วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2555

คุณแม่ใช้ยา: ใช้ยาอย่างไรให้ลูกรักปลอดภัยและได้ผลการรักษา


ลูกคือสายใยผูกรักสมัครใจของสมาชิกทุกคนในครอบครัว แต่เมื่อสมาชิกน้อยตัวเล็กเกิดอาการป่วยไข้ไม่สบายขึ้นมา ก็ต้องเดือดเนื้อร้อนใจคุณพ่อแม่ต้องมาดูแลประคบประหงมให้น้องน้อยได้หายป่วยไข้ สบายตัวสบายใจสุขภาพแข็งแรงเติบโตเจริญวัยต่อไป

อีกปัจจัยหนึ่งที่คุณแม่มือใหม่ต้องรู้ให้ถูกต้องและแม่นยำ นอกเหนือจากการดูแลเอาใจใส่แล้วนั้น นั่นก็คือการใช้ยาที่ถูกต้องและเหมาะสมเมื่อลูกน้อยเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา จะดีไหมถ้ามีเภสัชกรมาเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรแท้ดูแลสุขภาพมาให้คำแนะนำ หลักการใช้ยาที่เขียนง่ายๆด้วยภาษาสบายๆ เพื่อช่วยให้คุณแม่ ได้รับความรู้จริงๆเกี่ยวกับการใช้ยาได้อย่างถูกต้อง ที่ช่วยให้หลีกเลี่ยงผลข้างเคียงต่างๆ และช่วยให้ได้ผลการรักษาดียิ่งขึ้น ลูกน้อยของคุณแม่จะได้หายเจ็บป่วยแข็งแรงสมใจ

ในตอนแรกที่เราพบกันนี้ จึงอยากเริ่มต้นให้คำแนะนำหลักการใช้ยาอย่างกว้างๆ ง่ายๆ ให้ได้เข้าใจแจ่มแจ้ง นำไปใช้ปฏิบัติกับสมาชิกตัวน้อยๆของครอบครัว ทำให้ใช้ยาแต่ละขนานได้ผลและปลอดภัยด้วย

หลักการใช้ยาอย่าง่ายๆที่คุณแม่ควรรู้ มีดังนี้ คือ

1) รู้จักชื่อยาก่อนจะดีไหม?

อยากรบกวนให้คุณแม่ยอมเสียเวลาซักนิด ลองอ่านชื่อยาจากฉลาก หรือถ้าไม่แน่ใจ อย่าเกรงใจเลยครับ ให้ถามเภสัชกรได้เลย เมื่อใช้ยาใด เราต้องรู้ชื่อยานั้น เพราะจะช่วยให้เราป้องกันลูกน้อยที่อาจแพ้หรือเกิดอันตรายจากยาได้  คุณแม่หลายคนมาร้านยาแล้วจำได้แค่สี หรือรูปร่างเม็ดยา แค่นั้นเอง แล้วก้อคาดหวังว่าเภสัชกรจะต้องทราบยาตัวนั้นๆ แต่ความจริงแล้ว
ไม่ได้ช่วยอะไรเลยเพราะยาหลายตัวมีรูปลักษณ์คล้ายกันมาก ถ้าไม่รู้ชื่อยา หากลูกน้อยเกิดปัญหาแพ้ยาหรือมีผลข้างเคียงจากการใช้ยามา ก็ยากแก่การแก้ไขช่วยเหลือให้ทัน

คุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ที่คุณแม่จำชื่อยาได้ ก็คือหากลูกน้อยแพ้ยาตัวใดแล้ว ก็ต้องจดจำชื่อยาตัวดังกล่าวไว้ เพื่อบอกแพทย์หรือเภสัชกรไม่ให้ใช้ยาตัวนั้นอีก

2) วิธีใช้ยา ใช้ให้ถูก ลูกปลอดภัย

ใครบอกว่าการเรียนรู้เรื่องการใช้ยาแล้วยุ่งยาก ไม่ยากหรอกครับ เภสัชกรเรามีวิธีช่วยจำง่ายๆคือ ต้องใช้ให้ถูกคน ถูกโรค ถูกวิธี ถูกเวลา และถูกขนาด ดังมีรายละเอียดดังนี้

ก. ถูกคน
ใช้ยาให้ถูกกับคนคือ คุณแม่ต้องดูให้ละเอียดก่อนใช้ว่า ยาชื่ออะไร ใช้กับใคร เพศใด และ อายุเท่าใด หลายบ้านมักชอบเอายาผู้ใหญ่มาใช้กับเด็ก โดยคิดว่าเหมือนๆกันน่า ไม่เป็นไรหรอก ไม่จริงหรอกครับ เพราะในร่างกายเด็กมักจะการตอบสนองต่อยา จะเร็วกว่าผู้ใหญ่มาก ดังนั้นฝืนใช้ไปผิดๆนอกจากไม่ได้ผลแล้ว อาจจะส่งผลอันตรายต่อลูกรักของเราได้ อย่าได้ฝืนนำมาใช้เป็นอันขาดครับ

ในคุณแม่ตั้งครรภ์เอง ควรทราบว่ายาหลายชนิดหากฝืนใช้ไปจะมีผลทำให้ทารกพิการได้ และระหว่างให้นมบุตรก็ต้องระวัง เพราะยาอาจถูกขับทางน้ำนม ซึ่งจะส่งผลให้ลูกน้อยที่ดูดนมมีผลข้างเคียงจากยาที่คุณแม่รับประทานได้

ข. ถูกโรค
ใช้ให้ถูกโรคคือ ใช้ยาให้ตรงกับโรคที่เป็นเท่านั้น คุณแม่มือใหม่ไม่ควรซื้อยาหรือใช้ยาตามคำบอกเล่าของคนอื่น หรือไปหลงเชื่อคำโฆษณาที่มักจะบอกข้อดีเพียงด้านเดียว หรือให้ข้อมูลมาไม่ครบถ้วน
เพราะหากใช้ยาไม่ถูกกับโรค นอกจากไม่ได้ผลในการรักษาแล้ว ยังมีความเสี่ยงให้ได้รับอันตรายหรือผลข้างเคียงที่ไม่พึงปราถนาจากยานั้นได้

ค. ถูกวิธี
ใช้ยาให้ถูกวิธี มีรายละเอียดเย้อะมาก ทั้งรูปแบบยากิน ยาทา ยาสอด ยาพ่น ยาตา ในครั้งต่อๆไป เราจะมาแจกแจงให้ทราบการใช้ยาอย่างละเอียด ในยาแต่ละชนิดแต่ละรูปแบบ ให้คุณแม่อุ่นใจได้เลยครับ

ง. ถูกขนาด
ใช้ยาให้ถูกขนาด ควรรับประทานให้ถูกขนาดตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำมา แล้วในแต่ละโรคว่า โรคชนิดไหนต้องใช้ยาปริมาณเท่าไร นานเท่าไร ถี่แค่ไหน จึงจะทำให้หายได้  ในผู้ใหญ่ขนาดยามักจะมาเป็นเม็ดอยู่แล้ว ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่ในเด็กน้อยที่มักจะได้รับยาที่เป็นรูปแบบยาน้ำเพราะสดวกต่อการรับประทานของน้องน้อย

ขนาดของการให้ยาน้ำมักจะบอกมาเป็นช้อนชา ช้อนโต๊ะนั้น คุณแม่มือใหม่หลายคนมักเข้าใจกันผิดๆ ว่าเป็นขนาดตามช้อนทานข้าวหรือช้อนชงกาแฟที่บ้าน ทำให้ได้ปริมาณยาคลาดเคลื่อนไป
ไม่ถูกต้อง เพื่อการใช้ยาที่ถูกขนาดควรใช้อุปกรณ์มาตรฐานในการตวงยา ได้แก่หลอดฉีดยา หรือช้อนยาขนาดมาตรฐานครับ ซึ่งสามารถเปรียบเทียบหน่วยมาตรฐานได้ดังนี้ครับ

1 ช้อนชา (มาตรฐาน) = 5 มิลลิลิตร

1 ช้อนโต๊ะ (มาตรฐาน) = 15 มิลลิลิตร

ฉ. ถูกเวลา
 คุณแม่หลายรายมักปวดหัวมว๊ากก  บ่นทำไมต้องจำว่ายาตัวนี้กินก่อนอาหาร ยาตัวโน้นกินหลังอาหาร เย้อะแยะไปหมด ใครจะไปจำได้ ทำไมนะ? การกินยาก่อนหรือหลังอาหารนี่มันยังไงนะ?
มีความสำคัญมากครับ เพราะเมื่อเวลาที่เรารับประทานยาเข้าไป ยาจะเดินทางผ่านปากเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร แล้วจะดูดซึมที่บริเวณผนังของทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อไปออกฤทธิ์ในบริเวณที่เจ็บป่วยต่างๆต่อไป คราวนี้ยาแต่ละชนิดมีคุณสมบัติในการดูดซึมที่แตกต่างกัน ดังนั้นการที่เภสัชกรแนะนำให้รับประทานยาก่อนหรือหลังอาหาร ก็เนื่องจากจะมีผลต่อการดูดซึมของยานั่นเอง และยังมีผลต่ออาการข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยาอีกด้วย เห็นไหมครับ ว่าเราไม่ได้อยากให้คุณแม่ทั้งหลายปวดหัวเลย แต่อยากให้น้องน้อยได้รับยาถูกเวลา หายไวๆต่างหาก

ดังนั้นแล้วเมื่อคุณแม่ได้รับยาให้รับประทานยาตามที่เขียนบนฉลากจะดีกว่าแน่นอน อยู่แล้ว โดยมีวิธีปฏิบัติง่ายๆดังนี้

การรับประทานยาก่อนอาหาร แนะนำให้ทานขณะท้องว่าง หรือก่อนอาหารอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ถึงหนึ่งชั่วโมง เพื่อให้ยาถูกดูดซึมได้ดี ถ้าลืมกินยาในช่วงดังกล่าวก้ออย่ากังวลไป ก็ให้รับประทานเมื่ออาหารมื้อนั้นผ่านไปแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ยากลุ่มเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นยาฆ่าเชื้อ ยกเว้นยาบางตัวที่มีผลระคายเคืองกระเพาะอาหาร จะทำให้คลื่นไส้ อาเจียน อาจกินหลังอาหารได้ เช่น เตตร้าซัยคลีน เป็นต้น

การรับประทานยาหลังอาหาร คือทานหลังอาหารทันทีหรือไปพร้อมกับอาหาร
หรือจะทานยาระหว่างที่กำลังทานอาหารก็ได้ เหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่ายาบางชนิดอาจมีอาการข้างเคียง อย่างเช่นระคายเคืองกระเพาะอาหาร และตามมาด้วยอาการคลื่นไส้ อาเจียนและปวดท้องได้ เช่น ยาแอสไพริน, และยาแก้ปวดบางชนิดนั่นเอง ยาเหล่านี้ให้ทานหลังจากรับประทานอาหารทันที และดื่มน้ำตามมาก ๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงดังกล่าว

ยาก่อนนอน ให้รับประทานก่อนเวลาเข้านอนตอนกลางคืน 15 - 30 นาที

ยาที่รับประทานเมื่อมีอาการ คือให้ทานเมื่อมีอาการของโรคเท่านั้น หากไม่มีอาการก็ไม่จำเป็นต้องทานยา เหตุเพราะยาพวกนี้เป็นยาบรรเทาอาการ เมื่ออาการดีขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องกินอีก ได้แก่ ยาแก้ปวด ลดไข้ ยาแก้ไอ ยาขับเสมหะ ยาลดน้ำมูก เป็นต้น

ยาที่ต้องรับประทานให้ครบระยะเวลา มักเป็นยาที่ต้องการให้มีปริมาณอยู่มากพอในกระแสเลือดตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น ยาฆ่าเชื้อที่ต้องทานติดต่อกันอย่างน้อย 5-7 วัน เพื่อผลการรักษาที่ได้ผลและป้องกันการที่เชื้อดื้อยา

เห็นไหมว่า คุณแม่ที่ใส่ใจให้ยาตามเวลาที่ถูกต้อง จะช่วยให้ลูกน้อยได้ผลการรักษาอย่างดี และช่วยให้ปลอดภัยมากขึ้น โดยการลดผลข้างเคียงต่างๆได้อีกด้วย

3) ข้อห้ามและข้อควรระวังในการใช้ยา
สุดท้ายแล้วนะครับ ยาแต่ละชนิด มักจะมีคำเตือน ข้อห้าม หรือข้อควรระวังต่างๆที่เราอยากจะบอกคุณแม่ไว้ก่อน ทำให้ใช้ยาได้ผลและปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งคุณแม่อาจดูได้จากฉลากที่ระบุไว้ หรือสอบถามจากเภสัชกรได้เลยครับ ตัวอย่างของยากลุ่มที่ควรระวังในเด็กได้แก่ ยาฆ่าเชื้อ ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก เป็นต้น

เป็นไงครับ คุณพ่อคุณแม่มื่อใหม่ทั้งหลายอย่าเพิ่งเหนื่อยใจไปซักก่อน ว่าทำไมแค่ใช้ยา ถึงได้มีรายละเอียดมากมายนัก อย่ากังวลใจไปเลยครับ ไม่แน่ใจเรื่องไหนอย่าปล่อยให้ความกังวลใจมาบดบังความรักความห่วงใยที่มีต่อลูกรัก แวะร้านยาที่มีเภสัชกรใจดี สามารถถามไถ่ทุกคำตอบแห่งการดูแลสุขภาพและการใช้ยาอย่างมั่นใจได้เลยครับ  แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้านะครับ

รูปประกอบจาก 
http://www.healthnews.com/resources/images/baby%20medicine.jpg?mw=566&fh=300&oext=png

และ

http://www.babycaredaily.com/wp-content/uploads/2009/07/baby.jpg

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น