โรคหอบหืดเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะตีบตัวของหลอดลม ทำให้
มีอาการ หายใจหอบเหนื่อยเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง พบบ่อยในคนทุกวัย มักมี
อาการครั้งแรก ในวัยเด็กหรือวัยหนุ่มสาว แต่ก็อาจเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในผู้
สูงอายุก็ได้ โรคนี้ใน บ้านเราพบได้ประมาณ 4-6% ของคนทั่วไป
สาเหตุ
เกิดจากหลอดลมมีความไวต่อสิ่งเร้ามากกว่าปกติ ร่วมกับการอักเสบของหลอดลม เป็นสาเหตุให้
มีการหดเกร็งของหลอดลม จนหลอดลมตีบแคบ ลมหายใจเข้าออกลำบาก ซึ่งอาจหายกลับเป็นปกติ
ได้เอง หรือภายหลังการให้ยารักษาโรคนี้สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ มักมีพ่อแม่ปู่ย่าตายาย
หรือญาติพี่น้องเป็นหืด หรือโรคภูมิแพ้อื่น ๆ เช่น หวัดจากการแพ้ ไซนัสอักเสบ หรือลมพิษผื่นคันอยู่
เป็นประจำ ผู้ป่วยมักมีอาการกำเริบเมื่อสัมผัสสิ่งที่แพ้ เช่น ความเย็น เชื้อรา ไรบ้าน ฝุ่นละออง ควัน
บุหรี่ ควันธูป ควันท่อไอเสีย ที่นอน ขนสัตว์ ดีดีที ยา อาหารบางชนิด เป็นต้น
นอกจากนี้การติดเชื้อของทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด หลอดลมอักเสบ ก็มักจะทำให้อาการกำเริบได้
บางครั้งความเครียด การกินแอสไพริน ยากลุ่มต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ หรือยากลุ่มปิดกั้นบีตา
ที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง หรือการออกกำลังกายมากเกินไป ก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการได้
อาการ
แน่นอึดอัดในหน้าอก หายใจลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหายใจออก ถ้าเป็นมาก ๆ จะลุกขึ้นนั่ง
ฟุบกับโต๊ะหรือพนักเก้าอี้และหอบตัวโยน มีเสียงดังฮืด ๆ ผู้ป่วยมักจะไอมาก มีเสลดเหนียว อาจมี
อาการคัดจมูก คันคอเป็นหวัด จามนำมาก่อนมักจะเป็นตอนกลางคืนเวลาสัมผัส หรือกินถูกสิ่งที่แพ้
เวลาเครียด หรือออกกำลังมาก ๆ ส่วนใหญ่จะไม่มีไข้ ในรายที่มีไข้มักเป็นหืดร่วมกับอาการของ
ไข้หวัด หรือหลอดลมอักเสบ
สิ่งตรวจพบ
ขณะมีอาการหอบ ใช้เครื่องฟังปอดจะได้ยินเสียงวี้ด (wheezing) ที่ปอดทั้ง 2 ข้าง และช่วงหายใจ
ออกจะยาวกว่าปกติ (ขณะไม่มีอาการจะตรวจไม่พบอะไร) ถ้าพบว่ามีความดันเลือดสูง เท้าบวม หรือ
ใช้เครื่องฟังตรวจปอดได้ยินเสียงกรอบแกรบ ควรนึกถึงภาวะหัวใจวาย
อาการแทรกซ้อน
ถ้าเป็นรุนแรงจะมีอาการหอบติดต่อกันนาน ดังที่แพทย์เราเรียกว่า สเตตัส แอสมาติคัส (status
asthmaticus) อาจเป็นอันตรายถึงตายได้
ในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจทำให้เป็นโรคถุงลมพอง, หลอดลมอักเสบ , ปอดอักเสบ , ปอดแฟบ
(atelectasis), ปอดทะลุ
การดูแลรักษา
1. เมื่อมีอาการหอบหืดกำเริบเฉียบพลัน ให้สูดดมยากระตุ้นบีตา 2 (ย10.3) ทันที อาจให้ซ้ำทุก 20
นาทีในชั่วโมงแรกของการรักษา (เมื่อดีขึ้น จึงเปลี่ยนให้ยาซ้ำ ทุก 4-6 ชั่วโมง) ถ้าไม่มียาชนิดสูดดม
ให้ฉีดยากระตุ้นบีตา 2 หรืออะดรีนาลิน เข้าใต้ผิวหนัง ฉีดซ้ำได้ทุก 20-30 นาที อีก 1-2 ครั้ง (ดูขนาด
และข้อควรระวัง ในตอนต่อไปในการใช้ยา" )
ในรายที่หอบรุนแรง อาจให้เดกซาเมทาโซน 5-10 มก. (เด็ก 0.2 มก. ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม)
ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือให้กินเพร็ดนิโซโลน 30-60 มก. (เด็ก 1-2 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม)
ร่วมด้วยตั้งแต่แรก เมื่อดีขึ้นควรให้กินเพร็ดนิโซโลน ต่อวันละครั้ง หลังอาหารเช้าทุกวัน แต่ควรค่อยๆ
ลดขนาดยาลง จนสามารถหยุดยาภายใน 1-3 สัปดาห์
ถ้าให้ยาดังกล่าว หลัง 1 ชั่วโมงแล้วยังไม่ทุเลา ควรส่งโรงพยาบาล อาจต้องให้ อะมิโนฟิลลิน ชนิดฉีด
2 หลอด (เด็กให้ 4 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม) ผสมในน้ำเกลือ 500 มล. หยดเข้าหลอดเลือดดำ
ซ้ำทุก 6-8 ชั่วโมง เพิ่มเติมจากยาดังกล่าว นอกจากนี้อาจต้องให้น้ำเกลือและออกซิเจน จนกว่าอาการ
จะทุเลาผู้ป่วยที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล
- ไม่ตอบสนองต่อการรักษาข้างต้น ภายใน 1-2 ชั่วโมง
- มีประวัติเคยมีอาการหอบหืดรุนแรง หรือเคยรับการรักษาในห้องอภิบาลผู้ป่วย (ไอซียู) เนื่องจาก
โรคหืดมาก่อน
- มีอาการหอบต่อเนื่องมานาน ก่อนที่จะมาพบแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล
- การเดินทางจากบ้านมาโรงพยาบาลมีความไม่สะดวก
2. ในรายที่เป็นเรื้อรัง ผู้ป่วยอาจมีอาการเปลี่ยนแปลงตามภาวะต่าง ๆ เช่น การแพ้ การเป็นโรคติดเชื้อ
ของทางเดินหายใจ การใช้ยาที่อาจทำให้เกิดอาการกำเริบ การรักษาจึงจำเป็นต้องปรับยาตาม
ความรุนแรงของโรค ดังนี้
(1) ผู้ป่วยที่มีอาการเพียงเล็กน้อย กล่าวคือ มีอาการหอบน้อยกว่า 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ และมีอาการ
หอบตอนกลางคืนน้อยกว่า 1-2 ครั้งต่อเดือน ให้ยากระตุ้นบีตา 2 ชนิดสูด หรือชนิดกินเมื่อมีอาการ
(2) ผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง กล่าวคือ มีอาการหอบมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และมีอาการหอบ
ตอนกลางคืนมากกว่า 2 ครั้งต่อเดือน เวลาหอบอาจมีผลต่อการทำกิจกรรม และการนอนของผู้ป่วย
ให้ใช้ยากระตุ้นบีตา 2 ชนิดสูด หรือชนิดกินเป็นประจำ ทุก 6-8 ชั่วโมง ถ้ามีอาการหอบตอนดึก
หรือเช้ามืด ให้กินยาทีโอฟิลลีนชนิดออกฤทธิ์ยาว
(3) ถ้าให้ยาตามข้อ (2) แล้วยังมีอาการหอบกำเริบ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาลดการอักเสบ ได้แก่
ยาสเตอรอยด์ชนิดสูด (ซึ่งมีผลข้างเคียงน้อยกว่าชนิดกิน) หรือ โซเดียม โครโมไกลเคต (Sodium
cromoglycate) ชนิดสูด เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน หรือจนกว่าจะควบคุมอาการได้
ยาเหล่านี้ไม่ได้ช่วยในขยายหลอดลม แต่จะไปลดการอักเสบของหลอดลม จึงใช้เป็นยาป้องกัน
ไม่ใช่เพื่อการรักษาอาการหอบ ดังนั้นถ้าหากยังมีอาการหอบ ควรใช้ยากระตุ้นบีตา 2 สูด เมื่อมี
อาการพร้อมกันไปได้ด้วย
(4) ในรายที่มีอาการหอบรุนแรงและเรื้อรัง แพทย์จำเป็นต้องพิจารณาให้ยาหลายขนานพร้อมกัน เช่น
ให้สเตอรอยด์ชนิดสูด ร่วมกับกินทีโอฟิลลีนชนิดออกฤทธิ์ยาว และยากระตุ้นบีตา 2 ชนิดสูด หรือกิน
หรืออาจจำเป็นต้องให้เพร็ดนิโซโลน (ย12) กินร่วมด้วย ถ้าจำเป็นต้องให้ยานี้เป็นเวลานาน ควรใช้
ในขนาดไม่เกิน 10 มก.ต่อวัน เมื่ออาการดีขึ้น จึงจะค่อย ๆ ลดขนาดลง และหยุดยานี้ในที่สุด
ผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาจต้องทำการตรวจสภาพของปอด เพื่อ
ประเมินความรุนแรงของโรค และใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการรักษา
3. สำหรับเด็กที่เป็นโรคหืดเรื้อรัง แต่ไม่รุนแรง อาจให้ยาป้องกัน โดยให้กินคีโตติเฟน (Ketotifen)
ซึ่งเป็นยาในกลุ่มแก้แพ้ (แอนติฮิสตามีน) มีฤทธิ์ป้องกันการอักเสบในหลอดลม ให้กินในขนาด
ครั้งละ 0.01 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้ากับเย็น (ยา 1 เม็ด หรือ 1 ช้อนชา มีตัวยา
1 มก.) ควรกินติดต่อกันเป็นระยะยาว จะช่วยป้องกันมิให้อาการกำเริบได้ ผลข้างเคียงคือ อาจทำให้
ง่วงซึมได้ ซึ่งในเด็กพบได้น้อย
4. ในบางรายแพทย์อาจแนะนำให้ฉีดยาทดสอบว่าแพ้สารอะไร แล้วฉีดสารนั้นทีละน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ
เพื่อลดการแพ้ เรียกว่า "ดีเซนซิไทเซชัน" (desensitization) ซึ่งได้ผลดีในเด็ก ส่วนในผู้ใหญ่ได้ผล
ไม่สู้ดี แต่ค่าใช้จ่ายสูง และอาจมีอาการแพ้ที่รุนแรงได้ จำเป็นต้องฉีดในที่ ๆ มีความพร้อมในการ
ช่วยเหลือ ถ้าเกิดการแพ้ วิธีนี้จะใช้กับเด็กที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ และอาการไม่ดีขึ้นหลัง
การใช้ยาหรือไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของยา
ข้อแนะนำ
1. โรคนี้มักจะเป็นเรื้อรัง บางรายก็อาจหายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเริ่มมีอาการตั้งแต่เล็ก เมื่อโตขึ้น
ก็มีโอกาสหายได้ หรือถ้าทราบสาเหตุการแพ้แน่ชัด เมื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ได้ ก็อาจทุเลาได้เช่นกัน
ดังนั้นจึงควรสังเกตว่าแพ้อะไร
2. ผู้ป่วยควรเรียนรู้วิธีใช้ยา โดยเฉพาะการใช้ยาสูดให้ถูกต้อง และรู้จักปรับขนาดยา ในกรณีที่กำเริบ
รุนแรงก่อนไปพบแพทย์
3. ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วย
3.1 ควรติดตามการรักษาแพทย์เป็นประจำ เพื่อปรับยาตามขนาดความรุนแรงของโรค และเฝ้าระวัง
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
3.2 อย่าใช้ยาชุด หรือยาลูกกลอนไทยด้วยตนเอง เพราะยาเหล่านี้มักมีสเตอรอยด์ผสม แม้ว่าอาจจะ
ใช้ได้ผล แต่ต้องใช้เป็นประจำ ซึ่งทำให้มีผลข้างเคียงของยาชนิดนี้ตามมา หากจะใช้ยาเอง ควร
ปรึกษาแพทย์ให้แน่ใจ
3.3 ผู้ป่วยสามารถทำงาน เรียนหนังสือ ออกกำลัง เล่นกีฬา เล่นดนตรีได้ตามปกติ ในการออกกำลังกาย
ระวังอย่าให้เหนื่อยเกินไป ถ้ามีประวัติเคยหอบเวลาออกกำลังกาย ควรใช้ยาสูดก่อนออกกำลัง
15-30 นาที เพื่อป้องกันอาการหอบกำเริบ การบริหารร่างกายที่พอเหมาะ และการเล่นดนตรี อาจมี
ส่วนช่วย ให้อาการดีขึ้นได้
3.4 รักษาร่างกายให้อบอุ่น และพยายามอย่าให้เป็นหวัด เพราะความเย็นและไข้หวัด อาจทำให้อาการ
กำเริบได้
3.5 หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ และยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นบีตา
เพราะอาจกระตุ้นให้อาการหอบกำเริบ เวลาพบแพทย์ด้วยโรคอื่น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าเป็นโรค
หืดอยู่ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงการสั่งใช้ยาเหล่านี้
3.6 อย่าสูบบุหรี่ หรือถูกควันบุหรี่ ควันธูป ควันท่อไอเสีย
3.7 ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ เพื่อให้เกิดความอบอุ่นแก่ร่างกาย และให้ร่างกายได้รับน้ำเพียงพอ ซึ่งจะช่วยให้
เสมหะขับออกได้ง่าย
3.8 พยายามอย่าให้มีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจ หรือคิดมาก จะทำให้จับหืดได้ การทำสมาธิ สวดมนต์
ภาวนา ให้จิตใจสงบ อาจทำให้อาการดีขึ้นได้
3.9 หัดหายใจเข้าออกลึก ๆ (โดยการเป่าลมออกทางปาก ให้ลมในปอดออกให้มากที่สุด) เป็นประจำ
จะทำให้รู้สึกปลอดโปร่ง สดชื่น อาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้
แหล่งข้อมูล
โรคหืด
http://www.thailabonline.com/respirat-asthma.htm
ภาพประกอบhttp://www.healblog.net/health-news/poor-diabetes-control-in-kids-linked-to-asthma/
http://www.healblog.net/wp-content/uploads/food-allergies-and-asthma.jpg
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น