วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สังเกตอาการเบื้องต้นโรคไข้เลือดออกของลูกรัก ด้วยตัวคุณแม่เอง

คาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข  ปี 2556 โรคไข้เลือดออกจะระบาดรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา ท่าจะเป็นจริงเสียแล้ว เพราะจากรายงานของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 15 พ.ค. พบจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมรวม 30,886 ราย เสียชีวิต 36 ราย กว่าร้อยละ 50 เป็นเด็กวัยเรียน จำนวนผู้ป่วยสูงกว่าปี 2555 กว่า 3 เท่าตัว 

เรามีคำแนะนำจาก  ศ.คลินิก พญ.ศิริเพ็ญ กัลยาณรุจ ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านโรคไข้เลือดออก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มาให้คำแนะนำการดูแลว่าลูกรักของเราจะมีโอกาสเป็นโรคร้ายหรือไม่ ดังนี้ 

อาการเบื้องต้นโรคไข้เลือดออก
       โดยลักษณะอาการนั้นจะมีไข้สูงลอย 2-7 วัน มักไม่มีอาการไอ ไม่มีน้ำมูกไหล อาจมีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีผื่นแดงตามร่างกาย มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟันผิดปกติ หรือเด็กบางรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจมีอาการช็อก ซึ่งสังเกตได้ยาก เนื่องจากยังรู้สติดีอยู่ แต่จะดูอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ข้อสังเกตคืออาการช็อกจะตรงกับวันที่ไข้ลง หรือไข้ต่ำลง


วิธีสังเกตอาการเบื้องต้นโรคไข้เลือดออก หากเฝ้าสังเกตและพบเห็นอาการบ่งชี้ว่า อาจเป็นอาการนำของภาวะช็อกควรรีบนำตัวเด็กเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญอย่างเร่งด่วน ซึ่งมีทั้งหมด 9 อาการด้วยกัน ดังนี้
     
       1. ไข้ลงหรือไข้ลดลงแต่ยังไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ อาทิ เบื่ออาหาร ไม่ค่อยเล่น และอ่อนเพลีย
     
       2. คลื่นไส้ อาเจียน ตลอดเวลา
     
       3. ปวดท้องมาก
     
       4. มีเลือดออกมาก เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ
     
       5. พฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนไปจากปกติ
     
       6. กระหายน้ำตลอดเวลา
     
       7. ร้องกวนมากในเด็กเล็ก
     
       8. ตัวเย็นชื้น สีผิวคล้ำลง หรือตัวเป็นลายๆ

รูปประกอบ: จุดเลือด ตามผิวหนัง
     
       
9. ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ถ่ายปัสสาวะนานเกิน 4-5 ชั่วโมง


วิธีในการเตรียมความพร้อมก่อนไข้เลือดออกระบาดหนัก 
ต้องช่วยกันกำจัดยุงลายซึ่งเป็นแหล่งแพร่เชื้อไข้เลือดออก 


  • ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามภาชนะที่มีน้ำขังที่อยู่ในบ้านหรือรอบๆ บ้าน 
  • รวมถึงต้องป้องกันและดูแลเด็กให้ห่างไกลโรคไข้เลือดออกด้วย โดยการใส่เสื้อผ้าแขนยาวและกางเกงขายาว หรือนอนหลับในห้องที่ติดมุ้งลวดมิดชิด 
  • ทาสารกันยุงที่ปลอดภัย เช่น ตะไคร้หอม 
  • ระดับครัวเรือนควรกำจัดแหล่งน้ำขังตามสถานที่ต่างๆ อาทิ อุปกรณ์ในครัวเรือนและอุปกรณ์ซักล้างควรคว่ำหรือปิดฝาให้เรียบร้อย เปลี่ยนน้ำรองขาโต๊ะหรือในแจกันทุกสัปดาห์ หรือผสมเกลือ 
  • หรือตรวจสอบรอบบริเวณบ้าน รางระบายน้ำบนหลังคาว่ามีแอ่งขังน้ำหรือไม่ 
  • และการป้องกันในระดับชุมชน ต้องร่วมมือกันในการรณรงค์กำจัดแหล่งน้ำขังภายในชุมชนปีละ 2-3 ครั้ง หรือพ่นยาฆ่าแมลงในเขตชุมชนปีละ 2-4 ครั้ง เป็นต้น

       
 ลงมือทำเถิดครับ เพื่อป้องกันเด็กน้อยและผู้ใหญ่ ให้ห่างไกลจากโรคไข้เลือดออกนี้

แหล่งข้อมูล 

เช็ก 9 สัญญาณอันตราย ก่อนโรคไข้เลือดออกระบาด, http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000062759

รูปประกอบ 
http://www.lampangcity.go.th/detail_news_infomation.php?id=2758

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น