วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2555

Love your customers, Learn from your competitors โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล

อย่าได้แปลกใจไปเลยว่าทำไมปีนี้ 7-11 จึงเร่งขยายเป็น 4 ห้อง เพราะคู่แข่งเดิมๆแค่ Lotus Express, Top Daily ปีนี้ยังจะมี Maxvalu Tanjai เข้ามาอีก ในรูปแบบที่เป็นซูเปอร์มาร์เก๊ตเต็มรูปแบบ เพื่อต้อนรับการขยายตัวของเมืองและการติดขัดจากการจราจรที่คนเมืองต้องใช้เวลาอย่างมากในการไปช้อปที่ห้างใหญ่ๆ
ร้านยาเล็กๆ มักจะตีโพยตีพายว่าบ่นว่าคู่แข่งใหญ่โตกว่าจะมายึดตลาด เรามีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าไม่ว่ายักษ์ใหญ่หรือยักษ์เล็กก้อจะมีคู่แข่งมาท้าชิงเสมอ ในโลกใบนี้เสมือนการเล่นหมากล้อม เราไม่พัฒนา คู่แข่งเราก้อจะก้าวข้าวมาแย่งชิงพื้นที่เสมอและตลอดไป ในตอนนี้ เราจะมาพูดถึงการเรียนรู้จากคู่แข่งเพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงร้านเราต่อไป
โลกใบนี้มีคู่แข่งเกิดใหม่เสมอ
ทุกองกรณ์มีคู่แข่งด้วยกันทั้งสิ้น ต่อให้มีอยู่เพียงสายการบินเดียว แต่สายการบินแห่งนั้นก็ต้องเจอกับคู่แข่งทางเลือกในการเดินทาง ได้แก่รถไฟ รถโดยสาร รถยนต์ จักรยาน และกระทั่ง ผู้คนที่อาจจะชอบมุ่งหน้าสู่ที่หมายด้วยการเดิน
ยิ่งประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องเผชิญกับการแข่งขันมากขึ้นเท่านั้น ในแทบทุกธุรกิจจะมีทั้งนักล่าปลาวาฬ ปลาฉลาม ปลาสิวปลาสร้อยอยู่มากมาย ในน่านน้ำแห่งการแข่งขันนี้ ทางเลือกก็คือจะล่าเหยื่อ หรือ จะยอมตกเป็นเหยื่อแทน
อย่างไรก็ตาม ใช่บริษัทของเราจะดึงดูดเฉพาะคู่แข่งขันที่ดีๆเท่านั้น มีคู่แข่งขันที่ดีก็เหมือนได้พรอันประเสริฐ เพราะคู่แข่งเหล่านี้จะเป็นเหมือน ครูที่ช่วยพัฒนามุมมองและขัดเกลาทักษะของเรา ต่างจากคู่แข่งระดับกลางๆ ที่บางครั้งก็น่ารำคาญ เช่นเดียวกับคู่แข่งแย่ๆ ที่สามารถสร้างความลำบากใจให้เราก้อได้

คู่แข่งไม่ใช่ศัตรู แต่เขาคือเพื่อนร่วมสนามการค้าเดียวกับเรา
ประโยคข้างบน นายกสมาคมร้าน คุณเทวัญ งามบุญสิน เล่าให้ผมฟังทุกครั้ง เมื่อบ่นถึงการรุกเข้ามาของคู่แข่ง ร้านยาเล็กก้อไม่ต่างกับบริษัทใหญ่ ที่ไม่ควรเพิกเฉยต่อคู่แข่ง แต่ต้องตื่นตัวอยู่เสมอ รวมไปถึงการสร้างพันธมิตรของทำให้เราต้องตื่นตัวอยู่เสมอ
คิดดูดีๆแล้ว หากเรามีพันธมิตรคู่ค้าที่ดี เราก็จะได้เพื่อนร่วมงานที่ยอดเยี่ยม เราไม่ได้เป็นแค่หน่วยธุรกิจ แต่เป็นหุ้นส่วน เป็นเครือข่ายเป็นองค์กรที่ต้องการขยายขอบเขตออกไป การแข่งขันในทุกวันนี้เป็นการแข่งขันระหว่างเครือข่าย ไม่ใช่บริษัทหรือร้านเล็กๆ เครือข่ายที่มีความสามารถในการจับจุด เรียนรู้ และทำงานได้เร็วกว่า เป็นข้อได้เปรียบสำคัญในการแข่งขัน
คู่แข่งที่แท้จริงคือใคร
ในระยะสั้น คู่แข่งที่น่ากลัวที่ของเราก็คือ องค์กรที่เหมือนบริษัทของเรามากที่สุดหรือร้านยาที่จับตลาดเดียวกันกับเรามากที่สุด ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะลูกค้าไม่อาจเห็นถึงความแตกต่างได้ ในความคิดของลูกค้า ร้านของเราก็เหมือนกับร้านอื่นๆ ไม่แตกต่างกันนี่นา เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างความแตกต่างให้ได้
วิธีเอาชนะคู่แข่ง คือ เราต้องจู่โจมตัวเราเองก่อน ทำงานให้หนักเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อแทนสินค้าที่อยู่ในสายการผลิตเดิม ก่อนที่คู่แข่งจะทำให้ร้านของเราเป็นของที่ล้าสมัยไป
คู่แข่งจากที่ไกล ก้อต้องระวัง
จับตาดูคู่แข่งที่อยู่ไกลออกไปเช่นเดียวกับคู่แข่งที่อยู่ใกล้ๆ เพราะบริษัทเราอาจจะถูกกลืนหายไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆมากกว่าคู่แข่งที่ทำอะไรเหมือนเราทุกอย่างเช่นกัน การแข่งขันที่ชี้เป็นชี้ตายส่วนใหญ่มักจะมาจากบริษัทเล็กๆที่ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเปลี่ยนกฎเกณฑ์การแข่งขัน ตัวอย่าง IBM ที่เดินเกมผิดพลาดไป เพราะมัวไปกังวลกับ ฟูจิสึ มากกว่าบุคคลโนเนมอย่าง บิล เกตส์ ซึ่งสร้างซอฟต์แวร์ขึ้นมาในโรงรถของตัวเอง
การจับตาดูคู่แข่งเป็นเรื่องสำคัญ แต่การมุ่งมั่้นต่อลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่า เพราะลูกค้าเป็นผู้กำหนดว่าใครจะเป็นผู้ชนะสงครามธุรกิจไม่ใช่คู่แข่ง ธุรกิจส่วนใหญ่ต้องเสียศูนย์ เพราะมีคนหาปลาจำนวนมากที่ออกล่าฝูงปลาฝูงเล็กๆ ชาวประมงที่เยี่ยมที่สุดเข้าใจธรรมชาติของปลาได้ดีกว่าคู่แข่ง เสมือนเภสัชกรที่เข้าใจคนไข้มากที่สุด ย่อมเป็นที่รักของลูกค้าและพร้อมพัฒนาร้านเพื่อให้คู่แข่งของเราต้องวิ่งตามเราต่อไป
แหล่งข้อมูล
·      How to Learn From Your Competition (and Steal All Their Best Ideas)
·      เจาะลึกการตลาด.blogspot.com , http://เจาะลึกการตลาด.blogspot.com/2010/12/competitors.html

วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

ไมเกรน: โรคปวดศีรษะไมเกรนคืออะไร โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล

ฤดูร้อนปีนี้แผลงฤทธิ์ระอุได้ทั้งอุณหภูมิที่สูงปริ้ด รวมไปถึงร้อนนานมาราธอน อาการโรคหนึ่งที่คนไข้กุมศีรษะมาขอคำปรึกษาที่ร้านยามากที่สุด จนกระทั่งเภสัชกรเองก้อยังมีอาการโรคนี้คือ โรคปวดศีรษะไมเกรน

โรคปวดศีรษะไมเกรนคืออะไร?
โรคปวดศีรษะไมเกรน โรคปวดหัวข้างเดียว ที่เรียกกันสั้นๆว่าโรคไมเกรน (Migraine) หรือที่คนไทยเรียกกันเดิมๆว่า ลมตะกัง เป็นโรคปวดศีรษะเรื้อรังชนิดหนึ่ง โดยคนไข้จะเริ่มมีอาการปวดศีรษะกำเริบเป็นพักๆ หรือภาษาชาวบ้านเรียกกันว่าไมเกรนกิน (Migraine attack) หากไม่รีบรักษาหรือได้รับยา มักจะมีอาการปวดหัวที่พัฒนาไปปวดในระดับปานกลางถึงรุนแรง ระหว่างนั้นจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ และตาเห็นแสงแวบวาบด้วยก้อมี
โรคปวดศีรษะไมเกรนนี้ ทำไมเป็นกันเยอะ?
โรคปวดศีรษะไมเกรน เป็นสาเหตุอันดับแรก ๆ ของอาการปวดศีรษะที่พบในคนทั่วไป ประมาณทุก ๆ 10 คน จะมีคนเป็นโรคนี้ 1-2 คน มีการประมาณว่า ใน 1 วัน ทั่วโลกใบนี้จะมีผู้ป่วยไมเกรน ประมาณ 3,000 คนต่อประชากร 1 ล้านคน โดยพบอัตราเป็นโรคนี้สูงสุดในคนอเมริกาเหนือ รองลงมาคือคนอเมริกากลาง อเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา
ผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรน มักมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย เนื่องจากโรคนี้สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ อาการโรคมักเกิดในคนวัยรุ่นหรือหนุ่มสาว และจะกำเริบได้บ่อย ๆ จนถึงวัยสูงอายุ มากกว่า 55 ปีขึ้นไป แต่บางคนก็อาจปวดไปจนตลอดชีวิต
ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง โดยเฉลี่ยพบว่า ผู้หญิงประมาณ 15% จะเป็นโรคนี้ ในขณะที่ผู้ชายพบเป็นโรคนี้เพียงประมาณ 6% เท่านั้นเอง
รูปประกอบ: อาการปวดหัวที่อาจเกิดขึ้นได้ จาก migrainerelief.info

ปวดหัวอย่างไหน ที่เรียกว่าไมเกรน?
อาการปวดศีรษะไมเกรนมีลักษณะเด่นก็คือ เราจะมีอาการปวดศีรษะแบบตุบ ๆ ตามจังหวะการเต้นของชีพจรนั่นเอง อาจจะปวดเป็นบริเวณพื้นที่เฉพาะส่วน เช่นที่ขมับข้างเดียว และตำแหน่งที่ปวดแต่ละครั้งอาจไม่แน่นอน อาจปวดซ้ำที่เดิมหรือสลับไปอีกข้าง บางครั้งอาจปวดที่ขมับพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง ซึ่งพบได้น้อยมาก ขณะปวดหากเอามือลองไปคลำดู จะคลำพบว่าเส้นเลือดใหญ่ตรงขมับข้างที่ปวดมักจะพองตัวและเต้นตุบๆตามจังหวะชีพจรเช่นเดียวกัน
เวลาของการปวด มักจะนานเป็นชั่วโมง ๆ ถึง 1-2 วัน ก่อนจะปวดหัวมักมีอาการตาพร่าตาลายนำมาก่อนสักพักใหญ่ แล้วจะค่อย ๆ ปวดแรงขึ้น บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เมื่ออาเจียนแล้วก็จะค่อย ๆ ทุเลาไปได้เอง หรือในคนไข้บางรายแม้จะไม่ได้กินยา ก็มักจะทุเลาไปได้เอง บางคน (เช่นตัวเภสัชกรเอง) หากได้นอนหลับสักครู่ก็อาจทุเลาดีขึ้นมาได้
ความถี่ในการปวด มักมีอาการกำเริบเป็นครั้งคราวแล้วแต่บุคคล บางคนอาจปวดถี่ เดือนละ 1-2 ครั้ง หรือนานจะเป็นเมื่อมีปัจจัยกระตุ้นให้อาการกำเริบขึ้นมา ขึ้นอยู่กับว่าคนไข้จะค้นพบหาสิ่งกระตุ้นหรือไม่ ถ้าเลี่ยงได้ก็จะทำให้ปวดห่างหายไปได้น้อยลงไปเอง
โรคปวดศีรษะไมเกรนนี้ อันตรายมากไหม?
โรคนี้เป็นโรคที่น่ารำคาญและทรมานอย่างมาก เพราะถ้าไมเกรนกินเข้ามาแล้ว จะทำให้เสียงานเสียการเพราะอาการปวดจะทำให้รำคาญ ทำให้ตัดสินใจหรือทำงานไปอย่างไม่มีความสุข แต่ความจริงแล้ว อาการของโรคก้อมีแค่นี้ไม่มีอันตรายร้ายแรง และไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด
ตอนต่อไปเราจะมาดูว่าปัจจัยเสี่ยงหรืออะไรที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคหรือเกิดอาการปวดหัว ขึ้นมาบ้าง เพื่อที่เราจะได้หลบเลี่ยงไม่ให้ไมเกรนกำเริบให้เรารำคาญ ขึ้นมาได้

หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับโรคไมเกรนนี้ สามารถสอบถามมาได้ที่
utaisuk@gmail.com หรือ facebook “UTAI SUKVIWATSIRIKUL”  

วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2555

โลกหมุนเปลี่ยนไป ร้านยาควรเปลี่ยนอย่างไรให้ขายดี โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล

ทราบไหมครับว่าถึงวันนี้ ร้านยา XTA ในเครือ C.P. เจ้าของร้านอิ่มสะดวก 7-11ในบ้านเรา มีกี่สาขาแล้ว “122 สาขา ภายใน 4ปีเองคือคำตอบที่เจ้าของร้านยาน่าจะหนาวในวันที่กรุงเทพอากาศร้อนแทบตับแตก แล้วจะทำอย่างไรต่อไปหล่ะ เราได้เล่าให้ฟังถึงปัจจัยของผู้บริโภคไปแล้ว ตอนนี้เราจะมาดูว่าปัจจัยอะไรบ้างที่เราต้อง ตาดู หูฟัง ใช้ประสาทสัมผัสเพื่อนำมาปรับร้านยาให้ก้าวเดินต่อไป
External Environment จะรู้ไปทำไม
ทำไมเราต้องไปสนใจสภาพโลกภายนอกด้วย? เราเปิดร้านของเราเล็กๆไปก้อได้นี่นา เราเปิดร้านค้าปลีกที่อยู่ในสังคมที่มีคนอยู่ใช้กิน บริโภคของใช้ เจ็บป่วยต้องกินยา ครานี้สภาพแวดล้อมภายนอกของคนมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเราอยู่แล้ว
ไม่สนได้ไหม เพราะปัจจัยภายนอกเป็นสิ่งที่ธุรกิจไม่สามารถควบคุมได้ คำตอบคือไม่ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมมีผลต่อเราอย่างแน่นอน
สิ่งที่ต้องทำก้อคือจับตาดู วิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมภายนอก ก้อเพื่อ
1.    ไขว่คว้าหาโอกาส(Opportunities) ที่เราเก่ง มีความพร้อม และก้าวไปล่วงหน้าเพื่อพัฒนาร้านให้ทันการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ หรือ
2.    หลบเลี่ยงภัยคุกคาม(Threats) ที่มาแบบเราไม่สามารถควบคุมได้ แต่ถ้ามา จะทำให้ลูกค้าเราเปลี่ยนใจจากเรา ทำให้ยอดขายหาย กำไรหด
ดังนั้นผู้นำรุ่นใหม่ก้อต้องเริ่มต้นมองอนาคตที่อาจเกิดขึ้นให้พร้อมกับการเปลี่ยนที่มีผลต่อธุรกิจของเรา
External Environment จะดูอะไร
โลกนี้มีหลายการเปลี่ยนแปลงเหลือเกิน แต่ปัจจัยที่เราควรดู คืออะไร
1.    ปัจจัยอะไรที่มีผลกระทบต่อธุรกิจเรา
2.    ปัจจัยที่ว่า จะมาถึงเมื่อใด
3.    ผลกระทบที่ว่าจะมีผลกับเราในด้านใด บวกหรือลบและรุนแรงแค่ไหน
แค่นั้นก้อพอแล้วกระมัง หรือถ้ามีอีกแสดงว่าเราเก่งมากขึ้นที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
External Environment ที่เขาดูกันมีอะไรมั่ง
เรามาลองดูว่าปัจจัยอะไรที่เขาจับตาดูกัน
1.    S = Societal Environment (Industry analysis) วิเคราะห์สภาพสังคมและวัฒนธรรม เช่น อัตราการเกิด Birth rates อัตราการเติบโตของประชากร แถวร้านเรามีเด็กเกิดใหม่เยอะมั้ย หรือมีแต่ผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิต Life style  
2.    T = Technology Environment วิเคราะห์เทคโนโลยี มีความก้าวหน้ามากน้อยเพียงไร เช่น ยาใหม่ๆที่มีการวิจัยและพัฒนา, รูปแบบยาใหม่ๆ หรือแนวโน้มการรักษาพยาบาล ความก้าวหน้าทางด้านการติดต่อสื่อสาร ผู้บริโภคมีโอกาสรับข้อมูลใหม่ๆอย่างไร
3.    E = Economic Forces สภาพเศรษฐกิจ ในขณะนั้นๆหรือที่จะเปลี่ยนไป เพื่อดูว่าลูกค้าเป้าหมายเรามีกำลังซื้อสูงมากขึ้นหรือต้องประหยัดมากกว่าเดิม ได้แก่ GDP, ภาวะเงินเฟ้อ, อัตราดอกเบี้ยขึ้นหรือลง,ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ, ค่าเงินบาทแข็งหรืออ่อนตัว ภาวะการว่างงาน,ต้นทุนพลังงานที่กำลังกระชากค่าครองชีพอยู่ทุกวันนี้
4.    P = Political / Legal Environment /Forces คงไม่ต้องบอกเลยว่าปัญหาบ้านเมืองเราทุกวันนี้มาจากเรื่องการเมืองแท้ๆ ที่ต้องตามติดคือกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อองค์การ เช่น ยาซูโด
ยังมีสภาพแวดล้อมภายนอกที่เกี่ยวข้องกับร้านยาแน่ๆคือสภาพตลาดการดูแลสุขภาพ รักษาพยาบาล ตอนหน้าเรามีข้อมูลมาดูว่า เวลาคนไทยเราเจ็บไข้ได้ป่วย เขามีทางเลือกในการรักษาพยาบาลดูแลตัวเองอย่างไร
แหล่งข้อมูล
ภาพประกอบ ร้านยาในพม่า โดยคุณทรงกลด บางยี่ขัน
·      Practical Managements, Organization’s external environments, http://www.practical-management.com/Organization-Development/Organization-s-External-Environment.html
·      Popovich, K. & Popovich, M. (2000). Use of Q methodology for hospital strategic planning: A Case study. Journal of Healthcare Management 45.6, 405-414

วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2555

โรคกระเพาะอาหารแบบไม่มีแผล (DYSPEPSIA) รู้ได้อย่างไร ว่าเป็นโรคนี้? โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล

ตอนที่แล้วเราได้อธิบายถึงโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ว่าเกิดจากการอักเสบของเยื่อบุด้านในกระเพาะอาหาร ตอนนี้เรามาดูว่าอาการอะไรบ้างที่บอกว่าโรคน่ารำคาญนี้กำลังเกาะกินกระเพาะเราอยู่
โรคกระเพาะอาหารแบบไม่มีแผล (DYSPEPSIA) มีสองแบบ
1. โรคกระเพาะอาหารอักเสบชนิดเฉียบพลัน เราอาจมีอาการโรคที่เป็นในระยะสั้นๆ ไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ก็หาย อาการสำคัญที่พบได้คือ เรามักมีอาการปวดท้องหรือจุกแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ มักเป็นเวลากินอาหาร หรือหลังอาหารเล็กน้อย คลื่นไส้อาเจียน
ในรายที่เป็นมาก จะมีอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระสีดำได้ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย มักพบจากสาเหตุอื่นๆได้แก่ อาหารเป็นพิษ พิษสุรา คนไข้ที่กินยาที่ระคายเยื่อบุกระเพาะอาหารมาก่อน เช่น ยาแอสไพริน และยาแก้โรคกระดูกและข้ออักเสบ
รูปประกอบ แนวทางวินิจฉัยโรคจาก http://www.aafp.org/afp/2006/0701/afp20060701p184-uf1.gif
2. โรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง คนไข้อาจเป็นมานานแล้วเป็นเดือนหรือเป็นปี มักจะมีอาการของโรคเป็นแบบเรื้อรัง เป็นๆ หาย ๆ การใช้ยาจะช่วยอาการให้ดีขึ้นในผู้ป่วยบางราย บางรายแม้ไม่ได้ใช้ยาอาการก็ดีขึ้นเอง แต่ไม่พบการเกิดโรคร้ายหรือโรคอื่นๆแตกต่างไปจากคนปกติ

โดยทั่วไปเมื่อนำผู้ป่วย
Dyspepsia มาจำแนกการวินิจฉัยที่ชัดเจนแล้ว เราพบว่าสาเหตุดังต่อไปนี้
·        มีอาการโรคจริงๆ functional dyspepsia 60%
·        peptic ulcer  พบประมาณร้อยละ 20
·        GERD ประมาณร้อยละ 15%
·        ที่น่ากังวลคือ gastric หรือ esophageal cancer พบประมาณ 2%
·        อื่นๆ  พบประมาณร้อยละ 3
เมื่อใดเราควรไปหาหมอ
เมื่อเรามีอาการดังกล่าว อาจได้รับคำแนะนำให้รับการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร แต่ไม่ทุกรายไปยกเว้นจะมีมีสัญญาณอันตราย ได้แก่ กลืนลำบาก มีประวัติอาเจียนเป็นเลือด,ถ่ายอุจจาระสีดำ หรือมีภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก น้ำหนักลดโดยไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้ หรืออาเจียนต่อเนื่อง
อาการเช่นใดที่บอกว่าเป็นโรคนี้?
ลองสังเกตุดูว่า เราเคยมีอาการเหล่านี้บ้างไหม เพราะมันเป็นจุดเริ่มต้นที่บอกว่า Dyspepsia ได้มาทักทายเราแล้ว อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
•บ่อยครั้งมาก จะมีอาการแน่น อึดอัดท้อง โดยเฉพาะบริเวณกลางช่องท้องตอนบน มักมีอาการได้ตั้งแต่ใน ขณะระหว่างกินอาหาร หรือหลังกินอาหารอิ่มแล้ว
ปวดท้อง มวนท้อง โดยเฉพาะบริเวณกระเพาะอาหาร ตรงช่องท้องบริเวณลิ้นปี่ รวมไปถึงตรงกลางของช่องท้องตอนบน เหนือสะดือข้นไป 
มีความรู้สึกว่าปวดแสบ ร้อนยอดอก หรือตรงลิ้นปี่ บางครั้งก้อมีน้ำเปรี้ยวๆจากกระเพาะไหลขึ้นมา 
ถ้าเป็นมาก อาจมีคลื่นไส้ อาเจียนได้
บางรายอาจมีท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ มีแก๊สในกระเพาะอาหาร ลำไส้มาก
ไปหาหมอตรวจอะไร?
เมือไปพบแพทย์ เราจะได้รับการวินิจฉัยจากการ ซักถามประวัติอาการ ประวัติอาการเจ็บป่วยและการกินยา ตรวจร่างกาย และจากแนะนำให้กินยาประเภทลดกรด หรือยาเพิ่มการย่อยอาหาร และปรับเปลี่ยนนิสัยการใช้ชีวิตและพฤติกรรมการกินอาหาร
หลังจากนั้นให้ดูอาการประมาณ 3-4 สัปดาห์ถ้าอาการดีขึ้น ก็วินิจฉัยว่า อาการอยู่ในกลุ่มอาการนี้ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการมากขึ้น จึงอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือดดูน้ำตาลเพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวาน การตรวจหาเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคแผลเปบติค แต่ที่ให้ผลแน่นอน และสามารถวินิจฉัยแยกโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ด้วย คือ การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้ ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อในตำแหน่งผิดปกติเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
ในฐานะเภสัชกร หากคนไข้ได้รับยาในกลุ่มนี้มักจะเป็นสาเหตุของอาการ dyspepsia ควบคู่กันมาก้อได้ ยาเหล่านี้ได้แก่
·        ยาแก้ปวดต้านอักเสบในกลุ่ม NSAIDS
·        ยาปฏิชีวนะได้แก่ penicillin, sulfonamide, macrolide, doxycycline, tetracycline
·        ยาประเภทฮอร์โมน ได้แก่ insulin, ยากินเพื่อลดระดับน้ำตาล, estrogen, corticosteroid
·        ยาที่มีฤทธิ์ต่อหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ digoxin, calcium channel blocker
·        ยาที่มีผลต่อกล้ามเนื้อและกระดูก ได้แก่ alendronate
·        ยาขยายหลอดลม ได้แก่ theophylline

ตอนหน้าเรามาดูว่า หากมีอาการที่เล่ามาหรือกินยาในกลุ่มที่เป็นห่วง การรักษาจะต้องทำอย่างไร
แหล่งข้อมูล
เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล สงวนลิขสิทธิ์ 14 เมษายน 2555
ห้ามนำบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ โดยผู้เขียนไปเผยแพร่เชิงพาณิชย์ ให้นำไปเผยแพร่เป็นวิทยาทานหรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น ผู้ประกอบการเว็บไซต์ต้องยึดหลักความเคารพและคำนึงถึงลิขสิทธิ์ในการสร้างสรรค์งานเขียนและจริยธรรมทางธุรกิจ
การนำเอาบทความ รูปภาพและเนื้อหาอื่นๆ ซึ่งผลิตขึ้นโดยผู้เขียนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตและผลิตซ้ำเพื่อเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาและ Copy url address ไปด้วยเพื่อให้ผู้อ่านสามารถลิ้งค์กลับมาอ่านบทความจากเว็บไซต์ของผู้เขียนได้โดยตรง
บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพ ไม่แนะนำให้คุณนำไปใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรคด้วยตนเอง ขอความกรุณารับคำปรึกษาได้โดยตรงจากบุคลากรสหวิชาชีพทางสาธารณสุข รวมทั้งเภสัชกรใจดี ที่พร้อมดูแลสุขภาพพ่อแม่พี่น้องนะครับ
·        โรคลำไส้แปรปรวน (IBS) การรักษาและยาที่ใช้ โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล,http://www.oknation.net/blog/DIVING/2010/08/03/entry-1
·         โรคกรดไหลย้อน รักษาด้วยยาอะไร? โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล , http://utaisuk.blogspot.com/2012/03/blog-post_28.html
·         Indigestion (Dyspepsia, Upset Stomach), medicinenet, http://www.medicinenet.com/dyspepsia/article.htm
·        นพ. สมชาย ลีลากุศลวงศ์, โรคกระเพาะ อาหาร ..ปวด..แน่นท้อง, ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลธนบุรี, http://www.oknation.net/blog/loongjame/2010/02/19/entry-7
·        Effectiveness of Guideline for the    Management of Uninvestigated Dyspepsia, Clinical   Research Network:  กลุ่มวิจัยโรคกระเพาะอาหาร  สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย , http://www.old.crcn.in.th/mdbtemplate/mytemplate/template.php?component=menu&qid=341
·        Seema Gupta, V. Kapoor, B. Kapoor. Itopride : A Novel Prokinetic Agent. JKSCIENCE.2004;6:106-8
·        Itopride : A Novel Prokinetic Agent, www.jkscience.org/archive/volume62/itopride.pdf
·        พญ.อาภา  พึ่งรัศมี, Dyspepsia, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,http://sriphat.med.cmu.ac.th/container/data.php?mod=blogDr&id=14
·        Drug information handbbok,18 thed,Lexi-comp/Inc.,Ohio,2009-2010:p.891,1181
·        นพ.กิตติชัย กุลธนปรีดา,Dyspepsia, วารสารคลินิก เล่ม : 290 เดือน-ปี :02/2552, http://www.doctor.or.th/node/9234
·        แนวทางการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วย Dyspepsia และผู้ป่วยที่การติดเชื้อ Helicobacter pylori, กลุ่มวิจัยโรคกระเพาะอาหาร สมาคมแพทย์ระะบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย, http://med_sakolhospital.tripod.com/pu.html
·        สมชาย สินชัยสุข,โรคกระเพาะอาหารแปรปรวน: สาเหตุและการรักษา,Functional dyspepsia: its causes and therapies, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี,วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปีที่ 12 ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2553, http://www.ubu.ac.th/~research/UBUJournal/DB_Journal/fileupload/12305.pdf
·        ข้อควรทราบเกี่ยวกับ prokinetic drug, http://www.medicinetrick.com/2011/12/119-prokinetic-drug.html

รูปประกอบจาก http://howcanthis.com/wp-content/uploads/2011/08/acidity.jpg