วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556

ยาที่ใช้บ่อยในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด


ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคหัวใจมีอยู่มากมายหลายกลุ่ม และแต่ละกลุ่มก็มีอยู่หลายชนิด ฤทธิ์ของยาแต่ละชนิดก็อาจใช้รักษาโรคหัวใจได้หลายแบบ เช่น ใช้รักษาได้ทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและหัวใจวาย บางชนิดรักษาได้ทั้งหัวใจเต้นผิดจังหวะและความดันโลหิตสูง ฯลฯ แพทย์จะพิจารณาเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับปัญหาของผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ที่ใช้ยารักษาโรคหัวใจบางตัวบางกลุ่มอยู่ควรรู้จัก และควรมีความรู้ในรายละเอียดของยาที่ใช้ด้วยยาที่ใช้บ่อย


1.ยาต้านเกล็ดเลือด (antiplatelet agents)

ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเกล็ดเลือดไม่ให้จับตัวกันเป็นกลุ่มก้อน ช่วยลดการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด ตัวอย่างยากลุ่มนี้ ได้แก่ แอสไพริน ซึ่งผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดจำเป็นต้องกินต่อเนื่องไปตลอดชีวิต ส่วนยา ticlopidine หรือ clopidogrel จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถกินยาแอสไพรินได้ เนื่องจากมีปัญหาโรคกระเพาะหรือเลือดออกในทางเดินอาหาร รวมทั้งอาจใช้ร่วมกับยาแอสไพรินในบางกรณี ปัญหาที่อาจพบจากยากลุ่มนี้คือเลือดหยุดยากกว่าปกติเวลาได้รับอุบัติเหตุหรือมีบาดแผล

2.ยากลุ่มไนเตรท (nitrate) 
ใช้ลดอาการเจ็บแน่นหน้าอกของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจจากฤทธิ์ขยายหลอดเลือดทั่วร่างกาย ช่วยให้หัวใจไม่ต้องทำงานหนัก มีทั้งชนิดหยดเข้าเส้น กิน อมใต้ลิ้น พ่นใต้ลิ้น ทาผิวหนัง หรือแผ่นแปะผิวหนัง ให้ประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน ควรอยู่ในท่านั่ง เมื่ออมหรือพ่นยาใต้ลิ้น ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ หน้ามืด มึนงง เมื่อใช้ยากลุ่มนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับยารักษาโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เช่น ยา Viagra, Cialis, Levitra เพราะอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำมากจนเกิดอันตรายถึงชีวิต

3.ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants)
ยาในกลุ่มนี้คือ warfarin หรือ Coumadin ออกฤทธิ์ยับยั้งการจับตัวเป็นก้อนของเลือด มักใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาหัวใจห้องบนเต้นพลิ้ว กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือลิ้นหัวใจตีบบางชนิด เพื่อลดโอกาสเกิดลิ่มเลือดในหัวใจหลุดไปอุดหลอดเลือดสมอง ซึ่งจะทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ผู้ที่กินยากลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับการแข็งตัวของเลือดเป็นระยะ เพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสม ถ้าระดับยาสูงเกินไปอาจทำให้เกิดเลือดออกในอวัยวะต่าง ๆ ยาในกลุ่มนี้มีปฏิกิริยากับยาหลายชนิดมาก รวมทั้งอาหารและสารเสริมอาหารต่าง ๆ ซึ่งเป็นได้ทั้งทำให้ระดับยาในเลือดลดลงหรือเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่เป็นผลดีทั้งคู่จึงควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งว่าท่านกินยาในกลุ่มนี้อยู่ ไม่ควรซื้อยากินเอง
4.ยาลดไขมันในเลือด (lipid-lowing drugs)
ไขมันในเลือดมี 2 ชนิดหลัก ๆ คือ คอเลสเตรอลและไตรกลีเซอไรด์ ยาที่ใช้ลดไขมันทั้ง 2 ชนิดมีหลายขนาน ส่วนใหญ่แพทย์จะให้ยาที่ลดคอเลสเตอรอลเป็นเป้าหมายหลัก 

ยาที่ใช้บ่อยและมีหลักฐานว่าช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ ยากลุ่มสเตติน (statin) เช่น ซิมวาสเตติน อทอวาสเตติน ผลเสียจากยากลุ่มนี้มีน้อยมาก ที่พบบ่อยได้แก่ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออักเสบ ตับอักเสบ ดังนั้นควรมีการตรวจเลือดเป็นระยะเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีผลข้างเคียงเหล่านี้เกิดขึ้น ส่วนยาที่ช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ เช่น ไฟเบรท โอเมกา-3 มักใช้ในกรณีที่ระดับไตรกลีเซอไรด์สูงมากหรือสูงอย่างเดียวโดยที่คอเลสเตอรอลไม่สูง

5.ยาดิจิทัลลิส (digitalis)
เป็นยาที่ใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวจากกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวน้อยกว่าปกติ และช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจในผู้ป่วยที่มีการเต้นของหัวใจห้องบนเต้นพลิ้ว ผลข้างเคียงของยาคือเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย การมองเห็นผิดปกติ และหัวใจเต้นผิดจังหวะ

6.ยาขับปัสสาวะ (diuretics) 
ใช้สำหรับรักษาความดันโลหิตสูงและภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นยาที่ช่วยขับน้ำและเกลือออกจากร่างกาย อาจทำให้เกิดตะคริวหรืออาการอื่น ๆ เนื่องจากการสูญเสียเกลือแร่ไปในปัสสาวะ

7.ยาต้านเบตา (beta-receptor blocers) ออกฤทธิ์ยับยั้งเบตารีเซบเตอร์ที่หัวใจและหลอดเลือด 
ทำให้หัวใจเต้นช้าลงและบีบตัวแรงน้อยลง ใช้รักษาความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ลดอาการเจ็บหน้าอกและรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยที่ใช้ยาบางรายอาจมีอาการอ่อนแรงหรือความรู้สึกทางเพศลดลง

8.ยาต้านแคลเซียม (calcium-channel blockers) 
เป็นยาลดปริมาณแคลเซียมเข้าสู่เซลล์หัวใจและหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดขยายตัว ลดความดันโลหิต และอาการเจ็บหน้าอก ยาบางขนานสามารถลดอัตราการเต้นของหัวใจ ช่วยรักษาภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้ที่พบบ่อยคือขาบวม เวียนศีรษะ ท้องผูก

9.ยาต้านแองจิโอเทนซิน คอนเวอร์ตติง เอนไซม์ (angiotensin converting enzyme inhibitors: ACEIs) 
ออกฤทธิ์ป้องกันการเกิดฮอร์โมนที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว ช่วยลดความดันโลหิต รักษาภาวะหัวใจล้มเหลวผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ อาการไอแห้ง ๆ และอาจทำให้การทำงานของไตลดลง โดยเฉพาะผู้ที่มีหลอดเลือดไปเลี้ยงไตตีบทั้ง 2 ข้าง รวมทั้งอาจทำให้ระดับโปแตสเซียมในเลือดสูง

10.ยาต้านแองจิโอเทนซินรีเซบเตอร์ (angiotensin receptor blockers: ARBs)
ออกฤทธิ์ต่อต้านฮอร์โมนที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว เป็นยาที่มีข้อดีและผลข้างเคียงคล้ายกับยากลุ่ม ACEIs ที่แตกต่างคือเกิดอาการไอน้อยมาก หรือไม่เกิดเลย

แหล่งข้อมูล
นายแพทย์ สุรพงศ์ อำพันวงษ์ ,วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม 2555  ,ศูนย์โรคหัวใจพญาไท โรงพยาบาลพญาไท 1,  http://www.phyathai.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น