วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2556

Alprazolam ยาเสียสาว จริงแล้ว พระเอก..หรือผู้ร้าย?



จากกรณีที่มีข่าวสารสาวประเภทสองใช้ยานอนหลับใส่เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรับประทานจนเสียชีวิตเพื่อหวังปลดทรัพย์สินนั้น ภายหลังจากที่ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบยาชนิดดังกล่าว พบว่าเป็นยาที่มีชื่อสามัญว่า “อัลปราโซแลม” ทางกระทรวงสาธารณสุข โดยผู้เกี่ยวข้องคือ สำนักงานอาหารและยา ได้จัดแถลงข่าวเกี่ยวกับรายละเอียดของยาดังกล่าวไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 ที่ผ่านมา

“อัลปราโซแลม (Alprazolam)” เป็นยาที่จัดอยู่ในกลุ่มเบนโซไดอาซีปีน (Benzodiazopine) เป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็วแต่ออกฤทธิ์ไม่นาน ยาตัวนี้ในทางการแพทย์ใช้สำหรับรักษาอาการวิตกกังวลทำให้สงบ ระงับ และช่วยให้นอนหลับ จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 4 โดยผู้ที่มีสิทธิสั่งจ่ายยาดังกล่าวต้องต้องเป็นแพทย์ ทันตแพทย์และสัตวแพทย์เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการคุมเข้มการจัดจำหน่ายยาดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ โดยเชิญผู้ประกอบการผลิต นำเข้าและส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 และ 4 มาประชุมและร่วมลงนามให้สัตยาบันในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

สำหรับการผลิตในแต่ละครั้งผู้ผลิตต้องแจ้งให้ กระทรวงสาธารณสุข ทราบ เพื่อการควบคุมและตรวจสอบ พร้อมทั้งผู้ที่ได้รับอนุญาตทุกรายต้องจัดให้มีการทำบัญชีรับ-จ่ายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และเสนอรายงานให้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาทราบเป็นรายเดือนและรายปี ทั้งนี้บัญชีดังกล่าวต้องเก็บรักษาไว้และพร้อมที่จะแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตลอดเวลาขณะเปิดดำเนินการ ซึ่ง กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการตรวจสอบเป็นประจำกับทางผู้ผลิตนำเข้าและจำหน่าย

นอกจากนี้ทุกๆ ปี กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการตรวจสอบการใช้วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 3 และ 4 ตามร้านขายยา คลินิกและโรงพยาบาลที่มีการใช้พร้อมกับประสานกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดให้ติดตามตรวจสอบเช่นเดียวกับส่วนกลาง อีกทั้งได้กำชับให้ผู้รับอนุญาตขายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 3 หรือ 4 ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการขายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด

จากการตรวจสอบการกระทำผิดในระหว่างปี พ.ศ. 2547-2549 พบว่าร้านยาและบริษัทมีการกระทำผิดลดลงโดยในปี พ.ศ. 2547 ร้านขายยากระทำความผิดโดยไม่ได้รับอนุญาตจำนวน 3 ราย บริษัทกระทำความผิดโดยรายงานไม่ถูกต้อง 1 ราย คลินิกและสถานพยาบาลกระทำความผิดโดยรายงานไม่ถูกต้อง 2 ราย แต่ในปี พ.ศ. 2548-2549 ร้านยาและบริษัทไม่พบการกระทำผิด ส่วนคลินิกและสถานพยาบาลพบว่ามีความผิดมากขึ้นคือ ปี พ.ศ. 2548 จำนวน 9 ราย และปี พ.ศ. 2549 จำนวน 11 ราย ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจังและเด็ดขาด ซึ่งบทลงโทษผู้ผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 3 หรือ 4 โดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท เภสัชกรที่ขายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 3 หรือ 4 โดยไม่มีใบสั่งแพทย์หรือละทิ้งหน้าที่ในการควบคุมการขาย มีโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท ส่วนผู้ที่จูงใจ ชักนำ ยุยงส่งเสริม ใช้อุบายหลอกลวงหรือขู่เข็ญให้ผู้อื่นเสพ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000-200,000 บาท

ยาอัลปราโซแลม เป็นยาที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท หากรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดการติดยาทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งหากหยุดยาทันทีจะเกิดอาการขาดยาหรือถอนยา เช่น คลื่นไส้ นอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว ซึมเศร้า เป็นโรคจิต หรืออาจถึงกับชักได้ หากต้องรับประทานกับยาตัวอื่น เช่น ยากดหรือกระตุ้นประสาท หรือยาคุมกำเนิด ต้องปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากมียาหลายชนิดที่มีปฏิกิริยาต่อระดับ Alprazolam ในกระแสเลือดจนทำให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรงได้ และหากรับประทานยาดังกล่าวพร้อมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้กดประสาทมากขึ้นและอาจกดการหายใจส่งผลให้เสียชีวิตได้

ยาอัลปราโซแลมที่ใช้ในการแพทย์มีอยู่ด้วยกัน 3 ขนาด คือ ขนาด 0.25 มิลลิกรัม ขนาด 0.5 มิลิกรัม และขนาด 1.0 มิลลิกรัม โดยขนาดในการใช้ขึ้นอยู่กับอาการผู้ป่วย ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกขนาดยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆไป เช่นในผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับเนื่องจากเครียด แพทย์อาจจะให้ยาอัลปราโซแลม ขนาด 0.25 มิลลิกรัม หรือในผู้ป่วยที่เลิกยาเสพติดแพทย์อาจจะต้องให้ยาอัลปราโซแลม ขนาด 0.5 มิลลิกรัม หรือ 1.0 มิลลิกรัม เป็นต้น ยาตัวนี้เป็นยาออกฤทธิ์เร็ว รับประทานไปประมาณ 20 นาทีก็จะออกฤทธิ์ แต่ฤทธิ์จะคงอยู่ไม่เกิน 1 วัน และหากดื่มน้ำมากๆยาก็จะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ จนกระทั่งหมดไปในที่สุด

สำหรับขนาดของยากลุ่มนี้ที่จะทำให้เสียชีวิตได้ในทางวิทยาศาสตร์มีขอบข่ายความปลอดภัย หรือ Margin of safety กว้างมาก ซึ่งจากการทดลองหาขนาดของยาที่ทำให้เสียชีวิตด้วยตัวยากลุ่มนี้ในสัตว์ พบว่าต้องใช้ยาถึง 1,000 มิลลิกรัมขึ้นไปต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่สูงมาก

อัลปราโซแลม เป็นยาที่เปรียบเสมือนกับเหรียญ 2 ด้าน หากยานี้ตกอยู่ในมือของแพทย์ผู้มีหน้าที่ช่วยชีวิต ยานี้ก็จะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อชีวิตมนุษย์ แต่หากยานี้ตกไปในอยู่ในมือของผู้ที่ต้องการหาประโยชน์จากผู้อื่นในทางที่ไม่ชอบไม่ควร ยาตัวนี้อาจจะกลายเป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ได้เช่นกัน

ในโลกของวิทยาศาสตร์ สถานภาพของยา อัลปราโซแลม ก็คือยาตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง แต่ในโลกของความเป็นจริงสถานภาพของยาตัวนี้ขึ้นอยู่กับฝีมือของมนุษย์ว่าจะเลือกใช้มันในบทบาทของ พระเอก หรือจะใช้มันในบทบาทของ “ผู้ร้าย”
*******************************************
ที่มาของข้อมูล: โดย สรรพสารวงการยา ปีที่ 6 ฉบับที่ 95 มิถุนายน พ.ศ. 254944-45

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น