นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า
ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ของ อย.
ได้มีการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องล่าสุดได้รับรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคายว่า
พบผู้ป่วยหญิง อายุ 81 ปี เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการไข้ ไอ เหนื่อย
เพลีย หลังตรวจร่างกายพบรอยจ้ำเลือดทั่วตัว ต่อมามีอาการท้องเสีย ถ่ายมีมูก
ส่งตรวจอุจจาระพบเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเลือดปนในอุจจาระ
ซักถามผู้ป่วยพบว่าดื่มน้ำมังคุดยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งโฆษณาว่ารักษาโรคปวดขา วันละ1
ช้อนโต๊ะ ประมาณเกือบ 1 เดือน อาการปวดขาหาย หลังหยุดดื่ม 2-3 วัน
มีอาการปวดทั่วตัว ขยับไม่ได้ ทุรนทุราย แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นภาวะไตบกพร่อง
และคาดว่าน้ำมังคุดยี่ห้อดังกล่าวอาจมีสารสเตียรอยด์ผสมอยู่โดยจะมีการสุ่ม
เก็บตัวอย่างส่งวิเคราะห์หาสเตียรอยด์ และสิ่งปนเปื้อนอื่นต่อไป
เลขาธิการ อย. กล่าวว่า มังคุดมีสารแซนโทน (xanthones)
เป็นจำนวนมากซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ ลดความดันโลหิต
ต้านมะเร็ง และแก้แพ้ อย่างไรก็ตาม ยังขาดข้อมูลการทดลองทางคลินิกสนับสนุนว่าการบริโภคมังคุดสามารถมีฤทธิ์
รักษาดังกล่าวได้ ทั้งนี้ เคยมีรายงานในวารสารทางการแพทย์ พบผู้ป่วยชาย อายุ 58 ปี
ดื่มน้ำมังคุดทุกวัน เป็นเวลา 12 เดือน เกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากกรดแลกติกคั่ง
ในขณะนี้ ถึงแม้ยังไม่มีรายงานการศึกษาความเป็นพิษในมนุษย์
และยังไม่พบรายงานการแพ้ที่มีผลถึงชีวิต
แต่พบอาการไม่พึงประสงค์ได้หลากหลายในแต่ละคน เช่น ผิวหนังบวม แดง ผื่น คัน
ปวดข้อชั่วคราวหรือเล็กน้อย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ มีอาการแพ้ทั่วไป ถ่ายเหลว
ลำไส้แปรปรวน และท้องผูก ที่ต้องระวังคือ ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการฉายรังสี
ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยาคูมาดิน
ยาต้านมะเร็งผู้ป่วยที่มีภาวะการณ์สร้างเม็ดเลือดแดงมากเกินไปทำให้เลือดข้น
ผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากมีการผสมน้ำตาลจำนวนมากในผลิตภัณฑ์
ผู้ที่กำลังได้รับยารักษาโรคอื่นๆ เนื่องจากยังไม่ทราบถึงการเกิดปฏิกิริยาระหว่าง
น้ำมังคุดกับยาที่ได้รับ และไม่ควรปฏิเสธการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน
แหล่งข้อมูล
1.อย.เผยพบหญิงชรามีรอยจ้ำเลือดทั่วตัว,นสพ.ไทยรัฐ
http://www.thairath.co.th/content/edu/94293
2. กรณีศึกษา
หญิง81ทรุดหนัก ดื่มน้ำมังคุด อย.เตือนเป็นพิษ,ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสงขลา(
The Consumer Protection Center of Songkhla:CPCS), http://consumersouth.org/paper/766
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น