วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ยาลดความดันโลหิตสูง ใช้อย่างไรจึงจะได้ผลและปลอดภัย

ใครที่กำลังกังวลว่าพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเราที่มีปัญหาเรื่องการใช้ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ทำไมมันถึงมีเย้อะแยะมากมาย ชื่อก้อจำยาก แถมยังต้องกินทุกวัน ต้องตรงเวลาอีก จะทำอย่างไรดีหล่ะ เรามีบทความเรื่องการใช้ยาลดความดันโลหิตสูง จาก ภก.ดร. วิรัตน์ ทองรอด มาเฉลยเรื่องการใช้ยากลุ่มนี้ให้เข้าใจกันอย่างเข้าใจง่ายและถูกต้องตามหลักวิชาการมาแบ่งปันกัน 



ก่อนอื่นมารู้จักโรคความดันโลหิตสูงกันก่อน
     โรคความดันโลหิตสูง คือภาวะที่หัวใจสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายให้แรงยิ่งขึ้น ทำให้ความดันโลหิตจะมีค่าน้อยกว่า 130/85 มิลลิเมตรปรอท(มม.ปรอท)
     โดยทั่วไปแล้วค่าความดันโลหิตจะประกอบด้วยค่า 2 ค่าเสมอ ตัวอย่างเช่น 130/85 มม.ปรอท เป็นต้น โดยสังเกตว่าจะมีค่าสูง 1 ค่า และค่าต่ำ 1 ค่า ซึ่ง
     ตัวเลขที่มีค่าสูงกว่า จะหมายถึง ความดันโลหิตตัวบน (systolic blood pressure) ดังตัวอย่างนี้ คือ 130 มม.ปรอท
     ตัวเลือกอีกค่าหนึ่งที่มีค่าน้อยกว่า หรือ 85 มม.ปรอท จะหมายถึง ความดันโลหิตหัวล่าง (diastolic blood pressure)
    ดังนั้น ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงกว่า 130/85 มม.ปรอท จึงถือว่ามีความดันโลหิตอยู่ในช่วงที่ต้องระวังตัวและถ้าเมื่อใดความดันโลหิตเพิ่มขึ้นจนเกิน 140/90 มม.ปรอท จะถือว่าเป็นความดันโลหิตสูง


ความดันโลหิต "ภัยเงียบ" 
ของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ

     โรคความดันโลหิตสูงถูกขนานนามว่าเป็น "ภัยเงียบ" เพราะเวลาที่เป็นโรคนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นโดยไม่รู้ตัว หรือเป็นโรคความดันโลหิตสูงโดยไม่มีอาการใดๆ เลย อาจจะมีบ้างที่มีอาการปวดหัว หรือปวดท้ายทอยตอนตื่นนอน เป็นเพียงบางครั้งบางคราวเท่านั้น
     ถ้าไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในช่วงปกติได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อทั้งหลอดเลือดของสมองและหัวใจ เพราะถ้ามีความดันโลหิตสูงมากเกินไป จะไปเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ป่วย ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองทำให้หลอดเลือดแตก เป็นอัมพาตและอัมพฤกษ์ได้
     นอกจากนี้ ภาวะความดันโลหิตสูงยังส่งผลต่อการส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะอื่นๆ ซึ่งรวมถึงหัวใจด้วย ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดของหัวใจ เช่น ปวดเค้นหน้าอก หรือโรคหัวใจขาดเลือดได้

เกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้
     ความที่โรคนี้เมื่อเป็นแล้วผู้ป่วยยังไม่รู้ตัว หรือไม่มีอาการแสดงออกมาอย่างเด่นชัด จึงพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากที่เป็นโรคนี้โดยไม่รุ้ตัว ซึ่งเคยมีงานวิจัยสำรวจพบว่า ในจำนวนผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทั้งหมด มีผู้ป่วยกว่าครึ่งที่เป็นโรคนี้โดยไม่รู้ตัว เมื่อไม่รู้ตัวก็ไม่ได้รับการรักษา มารู้ตัวอีกทีก็มีความผิดปกติแล้ว เช่น หลอดเลือดในสมองแตก เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก
     ดังนั้น จึงควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคอย่างสม่ำเสมอ ปีละ 1-2 ครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ชายกลางคน หรือหญิงวัยหมดประจำเดือน ผู้ที่อ้วน มีน้ำหนักเกิน มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ มีความเครียดมาก ผู้ที่สูบบุหรี่ และเป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น ทั้งนี้จะได้ระมัดระวังตัว พร้อมๆ กับตรวจเช็คภาวะสุขภาพของตนเองด้วย หากมีความผิดปกติจะได้รู้ตัวแต่เนิ่นๆ ป้องกัน บรรเทา หรือรักษาตามความเหมาะสม ดังคำกล่าวที่ว่า "กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วแก้ไม่ทัน"

ฉลาดใช้... ยาลดความดันโลหิตสูง
     เมื่อเราเข้าใจโรคความดันโลหิตสูงเบื้องต้นว่าเป็นอย่างไรบ้าง คนส่วนใหญ่ต้องมีการตรวจเซ็กอย่างสม่ำเสมอก็ขอต่อด้วยการใช้ยาลดความดันโลหิตสูงอย่างฉลาด ดังนี้

1.ควรใช้ยาลดความดันโลหิตสูง...อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
     ผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ไม่สูงเกินไป เพราะถ้าเมื่อใดที่ความดันโลหิตสูงผิดปกติ อาจส่งผลต่อหลอดเลือด ทำให้เกิดแตกหรืออุดตัน และเป็นอัมพาต อัพพฤกษ์ หรืออาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงจึงควรกินยาลดความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง

2.เมื่อไม่มีอาการของโรคความดันโลหิตสูงแล้ว...
จะหยุดยาได้ไหม
     คำถามนี้พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่เมื่อกินยาติดต่อกันมานานแล้วไม่มีอาการอะไร (แสดงว่ายังควบคุมได้ดี) ก็อาจคิดไปว่าอาการดีขึ้นแล้ว คงไม่มีอันตรายใดๆ ถ้าหยุดยา หรือเข้าใจเองว่าได้หายจากโรคนี้แล้วก็หยุดยา ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ดังที่กล่าวไว้ในข้อ 1 ว่าโรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง ไม่หายขาด จะต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ จึงไม่ควรหยุดยาเองโดยพลการ

3.ไม่ควรเพิ่มหรือลดยาด้วยตนเอง
     อีกประเด็นหนึ่งต่อเนื่องจากข้อ 1 และ 2 ก็คือ "ไม่ควรเพิ่มหรือลดยาด้วยตนเอง" เพราะถ้าเพิ่มยาเอง เช่น ได้ยินโฆษณาว่ามียาแผนโบราณหรือสมุนไพรที่ช่วยรักษาความดันโลหิตสูงได้ ก็ไม่ควรนำมาใช้เอง โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
     ยิ่งไปกว่านั้นบางคนอาจได้รับคำแนะนำจากเพื่อนที่เคยเป็นโรคนี้ ว่ามียาดีในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงก็ไม่ควรเพิ่มยาหรือเปลี่ยนยาโดยพลการ ต้องนำไปปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพราะถ้าได้ยาเพิ่มขึ้นอาจทำให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำลงจนเกิดอันตรายได้
     ในทางตรงกันข้าม ถ้าจะลดยาด้วยตนเอง ก็อาจส่งผลให้การควบคุมความดันโลหิตได้ไม่เต็มที่ จะเกิดภาวะแทรกซ้อนและเกิดอันตรายได้เช่นกัน

4.ถ้าลืมกินยาลดความดันโลหิต ควรทำอย่างไร
     การลืมกินยาควรปฏิบัติเหมือนยาทั่วไป คือ ถ้าลืมกินยาแล้วยังเหลือเวลาอีกนานกว่าจะถึงเวลาของยามื้อต่อไป ก็ให้ใช้ยานั้นทันที แต่ถ้าลืมยาในกรณีที่ใกล้กับยามื้อต่อไปแล้ว งดมื้อที่ลืมและกินยามื้อต่อไปได้เลย

5.ถ้าใช้ยาอื่นๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
     เรื่องการใช้ยาอื่นๆ ร่วมด้วยนี้ เป็นประเด็นที่ต้องกล่าวไว้ด้วย เพราะยาหลายชนิดที่ส่งผลต่อยาลดความดันโลหิตสูง ตัวอย่างเช่น ยาต้านการอักเสบที่เรียกว่า NSAIDs ที่ช้ในการรักษาโรคปวดคอ ปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งเมื่อใช้ร่วมกับยาลดความดันโลหิตสูง ยากลุ่ม NSAIDs จะส่งผลต่อไต ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เป็นการต้านฤทธิ์ของยาลดความดันโลหิต ให้ได้ผลไม่ได้ตามต้องการได้
     ดังนั้น ผู้ป่วยโรคใดก็ตาม ถ้าจะใช้ยาอื่นๆ เพิ่มเติมควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้ยาร่วมกัน เพื่อจะหลีกเลี่ยงหรือจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องยาตีกันนี้ได้

6."ยาวิเศษ" ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง..."ไม่ใช้ยา"
     นอกจากยาลดความดันโลหิตสูงที่มีมากมายหลายชนิดแล้ว ยังมี "ยาวิเศษ" ที่ยังส่งผลช่วยลดความดันโลหิตสูงได้เป็นอย่างดี ซึ่งหมายถึง การลดปัจจัยเสื่อมต่าง ที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของความดันโลหิตสูง เช่น การลดน้ำหนัก การกินผักและผลไม้ทดแทนไขมัน การจำกัดเกลือในอาหาร การออกกำลังกาย งดหรือลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ดังแสดงในตารางด้านล่าง)  ซึ่งถ้าปฏิบัติตามได้ก็จะส่งผลดีต่อโรคความดันโลหิตสูง อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาจากโรคอื่นๆ (ถ้าผู้ป่วยมี) และยังเพิ่มสุขภาวะให้กับผู้ป่วยอีกด้วย
กิจกรรมที่ช่วยลดความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิตที่ลดลง
(มม.ปรอท)
การลดน้ำหนัก
5-20 มม.ปรอท
กินผักและผลไม้ทดแทนไขมัน
3-14 มม.ปรอท
จำกัดเกลือในอาหาร
2-8 มม.ปรอท
การออกกำลังกาย
4+- มม.ปรอท
งดหรือลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2-4 มม.ปรอท
     ในตารางในแต่ละกิจกรรมจะช่วยลดความดันโลหิตได้ระดับหนึ่ง เช่น การจำกัดเกลือในอาหาร หรือไม่เติมน้ำปลาลงในอาหาร ก็จะช่วยลดความดันโลหิตได้ถึง 2-8 มม.ปรอท เป็นต้น ถ้าหลายๆ กิจกรรมก็ช่วยลดได้ดียิ่งขึ้น และถ้าปฏิบัติได้ทั้งหมดก็สามารถลดระดับความดันโลหิตได้มากถึง 16-55 มม.ปรอท (ซึ่งได้ผลดีกว่ายาหลายชนิด เป็น "ยาวิเศษ" จริงๆ)
     อีกประเด็นหนึ่งที่ไม่ได้บรรจุอยู่ในตารางนี้ แต่มีผลสำคัญมาก คือ อารมณ์เครียด เพราะถ้าผู้ป่วยเครียด เช่น ตอนไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยจะตื่นเต้น ทำให้ความดันโลหิตที่วัดได้ที่โรงพยาบาลจะสูงกว่าที่บ้านเสมอๆ
     ดังนั้น ในเรื่องอารมณ์ (เครียด) จึงสำคัญมากต่อความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยจึงควรพักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นทำสมาธิ และควรสังเกตอารมณ์เครียด พักระหว่างการทำงาน ยืดหยุ่น และรู้จักจัดการกับความเครียดที่เข้ามาในชีวิตประจำวันด้วย

7.การตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน
     สุดท้ายนี้ ขอเพิ่มเติมการควบคุมระดับความดันโลหิตสูงให้ดียิ่งขึ้น "ด้วยการตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน"
     จากการสังเกตหรือประสบการณ์ของผู้เขียน พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจความดันโลหิตด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถควบคุมความดันโลหิตได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ
     ทั้งนี้ อาจเกิดจากความตระหนักหรือความเอาใจใส่ของผู้ป่วย ที่มีผลต่อความตั้งใจและเชื่อมั่นในการปฏิบัติตัวเพื่อจะได้ควบคุมระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติ
     ขอเชิญชวยให้มีการตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอจะด้วยตนเอง หรือที่อื่นๆ ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยช่วยลดความดันโลหิตได้ดียิ่งขึ้น

กราบขอบพระคุณ ภก.วิรัตน์ ทองรอด 
แหล่งข้อมูล : นิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 383 มีนาคม 2554 

ภาพประกอบจาก : 
Commonly Prescribed High Blood Pressure Drugs
healblog.net

และ 

http://www.docstoc.com/docs/75216533/Drugs-for-Hypertension

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น