วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2556

โรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน วิธีสังเกตุอาการ จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น?


"คุณเภสัช ไม่รู้ทำไม ช่วงนี้ เหนื่อยง่ายจังเลย แค่เดินไปมา ยังไม่ได้ออกกำลังอะไรเลยก้อเพลียซะละ ไม่รู้ว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่นะ? " 

ญาติผู้ใหญ่ของเรา อาจเคยแข็งแรงดี ความดันก้อคุมได้ ไขมันก้อไม่เยอะ 

แต่ทำไมวันนึง ท่านอาจจะมาบ่นกับเราเช่นประโยคข้างบนก้อได้ เราจึงมีบทความที่จะมาช่วยให้เราได้รับรู้ สังเกตุอาการ ของคุณปู่ย่าตายายของเราว่ากำลังมีปัญหาของโรคทางเดินหัวใจและหลอดเลือดที่เกิดได้บ่อยเข้ารุมเร้าหรือไม่?  โรคนี้รู้จักกันดีในชื่อว่า "โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน" ที่เป็นกันเย้อะมากในผู้สูงอายุที่รักของเรา ลองมาดูว่า เรามีวิธีดูแลอาการท่านในเบื้องต้น ได้อย่างไรบ้าง? และให้มั่นใจที่สุด พาท่านไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจร่างกาย จะเป็นทางเลือกต่อไปครับ  




โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ คืออะไร?
ตามปกติหลอดเลือดแดงเปรียบเสมือนท่อน้ำที่มีความยืดหยุ่นสูง โดยเซลล์ผนังด้านในจะเรียบและเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ ตลอดจนสามารถหลั่งสารเพื่อปรับหลอดเลือดให้หดหรือขยาย และเหมาะสมตามความต้องการของอวัยวะนั้นๆ เพื่อให้เลือดไหลผ่านได้อย่างสะดวก เมื่ออายุมากขึ้นหลอดเลือดแดงจะเสียความยืดหยุ่นดังกล่าวตามการใช้งาน โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น คนอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ผู้ที่สูบบุหรี่ และไม่ออกกำลังกาย ล้วนเป็นปัจจัยให้เกิดกระบวนการซ่อมแซมหลอดเลือดแดงให้เรียบลื่น ด้วนการเคลือบด้วยไขมันทีละเล็กละน้อย โดยไม่ได้แสดงอาการอะไร จนกระทั่งผนังของหลอดเลือดแดงเริ่มหนาตัวเนื่องจากมีไขมันมาสะสมจนเกิดภาวะหลอดเลือดแดงตีบตันในที่สุด   

อาการแสดง โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

 ในระยะแรกมักไม่แสดงอาการผิดปกติ จนกระทั่งเส้นเลือดแดงตีบมากขึ้น จนกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงจะเกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก เรียกว่า Angina Pectoris โดยจะมีอาการรู้สึกเหมือนถูกบีบรัดแน่นอึดอัดที่บริเวณหน้าอกตรงกลาง อาจร้าวไปไหล่ซ้ายและแขนซ้าย บางรายอาจร้าวขึ้นไปที่คอ อาการจะมีมากขึ้นเวลาออกแรงหรือทำงานหนักและนั่งพักก็จะดีขึ้น โดยอาการดั่งกล่าวอาจเป็นๆ หายๆ และความรุนแรงจะมากขึ้น หากมีภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบมากขึ้น และบางกรณีที่เกิดมีการอุดตันของเส้นเลือดหัวใจอย่างเฉียบพลัน จะแสดงอาการเจ็บหน้าอกฉับพลันทันที มีอาการกระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น บางรายอาจมีการเหนื่อยหอบจากภาวะหัวใจวายร่วมด้วย ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาอย่างเร่งด่วน


     

ปัจจัยเสี่ยงของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ยิ่งเย้อะ ก้อยิ่งเสี่ยง


1. เพศ - อัตราการเกิดโรค พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 3 เท่า - อัตราการเสียชีวิต พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 5 เท่า

2. ประวัติครอบครัว ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบก่อนวัยอันควร (ผู้ชายอายุน้อยกว่า 55 ปี ผู้หญิงอายุน้อยกว่า 65 ปี) จะมีความเสี่ยงการเกิดโรคสูง

3. ความดันโลหิตสูง พบว่า - ผู้ที่อายุน้อยกว่า 50 ปี ความดันโลหิตตัวล่างที่สูงจะมีผลต่ออัตรา เสี่ยงมากที่สุด - ผู้ที่อายุ 50 – 59 ปี ความดันโลหิตทั้งตัวบนตัวล่าง และ Pulse Pressure (ค่าความแตกต่างระหว่างความดันตัวบนและตัวล่าง) ที่ สูงขึ้น มีผลต่ออัตราเสี่ยงของการเกิดโรค - ผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ค่า Pulse Pressure มีผลต่ออัตราเสี่ยงมากที่ สุด

4. การสูบบุหรี่ เป็นปัจจัยสำคัญ พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่วันละ 1 ซอง จะเพิ่มอัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย 3 เท่าในผู้ชาย และ 6 เท่าในผู้หญิง เทียบกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่

5. ภาวะไขมันในเลือดสูง พบว่าค่าไขมันคอเลสเตอรอลและไขมันไตรกลีเซอไรด์ที่สูง รวมถึงค่า HLD ต่ำ มีผลต่ออัตราเสี่ยงการเกิดโรคสูง

6. เบาหวาน เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและตีบตัน โดยเฉพาะผู้หญิง

7. ภาวะการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน พบการเกิดโรคนี้สูงขึ้นในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

8. โรคอ้วน พบว่าคนอ้วนที่ค่า Body Mass Index 40 จะมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ 2 -7 เท่าในผู้ชาย และ 1.9 เท่าในผู้หญิง

การตรวจเพื่อยืนยัน โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

1. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ช่วยในการวินิจฉัยได้ในระดับหนึ่งในกลุ่มที่มีอาการเจ็บหน้าอก หรือมีการตีบของเส้นเลือดหัวใจที่ชัดเจน ซึ่งอาจต้องใช้การตรวจพิเศษชนิดอื่นที่เฉพาะเจาะจง และยืนยันการวินิจฉัยต่อไป

2. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจโดยการวิ่งสายพาน (Exercise Stress Test) เป็นหนึ่งในหลายๆ วิธีที่ช่วยคัดกรองผู้ที่มีเส้นเลือดหัวใจตีบเล็กน้อยและยังไม่มีอาการ แต่เมื่อออกกำลังกายโดยการเดินบนสายพานที่เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ หัวใจจะเต้นเร็วขึ้นและทำงานหนักขึ้น ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ จะเกิดอาการแน่นหน้าอกขณะออกกำลังกายหรือมีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าให้เห็น นอกจากนี้ยังช่วยประเมินความฟิตของร่างกายได้อีกด้วย

3. ตรวจเลือดหาระดับเอนไซม์ของกล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac Enzyme) ได้แก่ ค่า CPK และ CK-MB, Troponin T, Troponin I ค่าดังกล่าวจะสูงขึ้นเฉพาะกรณีมีกล้ามเนื้อหัวใจตาย

4. การตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ เป็นการตรวจที่ใช้เทคโนโลยีเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ มาตรวจหาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ สามารถประเมินเส้นเลือดหัวใจว่าตีบกี่เส้นและตีบมากน้อยแค่ไหนได้อย่างแม่นยำ

5. การตรวจโดยวิธี Nuclear Scan เป็นวิธีการตรวจโดยฉีดสารรังสีเข้ากระแสเลือด แล้วใช้เครื่องสแกนวัดว่ากล้ามเนื้อหัวใจส่วนไหนขาดเลือด เป็นวิธีที่ค่อนข้างแม่นยำสูง แต่ค่อนข้างยุ่งยากในการทำ

6. การตรวจหลอดเลือดหัวใจ โดยใช้คลื่นแม่เหล็ก (Cardiac MRI) เป็นการตรวจที่แสดงให้เห็นภาพของหัวใจทั้งขนาดหัวใจ การทำงานของหัวใจ รวมถึงเห็นรายละเอียดของกล้ามเนื้อหัวใจและหลอดเลือดหัวใจว่าตีบหรือไม่ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ แต่มีข้อจำกัดคือราคาแพงมาก และมีที่ใช้เฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ๆ เท่านั้น

7. การสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiogram) เป็นการตรวจโดยใส่สายสวนเข้าไปทางหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบหรือแขน จนถึงหลอดเลือดหัวใจโดยตรง เพื่อฉีดสารทึบแสงรังสี ดูรายละเอียดของหลอดเลือดหัวใจ สามารถบอกได้ว่าเส้นเลือดหัวใจตีบกี่เส้น ตีบมากน้อยแค่ไหน เป็นการตรวจที่แม่นยำสูงสุด และยังสามารถทำการรักษาต่อทันทีที่พบหลอดเลือดตีบ ด้วยการขยายด้วยบอลลูนหรือใส่ขดลวด (Stent) ข้อเสีย เป็นการตรวจที่มีค่าใช้จ่ายสูง และมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หลอดเลือดปริฉีกขาด แม้จะมีโอกาสเกิดน้อยมากในมือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็ตาม

แหล่งข้อมูล

รู้ได้อย่างไรว่าเป็น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

http://www.insurefordream.com/disease_coronary_artery_disease.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น