วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556

ต้อหินคืออะไร จะรุ้ได้อย่างไรว่าเป็น


ต้อหินเป็นโรคของดวงตาที่พบบ่อย และมีอันตรายอย่างมากถึงขั้นตาบอดสนิท ถ้าไม่รักษา หรือรักษาไม่สม่ำเสมอ จะทำให้ลานสายตาหรือความกว้างของการมองเห็นแคบเข้า จนกระทั่งสูญเสียการมองเห็นไปทั้งหมดได้ ซึ่งการสูญเสียการมองเห็นจากโรคต้อหินนั้น เป็นการสูญเสียถาวรไม่สามารถจะแก้ไขให้คืนมาได้ 

ในฐานะเภสัชกรเราอยากมาให้ข้อมูลและเตือนถึงอาการผิดปกติที่เกิดกับดวงตา ที่ควรจะรีบไปหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที มิให้ตาบอด

ต้อหินคืออะไร

รูปประกอบ: ภาพลูกตาปกติ แต่เมื่อมีความดันของน้ำในลูกตามากไป 
จะไปมีผลต่อการรับภาพและเส้นประสาทของสายตา 
(ภาพมาจาก http://www.howtoimproveeyesightwithoutsurgery.com/how-to-treat-glaucoma/)

“ ต้อหิน”(Glaucoma) เป็นโรคที่มีความผิดปรกติเกิดขึ้นที่ขั้วประสาทตา มีผลให้ลานสายตาเสีย และแคบลงเรื่อยๆจนถึงกับมืดไปทั้งหมด หรือตาบอดได้ โดยผู้ป่วยจะเริ่มมีการสูญเสียบริเวณขอบข้างของลานสายตาก่อน ซึ่งทำให้สังเกตถึงความผิดปรกติได้ยาก ถ้าไม่ได้รับการตรวจรักษา โรคจะลุกลามทำลายลานสายตามากขึ้น ทำให้ลานสายตาแคบลงเข้าสู่จุดศูนย์กลางการมองเห็น จนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกถึงการมองเห็นที่ผิดปรกติ ซึ่งมักจะเป็นระยะท้ายๆของโรคแล้ว โรคต้อหินส่วนใหญ่จะมีความดันลูกตาที่สูงผิดปรกติร่วมด้วย ทำให้เวลาคลำลูกตาจะรู้สึกว่าลูกตามีความแข็งเหมือนหิน ในสมัยก่อนจึงเรียกโรคนี้ว่า “ต้อหิน”

เนื่องจากสภาพการก่อโรค เป็นการทำลายเซลเส้นใยประสาทตา (Ganglion cells & retinal nerve fibers) ซึ่งร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนใหม่ได้ ดังนั้นการรักษาโรคต้อหินจึงทำได้เพียงยับยั้งโรคไม่ให้ลุกลามหรือก่อความสูญเสียต่อการมองเห็นมากขึ้น แต่ไม่สามารถรักษาให้การมองเห็นที่เสียไปแล้วกลับมาปรกติได้อีก และมีผู้ป่วยน้อยรายมากที่จะมีอาการปวดตาหรืออาการผิดปรกติอื่นนำมาก่อน “ต้อหิน” จึงจัดเป็นภัยคุกคามเงียบต่อการมองเห็น ที่จะต้องได้รับการวินิจฉัยให้ได้ก่อน ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโรค จึงจะป้องกันไม่ให้ก่อความสูญเสียต่อการมองเห็นอย่างรุนแรงได้

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต้อหิน
 สาเหตุส่วนใหญ่จะเกิดจากการเสื่อมของร่างกายเอง โรคต้อหินเป็นกลุ่มโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงทำลายของขั้วประสาทตา ไม่มีสาเหตุปัจจัยภายนอก หรือพบร่วมกับโรคทางตาอื่น ๆ ที่แทรกซ้อนมาจากอุบัติเหตุหรือการผ่าตัดรักษาโรคอื่น ๆ ในดวงตา หรือแม้แต่เกี่ยวพันกับโรคทางกายอื่น ๆ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด และเป็นปัจจัยอย่างเดียวที่ควบคุมเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ ความดันในลูกตาที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะเพิ่มสูงขึ้นเองตามธรรมชาติ เนื่องจาก

  1. ความเสื่อมข้างในลูกตาหรือเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากยาที่ใช้ 
  2. อุบัติเหตุ หรือ
  3. การผ่าตัด


กลุ่มผู้ป่วยใดที่พบมากที่สุด
 พบได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ แต่กลุ่มที่พบมากที่สุด คือกลุ่มผู้สูงอายุ โดยผู้มีอายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีญาติใกล้ชิด เช่น พี่น้องบิดามารดาเป็นต้อหิน จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อหินมากกว่าบุคคลอื่นๆ คนที่มีระดับความดันตาปกติค่อนข้างสูงโดยเฉพาะสูงมากกว่า 21 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ซึ่งในอนาคตมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหินมากกว่าคนที่มีความดันตาปกติค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ยังพบในคนไข้ที่เป็นเบาหวานได้ ค่อนข้างมาก อาจจะมากกว่าคนปกติโดยทั่วไป หรือพบในคนไข้ที่มีโรคการไหลเวียนเลือดไม่ดีทำให้เลือดไปเลี้ยงที่ขั้วประสาทตาไม่ดี คนที่สายตาสั้น หรือยาวมากๆ ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดต้อหินแตกต่างชนิดกันไป

ระยะเวลาของการเกิดโรคต้อหิน
 การดำเนินของโรคจากเริ่มเป็นจนถึงการสูญเสียการมองเห็น ใช้เวลานานเป็นปี ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้อหินที่เกิดจากความเสื่อม ซึ่งไม่มีอาการใด ๆ จนกระทั่งสูญเสียการมองเห็น ซึ่งใช้เวลา 5 - 10 ปี จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับว่าจะตรวจพบต้อหินระยะใด เช่น พบตั้งแต่ระยะเพิ่งเริ่มเป็นจะสามารถคุมไว้ได้ และอาจจะไม่สูญเสียการมองเห็น แต่ถ้าตรวจพบต้อหินระยะที่เป็นมากแล้วหรือระยะท้ายๆ คนกลุ่มนี้อาจสูญเสียการมองเห็นได้ในเวลาอันรวดเร็วอาจจะเป็นเดือนก็ตาบอด
 อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปจะไม่ทราบว่าตัวเองนั้นเริ่มเป็นต้อหิน ยกเว้นต้องมาให้จักษุแพทย์ตรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มต้อหินที่เป็นระยะเรื้อรังจากความเสื่อมที่ค่อยเป็นค่อยไป แต่จะมีอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ต้อหินเฉียบพลัน ซึ่งจะมีอาการปวดตา ตาแดงทันทีทันใด ปวดมากจนคลื่นไส้อาเจียนต้องมาโรงพยาบาล ซึ่งพบได้ไม่น้อย 

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นต้อหิน
ผู้ที่ตรวจพบเป็นต้อหินในระยะแรกๆ นั้น สายตาจะยังปกติอยู่ ไม่มีอาการปวด หรือผิดปกติใดๆ แต่เมื่อปล่อยให้โรคนี้ลุกลาม 

รูปประกอบ: ตัวอย่างภาพ ที่คนปกติเห็น และ หากเป็นต้อหินไปแล้ว จะเริ่มเห็นภาพผิดไป 
(ภาพมาจาก http://www.vision-and-eye-health.com/glaucoma-surgery.html)

ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกถึงการมองเห็นที่เปลี่ยนไป 
โดยจะมองเห็นวัตถุที่อยู่ข้างหน้าได้ชัดดี แต่จะไม่เห็นวัตถุที่อยู่ข้างๆ ซึ่งหมายความว่า ลานสายตาของผู้ป่วยแคบลง และถ้าไม่ทำการรักษา อาการของโรคจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จนทำให้ลานสายตาค่อยๆแคบลง จนสูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด 

ถ้ามีอาการที่ว่ามา ก้ออย่าได้วางใจ รีบไปพบแพทย์ได้เลยนะครับ รู้ก่อน รักษาได้ ไม่ตาบอดครับ

แหล่งข้อมูล


http://www.oknation.net/blog/DIVING/2011/07/20/entry-1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น