ตอนที่แล้วได้ให้คำแนะนำเรื่องอาการโรคไหล่ติดคืออะไรไปแล้ว ถ้าเรามีอาการดังกล่าวมาแล้ว จะทราบได้อย่าไรว่า อาการอย่างไหนนะ เจ็บติดไหล่อย่างไร เมื่อไรถึงต้องไปหาหมอ และจะรักษาอย่างไร ให้บรรเทาอาการปวด ตึง เจ็บไหล่ ไม่ให้ปวดเจ็บเรื้อรังอีกต่อไปขอเชิญติดตามตอนนี้ได้เลยนะครับ
ไหล่ติดคืออะไรนะ?
ข้อไหล่จะเป็นข้อที่ประกอบด้วยลูกบอลทรงกลมและเบ้า ในส่วนของลูกบอลกลมนั้นจะอยู่ด้านบนของกระดูกแขน และในส่วนของเบ้าจะเป็นส่วนหนึ่งของปีกไหล่ โดยรอบๆ ลูกบอลกลมและเบ้านั้นจะมีพังผืดหุ้มอยู่
อาการไหล่ติด ทำให้มีการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ได้ไม่เต็มที่ สาเหตุของโรคเกิดจากปลอกหุ้มรอบๆ ข้อไหล่เกิดจากปลอกหุ้มรอบๆ ข้อไหล่ถูกจำกัด และเกิดพังผืดขึ้น ปัจจุบันยังไม่มีใครทราบแน่ชัดถึงสาเหตุที่คนไข้เกิดอาการไหล่ติด คนไข้ที่เคยเกิดอุบัติเหตุชอกช้ำบริเวณหัวไหล่ อาจจะมีโอกาสที่จะเกิดอาการไหล่ติดได้ แต่ไม่ได้ถือว่าเป็นสาเหตุหลัก
กลุ่มคนไข้ที่มีโอกาสเป็นโรคไหล่ติด
- อายุและเพศ คนที่มีอาการไหล่ติดมักจะเป็นคนไข้ที่มีอายุระหว่าง 40-60 ปี โดยทั่วไปจะเป็นในเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง 2 เท่า และมักเป็นกับแขนที่ไม่ถนัดใช้มากกว่าข้างที่ถนัด
- ต่อมไร้ท่อผิดปกติ คนไข้ที่เป็นโรคเบาหวานจะมีความเสี่ยงที่จะมีอาการไหล่ติด ในส่วนของคนไข้ที่มีอาการต่อมไร้ท่อผิดปกติ เช่น ไทรอยด์ จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอาการไหล่ติดเช่นกัน
- มีแผลหรือผ่าตัดบริเวณหัวไหล่มาก่อน คนไข้ที่ประสบอุบัติเหตุที่หัวไหล่เป็นประจำ หรือเคยได้รับการผ่าตัดบริเวณหัวไหล่ เกิดมีแผลเป็น มีการหนาตัว และการหดตัวของเยื่อหุ้มหัวไหล่ ทำให้เกิดอาการข้อไหล่ยึด
- ปัจจัยอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ อัมพาตครึ่งซีก และพาร์กินสัน จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอาการไหล่ติดมากขึ้น
อาการไหล่ติด
โดยปกติ ข้อไหล่จะเคลื่อนไหวได้มากกว่าข้อใดๆ ในร่างกาย เมื่อคนไข้มีอาการไหล่ติด พังผืดที่หุ้มอยู่รอบข้อไหล่จะหดตัว ทำให้เมื่อเคลื่อนไหวข้อไหล่ คนไข้จะมีอาการเจ็บปวด มักจะทราบว่าเป็นข้อไหล่ติดเมื่อแพทย์ตรวจอาการและแจ้งให้ทราบ (ถ้าคนไข้สังเกตตนเองจะทราบก่อนว่า ยกแขนได้ไม่สุด และมีอาการเจ็บ) อาการไหล่ติดแบ่งได้เป็น 3 ระยะคือ
ระยะที่ 1: ระยะเจ็บไหล่ มีอาการดังนี้
เจ็บเมื่อมีการเคลื่อนไหวของแขน
เจ็บทั่วไปบริเวณหัวไหล่ แต่ไม่มีจุดกดเจ็บที่แน่นอน
มีกล้ามเนื้อเกร็งตัว (muscle spasm)
เจ็บมากขึ้นในเวลากลางคืน หรือเมื่ออยู่นิ่งๆ
ระยะที่ 2 : ระยะข้อไหล่ติด มีอาการดังนี้
อาการเจ็บไหล่ เจ็บแขนลดลง
เพิ่มอาการติดขัด และจำกัดการเคลื่อนไหวของหัวไหล่
อาการเจ็บตอนกลางคืน และตอนอยู่นิ่งๆ ลดลง
รู้สึกเจ็บเมื่อมีการเคลื่อนไหว ช่วงสุดท้ายของแขนข้างนั้น
ระยะที่ 3 : ระยะฟื้นตัว มีอาการดังนี้
อาการเจ็บลดลงเรื่อยๆ
แขนข้างที่เจ็บจะเคลื่อนไหวได้มากขึ้นอย่างช้าๆ
การฟื้นตัวจะหายเองได้ แต่มักจะเคลื่อนไหวแขนได้ไม่สุดเหมือนที่เคยทำได้ระยะที่หนึ่ง
การเคลื่อนไหวที่ทำแล้วเจ็บในกลุ่มคนไข้ไหล่ติดคือ
- กางแขนออกด้านข้างแล้วหงายฝ่ามือขึ้น
- เหยียดแขนขึ้นไปหยิบของเหนือศีรษะ
- เอื้อมมือไปหยิบของซึ่งวางบนเบาะหลังของรถ
- ดันประตูหนักๆ ให้เปิดออก
- การขับรถในคนไหล่ติดจะมีความลำบากในการหมุนพวงมาลัยรถ
- เมื่อสระผมตัวเอง
- เมื่อถูหลังตัวเอง
- เมื่อสวมหรือถอดเสื้อยืดเข้าออกทางศีรษะ
- เมื่อติดกระดุมเม็ดล่างด้านหน้าของเสื้อเชิ้ต
- เมื่อล้วงของออกจากกระเป๋าหลังของกางเกง
ในช่วง 6-12 สัปดาห์ คนไข้จะมีอาการเจ็บปวดบริเวณข้อไหล่ เคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ไม่ถนัด แต่ยังไม่ถึงขั้นที่เกิดอาการข้อไหล่ติด หากทิ้งไว้ 4-6 เดือน คนไข้จะมีอาการเจ็บปวดน้อยลง แต่จะเริ่มมีอาการไหล่ติดเกิดขึ้น
การวินิจฉัยอาการไหล่ติด
การวินิจฉัยอาการไหล่ติด แพทย์จะใช้การซักประวัติของคนไข้ โดยไม่จำเป็นต้องทำการทดสอบ แพทย์จะพิจารณาจากการเคลื่อนไหวข้อไหล่ที่ทำได้อย่างจำกัด การ X-ray นั้นช่วยทำให้ตรวจดูข้อไหล่ให้แน่ชัดว่าข้อไหล่ผิดปกติหรือไม่ และไม่มีอาการข้ออักเสบหรือประสบอุบัติเหตุที่ส่งผลต่อข้อไหล่ หากแพทย์ยังสงสัยในอาการของคนไข้ แพทย์จะให้คนไข้ทำ MRI โดยจะฉีดสีเข้าไปก่อนที่จะทำ MRI ทั้งนี้ การให้คนไข้ไป X-ray หรือ MRI นั้น มีจุดประสงค์เพื่อหาสาเหตุอื่นๆ ของโรค มิใช่แค่เพียงวินิจฉัยอาการไหล่ติดเท่านั้น
การรักษาอาการไหล่ติด
การดูแลรักษาข้อไหล่ติดจะประกอบไปด้วยการบรรเทาอาการเจ็บปวดและการทำกายภาพบำบัด คนไข้ส่วนใหญ่จะมีอาการเจ็บปวดน้อยลงเมื่อทำตามขั้นตอนด้านล่าง โดยจะใช้เวลาหลายเดือนในการดูแลรักษา
- ออกกำลังกาย และเหยียดแขน เพื่อช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ และลดอาการกล้ามเนื้อลีบ คนไข้จะต้องหมั่นบริหารวันละหลายๆ ครั้ง มิใช่แค่เฉพาะทำกับนักกายภาพเท่านั้น
- ประคบอุ่นอย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 10 นาที เพื่อลดอาการข้อติด และช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด คนไข้ควรจะประคบอุ่นก่อนที่จะบริหารข้อไหล่
- ทำกายภาพบำบัด เพื่อยืดเยื่อหุ้มข้อไหล่ และเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ ให้เหยียดไหล่ได้ดีขึ้น ภายใต้การดูแลของนักกายภาพ
- รับประทานยาลดอาการปวดบวมบริเวณข้อไหล่ แต่ทั้งนี้การรับประทานยาไม่ได้ช่วยให้คนไข้หายจากอาการปวดบวมได้อย่างปลิดทั้ง เพียงแต่ช่วยบรรเทาเท่านั้น
- ฉีดยาสเตียรอยด์ บรรเทาอาการอักเสบ โดยทั่วไปจะใช้เพื่อช่วยลดอาการปวดบวมของข้อไหล่ติด แต่ยังไม่มีผลแน่ชัดว่าจะให้ผลการรักษาที่ดี เพียงแต่จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดเท่านั้น
หากคนไข้รักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วไม่สามารถรักษาอาการไหล่ติดได้ คนไข้ควรจะต้องเข้ารับการผ่าตัด โดยศัลยแพทย์จะวางยาสลบคนไข้และจัดกระดูกให้เข้าที่ (Manipulation under anesthesia) ในบางกรณีศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดส่องกล้องไปตัดผังผืดหรือเนื่อเยื่อที่ยึดข้อไหล่ ทำให้ไหล่เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น นอกจากนี้ การผ่าตัดส่องกล้องยังช่วยให้สามารถตรวจพบสาเหตุอื่นๆ ในข้อไหล่และให้การรักษาไปได้ด้วย เช่น การเย็บซ่อมเอ็นกางไหล่ หลังจากการผ่าตัด คนไข้จะต้องเชื่อฟังคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และพยายามขยับข้อให้ได้ไวและเร็วมากที่สุด มิฉะนั้นการรักษาอาจไม่ได้ผล รวมถึงคนไข้ต้องทำกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะหากไม่มีการทำกายภาพบำบัด โอกาสที่คนไข้จะมีอาการไหล่ติดจะมีสูง
หลังจากที่คนไข้ได้รับการดูแลรักษาตามวิธีข้างต้น คนไข้ส่วนใหญ่ที่มีอาการไหล่ติด จะมีอาการติดขัดในการเคลื่อนไหวของข้อไหล่น้อยลง อย่างไรก็ตาม คนไข้จะต้องตรวจเช็คอาการเป็นประจำ และหมั่นทำกายภาพบำบัด รวมถึงการยืดกล้ามเนื้อด้วยตัวเองด้วย โดยใช้สภาพแวดล้อม เช่น บันได ฝาห้อง คานโหน ช่วยในการทำกายบริหาร ถ้าทำแล้วเจ็บมากติดต่อกันหลายวัน ควรได้รับการตรวจ และวินิจฉัยอย่างละเอียด
แหล่งข้อมูล
มนูญ บัญชรเทวกุล, ข้อไหล่ติดแข็ง, นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 281
เดือน/ปี: กันยายน 2002, http://www.doctor.or.th/article/detail/2351
ไหล่ติดคืออะไร, Vejthani Hospital, http://www.vejthani.com/web-thailand/Shoulder-contact.php
Roddey TS, Olson SL, Cook KF, Gartsman GM, Hanten W. Comparison of the University of California-Los Angeles Shoulder Scale and the Simple Shoulder Test with the Shoulder Pain and Disability Index : Single-Admini-stration Reliability and Validity Phys Ther 2000;80:759-68.
Sardor R, Brone S. Exercising the frozen shoulder. The physician and sport medicine, September 2000.
กายภาพบําบัดในผู้ป่วยข้อไหลติด และนิ้วล๊อก . ทีมกายภาพบําบัด โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี,
http://www.slideshare.net/topsaby99/ss-12611499
รูปประกอบจาก
We Care ,Dr.Carebear Samitivej,
http://drcarebear.exteen.com/20110316/frozen-shoulderและ http://variety.teenee.com/foodforbrain/img1/46712.jpg
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น