วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สัมมนาอนาคตเภสัชกรไทยกับการก้าวสู่ AEC



สมาคมเภสัชกรรมการตลาด (ประเทศไทย) ร่วมกับ สภาเภสัชกรรม จัดสัมมนา “เภสัชกรไทยกับการก้าวสู่ AEC” ระดมสมองในการเตรียมความพร้อมสู่การปฏิบัติงานก่อนเปิดตลาดเสรีอาเซียน โดยมี ภญ.ทิพวรรณ จิตพิมลมาศ นายกสมาคมเภสัชกรรมการตลาด (ประเทศไทย) เป็นประธานเปิดงาน และมีผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ อาทิ ภญ.รศ.ธิดา นิงสานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม รศ.ดร.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ภญ.ชุติมา อรรคลีพันธุ์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ, ภก.ดร.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ณรงค์ฤทธิ์ กาละพุฒ จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ และ ภก.ทวีศักดิ์ สีทองสุรภณา อุปนายกสมาคมเภสัชกรรมการตลาด (ประเทศไทย) ร่วมอภิปรายในหัวข้อ “ติดอาวุธให้เภสัชกร พร้อมก้าวสู่ AEC” ให้กับเครือข่ายเภสัชกร ณ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้
ภญ.ทิพวรรณ จิตพิมลมาศ นายกสมาคมเภสัชกรรมการตลาด (ประเทศไทย) กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะเปิดตลาดเสรีอาเซียน ในปี 2558 นั้น ก็เพื่อให้เกิดแรงผลักดันในการรวมตัว เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐานเงินลงทุนและแรงงานได้อย่างอิสระ ซึ่งทางด้านวิชาชีพได้มีโครงการนำร่อง จำนวน 7 สาขาวิชาชีพ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก ช่างสำรวจ และนักบัญชี โดยกำหนดให้ลงนามทำข้อตกลงยอมรับจัดการร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangement : MRA) ทั้งนี้ เภสัชกรก็เป็นหนึ่งในวิชาชีพที่จะได้รับผลกระทบ จึงต้องเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ AEC ในอนาคต ดังนั้น สมาคมเภสัชกรรมการตลาด (ประเทศไทย) สนับสนุนโดย สภาเภสัชกรรม จึงจัดสัมมนาครั้งนี้ขึ้น โดยมุ่งให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาคการศึกษา สมาคมวิชาชีพ ได้วางแผนและเตรียมความพร้อมเภสัชกรให้ประสบความสำเร็จในการก้าวสู่ AEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถให้บริการประชาชนในระดับสากลได้

ภญ.รศ.ธิดา นิงสานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม ระบุว่า ในด้านความพร้อมของบุคลากรที่ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมนั้น ถือว่าน่าเป็นห่วง เนื่องจากยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ AEC อยู่มาก บางส่วนมีความรู้แต่ไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบและต้องเตรียมรับมืออย่างไร หรือบางส่วนคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวยังไม่ต้องสนใจ การเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับการเปิดตลาดเสรีอาเซียนตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นเรื่องจำเป็น โดยเริ่มจากภาคการศึกษา ที่จะต้องให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ AEC มากขึ้น รวมทั้งให้ความรู้ด้าน ภาษา สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ของประเทศกลุ่มอาเซียนด้วย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับบุคลากรในวิชาชีพ

“แม้ว่าเภสัชกรจะไม่ได้อยู่ในวิชาชีพนำร่องตามที่กำหนด แต่สิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ AEC ในปี 2558 นั้น ก็คือเรื่องของการปรับแนวคิดให้กว้างขวางมากขึ้น ถ้ามองในมุมของผู้ประกอบวิชาชีพ อาจคิดว่า AEC จะทำให้เกิดปัญหาสมองไหล ประเทศไทยจะสูญเสียบุคลากรที่สำคัญในการพัฒนาประเทศไป เพราะบุคลากรที่มีความสามารถสูง จะออกไปทำงานในประเทศที่จะมีรายได้มากกว่า และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ในขณะเดียวกัน ชาวต่างชาติจำนวนมากก็อาจจะเข้ามาทำงานในประเทศไทย แต่ถ้าจากมุมมองทางด้านเศรษฐศาสตร์ AEC จะทำให้เกิดแรงผลักดันในการรวมตัวเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐานเงินลงทุนได้อย่างอิสระ โดยไม่สร้างอุปสรรคกีดกั้น ย่อมจะทำให้เกิดโอกาสทางการค้าและการทำงานที่มากขึ้น การแข่งขันจะทำให้ต้องมีการพัฒนาทุกอย่างให้เข้าสู่มาตรฐาน ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป การรวมตัวของประชากรในภูมิภาคอาเซียน จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลักดันให้เกิดอำนาจในการต่อรอง ที่จะสามารถสร้างการแข่งขันในระดับโลกได้” ภญ.รศ.ธิดา กล่าว

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการรองรับสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งต้องการมาประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในประเทศไทย สภาเภสัชกรรมได้เตรียมออกข้อบังคับว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการ ในการขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต เพื่อประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในราชอาณาจักรไทย ของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมจากต่างประเทศ ซึ่งจะนำเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการสภาฯ ในวาระการประชุมเดือนกันยายนนี้ ประเด็นสำคัญๆ คือ เรื่องของมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาของประเทศต้นทาง จะต้องมีมาตรฐานโครงสร้างหลักสูตรเท่ากับมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาเภสัชศาสตร์ของไทย หากต่ำกว่าจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม หรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้ครบถ้วนก่อนที่จะเข้าสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม นอกจากนี้จะต้องสามารถสื่อสารภาษาไทยได้ในระดับดี และต้องปฏิบัติสอดคล้องกับวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และประเพณีไทย นอกจากนี้จะต้องเป็นผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพที่เป็นปัจจุบันในประเทศต้นทาง และปฏิบัติวิชาชีพต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปีในประเทศต้นทาง ต้องไม่ประพฤติผิดมาตรฐานหรือจรรยาบรรณวิชาชีพในประเทศต้นทางหรือประเทศอื่นๆ ด้วย

ส่วนการเตรียมความพร้อมทางด้านการศึกษานั้น รศ.ดร.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นว่า จะต้องมีการเตรียมความพร้อมอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะความสามารถทางด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษนั้น ต้องพัฒนาให้มากขึ้น รวมถึงทักษะทางสังคม เนื่องจากนักศึกษาเภสัชฯ ต้องเพิ่มความกล้าในการแสดงออก ความคิดเห็น การซักถาม เพื่อได้เรียนรู้อย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้การพัฒนาไปสู่ระดับอาเซียนได้


ในภาคการศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ฯ จึงได้มีการออกแบบทักษะการสอนแบบใหม่ ในการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาในอนาคต โดยให้ภาษาอังกฤษเข้ามามีบทบาทในด้านการเรียนการสอนมากขึ้น มีการสอนเป็นภาษาอังกฤษ และขณะเดียวกันนักศึกษาก็จะต้องนำเสนองานเป็นภาษาอังกฤษด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างแรงผลักดันและความกล้า เพิ่มภาวะความเป็นผู้นำให้กับนักศึกษาที่จะออกไปปฏิบัติวิชาชีพ และได้รับการยอมรับในระดับสากล

แหล่งข้อมูล
นสพ. บ้านเมือง
25 พย. 2555
http://www.banmuang.co.th/2012/10/สัมมนาอนาคต…เภสัชกรไทย/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น