หลังจากผ่านมหาอุทกภัยไปแล้ว เมื่อเรากลับไปบ้าน น้ำที่ท่วมขังอยู่นาน นอกจากจะก่อให้เกิดความสกปรกอยุ่แล้ว ปัญหาต่อเนื่องที่ตามมาก้อคือ "เชื้อรา" ที่อาจเติบโตมาจากเชื้อที่แพร่มากับมวลน้ำ หรือบ่มเพาะเองมา จากความชื้นที่เป็นปัจจัยทำให้เชื้อรากลายเป็นเชื้อร้ายเติบโตมาเกาะกินเฟอร์นิเจอร์
เชื้อนี้ไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายให้กับบ้านเท่านั้น อาจส่งผลต่อสุขภาพของคนในบ้าน โดยเฉพาะลูกรักของเราที่เป็นหอบหืด ภูมิแพ้ หรือโรคในระบบทางเดินหายใจ รวมไปถึงพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ของเราที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งอาจแพ้และไวต่อการติดเชื้อรา ดังนั้น มารุ้จักวิธีง่ายๆในการดูแลเพื่อป้องกันและกำจัดปัญหาเชื้อรา อย่างได้ผลและปลอดภัยกันดีกว่า
การแก้ไขปัญหาเชื้อราในบ้าน
- เตรียมตัวให้พร้อม
- วันที่กลับไปดูบ้านหลังจากน้ำท่วม ไม่ควรให้คนในบ้านที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ หอบหืด โรคในระบบทางเดินหายใจ เด็ก และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ กลับเข้าบ้านจนกว่าจะทำความสะอาดเสร็จเรียบร้อย
- แต่งกายให้รัดกุมโดยการสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมถุงมือยาง รองเท้ายาง เอี๊ยมกันน้ำ หมวกคลุมผม แว่นตา และหน้ากาก
- สำหรับแว่นตาควรเลือกแบบที่แนบสนิทกับใบหน้าและไม่มีรูระบายอากาศ ในบริเวณที่พบเชื้อราควรใช้หน้ากากชนิด N-95 ที่มีขนาดเหมาะสมกับใบหน้า เพื่อป้องกันการสูดดมเอาเชื้อโรคและเชื้อราเข้าไป (สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาและเวชภัณฑ์) ทั้งนี้หน้ากากกันฝุ่นและผ้าเช็ดหน้าไม่สามารถกันเชื้อราได้ เนื่องจากสปอร์ของเชื้อรามีขนาดเล็กมาก
- เปิดหน้าต่าง ประตูเพื่อระบายอากาศและความชื้นให้ออกไปจากตัวบ้านอย่างน้อย 30 นาทีก่อนเข้าไปในตัวบ้าน และควรเปิดหน้าต่าง ประตูบ้านให้อากาศถ่ายเทสะดวกระหว่างทำความสะอาดบ้าน
- เตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาด
- เตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาด ได้แก่ แปรงขัด น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาฆ่าเชื้อ อาจซื้อแบบสำเร็จรูป หรือสามารถทำได้เองง่ายๆ
- น้ำยาฆ่าเชื้อราที่สามารถทำได้เอง ได้แก่
- น้ำส้มสายชู ของแท้ที่ได้ผสมอะไรมาก่อนนะครับ เราสามารถนำมาเป็นน้ำยาฆ่าเชื้อราอย่างอ่อน สามารถฆ่าเชื้อราได้ประมาณ 80% แต่ไม่สามารถฆ่าสปอร์ได้ จะเลือกใช้ชนิดหมักหรือกลั่นก็ได้ ควรมีความเข้มข้นอย่างน้อย 7% อาจฉีดพ่นทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที แล้วเช็ดออก ควรระวังในการกระเด็นเข้าตา เพราะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน
- ผลิตภัณฑ์ฟอกขาวที่มีส่วนผสมของสารประกอบคลอรีน หรือชื่อทางเคมีว่า sodium hypochlorite เป็นน้ำยาฆ่าเชื้อราชนิดเข้มข้น เราสามารถหาซื้อได้ง่าย ก้อหลายยี่ห้อที่มีขายน่านแหละครับ ดูๆสูตรว่ามีเจ้าตัวนี้อยุ่ น้ำยาฟอกขาว Sodium Hypochlorite ที่ซื้อมาใช้ ข้างขวดจะบอกความเข้มข้มต่างกันไป ยกตัวอย่าง ไฮเตอร์ขวดฟ้า-ชมพู จะมีความเข้มข้น 6.25% ถ้าจะเตรียมไว้ใช้ฆ่าเชื้อราอย่างง่ายๆ คือ ตวงน้ำยาจากขวดไฮเตอร์ 1 ฝา (ใช้ฝาอะไรก็ได้ตวง) ใส่ถังไว้ แล้วตวงน้ำประปา 9 ฝา จะได้ Sodium Hypochlorite 0.625% ก้อเพียงพอต่อการไปใช้แล้ว แต่ทุกครั้ง ก่อนใช้ ให้ผสมใหม่ทุกครั้งก่อนใช้งานเท่า เนื่องจากสารละลายดังกล่าวพอผสมแล้ว ไม่ได้ใช้ มันจะเสื่อมสภาพได้เร็ว
ข้อควรระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์ฟอกขาว
- ห้ามผสมผลิตภัณฑ์ฟอกขาวกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอมโมเนียหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอื่นโดยเด็ดขาด เนื่องจากทำให้เกิดก๊าซที่เป็นอันตรายและเป็นพิษ
- ขณะทำความสะอาดควรเปิดประตูและหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท เนื่องจากผลิตภัณฑ์ฟอกขาวอาจทำให้ระคายเคืองเยื่อบุตาและทางเดินหายใจได้
- ผู้ทำความสะอาดจะต้องสวมหน้ากากอนามัย N95 ถุงมือ รองเท้าบูท และแว่นตาป้องกันตลอดเวลา
- อ่านฉลากทุกครั้งก่อนใช้ ห้ามสัมผัสกับผลิตภัณฑ์โดยตรง และเก็บผลิตภัณฑ์ให้พ้นมือเด็ก
- สำรวจบ้าน
- สังเกตบริเวณที่น้ำท่วมว่ามีเชื้อราเกิดขึ้นที่บริเวณใดบ้าง โดยเฉพาะในห้องใต้ดิน ห้องครัว และห้องน้ำ รวมถึงเพดาน กำแพง พื้น ขอบหน้าต่าง ท่อน้ำที่มีการรั่วซึม ใต้พรม ใต้-หลังเฟอร์นิเจอร์ หรือใต้วอลเปเปอร์
- การสังเกตเชื้อราอาจใช้การดูด้วยตาเปล่า หรือใช้การดมกลิ่น ซึ่งจะได้กลิ่นเหม็นอับทึบหรือเหม็นคล้ายกลิ่นดิน
- ทิ้งสิ่งของที่พบเชื้อราและไม่สามารถทำความสะอาดได้
- อย่าเสียดายไปเลยครับ เก็บไว้ก้อใช้งานไม่ได้ ซ้ำร้ายจะก่อให้เกิดโรคร้ายแพร่ต่อเราได้อีกด้วย หากมีของใช้และของแต่งบ้านที่เปียกน้ำเกิน 48 ชั่วโมง โดยเฉพาะวัสดุที่มีรูพรุนและสิ่งของซึ่งยากต่อการทำความสะอาดหรือทำให้แห้ง ไม่สามารถกำจัดเชื้อราได้หมด เช่น พรม ที่นอน เบาะผ้า วอลเปเปอร์ ผลิตภัณฑ์หนัง กระดาษ ไม้ หมอน ตุ๊กตายัดไส้ ควรทิ้งไปโดยใส่ถุงพลาสติกและมัดให้แน่นเพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อรา
- สำหรับวอลเปเปอร์และผนังที่ขึ้นราควรลอกออกให้หมด และทำความสะอาดด้วยแปรงแข็งและน้ำยาฆ่าเชื้อ ไม่ควรติดวอลเปเปอร์หรือทาสีทับลงไป เพราะจะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคและมีผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้
- ทำความสะอาดและกำจัดเชื้อรา
- ทำความสะอาดพื้น ผนัง เพดาน และสิ่งของที่ปนเปื้อนด้วยน้ำและสบู่หรือน้ำยาล้างจาน ขัดให้คราบสกปรกหลุดออกให้หมด
- กำจัดเชื้อราที่อยู่ตามพื้นผิวที่แข็ง เช่น พื้นห้อง เตา อ่างล้างจาน ของเล่นเด็ก เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร จาน พื้นโต๊ะ และอุปกรณ์อื่นๆ โดยทำความสะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ฟอกขาว 1 ถ้วย (240 มล.) เจือจางกับน้ำสะอาด 1 แกลลอน (3.8 ลิตร) ถ้าพื้นผิวมีความหยาบให้ใช้แปรงแข็งๆ ขัดทำความสะอาด แล้วจึงล้างพื้นผิวนั้นด้วยน้ำสะอาด
- ถ้าพื้นผิวที่ต้องการทำความสะอาดแห้งและเห็นเป็นราขึ้นฟู ควรเช็ดด้วยกระดาษชำระเนื้อเหนียว พรมน้ำให้เปียกเล็กน้อย หากใช้ผ้าแห้งหรือกระดาษแห้งๆ เช็ดอาจทำให้สปอร์ของราฟุ้งกระจายมากขึ้น วิธีเช็ดควรเช็ดไปในทิศทางเดียว เช่น บนลงล่าง หรือซ้ายไปขวา แล้วทิ้งกระดาษไป ห้ามเช็ดย้อนไปมา เพราะจะทำให้บริเวณที่เช็ดราออกไปแล้วปนเปื้อนราได้อีก จากนั้นเช็ดด้วยน้ำสบู่
- สำหรับเสื้อผ้าหรือสิ่งของที่ทำด้วยผ้า เช่น ผ้าม่าน ผ้าห่ม เมื่อซักทำความสะอาดแล้วให้นำมาต้มฆ่าเชื้อ และตากแดดให้แห้งก่อนนำมาใช้
- ระหว่างทำความสะอาดให้เปิดประตูหน้าต่างเพื่อช่วยระบายอากาศห้ามเปิดแอร์หรือพัดลมเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อรา
- ทำให้แห้งและควบคุมความชื้น
- หลังจากทำความสะอาดและกำจัดเชื้อราแล้ว ให้ใช้พัดลมเป่าในบ้านและอุปกรณ์ต่างๆ ให้แห้งสนิท
- หากมีการรั่วซึมของน้ำภายในบ้าน เช่น หลังคา ผนัง ต้องรีบแก้ไข เพราะความชื้นเป็นสาเหตุสำคัญของการเจริญเติบโตของเชื้อรา
- เฝ้าระวังไม่ให้ภายในบ้านอับชื้น โดยความชื้นที่มักไม่เกิดเชื้อราคือที่ระดับความชื้น 40-60% คอยตรวจสอบบริเวณที่เคยพบเชื้อราและบริเวณที่อับชื้นไม่ให้เกิดเชื้อราขึ้นอีก
ข้อควรระวังในการกำจัดเชื้อรา
- แต่งกายรัดกุม สวมชุดทำความสะอาดที่เตรียมไว้
- เปิดหน้าต่างและประตูบ้านให้มีลมและแดดถ่ายเทได้สะดวก
- แยกซักเสื้อผ้าที่สวมขณะทำความสะอาดด้วยน้ำร้อนและน้ำยาซักผ้า สำหรับหน้ากากใช้แล้วและขยะที่เกิดจากการทำความสะอาดให้ทิ้งลงในถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้สนิท
- หากคนในครอบครัวมีอาการผิดปกติ เช่น คัดจมูก ระคายเคืองนัยน์ตา มีน้ำตาไหล เจ็บคอ ไอ หายใจมีเสียงวี้ด ปวดศีรษะ มีผื่นคันที่ผิวหนังหรือหนังศีรษะ ควรรีบไปพบแพทย์
แหล่งข้อมูล
• 5 ขั้นตอนกำจัดเชื้อราในบ้านหลังน้ำลด, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, http://www.moph.go.th/ops/iprg/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=42959
• เชื้อราในบ้าน ปัญหาใหญ่หลังน้ำลด, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, http://www.bumrungrad.com/healthspot/November-2011/cleaning-mold-house
• ศูยน์ข้อมูลวัตถุอันตรายและเคมีภัณท์, Sodium hypochlorite, http://msds.pcd.go.th/searchName.asp?vID=203
• ผลิตภัณท์ฟอกผ้าขาว (Bleach) และผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคและกำจัดกลิ่นในสระว่ายน้ำ(Swimming pool sanitizer), Ramathibodi Poison Center, 1st.floor, Research - Welfare Building, Faculty of Medicine, Ramathibodi Hospital Rama, http://www.ra.mahidol.ac.th/poisoncenter/bulletin/bul%20%2001/v9n4/Bleach%20agent.html
• Ellenhorn MJ. Medical Toxicology: Diagnosis and Treatment of Human Poisoning. 2nd ed. Household Poisonings. Baltimore: Williams & Wilkins, 1997. p.1082.
• Rao RB, Hoffman RS. In: Goldfrank LR, Flomenbaum NE, Lewin NA, Weisman RS, Howland MA, Hoffman RS. Goldfrank’s Toxicologic Emergencies. 6 th ed. Connecticut: Appleton & Lange, 1998. p.1409.
รุปประกอบจาก
http://aibob.blogspot.com/2011/11/thailand-great-flood-2011-part-iii.html
http://www.usavemovingandstorage.com/seek-professional-clean-home/
http://www.alibaba.com/product-gs/287281352/Medical_uniforms_cap_face_mask_gown.html