วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2556

ความดันโลหิต คืออะไร มากไปน้อยไป อันตรายแก่ชีวิต


ที่ร้านยาของเราอยู่ในช่วงการฝึกอบรมเรื่องยาโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเกี่ยวพันต่อเนื่องกับระบบการทำงานของร่างกายหลายระบบ 

แต่จุดกำเนิดของโรคร้ายเรื้อรังทั้งหลายเริ่มที่ ระบบความดันโลหิตที่มากเกินไป และหากเราไม่รู้ตัว ไม่รีบรักษาก้อจะตามมาด้วยปัญหามากมาย 

เราจึงน่ามาเริ่มรู้จักว่าความดันโลหิตคืออะไรและควรปฎิบัติตนอย่างไร เพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ต่อไปในอนาคตจะได้ไม่เจ็บป่วยรุนแรงต่อไป 


ความดันโลหิต หมายถึง แรงดันในหลอดเลือดแดง

เมื่อหัวใจบีบตัวครั้งหนึ่ง ก็จะบีบเลือดออกจากหัวใจ ไปตามหลอดเลือดแดง ความดันในหลอดเลือดแดงก็จะขึ้นสูงเสียทีหนึ่ง พอหัวใจสบายตัวความดันในหลอดเลือดแดงก็ลดลง ความดันในหลอดเลือดแดงหรือความดันโลหิตจึงมี 2 ช่วง คือ ช่วงบนกับช่วงล่าง ทางการแพทย์เรียกช่วงบนว่า ความดันซีสโตลิค (Systolic) และช่วงล่างว่า ความดันไดแอสโตลิค (Diastolic)

ดังนั้นความดันโลหิตจึงเป็นแรงดันเลือดที่เกิดจากหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย  
ซึ่งวัดได้ 2 ค่า  คือ
  • ความดันโลหิตค่าบน  คือ  แรงดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัว 
  • ความดันโลหิตค่าล่าง  คือแรงดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัว 
ในคนปกติ  ความดันโลหิต ไม่ควรเกิน 130/85 มิลลิเมตรปรอท (จากการประชุมร่วมขององค์การอนามัยโลก และ International Society of Hypertension ปี 1999)

ส่วนความรุนแรงของความดันโลหิตที่สูงนั้น  ให้พิจารณาจากค่าความดันตัวบนและความดันตัวล่างทั้งสองค่า  โดยถือระดับความดันโลหิตที่สูงกว่าเป็นเกณฑ์  เช่น  ความดันโลหิต150/110 มิลลิเมตรปรอท  ความดันตัวบน 150 มิลลิเมตรปรอท จะอยู่ในระดับอ่อน  แต่ความดันตัวล่าง 110 มิลลิเมตรปรอท จะอยู่ในระดับรุนแรง  ดังนั้น ผู้ป่วยรายนี้ก็ต้องจัดอยู่ในกลุ่มความดันโลหิตสูงระดับรุนแรง เป็นต้น

ตาราง แสดงความดันโลหิตสูงในระดับต่าง ๆ ซึ่งแบ่งตามความรุนแรงในผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่18 ปีขึ้นไป

สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง เกิดจากอะไร ทำไมจึงเป็นกันเย้อะ

มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจะตรวจไม่พบสาเหตุ  
จากการวิจัยเราเชื่อว่าเกิดจาก 2 ปัจจัยใหญ่  คือ
1. กรรมพันธุ์  ซึ่งเป็นปัจจัยที่แก้ไขไม่ได้  จากหลักฐานทางระบาดวิทยา พบว่าผู้ที่มีบิดาหรือมารดาเป็นความดันโลหิตสูง มีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงได้มากกว่าผู้ที่บิดามารดาไม่เป็น  ยิ่งกว่านั้น  ผู้ที่มีทั้งบิดาและมารดาเป็นความดันโลหิตสูง จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นมากที่สุด  ผู้สูงอายุก็มีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงเมื่ออายุมากขึ้น ๆ
2. สิ่งแวดล้อม  ซึ่งเป็นปัจจัยที่แก้ไขได้  เช่น  ภาวะอ้วน  เบาหวาน  การรับประทานอาหารรสเค็ม  การดื่มสุรา  และการสูบบุหรี่  ภาวะเครียด  เป็นต้น
ส่วนความดันโลหิตสูงที่มีสาเหตุพบได้น้อยกว่าร้อยละ 10  ผู้ป่วยในกลุ่มนี้แม้จะพบเป็นจำนวนน้อย แต่ก็มีความสำคัญ  เพราะบางโรคอาจรักษาให้หายขาดได้  สาเหตุที่พบบ่อย คือ
  • โรคไต 
  • หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงไตตีบ 
  • ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด 
  • หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ออกจากหัวใจตีบ
  • เนื้องอกของต่อมหมวกไต

จะรู้ได้ไงว่าเรามีปัญหาของโรคความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูงระดับอ่อน หรือปานกลาง  มักจะไม่มีอาการอะไร  แต่มีการทำลายอวัยวะต่าง ๆ ไปทีละน้อยอย่างช้า ๆ จนผู้ป่วยเกิดผลแทรกซ้อนในที่สุด  เช่น  หัวใจล้มเหลว  หัวใจขาดเลือด  ไตเสื่อมสมรรถภาพ หรืออัมพาต อัมพฤกษ์  ความดันโลหิตโลหิตสูงจึงมักได้รับการขนานนามว่า "ฆาตกรเงียบ"

ความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง  ผู้ป่วยอาจเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นได้  เช่น  เลือดกำเดาออก  ตามองไม่เห็นข้างหนึ่งชั่วคราว  เหนื่อยง่าย  เจ็บหน้าอก  เวียนศีรษะ  ปวดศีรษะตุบ ๆ เป็นต้น  แต่อาการเหล่านี้ไม่จำเพาะ  เพราะอาจเกิดจากสาเหตุอื่นก็ได้  เช่น  ไข้ เครียด ไมเกรน เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อเกิดอาการผิดปกติ  จึงความปรึกษาแพทย์  เพราะถ้าพบความดันโลหิตสูงมากจะได้รักษาได้ถูกต้อง และทันท่วงที  ซึ่งเมื่อความดันโลหิตลดลงมาเป็นปกติ  อาการดังกล่าวก็จะหายไป


ความดันโลหิตสูง ถ้าไม่รักษาจะเกิดผลร้ายต่อเราอย่างไร?

ภาวะความดันโลหิตสูงที่เป็นอยู่นาน และไม่ได้รับการรักษา  จะทำให้เกิดการทำลายของอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ในร่างกายได้  เช่น  หัวใจ  สมอง  ไต  หลอดเลือด  และตา เป็นต้น  เพราะความดันโลหิตที่สูงที่เป็นอยู่นาน จะทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหนาตัวขึ้น และรูเล็กลง  ทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ลดลง  ส่งผลให้อวัยวะเหล่านี้ทำงานได้ไม่เป็นปกติ  และหากทำลายรุนแรงมากพอ  อาจทำให้ถึงแก่กรรมได้

ระยะเวลาที่เป็นความดันโลหิตสูง จนเกิดผลร้ายดังกล่าว  จะขึ้นอยู่กับระดับความดันโลหิต  เช่น  ระดับอ่อน และปานกลาง จะใช้เวลานานมากกว่า 10 ปี  ระดับรุนแรงจะใช้เวลาสั้นกว่านี้

1. หัวใจ

ความดันโลหิตสูง จะมีผลต่อหัวใจ 2 ทาง  คือ  ทำใหัหัวใจโต และหลอดเลือดหัวใจหนาตัว และแข็งตัวขึ้น  ทำให้เกิดการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด  หรือหัวใจล้มเหลว ทำให้มีอาการเหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ หรือหัวใจเต้นผิดปกติ  ทำให้มีอาการใจสั่น

2. สมอง

ความดันโลหิตสูง  เป็นสาเหตุของอัมพาต อัมพฤกษฺ ที่พบบ่อย  ซึ่งมักจะเกิดจากหลอดเลือดเล็ก ๆ อุดตัน  โดยเกล็ดเลือด ซึ่งพบบ่อย หรือ เกิดจากหลอดเลือดในสมองแตก  ทำให้เลือดออกในสมอง

3. ไต

เป็นอวัยวะที่มีหลอดเลือดมากที่สุดในร่างกาย  ทำหน้าที่กรองของเสียออกจากเลือด  ความดันโลหิตสูงก็มีผลต่อหลอดเลือดที่ไต  เช่นเดียวกับหลอดเลือดหัวใจ  ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตไม่พอ  มีผลให้ไตเสื่อมสมรรถภาพ จนถึงขั้นไตวายเรื้อรัง  ผู้ป่วยจะมีอาการเริ่มแรกของภาวะไตวายเรื้อรัง คือ ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน  ขาบวมตอนสาย  หากเป็นมากจะมีอาการอ่อนเพลีย  ไม่ค่อยมีแรงจากภาวะซีด  ซึ่งมักพบในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง  และคลื่นไส้ อาเจียน ซึมลง  ในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย

4. ตา

ความดันโลหิตสูงจะมีผลต่อหลอดเลือดที่ตา  เช่น  เลือดออกที่จอตา  หลอดเลือดเล็ก ๆ ที่จอตาอุดตัน หรือ ทำให้จอตาหลุดลอกออกได้  ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใด ๆ หรือตามัว จนถึงตาบอดได้  เบาหวาน ซึ่งมักพบร่วมกับความดันโลหิตสูง จะทำให้เกิดผลแทรกซ้อนทางตาได้เร็ว

5. หลอดเลือด

ความดันโลหิตสูง  จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดทั่วร่างกาย  ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ หรือโป่งพอง  มีผลททำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณแขนขา และอวัยวะภายในลดลง  ผู้ป่วยเกิดไม่ได้ไกลเพราะปวดขาจากการขาดเลือด  ต้องนั่งพักจึงจะหาย และเดือนต่อได้

ตอนหน้า เราจะมาดูว่า การรักษาโรคความดันโลหิตสูง 
ต้องทำอย่างไรบ้าง? หายได้มั้ย? ต้องกินยาไปนานแค่ไหน?

แหล่งข้อมูล
ธีรยสถ์  นิมมานนท์, 

ความดันโลหิต, 

http://www.followhissteps.com/web_health/hypertension.html 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น