วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

ปวดหลัง ปวดคอเรื้อรัง รักษาอย่างไร? จะได้ไม่ปวดอีก

อาการปวดหลัง หรือ ปวดคอ อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนในช่วงหนึ่งของชีวิต หลายรายโชคดีที่อาการปวดนั้นเป็นอยู่ไม่นานก็หายไป ขณะที่ผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยมีอาการเรื้อรังจนไม่สามารถทำกิจกรรมระหว่างวันได้ตามปกติ 


สาเหตุแห่งความปวด
         อาการปวดหลัง ปวดคอ มาจากปัจจัยภายในร่างกายของผู้ป่วย และปัจจัยภายนอก
 
 - ปัจจัยภายใน ได้แก่ ความผิดปกติทางพยาธิสภาพของกระดูกสันหลัง อาทิ หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกสันหลังเคลื่อน กระดูกสันหลังคดงอผิดปกติ มีเนื้องอกที่กระดูกสันหลัง หรือการติดเชื้อของกระดูกสันหลัง

 - ปัจจัยภายนอก ได้แก่ กิจกรรมทางร่างกายของผู้ป่วย นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกยังอาจเกิดจากท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น การนั่งอยู่ในท่าเดิมนานๆ การนั่งหลังไม่พิงพนัก หลังงอ ก้มคอ ทำงานเป็นเวลานาน กิจกรรมเหล่านี้สร้างความเครียดให้กระดูกหลังและคอ เมื่อเกิดขึ้นซ้ำๆ ทำให้กระดูกเสื่อมลง จนมีอาการปวดหลัง ปวดคอเรื้อรังในที่สุด
          ส่วนอุบัติเหตุที่ส่งผลต่อกระดูกมีอยู่บ้าง เช่น เล่นกีฬาบิดแรงจนหมอนรองกระดูกฉีกทันที แต่เกิดขึ้นน้อย บางรายมาพบแพทย์เพราะเข้าใจว่าอาการปวดเป็นเพราะอุบัติเหตุ แต่เมื่อตรวจดูพบว่า ความเสื่อมของกระดูกมีอยู่แล้ว แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เกิดอาการปวดตามมา

ปวดอย่างไร...
          ผู้ป่วยจะมีอาการปวดจากส่วนใดส่วนหนึ่งก่อน แล้วลามไปยังบริเวณอื่น เช่น ปวดคอร้าวไปยังแขน หรือปวดหลังร้าวลงขา กรณีแบบนี้ต้องรีบมาพบแพทย์ เพราะเป็นสัญญาณว่าเส้นประสาทกำลังถูกรบกวน

ปวดเรื้อรัง รักษาได้
          หลายคนอาจเกิดคำถามตามมาว่า เมื่อพักผ่อนก็แล้วรับประทานยาก็แล้ว ทำกายภาพบำบัดก็แล้ว ก็ยังไม่หาย จะมีทางเลือกในการรักษาอย่างไร ทางเลือกในการรักษาอีกหลายวิธี แต่ 3 วิธีที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นวิธีการรักษาอาการปวดหลัง ปวดคอเรื้อรังที่ได้ผลดี และยังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด

รูปประกอบ: การฉีดยาเฉพาะจุดเพื่อลดการอักเสบ 
http://www2.thaipr.net/health/371777
1.การฉีดยาเฉพาะจุดเพื่อลดการอักเสบ (Local Steriod Injection)

          วิธีนี้เป็นการรักษาอาการปวดหลังเรื้อรังโดยไม่ต้องผ่าตัด เหมาะสำหรับคนไข้ที่รับประทานยา และทำกายภาพบำบัดแล้วอาการไม่ดีขึ้น แต่เมื่อตรวจโดยการเอกซเรย์เอ็มอาร์ไอแล้วพบว่า สภาพของกระดูกสันหลังยังไม่เสื่อมจนต้องผ่าตัด หลังจากการฉีดยาระงับการอักเสบแล้งฤทธิ์ยาจะอยู่ไปได้ 1-3 เดือน และอาจกลับมาปวดใหม่ได้ตลอด หากผู้ป่วยไม่ปรับเปลี่ยนท่าทางและออกกำลังกายอย่างถูกต้อง
รูปประกอบ:การผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยการส่องกล้อง
http://www.articlesnatch.com/Article/Indian-Surgeons-Gets-Awards-For-Their-Excellent-Work-In-Micro-Endoscopic-Discectomy/1644325
2.การผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยการส่องกล้อง (Endoscopic Spine Surgery)

          การผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยการส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดเพื่อนำหมอนรองกระดูกสันหลังที่มีปัญหาออก โดยใช้กล้องขนาดเล็กเพื่อลดอาการปวดหลังเรื้อรังอันเนื่องมาจากหมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาท หรือโพรงกระดูกสันหลังตีบทับเส้นประสาท
วิธีการนี้เป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็กซึ่งทักษะของแพทย์มีความสำคัญมากไม่แพ้เครื่องมือ 


รูปประกอบ: การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกสันหลังเทียม http://www.marshfieldclinic.org/patients/?page=cattails_2006_julaug_diskimage
3.การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกสันหลังเทียม (Artificial Disc Replacement)

          การผ่าตัดโดยวิธีนี้เป็นการเปลี่ยนหมอนรองกระดูกสันหลังเดิมที่เสื่อมหรือบาดเจ็บโดยใช้หมอนรองกระดูกเทียม มักจะทำกันที่คอเพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกข้อถัดไปเสื่อมเร็วขึ้น เพราะแต่เดิม เมื่อหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม ก็จะมีการผ่าออกและเชื่อมข้อไว้ด้วยกัน แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ ข้อกระดูกชิ้นถัดไปต้องทำงานหนักกว่าเดิม และเสื่อมเร็วขึ้น
          แม้เทคนิคในการรับมือกับความผิดปกติของกระดูกสันหลังจะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้กระดูกสันหลังเสื่อม จนเป็นที่มาของอาการปวดหลัง ปวดคอเรื้อรังก็ยังเป็นเรื่องเดิมๆ นั่นคือ ท่าทางที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งภายหลังจากการรักษาผู้ป่วยจำเป็นต้องออกกำลังเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังพร้อมกับปรับเปลี่ยนอิริยาบทให้ถูกต้อง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้อาการปวดกลับมาอีก

แหล่งข้อมูล
นพ.วิวัฒน์ ชวาลภาฤทธิ์ , 

รู้ทัน...อาการปวดหลัง ปวดคอเรื้อรัง, 

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านออร์โธปิดิกส์
โรงพยาบาลไทยนครินทร์ 
http://www.komchadluek.net/detail/20120103/119264/รู้ทันอาการปวดหลังปวดคอเรื้อรัง.html

รูปประกอบจาก
http://www.fisho.com/blog/pig/blog.php?id=4811

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น