็น ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองอีกด้วย ดังนั้นการรับประทานอาหารที่ไม่มีไขมันมากเกินไป หรืออาจต้องรับประทานยาลดไขมัน จะช่วยลดการเกิดทั้งสองโรคดังกล่าว
ตอนหน้ามาดูว่า ถ้าคุณไม่เริ่มต้นดูแลป้องกันในตอนนี้แล้ว หากมีอาการแสดงออกมาแล้ว จะเกิดผลอย่างไรบ้าง ถ้าคุณบอกว่าไม่กลัวตาย หากแต่ถ้าต้องนอนเป็นอัมพฤษต์ หรืออัมพาตไปอีกนาน จะปล่อยให้เสี่ยงเป็นโรคนี้ได้หรือครับ
แหล่งข้อมูล
· เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล สงวนลิขสิทธิ์ 20 สค. 2553
ห้ามนำบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ โดยผู้เขียนไปเผยแพร่เชิงพาณิชย์ ให้นำไปเผยแพร่เป็นวิทยาทานหรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น ผู้ประกอบการเว็บไซต์ต้องยึดหลักความเคารพและคำนึงถึงลิขสิทธิ์ในการสร้างสรรค์งานเขียนและจริยธรรมทางธุรกิจ
การนำเอาบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ ซึ่งผลิตขึ้นโดยผู้เขียนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตและผลิตซ้ำเพื่อเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาและ Copy url address http://www.oknation.net/blog/DIVING ไปด้วยเพื่อให้ผู้อ่านสามารถลิ้งค์กลับมาอ่านบทความจากเว็บไซต์ของผู้เขียนได้โดยตรง
บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพ ไม่แนะนำให้คุณนำไปใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรคด้วยตนเอง ขอความกรุณารับคำปรึกษาได้โดยตรงจากบุคลากรสหวิชาชีพทางสาธารณสุข รวมทั้งเภสัชกรใจดี ที่พร้อมดูแลสุขภาพพ่อแม่พี่น้องนะครับ
· Stroke medications, WebMD.com, www.webmd.com/stroke/guide/stroke-medications
· Stroke Medications | Internet Stroke Center, www.strokecenter.org/patients/medications.htm
· นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ, โรคหลอดเลือดสมองแตก, ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ, http://www.bangkokhealth.com/index.php/2009-01-19-03-15-03/1250-2010-01-04-04-35-05
· ภูฟ้า, STROKE: โรคหลอดเลือดสมอง (หลอดเลือดสมองตีบหรือแตก), GotoKnow.org , http://gotoknow.org/blog/spirit2/168743
· นพ. กิตติศักดิ์ เก่งสกุล, เส้นโลหิตในสมองตีบ, ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
· เกษร ตามสัตย์, การพยาบาลโรคหลอดเลือดสมอง , โรงพยาบาลบ้านหลวง จังหวัดน่าน
· รูปประกอบจาก http://www.medindia.net/patients/patientinfo/stroke-symptoms.htm และ
http://thedaneshproject.com/wp-content/uploads/2011/05/stroke_FAST_checklist.gif
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น