วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2556

อย.เรียกคืนยาเสียสาว ภายใน 6 เดือนหากพ้นกำหนดพบใครครอบครองดำเนินคดีทันที

     
       ภก.ประพนธ์ อางตระกูล ผู้อำนวยการกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณี อย.ประกาศยกระดับยาอัลปราโซแลม หรือที่รู้จักกันว่า “ยาเสียสาว” ให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิดและประสาท ประเภท 2 ตาม พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จากเดิมที่จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ฯประเภท 4 โดยให้มีผลในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ 
เนื่องจากมีการนำยานี้ไปใช้ในทางที่ผิด ว่า 

ยาอัลปราโซแลมมีด้วยกัน 3 ขนาด คือชนิด 0.25 มิลลิกรัม 0.5 มิลลิกรัม และ 1.0 มิลลิกรัม โดยตั้งแต่ปี 2552-2555 มียอดใช้ยานี้ตามร้านขายยาที่มีใบอนุญาตให้ครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 4 ตามพ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เฉลี่ยปีละ 2-3 ล้านเม็ด ในยาอัลปราโซแลมทุกขนาด ซึ่งไม่ถือว่ามีการใช้ยานี้สูงผิดปกติ แต่การที่ อย.ต้องดำเนินการยกระดับให้ยานี้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 2 ตาม พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เนื่องจากเห็นว่ามีการนำยานี้ไปใช้ในทางที่ผิดมากขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องดำเนินการควบคุมให้มีจำหน่ายเฉพาะในสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตให้ครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 2 เท่านั้น
       
       ภก.ประพนธ์ กล่าวอีกว่า การยกระดับยาดังกล่าวเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 2 นั้น ได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2555 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 17 มิ.ย.ดังนั้น ในช่วงนี้ยาอัลปราโซแลมจะยังถือว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 4 อยู่ โดยจะมีเวลาให้ร้านขายยาทยอยคืนยานี้ไปยังบริษัทผู้ผลิต และบริษัทผู้นำเข้าจนถึงวันที่ 17 มิ.ย.ซึ่งหากภายหลังวันที่ 17 มิ.ย.ยังพบว่าร้านขายยาใดครอบครองยาดังกล่าวจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งมาตรการนี้จะเป็นมาตรการเดียวกันกับที่ใช้ควบคุมการใช้ยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีน
       
       ทั้งนี้ คาดว่า จะยังคงมียาอัลปราโซแลมค้างสต๊อกอยู่ตามร้านยาต่างๆ ประมาณ 5-6 แสนเม็ดเท่านั้น เพราะโดยปกติแล้วร้านขายยามักจะไม่ให้ยาค้างสต๊อกนานกว่า 5-6 เดือน
       
       ภก.ประพนธ์ กล่าวด้วยว่า เชื่อว่า การส่งคืนยาอัลปราโซแลมไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจาก อย.ให้เวลาร้านขายยาและคลินิกเอกชนล่วงหน้านานถึง 180 วัน ซึ่งทำให้มีเวลาเช็กยาที่ยังคงเหลือนานพอสมควร โดยในขณะนี้สัดส่วนการครอบครองยาอัลปราโซแลมที่คลินิกเอกชน พบว่า ขนาดยา 0.25 มิลลิกรัม มีการครอบครองประมาณ 50% ขนาด 0.5 มิลลิกรัม มีการครอบครองประมาณ 30% และขนาด 1.0 มิลลิกรัม มีการครอบครองประมาณ 60% แต่ภาพรวมการใช้ยาทั้งประเทศ พบว่า ยาทั้ง 3 ขนาด มีปริมาณการใช้ใกล้เคียงกันคือประมาณกว่า 30% ทั้งนี้ หลังจากวันที่ 17 มิ.ย.นี้ ร้านขายยาทั้งหมดจะไม่สามารถขายได้ ส่วนคลินิกและสถานพยาบาลเอกชนจะขายได้ก็ต่อเมื่อขออนุญาตจาก อย.เท่านั้น
       
       “สำหรับโทษหากพบว่ามีการถือครองยาหลังวันที่ 17 มิ.ย.นี้ จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ในฐานครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทโดยไม่ได้ขออนุญาต มีโทษจำคุก 5-20 ปี หรือปรับ 100,000-400,000 บาท” ภก.ประพนธ์ กล่าว

       
       นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย.กล่าวว่า อย.จะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานประกอบการที่ไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท คือ ร้านขายยาและคลินิกเอกชนที่ไม่ขออนุญาต หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้วันที่ 17 มิ.ย.นี้ ซึ่งหากพบว่าผู้ใดจงใจเก็บยาอัลปราโซแลมไว้ในครอบครองโดยไม่ส่งคืน จะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อไป
แหล่งข้อมูล
อย.สั่งร้านขายยา คลินิก คืนยาเสียสาว
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์18 มกราคม 2556
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000007246

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น