วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

ลูกน้อยเป็นไข้ ใช้ยาอย่างไรจึงปลอดภัย โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล


หน้าฝนมาแล้ว น้ำท่วมจะมามั้ยใครจะรู้ แต่หากลูกรักของเราเป็นหวัดตัวร้อน คุณแม่ที่ใส่ใจมักจะสังเกตอาการป่วยเริ่มต้นโดย จับตัวลูกรัก แล้วก็พบว่า ลูกเรามีอาการ "ตัวร้อน" น่าจะป่วยซะแล้ว มาฟังคำแนะนำในการใช้ยาลดไข้ จากเภสัชกรร้านยาเพื่อดูแลลูกน้อยที่มีอาการไข้ดีไหมครับ

จะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกเรามีอาการไข้ ?
 โดยปกติอุณหภูมิในร่างกายของเรา จะเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาต่างๆ ของวันคือช่วงบ่ายและค่ำร่างกายจะมีอุณหภูมิสูงกว่าช่วงเช้า แต่ในคนปกติจะมีอุณหภูมิวัดโดยปรอททางปากเท่ากับ 37.5 องศาเซลเซียส หรือ 99.5 องศาฟาเรนไฮต์ หรือวัดด้วยปรอททางรักแร้เท่ากับ กับ 37 องศาเซลเซียส หรือ 98.6 องศาฟาเรนไฮต์

คุณแม่สังเกตได้ว่าเด็กเมื่อมีไข้จะมีอุณหภูมิในร่างกายสูงกว่าปกติ ลองสัมผัสจับตัวดูจะพบว่าตัวร้อนผิดปกติ การวัดอุณหภูมิที่แน่นอนขอแนะนำให้ใช้ปรอทวัดไข้ หากอุณหภูมิของร่างกายลูกสูงกว่าตัวเลขที่ระบุไว้ แสดงว่าลูกน้อยเริ่มมีไข้แล้ว ไม่ควรใช้มือเปล่าหรือความรู้สึกวัด เพราะมือของคุณแม่เองอาจสัมผัสสิ่งของที่ร้อนหรือเย็นมากมาก่อนหรืออยู่ในห้องที่ร้อนเย็นมากกว่าปกติ พอสัมผัสผิวเด็กก็อาจไม่ตรงกับอุณหภูมิที่เป็นจริงได้ ดังนั้นการใช้ปรอทวัดไข้จะแม่นยำกว่า จะเลือกใช้แบบแท่งดั้งเดิม หรือจะเลือกใช้แบบแผ่นคาดศีรษะ หรือแบบส่องหูก็ตามฐานานุภาพครับ

ถ้าต้องใช้ยาลดไข้ มีหลักการเลือกใช้อย่างไรบ้าง ?
หลังจากคุณแม่ได้นำตัวลูกไปพบแพทย์หรือเภสัชกรแล้ว หากจำเป็นต้องเลือกใช้ยาลดไข้โดยทั่วไป ปัจจุบันจะเลือกใช้สูตรยาลดไข้เป็นตัวยาพาราเซตตามอลเป็นอันดับแรกๆ เนื่องจากให้ผลการลดไข้ดีพอควร และมีความปลอดภัย โดยเรามีคำแนะนำในการเลือกใช้ยาดังต่อไปนี้

1. รูปแบบของยา

รูปแบบที่แตกต่างกันของยามีความเหมาะสมสำหรับการใช้ยาในเด็กแต่ละวัยและสภาพของการเจ็บป่วยของเด็ก ยาน้ำจะสะดวกต่อเด็กทุกวัย ส่วนยาเม็ดจะเหมาะกับเด็กอายุตั้งแต่ 4 ขวบขึ้นไป และไม่เหมาะกับเด็กเล็ก เพราะจะทำให้ติดคอได้

2. ปริมาณของตัวยา

* ยาน้ำเชื่อมทั่วไป จะมีปริมาณของตัวยาเท่ากับ 120 มิลลิกรัม ต่อ 5 ซีซี หรือ 1 ช้อนชา

* ยาน้ำเชื่อมแบบชนิดแขวนตะกอน จะมีปริมาณของตัวยาเท่ากับ 120 มิลลิกรัม และ 160 มิลลิกรัม ต่อ 5 ซีซี หรือ 1 ช้อนชา

* ยาน้ำเชื่อมแบบหยด จะมีปริมาณของตัวยาเท่ากับ 10 มิลลิกรัม ต่อ 0.1 ซีซี

* ยาเม็ดสำหรับเด็ก ใน 1 เม็ด จะมีปริมาณของตัวยาเท่ากับ 325 มิลลิกรัม เป็นต้น

3. ส่วนผสม

ยาน้ำเชื่อมทั่วไปรวมทั้งยาน้ำเชื่อมแบบหยดจะเป็นยาที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสมในปริมาณสูง เพื่อช่วยในการกลบรสขมของยา จึงอาจมีผลทำให้เด็กฟันผุได้ง่ายและไม่เหมาะกับเด็กที่มีน้ำหนักตัวมาก ในปัจจุบันได้มีการเลือกใช้สารให้ความหวานตัวใหม่ๆ เช่น ฟรุคโตส คอร์น ไซรัป สามารถกลบรสขมของยาได้ดีกว่าจึงช่วยให้เด็กรับประทานยาได้ง่ายขึ้น และยาลดไข้ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ไม่ควรมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ คุณแม่สามารถขอแนะนำจากเภสัชกรให้เลือกใช้ยาน้ำสูตรไร้แอลกอฮอล์ Free Alcohol

ขนาดของยาที่ใช้ในเด็ก
 การให้ยาลดไข้เด็กคำนึงถึงหลัก 2 ประการคือ อายุและน้ำหนักตัวของลูก แต่วิธีที่เหมาะสมให้ผลการลดไข้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพคือ ให้เด็กได้ยา 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตัวอย่างเช่นถ้าลูกหนัก 10 กิโลกรัม ต้องได้รับยาขนาด 100-150 มิลลิกรัมต่อครั้ง หากไม่ทราบน้ำหนักตัว ก็ใช้การคำนวณขนาดยาตามอายุของเด็ก ตัวอย่างเช่น เด็กอายุตั้งแต่ 1-6 ปี ให้พาราเซตามอล 1-2 ช้อนชา หากไม่มั่นใจให้สอบถามวิธีการให้ยากับเภสัชกรใจดีได้เลยครับ ไม่ควรให้ยาเองเพราะหากเด็กได้รับยาเกินขนาด อาจเป็นอันตราย ต่อตับและไตได้

เวลาการให้ยา ให้อย่างไร ?
 การให้ยาที่ถูกต้องคือทุกๆ 4-6 ชั่วโมง เมื่อหายไข้ให้หยุดยาได้ ตัวพาราเซตามอลเองจะออกฤทธิ์ได้ค่อนข้างช้า ไข้จะลดลงภายหลังรับประทานยาประมาณครึ่งชั่วโมง ระหว่างรอให้ยาออกฤทธิ์ ควรระมัดระวังไม่ให้ไข้ขึ้นสูงเกินขนาด ด้วยการหมั่นเช็ดตัวบ่อยๆ

หากให้ยาและเช็ดตัวให้แล้วอาการไข้ของลูกยังไม่ลดลง ไม่ควรให้ยาเกิน 5 ครั้งต่อ 1 วัน หรือทำซ้ำอยู่เช่นนั้นเพื่อหวังให้ไข้ลดลง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อตับ และไตจนทำให้เด็กเสียชีวิตได้ ในกรณีเช่นนี้คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์โดยด่วน 


มียาตัวอื่นอีกไหม ที่ลดไข้เด็กได้ ?
 นอกจากพาราเซตามอลแล้ว ยังมียาลดไข้อีกหลายตัวที่ได้ผลดี เช่น แอสไพริน และไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) ยาทั้งสองมีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อนๆ ซึ่งอาจจะมีผลระคายเคืองทางเดินอาหารของเด็กได้ และแอสไพรินเองก็มีข้อควรระวังในการใช้ในหลายกรณี ที่พบบ่อยคือห้ามใช้ในเด็กที่มีอาการไข้เลือดออก แต่ทั้งคู่ให้ผลในการลดไข้ได้เร็วกว่าพาราเซตามอล 

สุดท้าย อย่าเลือกใช้ยาเองหากไม่แน่ใจ เพราะจะเสี่ยงต่อสุขภาพน้องจะแย่ลง แถมไข้ยังไม่หายอีกด้วย คุณแม่ที่รักครับ หากมีปัญหาเรื่องยา ง่ายที่สุดคือไปร้านยาที่มีเภสัชกรใจดี พวกเราพร้อมให้คำแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัวของคุณแม่เสมอครับ


แหล่งข้อมูล
เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล สงวนลิขสิทธิ์ 11 กย. 2555 
E-mail: utaisuk@gmail.com Facebook: “UTAI SUKVIWATSIRIKUL
ห้ามนำบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ โดยผู้เขียนไปเผยแพร่เชิงพาณิชย์ ให้นำไปเผยแพร่เป็นวิทยาทานหรือเพื่อการศึกษาเท่านั้นผู้ประกอบการเว็บไซต์ต้องยึดหลักความเคารพและคำนึงถึงลิขสิทธิ์ในการสร้างสรรค์งานเขียนและจริยธรรมทางธุรกิจ
การนำเอาบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ ซึ่งผลิตขึ้นโดยผู้เขียนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตและผลิตซ้ำเพื่อเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาและ Copy url address ไปด้วยเพื่อให้ผู้อ่านสามารถลิ้งค์กลับมาอ่านบทความจากเว็บไซต์ ของผู้เขียนได้โดยตรง
บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพ ไม่แนะนำให้คุณนำไปใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรคด้วยตนเอง ขอความกรุณารับคำปรึกษาได้โดยตรงจากเภสัชกรร้านยาใจดีที่พร้อมดูแลสุขภาพพ่อแม่พี่น้องนะครับ

และ


ลูกรักเป็นไข้ ทำอย่างไรดี โดย เภสัชกรอุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล, http://utaisuk.blogspot.com/2011/09/blog-post_23.html

ไข้หวัด: จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกป่วย? โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล,

ไข้อีดำอีแดง รู้จักเพื่อป้องกันลูกรัก โดยเภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล,

ใช้ยาลดไข้ในเด็กอย่างปลอดภัย โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล,

“คลอร์เฟนิรามีน รักษาหวัดและภูมิแพ้สำหรับลูกน้อยและตัวคุณเอง โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล, http://www.oknation.net/blog/DIVING/2010/07/18/entry-1

ลูกน้อยมีอาการแพ้ น้ำมูกไหล ควรใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัยและได้ผล โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล, http://www.oknation.net/blog/DIVING/2010/07/17/entry-1

ให้ยาเด็กอย่างปลอดภัยและได้ผลการรักษา โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล,

A Kid's Guide to Fever,







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น