มีซองคำถามจากแม่อุ๋ย คุณแม่แอร์สวยปริ้ด กะลูกชายน้องฮีโร่ ถามมาว่า ทำไมเมือลูกน้อยซึ่งเป็นโรคภูมิแพ้มาก่อนแล้ว แต่จะแย่มาก ถ้าเวลาเป็นหวัดจะคัดจมูก น้ำมูกก้อไหลเยอะมาก น้องเขาจะหายใจไม่ออก ทรมานมากแต่เมื่อไปหาหมอแล้ว ทำไมจึงได้รับจ่ายยาพ่นในกลุ่ม Steroids ที่เป็นยาแก้อักเสบหล่ะ และถ้าใช้ไปนานๆจะเกิดอันตรายไหม?
ทำไมต้องใช้ ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูก?
ในเด็กหรือคนไข้ ที่มีอาการของโรค allergic rhinitis เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบในเยื่อบุจมูก โดยเป็นผลจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ของตัวน้องเขาเองที่ตอบสนองต่อสารแปลกปลอมที่ก่อภูมิแพ้ ความจริงแล้วน้องเขาจะได้รับยาหลายกลุ่ม แต่เพื่อลดอาการอักเสบที่จมูกบวม ทางเดินหายใจตีบตัน แพทย์จะพิจารณาสั่งจ่ายยาต้านการอักเสบ เป็นยาตัวแรกๆที่เลือกมาใช้ในการรักษา เพื่อลดอาการจาม คัน คัดจมูกหรือน้ำมูกไหล ที่รุนแรงอย่างมากจนไปรบกวนความสุขของชีวิตประจำวัน
ดังนั้นเราจึงเลือกใช้ยาต้านการอักเสบที่อยู่ในรูปแบบ ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูก ซึ่งมีหลายสูตร หลายชนิด ถ้าคุณแม่หยิบขวดมาดูจะพบว่าได้แก่ยาที่มีตัวยาออกฤทธิ์ดังต่อไปนี้
• Beclomethasone propionate
• Budesonide
• Fluticasone propionate
• Mometasone furoate และ ..
• Triamcinolone acetonide
จะเลือกใช้ตัวไหนหล่ะ?
จริงๆแล้ว ในมุมมองของเภสัชกร ยาแต่ละตัวดังกล่าวจะแตกต่างกันในด้านความแรง potency และความสามารถในการดูดซึมไป
ออกฤทธิ์ (pharmacokinetics และ pharmacodynamics) แต่จากการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการรักษาโรค allergic rhinitis ด้วยยาชนิดต่างๆ พบว่าได้ผลไม่แตกต่างกันอย่างชัดเจนเมื่อได้นำไปใช้จริงๆกับคนไข้ ดังนั้นการที่เราจะเลือกใช้ยาพ่นจมูกตัวไหน พอจะมีหลักดังนี้
1. คุณแม่ควรไปหาหมอ ตรวจอาการยืนยันให้แน่ชัดเสียก่อนว่าเป็นโรค allergic rhinitis ไม่ใช่โรคหวัดธรรมดาทั่วๆไป เนื่องจากต้องใช้ยาตัวนี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
2. เลือกใช้ยาตัวที่เหมาะกับพฤติกรรมการดำรงชีวิตประจำวันของคนไข้ เช่น ถ้าเราเลือกใช้ ยาที่ใช้พ่นได้วันละครั้ง จะช่วยเพิ่มความสดวกสบายในการรักษา ไม่ต้องพ่นบ่อย ถ้าเป็นเด็กควรเลือกใช้ยาให้เหมาะกับอายุ เช่น mometasone อายุมากกว่า 2 ปี fluticasone และ triamcinolone อายุ 4 ปีขึ้นไป budesonide และ beclomethasone อายุ 6 ปีขึ้นไป
3. กลิ่นและรสชาติของยาพ่น อันนี้สำคัญมาก เพราะน้องเขาต้องใช้ยาพ่นต่อเนื่องและยาวนาน หากรสชาติหรือกลิ่นที่ไม่ชอบ คนไข้จะหลีกเลี่ยงการรักษาได้ ทำให้ได้ยาไม่ครบได้
4. ราคายา เนื่องจากยาทุกตัวในกลุ่มนี้มักเป็นยาต้นแบบ Original และรูปแบบยาต้องใช้เครื่องมือการพ่นที่ต้องมีความแม่นยำในการปลดปล่อยยา ราคายาในกลุ่มนี้มักมีราคาค่อนข้างสูง ควรเลือกใช้ให้เหมาะกับอำนาจการจับจ่ายของคนไข้
5. ถ้าคนไข้เคยใช้ยาตัวไหนแล้วได้ผลดีมาก่อน ควรเลือกใช้ยาตัวเดิม เนื่องเพราะการตอบสนองต่อยาในแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน
แล้วควรจะใช้นานแค่ไหน?
เมื่อได้รับคำวินิจฉัยและได้รับยามาแล้ว เรามักแนะนำให้เริ่มใช้ยาไปนาน 2-4 สัปดาห์ แล้วนัดมาติดตามอาการ หากยังไม่สามารถควบคุมอาการ ก้อจะแนะนำให้ปรับยาตามสภาพปัญหาและการตอบสนองของคนไข้แต่ละรายๆ ไป เช่น อาการดีขึ้นแต่ยังไม่หาย ก็แนะนำให้ผู้ป่วยพ่นต่ออีก 1 เดือน ถ้าอาการดีขึ้นมากจนแทบจะไม่มีอาการแล้วควรให้หยุดยาพ่น
ที่สำคัญมากกว่านั้นคือคุณแม่เองต้องพยายามสังเกตุดูว่า อะไรคือสาเหตุของอาการแพ้และหาทางหลีกเลี่ยง หรือกำจัดสารก่อภูมิแพ้ออกไปจากสภาพแวดล้อมของการใช้ชีวิตของน้องเขาเองจะดีกว่า บางครั้งน้องอาจจะได้รับยาเพิ่มเติมในกลุ่มแก้แพ้ antihistamine หรือยาขยายทางเดินหายใจป้องกันอาการหอบหืดเป็นครั้งคราว บางครั้งอาการดีขึ้นก้อค่อยๆผ่อนยาลงไปตามแพทย์แนะนำ หรือถ้ามีอาการกลับมาเป็นใหม่ก็ค่อยเริ่มยาพ่นใหม่ได้
หากผู้ป่วยที่ไม่ดีขึ้นจากการพ่นยา อาจพิจารณาเปลี่ยนชนิดยาพ่นตัวใหม่แล้วทดลองใช้ต่อไปอีก 1-2 เดือน สุดท้าย ถ้ายังไม่ดีขึ้นจริงๆ ควรส่งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ เพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมทั้งด้านโรคภูมิแพ้และสาเหตุอื่นๆ ที่อาจจะเกิดร่วม จะได้ให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไปครับ
อยากทราบทุกคำตอบของเรื่องยา กรุณาส่งซองคำถามของคุณมาได้ที่อีเมล์ utaisuk@gmail.com หรือแวะไปที่ Facebook “UTAI SUKVIWATSIRIKUL” หรือ “PHARMATREE” ยินดีตอบรับทุกท่านครับ
แหล่งข้อมูล
•เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล สงวนลิขสิทธิ์ 13 มค. 2555
E-mail: utaisuk@gmail.com Facebook: “UTAI SUKVIWATSIRIKUL
ห้ามนำบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ โดยผู้เขียนไปเผยแพร่เชิงพาณิชย์ ให้นำไปเผยแพร่เป็นวิทยาทานหรือเพื่อการศึกษาเท่านั้นผู้ประกอบการเว็บไซต์ต้องยึดหลักความเคารพและคำนึงถึงลิขสิทธิ์ในการสร้างสรรค์งานเขียนและจริยธรรมทางธุรกิจ
การนำเอาบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ ซึ่งผลิตขึ้นโดยผู้เขียนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตและผลิตซ้ำเพื่อเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาและ Copy url address ไปด้วยเพื่อให้ผู้อ่านสามารถลิ้งค์กลับมาอ่านบทความจากเว็บไซต์ ของผู้เขียนได้โดยตรง
บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพ ไม่แนะนำให้คุณนำไปใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรคด้วยตนเอง ขอความกรุณารับคำปรึกษาได้โดยตรงจากเภสัชกรร้านยาใจดีที่พร้อมดูแลสุขภาพพ่อแม่พี่น้องนะครับ
รูปประกอบจากเว็บไซต์
http://pediatrics.about.com/od/asthma/ig/Asthma-Photo-Gallery/Pulmicort-Turbuhaler.htm
http://www.hkapi.hk/medicine_detail.asp?mid=638
http://drugster.info/drug/medicament/2851/
http://redgum.bendigo.latrobe.edu.au/~a3huynh/fluti.html
http://www.4cnrs-asthma-allergy.com/nasonex.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น