วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การจัดการของสถานพยาบาลในสถานการณ์ฉุกเฉิน

สถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้เกิดบทเรียนสำหรับโรงพยาบาลในการเผชิญกับภาวะการณ์ที่ไม่เคยพบมาก่อน คือภาวะน้ำท่วมที่รุนแรง ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง และกินเวลายาวนาน  รพ.ต่างๆ ต้องปรับตัวและแก้ปัญหาทั้งเพื่อรับสถานการณ์น้ำท่วมที่ รพ.ของตนเอง และการไปช่วยเหลือ รพ.อื่นๆ  ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพใหม่ๆ ต้องทำงานในสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ รวมทั้งต้องกลับมาฟื้นฟูโครงสร้างและระบบงานต่างๆ เพื่อให้สามารถกลับมาให้บริการผู้ป่วยได้เร็วที่สุด


            มีบทเรียนต่างๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ มากมายที่ควรจะได้นำมาสรุปเพื่อเป็นแนวทางสำหรับเตรียมการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจจะมิได้มีเพียงน้ำท่วมเพียงอย่างเดียว  เพื่อให้มีกรอบในการเรียนรู้เบื้องต้น สรพ.จึงได้นำเอามาตรฐานว่าด้วยเรื่อง Emergency Management (การจัดการในสถานการณ์ฉุกเฉิน) ของ The Joint Commission ที่ใช้กับสถานพยาบาลในอเมริกา มาเป็นกรอบสำหรับการสร้างการเรียนรู้ในอนาคต

            สถานการณ์ฉุกเฉินอาจจะเป็นสิ่งที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์หรือธรรมชาติที่มีผลทำให้การดำเนินงานของสถานพยาบาลต้องหยุดชะงักลงหรือมีปริมาณงานบริการเพิ่มมากขึ้น ภัยพิบัติ (disaster) เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่คุกคามสถานพยาบาลสูงมากเนื่องจากความซับซ้อน ขอบเขต และระยะเวลา ทำให้ต้องการความช่วยเหลือจากภายนอกในการที่จะธำรงความสามารถในการทำหน้าที่อย่างต่อเนื่อง

            ในการจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉิน จะต้องคำนึงถึงมาตรฐานที่เกี่ยวข้องด้วย ได้แก่ การธำรงความต่อเนื่องของสารสนเทศ, การตอบสนองต่อการระบาดของโรคติดเชื้อ, การบ่งชี้และแก้ปัญหาเกี่ยวกับ patient flow

           เนื้อหาของมาตรฐานเรื่องนี้จะแบ่งเป็นสามส่วน คือ การวางแผน เนื้อหาของแผน และการประเมินผล

การวางแผน
            การวางแผนเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์โอกาสที่จะเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ที่มีผลให้การดำเนินงานขององค์กรต้องสะดุดหรือหยุดชะงักลง เรียกว่า Hazard Vulnerability Analysis (HVA) ซึ่งจะครอบคลุมการบ่งชี้ hazards, threats, and adverse events ที่มีโอกาสเกิดขึ้น และประเมินผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กรในการดูแลผู้ป่วย  แล้วนำมาจัดลำดับความสำคัญร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่  สื่อสารความต้องการของสถานพยาบาลเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินและพิจารณาความสามารถของหน่วยงานในพื้นที่ที่จะตอบสนอง



            จากนั้นนำผลการทำ HVA มาวางแผนให้ครอบคลุมทั้งในขั้นตอนของ mitigation (การแบ่งเบา), preparation (การเตรียมพร้อม), response (การตอบสนอง), recovery (การกู้ระบบ)
            
ขณะที่การแบ่งเบาเป็นการลดความเสี่ยงหรือผลกระทบจากสถานการณ์ฉุกเฉิน การเตรียมพร้อมเป็นการจัดการระดมทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อรองรับสถานการณ์ ทั้งสองขั้นตอนนี้เป็นการดำเนินการก่อนเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน  นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึง incident command structure ที่เชื่อมต่อกับ command structure ในเขตพื้นที่ และสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินประเภทต่างๆ ด้วย

แผนปฏิบัติการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Operations Plan) และการดำเนินการตามแผน
            


แผนปฏิบัติการนี้มีเป้าหมายเพื่อประสานการสื่อสาร ทรัพยากร การรักษาความปลอดภัย ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ สาธารณูปโภค และกิจกรรมการดูแลผู้ป่วยในระหว่างเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน    แม้ว่าสถานการณ์ฉุกเฉินจะมาได้จากหลายสาเหตุ แต่ผลกระทบและการตอบสนองในประเด็นเหล่านี้มักกกจะไม่แตกต่างกัน อาจเรียกได้ว่าเป็น “all hazards approach” แม้ว่าแผนนี้จะทำขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่ระบุว่ามีความสำคัญสูง แต่ก็สามารถปรับใช้กับสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

            การตอบสนองเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินควรครอบคลุมสิ่งต่อไปนี้ การคงไว้ซึ่งบริการหรือการขยายบริการ, การพิทักษ์ปกป้องทรัพยากร, การลดการใช้ทรัพยากร, ทรัพยากรหนุนเสริมจากนอกพื้นที่, การปิดไม่รับผู้ป่วยใหม่, การอพยพผู้ป่วย
          
  แผนปฏิบัติการควรระบุแนวทางปฏิบัติหากทรัพยากรที่มีอยู่ในโรงพยาบาลและแหล่งสนับสนุนในพื้นที่ไม่สามารถทำให้โรงพยาบาลดำเนินการได้อย่างน้อย 96 ชั่วโมงเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน, ระบุวิธีการกู้ระบบที่มีความสำคัญต่อการดูแลผู้ป่วย, ระบุวิธีการและผู้มีหน้าที่ในการ activate ขั้นตอนต่างๆ ของการปฏิบัติตามแผน, สถานที่สำรองในการดูแลผู้ป่วย
    
        การสื่อสารในสถานการณ์ฉุกเฉินกับเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วย และองค์กรภายนอก ควรมีการวางแผนการสื่อสารในประเด็นต่อไปนี้ การแจ้งให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานภายนอกทราบถึงการเริ่มต้นปฏิบัติตามแผน, การสื่อสารกับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานภายนอกระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉิน, การสื่อสารกับผู้ป่วยและครอบครัว รวมถึงการแจ้งให้ครอบครัวทราบเมื่อมีการย้ายผู้ป่วย, การสื่อสารกับชุมชนหรือสื่อมวลชน, การสื่อสารกับผู้ขาย/ผู้ส่งมอบ, การสื่อสารกับสถานพยาบาลอื่นๆ เกี่ยวกับ command structure การแบ่งปันทรัพยากร, การสื่อสารข้อมูลผู้ป่วยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, การสื่อสารกับสถานพยาบาลที่เป็นจุดสำรองรับผู้ป่วย, ระบบและเทคโนโลยีการสื่อสารสำรอง เช่น โทรศัพท์มือถือ วิทยุสมัครเล่น
      
      การจัดการทรัพยากรและทรัพย์สินในระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉินในกรณีที่ยังคงให้บริการผู้ป่วย มีทั้งส่วนที่เป็นการจัดการภายใน และการประสานกับแหล่งทรัพยากรภายนอกรวมถึงผู้ขาย โดยตระหนักว่าอาจจะมีความขาดแคลนทรัพยากรบางอย่างเมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินกินเวลานานและขยายวงกว้างขวาง  ควรมีการวางแผนและดำเนินการในประเด็นต่อไปนี้ การจัดหายา เวชภัณฑ์ และวัสดุอื่นๆ ที่จำเป็นตลอดช่วงเวลาของสถานการณ์ฉุกเฉินและการกู้ระบบ, การแบ่งปันทรัพยากรกับสถานพยาบาลอื่น, การ monitor ปริมาณทรัพยากร, การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ยา เครื่องมือ ข้อมูลข่าวสาร และเจ้าหน้าที่ไปยังสถานที่สำรอง
        
    ระบบรักษาความปลอดภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน ควรมีการวางแผนและดำเนินการในประเด็นต่อไปนี้ ระบบรักษาความปลอดภัยภายในโรงพยาบาล, บทบาทของหน่วยงานรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ซึ่งโรงพยาบาลตั้งอยู่และการประสานงานกับหน่วยงานดังกล่าว, การจัดกับวัสดุและของเสียอันตราย, การแยกและกำจัดสารกัมมันตรังสี สารเคมี และสารชีวภาพ, การควบคุมการเข้าออกสถานที่ การควบคุมการเคลื่อนที่ของบุคคล การควบคุมยานพาหนะ ในระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉิน
          
  การบริหารทรัพยากรบุคคลในสถานการณ์ฉุกเฉิน ควรมีการวางแผนและดำเนินการในประเด็นต่อไปนี้ การกำหนดบทบาทหน้าที่ของบุคลากรในการสื่อสาร การจัดการทรัพยากร ความปลอดภัย สาธารณูปโภค และการดูแลผู้ป่วย, บุคคลที่จะเป็นผู้รับรายงานใน incident command structure ของโรงพยาบาล, การดูแลสนับสนุนสิ่งจำเป็นสำหรับบุคลากร เช่น ที่พักอาศัย การเดินทาง การสื่อสาร การดูแลครอบครัว, การฝึกอบรมบุคลากรในการทำหน้าที่ตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉิน
           
 การจัดการระบบสาธารณูปโภคในสถานการณ์ฉุกเฉิน ควรมีการวางแผนและดำเนินการสำหรับระบบต่อไปนี้ ไฟฟ้า น้ำดื่มน้ำใช้ เชื้อเพลิง แก๊สทางการแพทย์และระบบสุญญากาศ, การขนส่ง, เครื่องกำเนิดไอน้ำ
           
 การดูแลผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉิน ควรมีการวางแผนและดำเนินการในประเด็นต่อไปนี้เพื่อให้มั่นใจในการดูแลที่ปลอดภัย การปรับระบบในขั้นตอนต่างๆ ของการดูแล ได้แก่ การนัดหมาย  triage การประเมินผู้ป่วย การรักษา การรับไว้ การโอนย้าย การจำหน่าย, การอพยพผู้ป่วยจากส่วนหนึ่งไปยังอีกส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลหรือออกไปนอกอาคาร หรือย้ายโรงพยาบาล, การจัดการเมื่อมีปริมาณบริการเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีความเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง, การจัดการเรื่องสุขอนามัยและสุขาภิบาลสำหรับผู้ป่วย, การดูแลด้านสุขภาพจิตของผู้ป่วย, การจัดการศพ, การบันทึกและใช้ข้อมูลด้านคลินิกของผู้ป่วย (ถ้าเป็นของไทยเราจะมีส่วนที่เป็นการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังโดยการจัดบริการเคลื่อนที่เข้าไปในชุมชนเป็นองค์ประกอบสำคัญ)

การประเมินผล
            ประกอบด้วย 

(1) การทบทวนประจำปีถึงความเสี่ยง อันตราย และสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีโอกาสเกิดขึ้น รวมทั้งวัตถุประสงค์และขอบเขตของแผนปฏิบัติการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน 

(2) การฝึกซ้อมเพื่อประเมินแผนปฏิบัติการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งในด้านความเหมาะสม ความเพียงพอ และประสิทธิผลของการส่งกำลังบำรุง ทรัพยากรบุคคล การฝึกอบรม นโยบายและระเบียบปฏิบัติ การสื่อสาร การระดมทรัพยากร 

(3) การบันทึกและสื่อสารปัญหาและโอกาสพัฒนาไปยังผู้เกี่ยวข้อง และนำไปสู่การปรับปรุงแผนปฏิบัติการ

            กรอบความคิดข้างต้นนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการสรุปบทเรียนและเป็นแนวทางในการดำเนินการที่มีความพร้อมยิ่งขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไร
            
แหล่งข้อมูล
Anuwat Supachutikul
https://www.facebook.com/notes/anuwat-supachutikul/การจัดการของสถานพยาบาลในสถานการณ์ฉุกเฉิน/290078157691034

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น