วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

ไม่มีซูโดแล้ว "ยาแก้หวัด" ตัวไหนที่ได้ผลและปลอดภัย โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล

หากเราเป็นหวัดคัดจมูกหรือภูมิแพ้บ่อยๆ ซึ่งแต่เดิมๆ ยังได้พึ่งพายาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน Pseudoephedrine ใช้บรรเทาอาการหายใจไม่ออก แต่ต่อไปนี้ยาสูตรดังกล่าวจะไม่มีจำหน่ายในร้านยาแล้ว ยาแก้หวัดทั้งหลายคงต้องเปลี่ยนสูตรเป็นเฟนิลเอฟรีน Phenylephrine แทน ในฐานะคนไข้เรา คงสงสัยมั้ยว่ามันต่างกันยังไง? ยาตัวหลังจะได้ผลไหม? กินแล้วง่วงหรือไม่? กินไปนานๆแล้วจะติดไหม? เรามาฟังคำตอบจากเภสัชกรอย่างแจ่มแจ้งคาใจ หายคัดจมูกกันไปเลยดีกว่า
ในฐานะเภสัชกรที่ทำหน้าที่อยู่ร้านยาเต็มหน้าที่ ตลอดเวลาและปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อสันติสุขของบ้านเมืองมาโดยตลอด ขอกล่าวไว้ก่อนว่า ยาก้อเหมือนชีวิตคน ย่อมมีทั้งด้านดีและด้านเสีย การทำความเข้าใจทั้งสองด้าน ย่อมทำให้เลือกใช้ยาดีๆกับคนดีๆ ได้ก่อเกิดประโยชน์ในการรักษา และสามารถบรรเทาผลข้างเคียงให้เกิดได้น้อยที่สุดบทความนี้เขียนขึ้นบนพื้นฐานความรู้ทางเภสัชกรรมคลินิกและประสบการณ์เภสัชกรรมชุมชนที่ได้อยู่ดูแลคนไข้ตลอดมา 

ทำไมจึงต้องเลิกยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนในร้านยา
กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศให้ยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 2 มีผลให้ร้านขายที่ไม่มีใบอนุญาตให้ครอบครองยาสูตรผสมดังกล่าว จะต้องจัดส่งยาทุกสูตรคืนกับผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ภายในวันที่ 3 พฤษภาคม 2555
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการออกประกาศกำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ ซึ่งมีทั้งโทษปรับเป็นเงินและจำคุกขั้นรุนแรงด้วย เท่ากับว่าต่อไปนี้แม้แต่ยาบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก ที่จำหน่ายตามร้านยา ซึ่งเป็นสูตรที่มีซูโดอีเฟดรีน ผสมพาราเซตามอลและยาแก้แพ้ ก็ไม่มีข้อยกเว้น จะต้องถูกเก็บคืนเช่นกัน
ข้อกำหนดทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่ภาครัฐเพิ่มมาตรการควบคุมการใช้และครอบครองยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนหลังจากยกระดับไปเป็นยาควบคุมพิเศษมาก่อนแล้วตั้งแต่กลางปีที่แล้ว แต่เนื่องจากมีการตรวจสอบพบว่ามีขบวนการลักลอบนำยาชนิดดังกล่าวออกจากสถานพยาบาลจำนวนหลายล้านเม็ด หรือกว้านซื้อแบบกองทัพมดไปจากร้านยา และมีข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ระบุว่า ยาที่รั่วไหลบางส่วนถูกนำไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตเป็นยาเสพติด (ท่านที่สงสัยว่า ทำไมยาสูตรดังกล่าวจึงนำไปผลิตสารตั้งต้นในการผลิตเป็นยาเสพติดได้ กรุณาตามไปอ่านได้ที่ ซูโดอีเฟดรีน ยาดีหรือยาบ้า โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุลhttp://www.oknation.net/blog/DIVING/2012/04/08/entry-1)

รูปประกอบ: อาการหวัด คัดจมูก จาก Allergy symptoms, health.allrefer.com

เวลาเป็นหวัด ทำไมต้องใช้ยานี้
อาการน้ำมูกไหล คัดจมูก จาม ที่เรียกว่า หวัด มักเกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่ คือโรคไข้หวัด และกลุ่มโรคภูมิแพ้ กลุ่มโรคไข้หวัดส่วนใหญ่เกิดจากติดเชื้อไวรัส มักมีไข้ ปวดหัว ร่วมกับอาการหวัด การรักษาตามอาการพร้อมกับการรักษาร่างกายให้แข็งแรง ส่วนโรคภูมิแพ้ เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่มีการตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ที่ไวมากกว่าปกติ ถ้าไปสัมผัสหรือสูดหายใจต่อสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้เข้าไป ก้อจะทำให้มีอาการหวัดได้เช่นกัน
เพื่อให้ได้ผลบรรเทาอาการหวัดยาที่เลือกใช้จะมี 2 กลุ่มใหญ่ คือยาแก้แพ้ (antihistamines) และยาลดการบวมคั่งของน้ำมูก (decongestants) ยาแก้แพ้กลุ่มแรกเป็นยาที่ออกฤทธิ์ไปทำให้น้ำมูกแห้ง ส่วนกลุ่มหลังนี่แหละที่เป็นตัวเจ้าปัญหา คือยาลดการคั่งของน้ำมูก ที่ไปลดการบวมในโพรงจมูก จึงทำให้โล่งหายใจสะดวกยิ่งขึ้น ยากลุ่มนี้ที่มีใช้กันมี 2 ชนิด คือชนิดกิน ที่ใช้กันแพร่หลายก้อคือซูโดอีเฟดรีนและเฟนิลเอฟริน ข้อดีคือทำให้โล่งจมูก หายใจได้สะดวก อาจมีอาการข้างเคียงทำให้หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ส่วนยาพ่นหรือหยอดจมูกที่ใช้ภายนอกถ้าใช้อย่างถูกวิธีก้อได้ผลดีเช่นกัน และไม่ควรใช้ติดต่อกันนานๆ เพราะถ้าใช้ติดต่อกันนานๆ อาจทำให้เกิดอาการกลับมาคัดจมูกได้ (rebound congestion) เนื่องจากผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยานานเกินไปนั่นเอง

รูปประกอบ: เฟนิลเอฟรินออกฤทธิ์ลดอาการหวัด คัดจมูก จาก emprocedures.com
ไม่มีซูโดแล้ว ยาสูตรเฟนิลเอฟริน ได้ผลและปลอดภัยมั้ย?
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเองได้ให้ข้อมูลว่า ยาแก้หวัดที่ใช้ทดแทนยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนตัวที่ห้ามไป ก้อคือ
เฟนิลเอฟริน ซึ่งมีประสิทธิภาพไม่แตกต่าง แต่นำไปใช้เป็นสารตั้งต้นยาเสพติดได้ยากมากกว่า
  • เฟนิลเอฟรินลดอาการหวัดคัดจมูกได้อย่างไร? ได้ผลจริงไหม? ยามเมื่อมีอาการคัดจมูก เกิดจากเส้นเลือดฝอยบริเวณโพรงจมูกของเรา มีการบวมขยายตัวทำให้ของเหลวภายในหลอดเลือด ออกไปคั่งตามเนื้อเยื่อรอบโพรงจมูก ไปบวมปิดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้หายใจไม่สะดวก จากการทบทวนข้อมูล พบว่าเฟนิลเอฟริน ออกฤทธิ์ผ่าน α 1-adrenoceptor ในเซลล์รอบๆโพรงจมูก ทำให้หลอดเลือดหดตัว จึงมีปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณที่บวมลดลงและลดปริมาณน้ำมูกไปด้วย เป็นผลให้ช่องรูจมูกที่เคยตีบแน่น ก้อเปิดเป็นโพรงอากาศกว้างขึ้น ช่วยให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก จึงนำมารักษาอาการคัดจมูกได้บ้าง และเป็นยาควบคู่ใช้บรรเทาอาการปวดศีรษะจากโพรงอากาศอักเสบ การอักเสบของหูชั้นในอีกด้วย
เมื่อเทียบกับซูโดเอฟรีดินแล้ว ยาตัวเดิมให้ผลลดอาการบวมของจมูกได้ดีกว่ายาเฟนิลเอฟรินตัวนี้ ยิ่งไปกว่านั้นมีข้อมูลการศึกษาหลายฉบับของยาตัวนี้ ต่างระบุว่าไม่สนับสนุนประสิทธิภาพว่าสามารถลดอาการหวัด คัดจมูกได้แตกต่างจากยาหลอก Placebo ซึ่งพบได้บ่อยครั้งว่าผู้ป่วยที่เป็นหวัด คัดจมูกมาก่อนแล้ว ไม่ตอบสนองเป็นที่น่าพอใจ หลังจากใช้ยาเฟนิลเอฟรินไปแล้ว
ขอยกให้เป็นหน้าที่ของทางหน่วยงานที่รับผิดชอบ ที่ควรจะออกมาตอบคำถามเหล่านี้ต่อไป สำหรับเภสัชกรหรือท่านที่สนใจในประเด็นนี้ ขอความกรุณาตรวจสอบได้จากบรรณานุกรมข้างล่างที่ระบุแหล่งอ้างอิงไว้เพื่อตรวจสอบด้วยตัวท่านเองต่อไปครับ
  • กินแล้วง่วงนอนมั้ยอ่ะ? ยาตัวนี้ไม่มีผลต่อการทำงานต่อระบบประสาทส่วนกลาง เนื่องมาจากผลข้างเคียงต่อการกระตุ้นสมอง การเต้นของหัวใจและการเพิ่มความดันโลหิต น้อยกว่าซูโด เพราะโครงสร้างทางเคมีของยาเฟนิลมีความจำเพาะต่อรีเซปเตอร์่ต่อหลอดเลือดเพียงอย่างเดียว ไม่มีผลกดประสาทและยังไม่เข้าสมองอีกด้วย จึงไม่ทำให้ง่วงนอนแต่อย่างใด
แล้วใจสั่นหล่ะ? ความปลอดภัยต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดของยาตัวนี้ เราได้ตามติดการศึกษาแบบว่า การกินยาใน Dosage ที่ให้ผลการรักษานั้น มีผลเพิ่มความดันโลหิตได้บ้างเล็กน้อยและไม่มีผลอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติต่ออัตราเต้นของหัวใจ จึงไม่มีรายงานของอาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยที่ความดันปกติ แต่อย่างไรก้อควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เมื่อจำเป็นต้องใช้ในผู้ป่วยที่มีความความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจอยู่แล้ว
  • ใช้ไปนานๆแล้วจะติดยาได้ไหม? ยังไม่มีรายงานออกมาว่าจะเสพติดยานี้ในการใช้ระดับยาปกติในการรักษา หากขบวนการค้ายาบ้ามันสิ้นคิด สิ้นวัตถุดิบจริงๆ พอแปรยาเฟนิลไปทำเป็นยาบ้าเท่านั้น ที่ทำให้มีฤทธิ์เสพติดมากกว่า
สุดท้ายเนื่องจากการดูดซึมผ่านทางเดินอาหารของยาตัวนี้ไม่ค่อยดีนัก เมื่อเปรียบเทียบกับซูโด ดังนั้นเมื่อกินเข้าไป ระยะเวลาการออกฤทธิ์ของเฟนิลจึงสั้นกว่า ทำให้ต้องกินยาถี่กว่า

อนาคตของซูโดอีเฟดรีน
ทางเลขาธิการ อย. ได้แจ้งต่อประชาชนให้ไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะไม่มียาแก้หวัดใช้ และไม่มีความจำเป็นต้องกักตุนยาสูตรเดิมๆ เนื่องจากมียาแก้หวัดสูตรที่มีเฟนิลเอฟริน เป็นส่วนประกอบที่สามารถใช้ทดแทนได้ ขณะนี้มีตำรับยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว 241 ตำรับ จากผู้ผลิต 65 ราย และจากผู้นำเข้า 5 ราย รวมเป็น 70 ราย สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
แต่หากผู้ป่วยรายใดต้องใช้ยาที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีนหล่ะ เรายังสามารถไปหาแพทย์ที่สถานพยาบาลต่างๆ เพื่อให้หมอพิจารณาสั่งให้ยาตามความเหมาะสมต่อไป แต่ความสะดวกก้อจะลดลง ยิ่งไปกว่านั้นยังมีคำถามตามมาอีกมากมาย เช่น คุณหมอครับ หากผมได้ยาแก้หวัดสูตรซูโดที่เป็นยาเสพติดมากินแล้วจะมีอันตรายหรือเปล่า?”  ช่วยออกใบรับรองแพทย์ให้หน่อยได้ไหม ว่ายาซูโดอีเฟดรีนนี้ ได้มาจากคุณหมอ กลัวถูกจับเพื่อความเข้าใจอันถ่องแท้ในเรื่องนี้ ขอตอบในตอนต่อไปนะครับ
หากทุกท่านมีคำถามทุกประเด็นเกี่ยวกับโรคหวัดหรือการใช้ยาใดๆ อย่าได้ลังเลใจ ตรงไปร้านยาที่มีเภสัชกรทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง พร้อมให้คำปรึกษาดูแลสุขภาพพ่อแม่พี่น้องทุกท่านครับ
แหล่งข้อมูล
เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล สงวนลิขสิทธิ์ 14 เมษายน 2555
ห้ามนำบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ โดยผู้เขียนไปเผยแพร่เชิงพาณิชย์ ให้นำไปเผยแพร่เป็นวิทยาทานหรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น ผู้ประกอบการเว็บไซต์ต้องยึดหลักความเคารพและคำนึงถึงลิขสิทธิ์ในการสร้างสรรค์งานเขียนและจริยธรรมทางธุรกิจ
การนำเอาบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ ซึ่งผลิตขึ้นโดยผู้เขียนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตและผลิตซ้ำเพื่อเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาและ Copy url address ไปด้วยเพื่อให้ผู้อ่านสามารถลิ้งค์กลับมาอ่านบทความจากเว็บไซต์ของผู้เขียนได้โดยตรง
บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพ ไม่แนะนำให้คุณนำไปใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรคด้วยตนเอง ขอความกรุณารับคำปรึกษาได้โดยตรงจากบุคลากรสหวิชาชีพทางสาธารณสุข รวมทั้งเภสัชกรใจดี ที่พร้อมดูแลสุขภาพพ่อแม่พี่น้องนะครับ
รูปประกอบจากhttp://www.healthstation.in.th/news/picture/sc020.jpg
·        ซูโดอีเฟดรีน ยาดีหรือยาบ้า โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุลhttp://www.oknation.net/blog/DIVING/2012/04/08/entry-1
·        ทำไมซูโดเอฟิดรีนจึงเป็นสารตั้งต้นในขบวนการยาเสพติดhttp://www.oknation.net/blog/DIVING/2011/07/23/entry-1
·        Ronald Eccles, Substitution of phenylephrine for pseudoephedrine as a nasal decongeststant. An illogical way to control methamphetamine abuse, Common Cold Centre and Healthcare Clinical Trials, Cardiff School of Biosciences, Cardiff University, Cardiff, UK, Br J Clin Pharmacol. 2007 January; 63(1): 10–14. Published online 2006 November 20,
·        Gayle Nicholas Scott , Alternatives to Pseudoephedrine, Lead author: Pharm.D., BCPS, ELS, Assistant Editor, http://www.sportpharm.com/pdfs/Alternatives_Pseudoephedrine-1005.pdf
·        A placebo-controlled study of the nasal decongestant effect of phenylephrine and pseudoephedrine in the Vienna Challenge Chamber. Horak F. Ann Allergy Asthma Immunol; 2009.
·        Efficacy and Safety of Oral Phenylephrine: Systematic Review and Meta-Analysis. Hatton RC. Ann Pharmacother; 2007.
·        Phenylephrine, Medline Plus, U.S. National Library of Medicine 8600 Rockville Pike, Bethesda, MD 20894 U.S. Department of Health and Human Services National Institutes of Health, Page last updated: 28 March 2012 http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a606008.html
·        Phenylephrine, Drugs.com, http://www.drugs.com/MTM/phenylephrine.html
·        Phenylephrine, OTC Safe, http://otcsafety.org/en/ingredients/phenylephrine
·        รายงานข้อเท็จจริงกรณี มาตรการควบคุมยาแก้หวัดชนิดเม็ด/แคปซูล สูตรผสมที่มีส่วนประกอบของซูโดอีเฟดรีน 3 สูตร,สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาhttp://wwwapp1.fda.moph.go.th/drug/zone_service/files/Factsheet%20FINAL.pdf
·        ฝ่ายเภสัชกรรม, โรงพยาบาลสระโบสถ์, ข้อมูลเปรียบเทียบในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของตัวยา Phenylephrine กับ Pseudoephedrine , 26 มีนาคม 2012, http://www.sabothosp.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=195:-phenylephrine-pseudoephedrine&catid=86:2011-11-11-01-07-19&Itemid=67
·        จันทนา ปานปรีชา และวิภา เต็งอภิชาต, การศึกษามาตรการแก้ไขปัญหา การลักลอบนาเข้า ส่งออกซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) ตำรับยาสูตรผสม, กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, http://elib.fda.moph.go.th/fulltext2/word/16573/2.pdf
·        รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ, ไขข้อข้องใจเรื่อง"ยาแก้แพ้-แก้หวัด", นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม : 248, เดือน-ปี : 12/2542, http://www.doctor.or.th/node/2378
·        จงรักษ์ อุตรารัชต์กิจ และ ผศ.นพ.อรรถพล เอี่ยมอุดมกาล, วิธีการระบายน้ำมูกในโพรงจมูก,  หน่วยโรคระบบการหายใจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี  , http://www.oknation.net/blog/DrPon/2009/12/16/entry-1
·        ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด,  ยาลดน้ำมูกในเด็ก, นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม : 301,เดือน-ปี : 05/2547, http://www.doctor.or.th/node/3044
·        น.รินี เรืองหนู, "ยาแก้หวัด" สูตรไหน? คนไทยใช้ได้ผลและปลอดภัย, คอลัมน์คลื่นคิดข่าว หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 14 เมษายน 2555, http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1334392999&grpid=&catid=02&subcatid=0207
·        Chlorpheniramine maleate and Phenylephrine hydrochloride (ยาสูตรผสมระหว่างคลอร์เฟนิรามีนมาลีเอท และเฟนิลเอฟรินไฮโดรคลอไรด์ ), http://healthy.in.th/drug/chlorpheniramine%20maleate%20and%20phenylephrine%20hydrochloride
·        ,Antihistamines and Decongestants Combination (ยาสูตรผสมระหว่างยาต้านฮิสตามีนและบรรเทาอาการคัดจมูก), http://healthy.in.th/drug/antihistamines%20and%20decongestants%20combination

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น