วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

ยานอนหลับ มีตัวไหนบ้าง ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล


“เซ็งชีวิตค่ะ อยากหลับสบายๆ ไม่เครียด คุณเภสัชจ่ายยานอนหลับให้หน่อยได้ไหมคะ?” 

หากต้องกินไปนานๆแล้ว ผลข้างเคียงของยาจะเป็นอันตรายมั้ย? 

 เป็นชุดคำถามยอดนิยมอีหลีที่คนไข้หลายรายที่นอนไม่หลับจากสรรพสาเหตุ มาถามเภสัชหนุ่มหล่อ ขอทบทวนอีกครั้งว่า ตามกฎหมายยานอนหลับที่แท้จัดเป็นยาตามแพทย์สั่ง ไปตามหาซื้อมาเองไม่ได้ครับ เรามาลองดูว่า หากเราต้องจำเป็นใช้จริงๆ มียาตัวไหนที่ช่วยให้หลับได้บ้าง

ยานอนหลับคืออะไร? มีตัวไหนมั่ง?
ที่เรียกว่ายานอนหลับ เป็นสารเคมีที่ทำให้เราหลับได้ง่าย เนื่องจากยาไปออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง จึงมีฤทธิ์คลายความกังวล ระงับประสาท ทำให้หลับ บางตัวมีฤทธิ์ช่วยคลายกล้ามเนื้อ ยับยั้งอาการชักได้อีกด้วย ตามทฤษฎีแล้วยานอนหลับที่ดีต้องให้ผลนอนหลับเร็ว นอนหลับนานขึ้น ตื่นกลางคืนน้อยลง และสดชื่นหลังจากตื่น แล้วแต่กลุ่มคนไข้โรคนอนหลับที่ต่างกันไป

แต่ในทางเภสัชวิทยาเรามีการแบ่งกลุ่มยานี้ ออกมาได้เป็น

1.           ยากลุ่ม Benzodiazepines
เป็นกลุ่มยาที่ใช้บ่อยที่สุดเนื่องจากให้ผลการรักษาดี โดยทั่วไปให้ผลผลข้างเคียงไม่มากและอัตราการติดยาก้อน้อย กลไกของยา คือในขนาดยาต่ำๆใช้เป็นยาต้านความวิตกกังวล (antianxiety) ขนาดยาที่สูงขึ้นไป จะเป็นยานอนหลับ (Hypnotics) และในขนาดยาที่สูงมากจะทํา ให้ผู้ป่วยเกิดภาวะกึ่งสลบ (Stupor) เช่นยังรับรู้การเจ็บปวดซึ่งไม่เหมือนการสลบจริง

พอเรากินเข้าไปแล้วจะไปมีผลต่อการออกฤทธิ์ต่อระบบการนอนหลับตามธรรมชาติ คือ ไปลด sleep latency เพิ่ม threshold ของการนอนหลับ ทำให้ตื่นยากขึ้น ยาจะไปเพิ่มช่วงการหลับของ stage2 และ ลด stage 3 และลด stage 4 (รายละเอียด ขบวนการนอนหลับปุ๋ย ผมเขียนให้แล้วใน แหล่งข้อมูลข้างล่างครับ) ที่เป็นช่วงของการละเมอและฝันร้ายของการนอนหลับ 

ผลรวมที่เกิดขึ้น คือ เราจะนอนหลับเร็วไดเขึ้น ลดจํานวนครั้งของการตื่นกลางดึก และนอนหลับได้นานขึ้น จึงนอนหลับสนิทและสดชื่นจากการตื่น

ชื่อยาสามัญกลุ่มนี้ได้แก่  

  • Chlordiazepoxide (Librium, Elenium)
  • Diazepam (valium, Paxate, Zepaxid)
  • Oxazepam (serax)
  • Flurazepam (Dalmadorm)
  • Nitrazepam (Mogadon)
  • Clorazepate (Tranxene)
  • Temazepam (Levanxol), Medazepam (Nobrium) 
  • และ Prazepam (Prasepine)
ขอเตือนอีกครั้งว่า ตามกฎหมายแล้วยากลุ่มนี้ จัดว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (Psychotropic Substances) หมายถึงวัตถุที่เป็นยา หรือไม่ใช่ยาที่ออกฤทธิ์เจาะจงต่อระบบจิตและประสาท สามารถเปลี่ยนสภาพอารมณ์และจิตใจของผู้ที่ได้รับวัตถุออกฤทธิ์เหล่านี้ ดังนั้นวัตถุออกฤทธิ์เหล่านี้ถึงแม้มีประโยชน์ทางการแพทย์มากมาย แต่โทษที่เกิดขึ้นหากใช้ไม่ถูกต้องก็มหาศาลเช่นกัน ดังนั้นการใช้วัตถุออกฤทธิ์จึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และต้องได้รับการกำกับดูแลอีกระดับหนึ่งจากกระทรวงสาธารณสุข

ที่แตกต่างกันในยากลุ่มนี้คือ แบ่งตามการออกฤทธิ์เป็นสองแบบคือ

1.1         ยากลุ่มออกฤทธิ์ระยะสั้น short acting
ได้แก่ยา lorazepam , alprazolam , triazolam ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ช่วยให้หลับได้เร็ว และตัวยาเองกระจายอยู่ในกระแสเลือดในระยะเวลาสั้นๆ จึงใช้กับคนที่เริ่มต้นหลับยาก และอยากหลับเร็วๆ ตื่นเร็วๆมาในเวลาที่ต้องการ ไม่ทำให้เกิดอาการง่วงนอน หรือที่เรียกกันเล่นๆว่าแฮงค์

1.2 ยากลุ่มออกฤทธิ์ระยะยาว long acting
สารเคมีของยาในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์เนิ่น จะอยู่ในกระแสเลือดเป็นเวลานาน  เหมาะสําหรับผู้ที่มีความกังวลอยู่ตลอดเวลา มีความกังวลระหว่างวัน หรือผู้ที่ตื่นนอนกลางดึกหลาย ๆ ครั้ง

 ยาจะออกฤทธิ์อย่างอ่อน ๆ ช้า ๆ และครอบคลุมเวลานาน ทําให้เกิดภาวะอารมณที่ราบเรียบนิ่งๆ ช่วยระงับความวิตกกังวลและออกฤทธิ์เป็นยานอนหลับ เมื่อยาออกฤทธิ์ได้ถึงระดับ 

ข้อดีคือ กินยาเพียง วันละครั้ง ได้แก่ diazepam,  flurazepam และ quazepam ยากลุ่มนี้ใช้กับพวกตื่นกลางดึก หรือหลับๆตื่นๆ ช่วยให้คนไข้หลับได้นาน ไม่ตื่นบ่อย

ข้อควรระวังของยากลุ่มนี้
o  การให้ยากลุ่มนี้ต้องระวังในผู้สูงอายุ ควรจะได้ในขนาดครึ่งหนึ่งของคนปกติ และควรจะได้ยาที่ออกฤทธิ์ระยะสั้น

o  ยานี้ไม่ควรให้ในคนท้องและเลี้ยงบุตรด้วยนมแม่เพราะยาจะผ่านไปสู่ลูกได้

o  ผู้ป่วยที่รับประทานยาเป็นเวลานานและหยุดยาทันที อาจจะมีอาการนอนไม่หลับและเกิดร่วมกับอาการอย่างอื่น เช่นอาหารไม่ย่อย เหงื่อออก ใจสั่น ในรายที่เป็นรุนแรงอาจจะมีภาพหลอน อาการหยุดยาจะเป็นประมาณ 1-3 สัปดาห์ สำหรับอาการหยุดยาที่ไม่รุนแรงอาจจะเป็นแค่ 1-2 วัน กรณีต้องการหยุดยา ให้ค่อยๆ ลดขนาดยาลงไม่ควรหยุดยาทันทีเพราะ หากหยุดยาทันทีอาจทําให้เกิดอาการขาดยาหรือถอนยาได้
     
o  การใช้ยานอนหลับไปนานอาจทําให้เกิดอาการติดยาได้  ยานอนหลับควรใช้ระยะสั้นไม่ควรให้ระยะยาว แต่บางรายก็มีความจำเป็นต้องให้ระยะยาวโดยมากไม่ควรให้เกิน 4 สัปดาห์

o  ไม่ควรดื่มสุราขณะใช้ยานี้ หากใช้ยากล่อมประสาทหรือยานอนหลับร่วมกับแอลกอฮอล์  จะเสริมฤทธิ์ ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้นานขึ้น มากขึ้น หรือบางรายที่รุนแรง อาจการกดการหายใจทำให้เสียชีวิตได้

2.                      ยากลุ่ม Non-Benzodiazepine Hypnotics
เป็นยานอนหลับอีกกลุ่มนึงชนิด ที่ได้ผลค่อนข้างดีได้แก่ Zolpidem, Zopiclone ไม่ค่อยมีอาการดื้อยา และไม่ค่อยมีอาการติดยา ผลข้างเคียงของยาไม่มากนัก เป็นยาที่เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง

3.                      ยากลุ่ม Antidepressants
หรือบางทีเรียกว่า ยาคลายกังวล ยาแก้เครียด ความจริงแล้ว ในทางเภสัชวิทยา เราจัดว่าเป็นยาในกลุ่มยาแก้โรคซึมเศร้า จริงๆแล้ว เราแนะนำให้ใช้กับคนไข้กลุ่มที่อาการนอนไม่หลับที่พบร่วมกับภาวะซึมเศร้า ยาใหม่ในกลุ่มนี้ที่ได้ผลดีได้แก่ trazodone, nefazodone และ paroxetine

4.           ยากลุ่มอื่นๆ
ที่นิยมมากที่สุด ใช้เป็นยาช่วยหลับระยะสั้นๆ ที่พอหาซื้อได้จากร้านยา ก้อได้แก่กลุ่ม ยาแก้แพ้ที่จริงๆแล้ว จะมีผลข้างเคียงที่ทำให้ง่วงซึม จึงนำฤทธิ์ดังกล่าวมาช่วยให้หลับ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะได้ผลในคนไข้ทุกรายไป แวะขอคำปรึกษาของยากลุ่มนี้ก่อนใช้ได้จากเภสัชกรร้านยาทันทีเลยครับ ยาในกลุ่มนี้ เราน่าจะคุ้นเคยกันดี ๆ ได้แก่ chlorpheniramine, brompheniramine, diphenhydramine และ hydroxyzine

สุดท้ายแล้ว ยานอนหลับ หากใช้ตามความเหมาะสมก็มีประโยชน์ ที่ช่วยแก้ไขอาการนอนไม่หลับได้ตามลักษณะอาการนอนไม่หลับ ที่เราเป็นอยู่ และในบางคนก็สามารถช่วยบรรเทาอาการและคลายความตึงเครียดได้ดี แต่ยากลุ่มนี้ทุกตัวมีผลข้างเคียงที่ต้องคอยระวัง ตอนหน้าเราจะมาดูว่า ผลจากการใช้ยานอนหลับไปนานๆ อาจจะเกิดผลเสียอย่างไรบ้าง

แหล่งข้อมูล

เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล สงวนลิขสิทธิ์ 4 มค. 2556

ห้ามนำบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ โดยผู้เขียนไปเผยแพร่เชิงพาณิชย์ ให้นำไปเผยแพร่เป็นวิทยาทานหรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น ผู้ประกอบการเว็บไซต์ต้องยึดหลักความเคารพและคำนึงถึงลิขสิทธิ์ในการสร้างสรรค์งานเขียนและจริยธรรมทางธุรกิจ

การนำเอาบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ ซึ่งผลิตขึ้นโดยผู้เขียนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตและผลิตซ้ำเพื่อเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาและ Copy url address ไปด้วยเพื่อให้ผู้อ่านสามารถลิ้งค์กลับมาอ่านบทความจากเว็บไซต์ของผู้เขียนได้โดยตรง

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพ ไม่แนะนำให้คุณนำไปใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรคด้วยตนเอง ขอความกรุณารับคำปรึกษาได้โดยตรงจากบุคลากรสหวิชาชีพทางสาธารณสุข รวมทั้งเภสัชกรใจดี ที่พร้อมดูแลสุขภาพพ่อแม่พี่น้องนะครับ

·         นอนไม่หลับทำไงดี: การนอนหลับคืออะไร ทำไมเราจึงต้องนอนด้วย โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล, http://www.oknation.net/blog/DIVING/2010/06/05/entry-2


·         นอนไม่หลับทำไงดี: นอนหลับแค่ไหนถึงจะเรียกว่าพอดี โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล, http://www.oknation.net/blog/DIVING/2010/06/07/entry-1

นอนไม่หลับทำไงดี: ผลเสียของยานอนหลับน่ากลัวขนาดไหนนะ โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล, http://www.oknation.net/blog/DIVING/2010/12/01/entry-1
·  นอนไม่หลับทำไงดี: สาเหตุของการนอนไม่หลับ โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล

·         นอนไม่หลับทำไงดี: ตอนทำไมนอนไม่หลับนะ โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล, http://www.oknation.net/blog/DIVING/2010/11/28/entry-1
นอนไม่หลับทำไงดี?: กินอะไรให้หลับง่าย? โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล, http://utaisuk.blogspot.com/2012/12/blog-post_15.html

นอนไม่หลับทำไงดี?: เปลี่ยนนิสัย ให้หลับปุ๋ย โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล, http://utaisuk.blogspot.com/2012/12/blog-post_16.html
นอนไม่หลับทำไงดี?: นอนไม่หลับแบบไหน ที่คุณเป็นอยู่? โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล, http://utaisuk.blogspot.com/2012/12/blog-post_13.html
นอนไม่หลับทำไงดี?: อย่างไรที่เรียกว่าหลับสนิท โดยเภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล, http://utaisuk.blogspot.com/2012/12/blog-post_11.html
ทำอย่างไรให้หลับปุ๋ย โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล, http://www.oknation.net/blog/DIVING/2010/11/30/entry-1
ใช้ยานอนหลับอย่างไรให้ปลอดภัย โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล,
http://utaisuk.blogspot.com/2013/01/blog-post_4023.html

เมลาโทนินช่วยให้นอนหลับได้ตามธรรมชาติ ได้อย่างไร โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล, http://www.oknation.net/blog/DIVING/2010/11/28/entry-2

KALYANAKRISHNAN RAMAKRISHNAN, MD, and DEWEY C. SCHEID, MD, MPH, University of Oklahoma Health Sciences Center, Oklahoma City, Oklahoma, Treatment Options for Insomnia, Am Fam Physician. 2007 Aug 15;76(4):517-526.
,  http://www.aafp.org/afp/2007/0815/p517.html

Anne M. Holbrook, Renée Crowther, Ann Lotter, Chiachen Cheng, Derek King
, The diagnosis and management of insomnia in clinical practice: a practical evidence-based approach, Centre for Evaluation of Medicines, St. Joseph’s Hospital and McMaster University, Hamilton, Ont., http://www.canadianmedicaljournal.ca/content/162/2/216.full.pdf

Clinical Practice Guideline Adult Insomnia: Assessment to Diagnosis, Adult Insomnia: Assesment to Diagnosis. February 2006. Revised February 2007., http://www.centreforsleep.com/assets/images/pdf/insomnia_assessment_guideline07.pdf
กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร , หลักการเลือกใช้ยานอนหลับม http://lms.thaicyberu.go.th/officialtcu/main/advcourse/presentstu/course/bk521/009wisawatp/__14.html
การรักษาโรคนอนไม่หลับ, ทีมงาน Siamhealth.net, http://www.siamhealth.net/public_html/Disease/neuro/insomnia/treatment.htm#.UOZl7I7xa0s

น.พ.เทอดศักดิ์ เดชคง, วิธีการจัดการปัญหานอนไม่หลับโดยไม่ใช้ยา,                                                                                                                                                                                                                                                                                กรมสุขภาพจิต  กระทรวงสาธารณสุข, www.drterd.com/news/admin/2311254910272.doc
การใช้ยา Benzodiazepine, คณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี,

นพ.วีรวุฒิ เอกกมลกุล
นิตยสารใกล้หมอ   ปีที่ 21 ฉบับที่ 4 เมษายน 2540, http://www.osknetwork.com/modules.php?name=News&file=article&sid=1642

Trazodone,
คู่มือยาจิตเวชชุมชน - โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์,
http://www.skph.go.th/skph/admin/upload_km/2011070132806.pdf
กลไกการออกฤทธิ์ของยาต้านอาการซึมเศร้า, กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร อ.เมืองชัยนาท จ.ชัยนาท, http://lms.thaicyberu.go.th/officialtcu/main/advcourse/presentstu/course/bk521/009wisawatp/__18.html
สรยุทธ วาสิกนานนท์ พบ., ,ยาแก้ซึมเศร้ารุ่นใหม่ : อะโกเมลาทีน, วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ปีที่ 56 ฉบับ 3 กรกฎาคม - กันยายน 2554, http://www.psychiatry.or.th/JOURNAL/56-3/09-Sorayut.pdf
ภก. สุฟยาน ลาเต๊ะ, trazodel, ฝ่ายเภสัชกรรมชุมชน โรงพยาบาลยะหริ่ง, http://www.pharmyaring.com/pic/p_100227215950.pdf
รู้จักยา Cavinton (Vinpocetine) และ Trazodel (Trazodone) ,งานประชาสัมพันธ์ ฝ่ายเภสัชกรรมชุมชน โรงพยาบาลยะหริ่ง, http://www.pharmyaring.com/detail.php?c_id=647

1 ความคิดเห็น: