วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555

นอนไม่หลับ ทำอย่างไรดี?: สาเหตุของการนอนไม่หลับ


หลังจากที่คุณพอจะรู้แล้วว่า คุณเป็นเหยื่อของการนอนไม่หลับเป็นแบบไหน จากตอนที่แล้ว มาถึงตอนนี้มาดูว่าสาเหตุของการนอนไม่หลับมีอะไรบ้างนะ ถ้ารู้ก่อนแก้ได้ถูก ก้อช่วยให้คุณได้สุขีกับนิทรารมย์เสียที งั้นตามมาดูว่าอะไรบ้างนะที่เป็นต้นเหตุของการนอนไม่หลับ

สาเหตุของการนอนไม่หลับสามารถแบ่งได้ ตามสามหัวข้อหลัก
มีอะไรบ้าง

1. ปัจจัยทางร่างกาย 
เป็นสาเหตุสำคัญแต่มักถูกมองข้ามไป ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับทุกราย

ควรได้รับการตรวจร่างกายและซักประวัติโรคทางกาย และการใช้ยา นอกเหนือไปจาก ปัญหาการนอนของผู้ป่วย พบว่า ผู้ป่วยบางรายนอนไม่หลับ เพราะมีอาการเจ็บปวด จากโรคทางกาย เช่น ปวดแผล ปวดท้อง ปวดหลัง ปวดศีรษะ เป็นต้น 


บางรายนอนไม่หลับเพราะหวัดภูมิแพ้รบกวนการนอนตลอดทั้งคืน บางรายดื่มน้ำชา กาแฟเป็นประจำ


บางรายนอนไม่หลับจากยาแก้หอบหืดบางชนิดที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท


บางรายหยุดยาที่ออกฤทธิ์กดประสาทอย่างกะทันหัน ทำให้นอนไม่หลับ ยาประเภทนี้ ได้แก่ ยาคลายกังวล ยานอนหลับ ยารักษาอาการซึมเศร้า และยารักษาอาการโรคจิต 
ผู้ป่วยโรคทางกายที่อาจนอนไม่หลับได้แก่ โรคธัยรอยด์ โรคปอด โรคหัวใจ โรคลมชัก เป็นต้น

นอกจากนี้แล้วยังมีโรคที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับโดยตรง โรคกลุ่มนี้พบได้น้อย ได้แก่ กลุ่มอาการขากระตุกขณะนอนหลับ กลุ่มอาการที่มีการหยุดหายใจเป็นพัก ๆ ขณะนอนหลับ โรคฝันร้าย เป็นต้น

2. ปัจจัยทางจิต
จิตใจที่ไม่สงบอาจทำให้นอนไม่หลับได้ กรณีนอนไม่หลับชั่วคราว มักมีสาเหตุจาก เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

บางคนนอนไม่หลับในช่วงที่ญาติสนิทเสียชีวิต


บางคนนอนไม่หลับในช่วงที่สามีมีภรรยาน้อย


นักเรียนบางคนนอนไม่หลับคืนก่อนวันสอบ หรือคืนก่อนประกาศผลสอบ


สำหรับกรณีนอนไม่หลับเรื้อรังจากจิตใจจำเป็นต้องรีบหาสาเหตุ โรคทางจิตใจเกือบทุกโรค มีอาการนอนไม่หลับเป็นอาการร่วมอยู่ด้วยเสมอ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจมาพบแพทย์เพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับ เมื่อจิตแพทย์ตรวจสภาพจิต จึงรู้ว่า มีสาเหตุมาจากป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยโรคจิตหรือวิกลจริตมักพบปัญหาการนอนไม่หลับ โดยเฉพาะกำลังจะเริ่มป่วย หรือกำลังจะป่วยซ้ำหลังจากที่เคยรักษาจนอาการดีแล้ว ผู้ป่วยโรคประสาทวิตกกังวลอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการนอนไม่หลับ เมื่อได้สัมภาษณ์ผู้ป่วย จึงรู้ว่าผู้ป่วยครุ่นคิดเรื่องต่าง ๆ และคาดการณ์ล่วงหน้าจนทำให้เกิดความวิตกกังวล และนอนไม่หลับได้ นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยที่นอนไม่หลับจนติดเป็นนิสัย และผู้ป่วยที่คิดไปเองว่านอนไม่หลับ แต่คนอื่นที่นอนด้วยยืนยันว่าผู้ป่วยนอนหลับ

3. ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม
"คุณหมอครับ ผมนอนแปลกที่แล้วจะไม่หลับเลย" 


"บ้านหนูอยู่ริมถนนเสียงรถดังมากพอปิดหน้าต่างก็ร้อนจนนอนไม่หลับ" 


"ผมทำงานล่วงเวลาจนเลยเวลานอน พอเข้านอนก็ไม่หลับเลย" 


จะเห็นได้ว่าสิ่งแวดล้อมมีผลต่อการนอนหลับของแต่ละคนได้มากน้อยแล้วแต่บุคคล บางคนก็หลับได้ง่าย แต่บางคนแม้เพียงกระทบเล็กน้อยก็นอนไม่หลับได้

นอกจาการแก้ไขสาเหตุดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การสร้างเหตุปัจจัยเพื่อส่งเสริม ให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้นก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ตอนหน้าเรามาดูว่ามีวิธีไหน? ง่ายๆ แค่ปรับลักษณะนิสัย ก้อช่วยให้หลับได้ง่ายกันดีไหม? 

แหล่งข้อมูล
นพ.วีรวุฒิ เอกกมลกุล
นิตยสารใกล้หมอ   ปีที่ 21 ฉบับที่ 4 เมษายน 2540, http://www.osknetwork.com/modules.php?name=News&file=article&sid=1642

นอนไม่หลับทำไงดี: สาเหตุของการนอนไม่หลับ โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล
,http://www.oknation.net/blog/DIVING/2010/11/29/entry-1



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น