วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

โรคมือเท้าปาก คืออะไร? โดยเภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล


จากข่าวคนไทย- เขมร ชายแดนสระแก้ว-ปอยเปต แตกตื่นเพราะว่าในกัมพูชาพบโรคประหลาดสุดอันตราย ทำเด็กเขมรป่วย 62 ราย เสียชีวิตแล้ว 60 ราย แล้วกลัวว่าจะแพร่มาระบาดในบ้านเราอีกมั้ยเนี่ย ความจริงแล้วกระทรวงสาธารณสุขของกัมพูชาร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกตรวจสอบหาสาเหตุที่ทำให้เด็กตายนั้นเกิดจากการติดเชื้อโรคที่เรียกว่า โรคมือ เท้า ปาก นั่นเอง โรคนี้น่ากลัวแค่ไหน ถ้าลูกรักของเราไปติดแล้วจะมีวิธีสังเกตุอาการอย่างไร มาฟังเภสัชกรเล่าให้ฟังกันดีกว่า

โรคมือเท้าปาก 
โรคนี้เป็นคนละชนิดกับโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อยในโคกระบือ
 โรคมือ-เท้า-ปากเป็นไข้ออกผื่นชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กซึ่งติดต่อกันง่าย แต่มักไม่รุนแรงและหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้อยที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง นับแต่ปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมา มีข่าวการระบาดของโรคนี้ซึ่งมีความรุนแรงถึงเสียชีวิตในหมู่เด็กเล็กของประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ออสเตรเลีย จึงกลายเป็นโรคฮิตติดอันดับ ฟังชื่อโรคนี้แล้ว อย่าไปสับสนกับโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อยที่เกิดในโคกระบือนะครับ ลูกๆเราไม่ติดจากสัตว์ที่ป่วย แต่จะติดมาจากเด็กป่วยที่เล่นคลุกคลีกัน ชื่อภาษาไทยที่เรียกว่า โรคมือ-เท้า-ปาก นั้นแปลตรงตัวมาจากชื่อภาษาอังกฤษว่า  Hand-foot-mouth disease ต่างหาก

สาเหตุของโรคนี้มาจากการติดเชื้อไวรัส
 โรคนี้มีมานานแล้ว ในบ้านเราพบอยู่เสมอ ๆ แต่ไม่เป็นข่าว เพราะเป็นแล้วอาการมักไม่รุนแรง ไม่ทำให้เสียชีวิต ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะไวรัสที่พบในบ้านเรา เป็นเชื้อไวรัสที่เรียกว่าค๊อกแซกกี่ A (COXSACKIC VIRUS A) ซึ่งเชื้อนี้จะไม่รุนแรง เป็นแล้วหายเองได้ แต่ถ้าเป็นจากเชื้อค๊อกแซกกี่ B (COXSACKIC VIRUS B) หรือเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) อาการจะรุนแรงกว่ามาก อาจทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ อัมพาต หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ที่พบในสิงคโปร์จะเป็นเชื้อ เอนเทอโรไวรัส 71

โรคนี้ส่วนใหญ่ติดต่อจากการกินอาหาร น้ำดื่ม การดูดเลียนิ้วมือ หรือของเล่นที่ปนเปื้อนเชื้อที่ออกมากับอุจจาระ น้ำเหลืองจากตุ่มน้ำที่ผิวหนัง หรือละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ส่วนน้อยที่ติดต่อโดยการสูดเอาฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายที่ผู้ป่วยไอหรือจามรดใส ในบ้านเรามีรายงานผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ ปีละ ๑,๕๐๐-๓,๐๐๐ ราย ส่วนใหญ่พบในเด็กต่ำกว่า ๕ ขวบ บางครั้งจะระบาดมากตามสถานรับเลี้ยงเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล

รูปประกอบ เด็กกัมพูชาติดโรคนี้ จาก http://www.dailynews.co.th/world/134136

วิธีสังเกตอาการลูกน้อย
 หากเด็กไปติดเชื้อมา หลังจากนั้น ๓-๗ วัน จะมีอาการไข้นำ อาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหารร่วมด้วย หลังจากนั้นอีก ๑-๒ วัน ก้อจะมีน้ำมูก เด็กเองจะมีอาการเจ็บปาก เจ็บคอมากๆ จนไม่ยอมดูดนม ไม่อยากกินอาหาร ในเด็กเล็กๆอาจร้องงอแง เมื่อลองตรวจดูในปากจะพบจุดนูนแดงๆ หรือมีน้ำใสอยู่ข้างใต้ ขึ้นตามเยื่อบุปาก ลิ้นและเหงือก ซึ่งต่อมาจะแตกกลายเป็นแผลตื้นๆ เจ็บมาก ในเวลาไล่เลี่ยกันก็จะมีผื่นขึ้นที่มือและเท้า (จึงเรียกว่าโรคมือ-เท้า-ปาก ยังไงหล่ะ) แต่น้องๆบางคนที่เป็นมากบางคนผื่นจะขึ้นในฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือแก้มก้น ตอนแรกขึ้นเป็นจุดแดงราบก่อน แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใสๆตามมา ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓-๗ มิลลิเมตร มักไม่คันไม่เจ็บ ส่วนน้อยอาจมีอาการคัน ส่วนอาการไข้มักเป็นอยู่ ๓-๔ วันก็ทุเลาไปเอง ส่วนแผลในปากมักจะหายได้เองภายใน ๗ วัน และตุ่มน้ำที่มือและเท้าจะหายได้เองภายใน ๑๐ วัน ในรายที่เป็นรุนแรงซึ่งพบได้น้อย อาจมีอาการปวดศีรษะมาก อาเจียนรุนแรง ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว ชัก แขนขาอ่อนแรง หรือหายใจจนหอบเหนื่อย

ทีนี้จะแยกโรคนี้จากโรคหวัดธรรมดาได้อย่างไร
 ปีนี้ฝนมาช้าไปซักเดือนนึง แต่ในช่วงเปิดเทอมนี้น้องๆก้อมีโอกาสเป็นหวัดได้อยู่แล้ว ซึ่งมีอาการหวัดคล้ายกับโรคนี้มาก จึงมีคำแนะนำคุณพ่อคุณแม่ที่รักขั้นต้น ดังนี้ครับ
·         เนื่องจากโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส ยังไม่มีความจำเป็นต้องให้ยารักษาจำเพาะ เพียงแต่ให้การดูแลตามอาการ และเฝ้าติดตามอาการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด
·         ถ้าน้องมีอาการไข้ก้อให้ยาพาราเซตามอลลดไข้ และดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ โดยสังเกตดูว่าเวลาน้องฉี่จะมีปริมาณปัสสาวะออกมากและใส แสดงว่าลูกรักได้รับน้ำอย่างพอเพียง
·         ในช่วงที่มีเริ่มมีอาการตุ่มและเจ็บแผลในปาก ให้กินอาหารเหลวหรือของน้ำๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด นม น้ำเต้าหู้ น้ำผลไม้ โดยใช้ช้อนป้อนหรือใช้กระบอกฉีดยา ค่อยๆ หยอดเข้าปาก ไม่ควรให้เด็กโดยเฉพาะน้องเล็กๆดูดนมหรือน้ำจากขวดเพื่อบรรเทาอาการเจ็บในปากครับเพราะน้องต้องใช้ปากช่วยดูดซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมให้ปวดแผลมากขึ้น  อาจใช้วิธีให้เด็กอมน้ำแข็งก้อนเล็กๆ ดื่มน้ำหรือนมเย็นๆ กินไอศกรีม  หรือบ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ (โดยผสมเกลือป่นครึ่งช้อนชาในน้ำอุ่น ๑ แก้ว) วันละหลายๆ ครั้ง

หากอาการโรคไม่ดีขึ้น ควรไปรีบพบแพทย์เมื่อมีอาการต่อไปนี้ครับ
·         น้องๆที่มีตุ่มน้ำใสธรรมดาเกิดขึ้น มีการติดเชื้อกลายเป็นตุ่มหนอง หรือน้องๆจะเกาทำให้พุพองมีน้ำเหลืองไหลเยิ้มตามมา หมอจะเลือกสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะในการรักษาต่อไปครับ
·         ลูกรักของคุณมีอาการเจ็บแผลในปากอย่างมาก จนกินอาหารและดื่มน้ำไม่ได้เลย ทำให้มีภาวะขาดน้ำตามมา เช่น ปากแห้ง ปัสสาวะออกได้น้อย
·         เด็กมีอาการปวดศีรษะอย่างมาก อาเจียนรุนแรง ซึมลง ไม่ค่อยรู้สึกตัว ชัก แขนขาอ่อนแรง หรือหายใจหอบเหนื่อย ควรส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

ตอนหน้ามาดูว่าเราจะป้องกันโรคนี้อย่างไร ให้ลูกรักห่างไกลจากโรคนี้




แหล่งข้อมูล

เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล สงวนลิขสิทธิ์ 10 กค. 2555

ห้ามนำบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ โดยผู้เขียนไปเผยแพร่เชิงพาณิชย์ ให้นำไปเผยแพร่เป็นวิทยาทานหรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น ผู้ประกอบการเว็บไซต์ต้องยึดหลักความเคารพและคำนึงถึงลิขสิทธิ์ในการสร้างสรรค์งานเขียนและจริยธรรมทางธุรกิจ

การนำเอาบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ ซึ่งผลิตขึ้นโดยผู้เขียนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตและผลิตซ้ำเพื่อเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาและ Copy url address ไปด้วยเพื่อให้ผู้อ่านสามารถลิ้งค์กลับมาอ่านบทความจากเว็บไซต์ของผู้เขียนได้โดยตรง

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพ ไม่แนะนำให้คุณนำไปใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรคด้วยตนเอง ขอความกรุณารับคำปรึกษาได้โดยตรงจากบุคลากรสหวิชาชีพทางสาธารณสุข รวมทั้งเภสัชกรใจดี ที่พร้อมดูแลสุขภาพพ่อแม่พี่น้องนะครับ
·    
โรคมือเท้าปาก (Hand-Foot-and-Mouth-Disease) โดยเภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล

·         นพ. อุเทน ปานดี และ นพ.ศักดา อาจองค์, โรคมือเท้าปาก (Hand-Foot-and-Mouth-Disease), งานวิชากุมารเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี , http://ramacme.ra.mahidol.ac.th/?q=node/45
·         Pamela L Dyne et al., MD, Professor of Clinical Medicine/Emergency Medicine, David Geffen School of Medicine at UCLA; Attending Physician, Department of Emergency Medicine, Olive View-UCLA Medical Center, Pediatrics, Hand-Foot-and-Mouth Disease, http://emedicine.medscape.com/article/802260-overview
·         โรคมือ เท้า ปาก (Hand, Foot and Mouth Disease), สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข , http://beid.ddc.moph.go.th/th/index.php?option=com_content&task=view&id=81&Itemid=9
·         Hand-foot-and-mouth disease (HFMD), Centers for Disease Control and Prevention,  1600 Clifton Rd. Atlanta, GA 30333, USA, cdcinfo@cdc.gov, http://www.cdc.gov/ncidod/dvrd/revb/enterovirus/hfhf.htm
·         คู่มือการสอบสวนโรค ปาก มือ เท้า ภาคสนาม กระทรวงสาธารณสุข, http://epidtrang.net/bbs/viewthread.php?tid=15
·         รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ, โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot and Mouth Disease) นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม : 326, เดือน-ปี : 06/2549,  http://www.doctor.or.th/node/1468
·         Hand-foot-mouth disease : Coxsackievirus infection, A.D.A.M., Inc. , http://health.allrefer.com/health/hand-foot-mouth-disease-pictures-images.html
·         Hand-foot-and-mouth disease, WebMD, LLC. , http://children.webmd.com/tc/hand-foot-and-mouth-disease-topic-overview
·         Hand-foot-and-mouth disease,  Health Grades Inc., http://www.wrongdiagnosis.com/h/hand_foot_mouth_disease/intro.htm
·         Mary T. Caserta, MD, Hand-foot-and-mouth disease , Merck and The Merck Manuals, Merck Sharp & Dohme Corp., a subsidiary of Merck & Co., Inc., Whitehouse Station, N.J., U.S.A., http://www.merck.com/mmpe/sec14/ch190/ch190c.html
·         Hand-foot-and-mouth disease (HFMD), Healthcommunities.com, Inc., http://www.dermatologychannel.net/viral_infection/hand_foot.shtml

        รูปประกอบจากอินเตอร์เนท
http://www.thaidr.com/wp-content/uploads/2011/08/mouth_thumb.jpg


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น