พรุ่งนี้ ใครที่รับราชการจนถึงวัยเกษียณ คงแปลกๆไป เมื่อตื่นแต่เช้า
แล้วไม่ต้องไปทำงานอีก ...แต่สำหรับวงการค้าปลีก วันนี้ หรือวันไหนๆ
ยักษ์ใหญ่ก้อก้าวเข้าตลอดเวลา และแน่นอนร้านยาคือธุรกิจหลักที่ใครๆก้อหวังโตเป็นยักษ์ร้านยาไทยเช่นกัน
เรามาดูกันไหมว่า ยักษ์ค้าปลีกทุกขาใหญ่กว้าน
hypermarket ในจุดยุทธศาสตร์ใหญ่ๆ ครบทุกจังหวัดและหัวเมืองสำคัญไปกันหมดแล้ว
ยังไม่อิ่มเอมแต่ละยักษ์มองตากันก้อรู้ว่า ถึงเวลาปูพรมลงมาฮุบร้านสะดวกซื้อเพื่อยึดพื้นที่ทุกตรอกซอกซอย
แน่นอนในรูปแบบร้านย่อย ย่อมมีร้านยา เวชสำอาง ของใช้ส่วนตัว หรือที่เรียกกันว่า specialty store หรือ category killer store แน่นอนที่สุด แล้วร้านยาเล็กๆ จะเข้าใจเกมส์แห่งอำนาจค้าปลีก นี้ได้อย่างไร เรามีบทวิเคราะห์ คอนวีเนียนสโตว์ ปี56 ใหญ่ฟัดใหญ่ มาสรุปให้เห็นกลยุทธและการปรับทิศทางธุรกิจว่าใครจะมา แรงแค่ไหน อย่างไร เชิญตามไปทัศนา เพื่อเรียนรู้และเอาตัวรอด
คอนวีเนียนสโตร์ ปี2556 “ใหญ่ฟัดใหญ่”
แน่นอนในรูปแบบร้านย่อย ย่อมมีร้านยา เวชสำอาง ของใช้ส่วนตัว หรือที่เรียกกันว่า specialty store หรือ category killer store แน่นอนที่สุด แล้วร้านยาเล็กๆ จะเข้าใจเกมส์แห่งอำนาจค้าปลีก นี้ได้อย่างไร เรามีบทวิเคราะห์ คอนวีเนียนสโตว์ ปี56 ใหญ่ฟัดใหญ่ มาสรุปให้เห็นกลยุทธและการปรับทิศทางธุรกิจว่าใครจะมา แรงแค่ไหน อย่างไร เชิญตามไปทัศนา เพื่อเรียนรู้และเอาตัวรอด
คอนวีเนียนสโตร์ ปี2556 “ใหญ่ฟัดใหญ่”
ยักษ์ค้าปลีกฟันธง
"คอนวีเนียนสโตร์" ปี 56 แข่งดุ หลังเซ็นทรัลทุ่มกว่า 3
พันล้านฮุบแฟมิลี่ มาร์ท พร้อมเดินหน้าขยายเพิ่ม 3 พันแห่งในปี 64
"เซเว่น" มั่นใจกระตุ้นตลาดโตแบบก้าวกระโดด ด้าน "บิ๊กซี"
เร่งรับมือทุ่มเฉียดพันล้านผุด 120 แห่ง ขณะที่สมาคมผู้ค้าปลีกเผยครึ่งปีแรกโตแล้ว
17.7%
ตามที่ "ฐานเศรษฐกิจ" ฉบับวันที่
30 สิงหาคม - 1 กันยายน 2555 ได้นำเสนอข่าว "เซ็นทรัลคว้าแฟมิลี่ มาร์ท
เขี่ยเบอร์ลี่ฯคุมไลเซนส์ โหมธุรกิจร้านสะดวกซื้อ" ล่าสุดช่วงค่ำวันที่ 24
กันยายน ที่ผ่านมา "แฟมิลี่ มาร์ท" ประเทศญี่ปุ่น
เจ้าของลิขสิทธิ์ร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่ มาร์ท ประกาศขายหุ้นของบริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท
จำกัด จำนวน 50.29% หรือคิดเป็นมูลค่า 7.8 พันล้านเยน หรือประมาณ 3.094 พันล้านบาท
ให้กับบริษัทเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือซีอาร์ซี
บริษัทในกลุ่มเซ็นทรัล
ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พร้อมวางแผนที่จะเพิ่มจำนวนร้านสะดวกซื้อในไทย 2 เท่าตัว หรือ 1.5 พันร้าน ภายใน 5
ปีนับจากนี้ ซึ่งจะส่งผลให้มีร้านแฟมิลี่มาร์ท 3 พันแห่งภายในปี 2564
ถือเป็นการประกาศสงครามร้านสะดวกซื้อหรือคอนวีเนียน สโตร์ในเมืองไทย
โดยมีทัพขุนพลของเซ็นทรัล กรุ๊ป เป็นผู้ขับเคลื่อน
ดึงแฟมิลี่ มาร์ทเพิ่มอำนาจต่อรอง
แหล่งข่าวระดับสูงในวงการค้าปลีก กล่าวว่า
การที่กลุ่มเซ็นทรัลเข้าถือหุ้นในร้านแฟมิลี่ มาร์ท
ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของร้านแฟมิลี่ มาร์ท
และรวมถึงธุรกิจร้านสะดวกซื้อในเมืองไทย
ซึ่งแน่นอนว่าการที่เซ็นทรัลยอมทุ่มเงินกว่า 3 พันล้านบาทเข้าถือหุ้นแฟมิลี่
มาร์ทเพราะมองเห็นถึงศักยภาพของร้านแฟมิลี่ มาร์ท
และโอกาสในการเติบโตของธุรกิจร้านสะดวกซื้อซึ่งเป็นโมเดลค้าปลีกที่มีการเติบโตสูงเป็นตัวเลข
2 หลักอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แตกต่างจากร้านค้าปลีกประเภทอื่นๆ
จุดได้เปรียบที่เซ็นทรัลจะใช้ขับเคลื่อนในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ
คือ จำนวนสาขาที่แฟมิลี่ มาร์ท ครอบครอง ซึ่งมีอยู่กว่า 700 แห่งทั่วประเทศ
และล้วนอยู่ในทำเลที่ดี เพราะสาขาส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชน
รวมทั้งการมีสาขาที่เพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าตัวเมื่อนับรวมกับร้านท็อปส์ เดลี่
ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 119 แห่ง (ท็อปส์ เดลี่
เป็นร้านสะดวกซื้อภายใต้การดูแลของบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด
ในเครือเซ็นทรัลเช่นกัน) จะทำให้กลุ่มเซ็นทรัล
มีอำนาจในการต่อรองเรื่องของสินค้าและราคามากขึ้น
โดยเฉพาะการสั่งซื้อสินค้าในปริมาณมาก
จากผู้ผลิตและซัพพลายเออร์ ทำให้สามารถทำราคาได้ต่ำสุด และมีมาร์จินสูงสุด
ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในธุรกิจร้านสะดวกซื้อเพราะปัจจุบันจะพบว่าร้านสะดวกซื้อมีการแข่งขันที่รุนแรง
ทำให้ต้องหันมามุ่งเน้นการบริการและจำหน่ายสินค้าในราคาถูก
ส่งผลให้มาร์จินต่อหน่วยต่ำมาก การที่ผู้ประกอบการจะได้กำไรจึงต้องมีระบบการบริหารจัดการเพื่อให้มีต้นทุนต่ำสุด
++ เซ็น MOU 27 กย.นี้
ทั้งนี้การที่เซ็นทรัลเข้าถือหุ้นในร้านแฟมิลี่
มาร์ทนั้น เชื่อว่ากลุ่มเซ็นทรัล
จะต้องทำการปรับโครงสร้างการบริหารในกลุ่มค้าปลีกใหม่
ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของนายทศ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่เตรียมจัดแถลงข่าว
พร้อมเซ็นสัญญาลงนาม (MOU) ร่วมกับผู้บริหารของบริษัท แฟมิลี่ มาร์ท ประเทศญี่ปุ่น
ขึ้นในวันที่ 27 กันยายน 2555 ที่โรงแรม เดอะ เซนต์รีจิส กรุงเทพฯด้วย
โดยเบื้องต้นกลุ่มเซ็นทรัล และบริษัท แฟมิลี่
มาร์ท ประเทศญี่ปุ่น ได้บรรลุข้อตกลงในการถือหุ้นบริษัท สยามแฟมิลี่ มาร์ท จำกัด
โดยซีอาร์ซี จะถือหุ้นในสัดส่วน 50.29% และแฟมิลี่ มาร์ท ญี่ปุ่น
จะเพิ่มหุ้นในสยามแฟมิลี่ มาร์ท ให้ได้ 48.20%
ด้วยการซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ จากปัจจุบันที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมด 90.41%
ในสยามแฟมิลี่ มาร์ท ประเทศไทย
ขณะที่แฟมิลี่ มาร์ท ประเทศญี่ปุ่น
มีแผนขยายธุรกิจสู่ประเทศใหญ่ๆ ในแถบอาเซียน
โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนร้านค้าให้ถึง 4 หมื่นแห่งทั่วโลกภายในเดือนกุมภาพันธ์
2564 จากปัจจุบันที่มีสาขา 9 พันแห่งในประเทศญี่ปุ่น และอีก 1.2
หมื่นแห่งในต่างประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2555)
7-11 ฟันธงโตก้าวกระโดด
ขณะที่นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว
รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
ผู้บริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่น กล่าวว่า การที่กลุ่มเซ็นทรัลเข้าถือหุ้นร้านแฟมิลี่มาร์ท
จะส่งผลให้ธุรกิจร้านสะดวกซื้อหรือคอนวีเนียน สโตร์มีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น
และส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบคอนวีเนียน
สโตร์มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด
เนื่องจากมีผู้ประกอบการรายใหญ่และมีศักยภาพในธุรกิจค้าปลีกเข้ามาดำเนินธุรกิจ
สำหรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจร้านแฟมิลี่
มาร์ทของกลุ่มเซ็นทรัลนั้น คาดว่าจะเป็นการเข้ามาบริหารร้านภายใต้แบรนด์แฟมิลี่
มาร์ทตามเดิม เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจเดิมที่มีอยู่ โดยบริหารร้านแฟมิลี่
มาร์ท ควบคู่ไปกับร้านท็อปส์ เดลี่ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของลูกค้าระหว่างแฟมิลี่
มาร์ท และท็อปส์เดลี่มีความแตกต่างกัน โดยในส่วนของท็อปส์
เดลี่มองว่าคู่แข่งในตลาดน่าจะเป็นโลตัส เอ็กซ์เพรส และมินิบิ๊กซีมากกว่า
อย่างไรก็ดี
หากกลุ่มเซ็นทรัลได้สิทธิ์ในการเข้ามาบริหารร้านแฟมิลี่
มาร์ทจริงยอมรับว่าน่ากลัวพอสมควร แม้ว่าปัจจุบันร้านแฟมิลี่
มาร์ทจะมีจำนวนสาขาที่เปิดให้บริการกว่า 700 สาขาเท่านั้น
แต่เนื่องจากกลุ่มเซ็นทรัลมีความแข็งแกร่งด้านธุรกิจค้าปลีก
จึงน่าจะทำให้ธุรกิจคอนวีเนียน สโตร์มีความคึกคักมากขึ้น
เนื่องจากร้านสะดวกซื้อขยายสาขาได้ง่ายเมื่อเทียบกับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ที่มีกฎหมายควบคุม
บิ๊กซีย้ำไซซ์เล็กแข่งเดือด
นายกุฎาธาร นาควิโรจน์
ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)
ผู้บริหารบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และร้านมินิบิ๊กซี กล่าวว่า
คาดว่าธุรกิจร้านสะดวกซื้อในปีหน้า จะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น
ทั้งจากการที่เซ็นทรัลเข้าถือหุ้นในแฟมิลี่ มาร์ท
ซึ่งจะทำให้มีการเข้ามาทำตลาดและขยายสาขาเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการรายอื่นๆ ต่างหันมาขยายสาขาที่มีขนาดเล็กเป็นหลัก
เพราะใช้เงินลงทุนน้อยกว่า สามารถเจาะเข้าถึงชุมชนได้มากกว่า และยังสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมใช้บริการร้านขนาดเล็ก
เพราะสะดวก รวดเร็ว ทำให้ร้านสะดวกซื้อมีศักยภาพและสามารถเติบโตได้อีกมาก
"การที่ผู้บริโภคนิยมเลือกซื้อสินค้าในร้านค้าขนาดเล็กเพราะสะดวก
ไม่ต้องเดินทางไกล และมีสินค้าตอบสนองความต้องการได้ทั้งสินค้า บริการ และบรรยากาศ
อีกทั้งทุกวันนี้มีทั้งการจัดโปรโมชัน
และอาหารสดเพิ่มเข้ามาทำให้หลากหลายมากขึ้น"
ทั้งนี้จุดเด่นของมินิบิ๊กซี
ที่จะใช้แข่งขันในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ คือการมีสินค้าที่หลากหลาย
โดยปัจจุบันมินิบิ๊กซี ถือเป็นร้านสะดวกซื้อที่มีจำนวนสินค้ามากที่สุดคือกว่า 4.3
พันรายการต่อสาขา
อย่างไรก็ดีปัจจุบันมีมินิบิ๊กซี
เปิดให้บริการรวม 90 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 125 แห่งในสิ้นปีนี้
และบริษัทมีเป้าหมายที่จะขยายสาขาเพิ่มเป็น 950 แห่งภายในปี 2559 ด้วย
ท็อปส์ เดลี่เร่งสปีดเพิ่ม 120 สาขา
นายอลิสเตอร์ เทย์เลอร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ผู้บริหารร้านท็อปส์ ซูเปอร์ ,ท็อปส์ มาร์เก็ต
,ท็อปส์เดลี่ และเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ กล่าวว่า
ในปีหน้าบริษัทยังคงเดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทเตรียมงบประมาณกว่า 1
พันล้านบาท ในการขยายสาขาใหม่เพิ่มขึ้นอีก 150 แห่ง โดยกว่า 80% หรือราว 120 แห่ง
เป็นร้านท็อปส์ เดลี่ ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกขนาดเล็ก
สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ดีกว่าสาขาขนาดใหญ่
ส่งผลให้ในปีหน้าบริษัทจะมีร้านท็อปส์ เดลี่รวมทั้งสิ้น 239 แห่ง
จากปัจจุบันที่มีอยู่ 119 แห่ง มียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 250 บาทต่อบิล
บทสรุป ร้านสะดวกซื้อทะยานต่อเนื่อง
จากข้อมูลของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ระบุว่า อุตสาหกรรมค้าปลีก-ค้าส่งในปี 2554
มียอดขายรวม 1.35 ล้านล้านบาท เติบโต 2.3% ขณะที่ในปี 2555 คาดว่าจะเติบโต 5.4%
โดยในปี 2552-2553 พบว่าค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อ มีการเติบโตสูงสุดคือ 19.9%
และ 19.3% ตามลำดับ รองลงมาได้แก่ ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และสเปเชียลตี สโตร์ ในปี 2554
ประเภทค้าปลีกที่มีการเติบโตสูงสุดได้แก่ ร้านสเปเชียลตี สโตร์ มีการเติบโต 12%
รองลงมาได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต และดีพาร์ตเมนต์ สโตร์
โดยร้านสะดวกซื้อมีการเติบโตเพียง 6.1% เนื่องจากเกิดวิกฤติน้ำท่วมในช่วงปลายปี
ทำให้ร้านสะดวกซื้อซึ่งมีสาขารวมกว่า 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ
ได้รับผลกระทบต้องปิดดำเนินการจำนวนมาก ขณะที่ผู้บริโภคแห่ใช้บริการร้านสเปเชียลตี
สโตร์ โดยเฉพาะในกลุ่มซ่อมแซมบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้าทำให้มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างมาก
ขณะที่ในครึ่งปีแรกของปี 2555 พบว่า ค้าปลีกประเภทสเปเชียลตี สโตร์
ยังคงเติบโตต่อเนื่องในสัดส่วน 18.6%
เนื่องจากอยู่ในช่วงการซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วม ส่วนร้านสะดวกซื้อกลับสู่ภาวะปกติ
มีการเติบโต 17.7% ทำให้เชื่อว่าในปีนี้ร้านสะดวกซื้อจะกลับมาเติบโตสูงสุดเช่นเดิม
เช่นเดียวกับในปีหน้าที่คาดว่าจะเติบโตแบบก้าวกระโดดหลังจากการกลับมารุกตลาดของแฟมิลี่
มาร์ท และการที่ผู้ประกอบการต่างหันมาขยายการลงทุนในร้านค้าปลีกไซซ์เล็กมากขึ้น
แหล่งข้อมูล
thairetail,
thairetail,
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=392546877480494&set=a.249368915131625.57236.247991125269404&type=1
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น