วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555

โรคสะเก็ดเงินหรือโรคเรื้อนกวาง รู้จักเพื่อรักษา


โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่พบบ่อยชนิดหนึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Psoriasis” 
โรคนี้พบความผิดปกติ ได้ทั้งผิวหนัง เล็บ และข้อ ไม่ใช่โรคติดเชื้อ ไม่ใช่มะเร็ง และไม่ติดต่อ โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่พบบ่อยชนิดหนึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Psoriasis” โรคนี้เกิดจากเหตุปัจจัยหลายปัจจัยประกอบกัน ไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงสาเหตุเดียว ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค สารเคมีหรือสภาวะทางฟิสิกส์ที่เป็นพิษต่อผิวหนังโดยตรงแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลจากพันธุกรรมหรือยีนที่ผิดปกติหลายชนิดร่วมกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกร่างกายที่ไม่เหมาะสมมากระตุ้นให้โรคปรากฏขึ้น อาการผื่นผิวหนังเป็นได้หลายรูปแบบ ที่พบบ่อย คือ ผิวหนังอักเสบเป็นปื้นแดง (Erythematous plaque) ลอกเป็นขุย เป็นๆ หายๆ ผู้ป่วยบางรายเป็นเฉียบพลันแล้วผื่นก็หายไป บางรายเป็นผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ความผิดปกติอื่นๆที่อาจพบได้ คือ ความผิดปกติที่เล็บ ข้ออักเสบ เป็นต้น ผู้ป่วยอาจมีอาการผิดปกติของเล็บหรือปวดข้อนำมาก่อน หรือเกิดขึ้นพร้อมๆกับอาการผื่นผิวหนังอักเสบ

สาเหตุ
ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีพื้นฐานจากพันธุกรรม ร่วมกับสิ่งกระตุ้นจากภายนอก ทำให้เซลล์ผิวหนังบริเวณรอยโรคแบ่งตัวหนาและหลุดลอกเร็วกว่าปกติ จากประมาณ 28 วันเหลือเพียง 4 วัน

อาการแสดง
อาการผื่นผิวหนังเป็นได้หลายรูปแบบ ที่พบบ่อย คือ ผิวหนังอักเสบเป็นผื่นแดงหนา (Erythematous plaque) ขอบชัด มีสะเก็ดสีเงินติดแน่น พบได้ทุกส่วนของร่างกาย แต่มักพบบ่อยบริเวณข้อศอก หัวเข่า หน้าแข้ง บางรายพบความผิดปกติที่เล็บ เป็นหลุมเล็กๆบริเวณผิวเล็บ  มีจุดสีน้ำตาลใต้เล็บ หรือเล็บหนาขึ้น บางรายอาจมีอาการปวดข้อ ข้อบวมร่วมด้วย มักพบในรายที่เป็นโรคสะเก็ดเงินเรื้อรัง เป็นได้ทั้งข้อใหญ่และข้อเล็ก และถ้าเรื้อรังอาจมีข้อพิการได้    

ปัจจัยกระตุ้น

1 .การติดเชื้อเช่นโรคไข้หวัด หรือคออักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็พโตคอคคัส (Streptococcus species), โรคติดเชื้อ HIV สามารถทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบได้

2. บาดเจ็บของผิวหนัง การแกะเกา ขูด กด เสียดสี ทำให้ผื่นของโรคสะเก็ดเงินกำเริบ และลุกลามออกไปได้

3.การระคายเคืองต่อผิวหนัง เช่นการแพ้ยาทาต่างๆ สบู่ ผงซักฟอก จะทำให้ผื่นเป็นมากขึ้น

4. การดื่มเหล้า การสูบบุหรี่ การเล่นกีฬาหักโหม

5. การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล  ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นในช่วงฤดูร้อนเพราะได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตและอาการจะกำเริบในช่วงฤดูหนาวซึ่งอากาศแห้ง

6. ยารักษาโรคจิตประสาทกลุ่ม Lithium ยารักษาโรคมาเลเรีย ยารักษาโรคหัวใจ-ความดันกลุ่ม Beta- blocking agent ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ เช่น Indomethacin, ยาสตีรอยด์ชนิดรับประทานและฉีด ดังนั้นผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการซื้อยามารับประทานเอง เพราะยาหม้อ ยาจีน ยาไทย บางชนิดผสมสตีรอยด์เข้าไปในส่วนผสมของยา

7. สภาพจิตใจ  ความเครียดเป็นสาเหตุที่ทำให้โรคกำเริบได้                                                                                                        

การรักษา
            สะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรัง มักเป็นๆหายๆปัจจุบันยังไม่มียาที่ทำให้โรคหายขาด แต่สามารถทำให้โรคสงบและแสดงอาการน้อยที่สุดได้ การรักษาแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ

1.        รักษาด้วยยาทา เช่น กลุ่มสตีรอยด์, ยาทาน้ำมันดิน, ยาทาวิตามินดี เป็นต้น ส่วนผู้ที่มีผิวแห้งควรใช้โลชั่นเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังร่วมด้วย และถ้าขุยหนามากควรใช้ยาละลายขุย

2.        รักษาด้วยฉายแสงอัลตราไวโอเลต : ใช้กรณีไม่ตอบสนองต่อยาทา หรือกรณีโรคมีความรุนแรง

3.        รักษาด้วยยารับประทาน : พิจารณาในรายที่มีอาการรุนแรง หรือ ไม่ตอบสนองต่อการรักษาขั้นต้น เช่น ยาอนุพันธ์ของวิตามินเอ, ยาเมโทรเทรกเซท, ยาไซโคลสปอริน เป็นต้น

 Ø     บางรายรักษาโดยอาจใช้หลายวิธี หรือใช้ยาหลายตัวร่วมกันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และลดผลข้างเคียงของยาได้ 

Ø     ที่สำคัญ : ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ดำเนินชิวิตอย่างมีความสุข ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก พักผ่อนให้เพียงพอ และทานอาหารให้ครบ5หมู่

Ø     อย่าลืม! รักษาและติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง

แหล่งข้อมูล

ผศ.พญ.ชนิษฎา วงษ์ประภารัตน์,โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis),
ภาควิชาตจวิทยา , Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=967

สะเก็ดเงิน (Psoriasis), หน่วยโรคผิวหนัง, ภาควิชาอายุรศาสตร์
, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, http://www.ra.mahidol.ac.th/dpt/MD/know12-skin-06

พญ.ดร.จงกลนี วงศ์ปิยะบวร
,สะเก็ดเงิน (Psoriasis), ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
และ

นายแพทย์ นพดล นพคุณ และคณะ,  
แนวทางการดูแลผูปวยโรคสะเก็ดเงิน (psoriasis), Clinical Practice Guideline for Psoriasis,
  
รูปประกอบจาก 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น